KM เพื่อราชการใสสะอาด


ส่งเสริม "ของแท้" ให้กลุ่มเจ้าของผลงานออกมาเล่าวิธีการ

KM เพื่อราชการใสสะอาด


  วันที่ ๖ มค. ๔๙ ในการประชุม UKM  ผมนั่งฟัง คุณบุญรอด สิงห์วัฒนาศิริ  ที่ปรึกษา สำนักงาน กพ.  พูดเรื่อง ราชการใสสะอาด    บอกว่าแต่ละจังหวัดต้องรับผิดชอบดำเนินการตามมติ ครม. เรื่องราชการใสสะอาด (ซึ่งมีศูนย์ประสานงานและคณะกรรมการกำกับในส่วนกลาง)   แล้วออกแบบการดำเนินการโครงการด้านราชการใสสะอาดให้เหมาะสมต่อแต่ละจังหวัด    ผมบอกตัวเองว่านี่คือการดำเนินการแบบริเริ่มโดยส่วนกลาง      ผมจึงถามตัวเองว่า    ถ้าให้ผมเป็นผู้ออกแบบการทำงานของส่วนกลางแบบ KM ผมจะทำอย่างไร
ความฝันของผมก็คือทำงานแบบ ทำไปเรียนไป    เรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างศูนย์ประสานงาน กับจังหวัด    เรียนรู้จาก ความดี     คือทำแบบ เน้นกระบวนการเชิงบวก    เอาเรื่องราวดีๆ ออกสู่สาธารณชน    เอาความสำเร็จหรือจุดเด่นด้านความใสสะอาด ของแต่ละจังหวัดออกมาเรียนรู้ร่วมกัน ว่าที่ทำได้สำเร็จเพราะมีความเชื่ออย่างไร    คิดอย่างไร    ทำอย่างไร    ทำต่อเนื่องเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบ    เชื่อมโยงสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการในทุกด้านขององค์กร    ซึ่งในที่สุดแล้วจะฝังเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับการทำงานประจำ     ไม่ใช่งานแยกออกมา เพื่อตอบสนองหน่วยงานตรงกลาง     แต่เน้นการทำงานรับใช้ประชาชนอย่างมีคุณภาพ เป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ เป็นเป้าหมายสำคัญ   
ทักษะที่ส่วนกลางคือสำนักงาน กพ. ต้องพัฒนาขึ้น คือการเสาะหาความดีจิ๋ว    เรื่องราวดีๆ    ที่แสดงความใสสะอาด     เอามายกย่อง     ให้หน่วยงาน / บุคคล ที่ร่วมกันสร้างความใสสะอาดนั้น ออกมาบอกสาธารณชน ว่าเขาเชื่อ/คิด/ทำ/ฟันฝ่า อย่างไร จึงเกิดความใสสะอาดนั้น     ที่สำคัญผู้เสาะหาตัวอย่างของความใสสะอาด ต้องใสสะอาดเองด้วย     ต้องหาตัวอย่างของจริง  เอามาเผยแพร่ ขยายผล ส่งเสริม     โดยทำแบบ KM ไม่ใช่ทำแบบใช้อำนาจ / เล่นพวก / เอาใจ     ต้องทำแบบเนียน ไม่ใช่ตีฆ้อง     ต้องส่งคนไปศึกษาว่าในการฟันฝ่าเพื่อความใสสะอาดเขายากลำบากอย่างไร     ต้องอย่าทึกทักว่าความใสสะอาดมันขึ้นอยู่กับเพียงเฉพาะระบบภายในหน่วยงาน     จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกร้อยแปด     และอุปสรรคที่สำคัญคือผู้มีอำนาจทั้งหลายนั่นเอง     หลายคนเหมือนมี ๒ หน้า     มีตำแหน่งใหญ่โต    พูดต่อต้านคอรัปชั่นทุกวัน    แต่ตัวเองหาทางสูบเลือดสังคมอยู่ทุกวันเหมือนกัน     คนเหล่านี้ทำให้ “ความใสสะอาด” ถูกเปลี่ยนนิยาม     หรือมีความใสสะอาด ๒ แนว     คือแนวหลอกๆ  ทำกันพอให้สังคมเห็นว่ามีการทำ     กับแนวของแท้     จะเห็นว่าเวลานี้ของปลอมเต็มบ้านเต็มเมือง     เราต้องส่งเสริมของแท้    หน่วยงานแบบ กพ. ต้องมีทักษะในการหาของแท้ มาเชิดชู ส่งเสริมสนับสนุนให้ขยายเครือข่ายออกไป     และให้เขาผู้ฟันฝ่าเพื่อความใสสะอาดบอกว่าเขาฟันฝ่าอะไรบ้าง     ผมเองสมัยเด็กๆ เป็นรองอธิการบดี อายุ สามสิบต้นๆ เห็นพฤติกรรมกินเงินก่อสร้างของผู้ใหญ่ในกรุงเทพแล้วทนดูไม่ได้ต้องขอลาออก     ดร. ผาสุข กุลละวณิชย์ ท่านอดทนต่อสู้แกมผ่อนปรน    ท่านต้องโดนสอบสวนลงโทษตัดเงินเดือน    ตอนหลังต้องต่อสู้อุทธรณ์จึงได้หลุด    ผมไปชี้แจงงบประมาณต่อกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ     หัวหน้าพรรคท่านหนึ่งสนใจถามแต่เรื่องการก่อสร้าง    ที่ ม. อุบลครั้งหนึ่งจะเปิดประมูลก่อสร้าง     มีอันธพาลลูกน้องนักการเมืองจำนวนหลายคนเข้าไปปิดทางไม่ให้ผู้รับเหมาเข้าไปยื่นซองประกวดราคา ที่หน้าห้องประชุม     ทำกันแบบโจ่งแจ้ง      ลือกันว่านักการเมืองผู้นี้มีบริษัทก่อสร้างและชวนผู้รับเหมารายอื่นฮั้วไม่สำเร็จ     จึงหาทางป้องกันไม่ให้ผู้รับเหมารายอื่นเข้ามาหากินในพื้นที่ของตน    นักการเมืองรายนี้ยังเป็น สส. อยู่ในพรรครัฐบาลในเวลานี้    จะเห็นว่า “ความรู้” สำหรับการทำงานแบบใสสะอาด และในเวลาเดียวกันตัวเอง / หน่วยงาน ก็อยู่รอด ในสังคมที่ไม่ใสและไม่สะอาด นั้น     ต้องการความรู้ (ปฏิบัติ) หลายชุด    ต้องเปิดช่องให้ผู้ปฏิบัติและมีผลงาน ลปรร. กัน    จึงจะได้ความรู้ปฏิบัติที่ครบถ้วน    
  วิจารณ์ พานิช
๘ มค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 11573เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท