สรุปบทเรียนในการเข้าร่วมโครงการ PCU ในฝัน ของ สอ.ลำกะ


เมื่อเริ่มดำเนินการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่จัดประชุม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และลงทำเวทีประชาคม จึงได้รู้ว่า สิ่งที่ได้มากมายเหลือเกิน

     ท่านมีความคาดหวังต่อการเข้าร่วมโครงการอย่างไร และท่านคิดว่าการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ เพราะ เหตุใด

          ก่อนเข้าร่วมโครงการ  ทีมงานของศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะทุกคน ไม่ได้คาดหวังมากมายกับโครงการนี้  เพราะไม่คิดว่าจะได้การคัดเลือก  แต่เมื่อเริ่มดำเนินการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่จัดประชุม  จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และลงทำเวทีประชาคม  จึงได้รู้ว่า  สิ่งที่ได้มากมายเหลือเกิน เช่น 

          1.แท้จริงแล้วประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแต่ขาดโอกาสเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น 

          2. ประชาชนมีศักยภาพพร้อมที่จะเดินเพียงเราเข้าหาด้วยความจริงใจ และเปิดใจ 

          3. การส่งเสริมการทำงานในชุมชนลักษณะนี้สามารถช่วยให้ชุมชนร่วมกันดูแลตนเองในทุกๆด้าน  

          4. ทุกครั้งที่ออกทำงานรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ทำกับชาวบ้านแม้จะเหนื่อยกาย แต่สุขใจ

     สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ 
     บทเรียนสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้

          เมื่อเลิกการทำเวทีสุขภาพในวันนั้น วิทยากร  ทีมงานและแกนนำประมาณ 7-8 คน นั่งคุยกันว่า วันนี้คิดว่าอย่างไร  ได้อะไรบ้าง  นายสมบูรณ์  อักษรผอม  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.ชุมพล  บอกว่า  การทำกิจกรรมแบบนี้ดี  เพราะประชาชนจะต้องร่วมกันดูแลสุขภาพ  เพราะหมอคงดูแลไม่ทันแน่  แต่ควรจะเพิ่มในเรื่องขององค์ความรู้ให้แก่ อสม.และชาวบ้าน ให้เขารู้จริงในการดูแลสุขภาพ  หมู่ 11 เองพร้อมสำหรับการพัฒนา   และการพัฒนาจะต้องแก้ไขปัญหาหลายๆด้านไปพร้อมกัน

          เพราะปัญหาทุกอย่างมีผลเชื่อมโยงกันหมด  ยกตัวอย่างปัญหาเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ทำให้สุขภาพจิตไม่ดี  เครียด   คุณเอกภาพ  พันธุ์เศรษฐ์  อสม.และส.อบต. หมู่ที่ 1 ต.ชุมพล  บอกว่า  คิดแบบนี้ดีแล้ว  การทำอะไรก็ตามควรให้ชาวบ้านเห็นผลกับตาของเขาเองเขาจึงจะเกิดความตระหนัก  แค่ไปพูดวิชาการอย่างเดียวเขาไม่ค่อยสนใจ  ยกตัวอย่าง การที่ สอ.ลำกะ สอนให้ อสม.วัดความดันโลหิต และตรวจเบาหวาน โดยไปวัดให้ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปในเขตรับผิดชอบ  ทุกคนสนใจ 

          บางคนมาขอวัดเองเพราะสามารถบอกได้เลยว่าใครความดันโลหิตเท่าไร  ใครสูงบ้าง  บางคนมาหัดวัดและประเมินผลได้เอง   แต่ตอนนี้ที่เป็นปัญหาเครื่องวัดความดันมีไม่พอ  ตนในฐานะ ส.อบต.เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้  ได้เสนอขอผันงบประมาณของ อบต.บางหมวดมาใช้เพื่อจัดซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ใช้ใน  ศสมช. แต่ละหมู่บ้าน  เพื่อชาวบ้านจะสะดวกในการวัดความดันโลหิต โดยไม่ต้องเดินทางมาอนามัยก็ได้

     บทเรียนที่ไม่ควรทำอีก เพราะเหตุใด

          บทเรียนที่ไม่ควรทำคือ การเร่งรีบและเร่งรัดของระบบราชการ  ที่หวังจากประชาชนเพียงตัวเลขด้วยระยะเวลาที่จำกัด  โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของงานมากนัก  ขอให้มีรายงานส่งอย่างเดียวเป็นพอ  (เสียงสะท้อนจาก คุณเอกภาพ  พันธุ์เศรษฐ์  ซึ่งเป็น อสม./ส.อบต./เลขานายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมพล) เพราะนี้คือเสียงสะท้อนที่ต้องรับฟังเพื่อนำไปพัฒนาต่อไป

     ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนางานต่อไป

          สำหรับปัญหาและอุปสรรค  ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าการทำงานทุกอย่างต้องมีปัญหาและอุปสรรค  แต่ทั้งหมดคือบทเรียนที่สำคัญที่จะใช้สำหรับแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาการทำงานต่อไปให้ดีที่สุด  สำหรับโครงการที่ทำอยู่ปัญหาอุปสรรคมีบ้าง แต่สามารถแก้ไขได้  และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการทำงานต่อไปในอนาคต   ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

          ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม  ปัญหาในชุมชนบางอย่างเราไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้โดยลำพัง  และภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด  เช่น  ในโครงการตั้งงบประมาณไว้สำหรับแก้ปัญหา หมู่บ้านละ 2,500  บาท  ซึ่งเมื่อดำเนินการจริงต้องใช้มากกว่า  จึงปรับเปลี่ยนแก้ปัญหาบางหมู่บ้านที่มีความพร้อมก่อน  โดยใช้เงินบำรุงของศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ 

หมายเลขบันทึก: 11602เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2006 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท