AAR UKM Meeting #5 & บันทึกการเดินทางสู่มหาสารคาม (วันที่หนึ่ง)


เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ดิฉันออกเดินทางจาก มอ. หาดใหญ่ ไป มหาสารคาม พักค้างคืนที่กทม.หนึ่งคืน แล้วออกเดินทางไปสนามบินขอนแก่นเช้าตรู่ของวันศุกร์ เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเดินทางมาอีสาน ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเรียกได้ว่าเป็นถิ่นฐานต้นตระกูลทางฝ่ายพ่อก็ได้ เพราะปู่เป็นคนขอนแก่น หมู่บ้านมะขามป้อม

ระหว่างนั่งเครื่องมา ก็รู้สึกถึงความแปลกของหมู่เมฆที่ไม่เหมือนกับเมฆทางใต้ อาจจะเป็นเพราะนั่งเครื่องบ่อยก็เลยสังเกตเห็นความแตกต่างนี้ ลักษณะของเมฆทางอีสาน มันเมือนป่าทึบที่เป็นสีฟ้า คือ ฟ้ามีเมฆมาก และส่วนใหญ่เมฆมีขนาดใหญ่และมีช่องหลืบระหว่างเมฆสลับกันไป แต่เครื่องบินก็ไม่ตกหลุมอากาศเวลาผ่านเมฆเหล่านี้ ส่วนทางใต้นั้น เมฆก้อนใหญ่ประปรายและดูไม่หนาทึบเพราะอยู่ห่างๆ กัน และส่วนใหญ่จะตกหลุมอากาศ

เครื่องบินลดความเร็วลง ดิฉันเห็นแผ่นดินอีสานเป็นครั้งแรก สีน้ำตาลของที่ราบโล่งดูไม่ค่อยคุ้นตา นี่แค่ช่วงเดือนมกรา เมื่อถึงเดือนเมษาหน้าร้อน ความแห้งแล้งคงจะชัดเจนกว่านี้อีก

ใช้เวลาประมาณหนึ่งชม. ถึงสนามบินขอนแก่น แล้วรวมทีมกับผู้เข้าประชุมอื่นๆ อีกหลายท่านที่เดินทางมาใน Flight เดียวกัน (แต่ไม่รู้จักกัน) เราออกเดินทางต่อด้วยรถตู้ไปยังโรงแรมตักศิลา โดยใช้เวลาประมาณอีกหนึ่งชม. ดิฉันทำความรู้จักทักทายกับอาจารย์สองท่านที่นั่งมาในแถวหลังของรถคันเดียวกัน แล้วหลับไปเพราะความไม่คุ้นกับต้องตื่นตอนเช้า (ซึ่งปกติแล้วดิฉันจะนอนเกือบเช้าแล้วตื่นช่วงสายเพื่อไปสอน)

ถึงโรงแรมตักศิลา รับเอกสารต่างๆ แล้วเขาก็จัดให้ดิฉันไปนั่งร่วมกับวิทยากรอีกหลายท่านที่ต้องขึ้นพูดตอนเช้า ส่วนดิฉันนั่งติดกับอาจารย์หมอวิจารณ์ เมื่อดูกำหนดการแล้ว ดิฉันต้องขึ้นพูดตอนบ่าย ก็อยากจะลุกออกไปนั่งร่วมกับผู้สังเกตการณ์เหมือนกัน แต่ก็เกรงใจเพราะผู้เข้าประชุมเยอะมาก ก็เลยต้องนั่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งก็กลายเป็นโอกาสที่ดี เพราะอาจารย์หมอวิจารณ์สอนอะไรหลายๆ อย่างให้ดิฉันได้เข้าใจในขณะนั่งฟังวิทยากรบรรยาย

ช่วงสายๆ ดิฉันไปสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่อง Internet Connection ที่ต้องใช้ในระหว่างการนำเสนอ และเรื่องเอกสาร Presentation ที่แจกแก่ผู้เข้าร่วมประชุม คงเพราะความกระทันหันที่รายการของดิฉันเข้ามาแทรกไม่กี่วันก่อนการดำเนินการประชุม Internet Connection ยังไม่พร้อม และ เอกสารที่แจกไปแล้วมีเพียงครึ่งหลังของการนำเสนอเท่านั้น ดิฉันแจ้งให้เจ้าหน้าที่จัดการให้ก่อนขึ้นบรรยาย

หลังรับประทานอาหารเที่ยง ดิฉันขึ้นบรรยายเรื่อง การจัดการข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยโดยใช้ PlanetMatter เวลาที่ถูกจัดวางไว้ให้หนึ่งชั่วโมง กับ Presentation 25 แผ่นที่ดิฉันเตรียมมาอย่างรีบเร่ง และไม่มี Internet Connection เพื่อการแสดงผลงาน ทำให้ดิฉันค่อนข้างกังวลว่าเวลาจะมากไปหรือไม่ ดิฉันดำเนินการบรรยายไปอย่างช้าๆ ด้วยเป้าหมายของการมาประชุมในครั้งนี้ที่ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่อง Feeds กับ PlanetMatter ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญ แล้วการบรรยายก็จบลงด้วยการตอบคำถามของท่านอาจารย์วิบูลย์ และ อาจารย์หนึ่ง จาก มน. รวมแล้วเป็นเวลา 58 นาที

เกินความคาดหวัง ทีมงานพัฒนาได้รับคำชมและความร่วมมือในการนำเอา PlanetMatter อย่างไม่ขาดปาก หลายท่านเอ่ยคำว่า Feeds, PlanetMatter และ FeedSpring ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจในเทคโนโลยีเหล่านี้

กลับจากงานประชุมคราวนี้ ทีมงานจะขอเริ่มต้นการนำ PlanetMatter เพื่อรวบรวม Feeds และ FeedSpring เพื่อสร้าง Feeds ที่ มอ. เป็นแห่งแรก โดยการฝึกอบรม Webmasters จากทุกคณะ เพื่อสร้าง Best practice ให้เป็นตัวอย่างแก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ

และที่เป็นความบังเอิญมากสำหรับดิฉันคือ แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบข้อมูลข่าวสาร ไปตรงกับที่ ท่านอาจารย์พิชิต รองอธิการบดี มอ. ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง การประกันคุณภาพของ มอ. ในส่วนที่ว่า ข้อมูลสำหรับการประกันคุณภาพแต่ละชิ้นจะต้องมี "ผู้รับผิดชอบ" ข้อมูลที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขหรือ report ข้อมูลออกมา ดิฉันชื่นชมท่านอาจารย์พิชิตเป็นอย่างมาก ที่เห็นต้นตอของปัญหาเรื่องระบบข้อมูลข่าวสาร อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการประกันคุณภาพ ดิฉันค่อนข้างมั่นใจแล้วคะว่า หนทางแก้ไขปัญหาระบบข้อมูลข่าวสารที่ได้นำเสนอไป น่าจะเป็น solution ที่ดี เพราะอย่างน้อยก็มีไอเดียจากท่านอาจารย์พิชิตสนับสนุนอยู่ด้วย

ช่วงเย็นหลังเช็คอินเข้าห้องพักของโรงแรมตักศิลา ดิฉันชวนอาจารย์มาลินีและอาจารย์เทียมจันทร์จาก มน. ไป City Tour ได้ความรู้จากวิทยากรเรื่องประวัติของมหาสารคาม เมืองต้นยางใหญ่ อย่างสนุกสนานและประทับใจ แต่โดยความเหนื่อยล้าของดิฉันเองประกอบกับความหิว ดิฉันไม่ค่อยได้สัมผัสกับความทรงจำของมหาสารคามมากนักในพิพิธภัณฑ์แห่งนั้น

กลับจากทัวร์ ดิฉันก็รีบเร่งตรงไปทานอาหารเย็นในห้องรับรองทันที อากาศที่ค่อนข้างเย็นและลมแรงทำให้ยิ่งรู้สึกหิวเข้าไปอีก ดิฉันนั่งร่วมวงกับมน. และมีโอกาสได้คุยกับ BeeMan (อ.สมลักษณ์) คุณบอย สหเวช และ อาจารย์หนึ่ง ซึ่งเห็นหน้าคราตากันจากบล็อก GotoKnow.org

สักพักใหญ่ ก็มีอาจารย์หมอชัยเลิศ จากม.มหิดล มาร่วมวงสนทนาเพิ่มอีกหนึ่ง อาจารย์คุยสนุกมาก ดิฉันหัวเราะจนเมื่อยแก้ม ไว้ดิฉันจะเขียนเรื่องที่คุยกับอ.ชัยเลิศ ให้อ่านอีกครั้งหนึ่งคะ

เรื่อง Surprise สำหรับดิฉันในงานสังสรรค์ คือ ท่านอาจารย์ปิติ รองอธิการบดี มอ. และ คุณธวัช จาก สคส. ร้องเพลงได้เพราะมากคะ แถมร้องเพลงวัยรุ่นซะด้วย Surprise! :)

ทุกคนแยกย้ายกันกลับห้องพักประมาณสามทุ่ม ดิฉันนอนอ่านหนังสือเล่นๆ จนถึงสี่ทุ่มครึ่งก็เข้านอนด้วยความเหนื่อย

คำสำคัญ (Tags): #ukm#rss#feed#feedspring#planetmatter
หมายเลขบันทึก: 11571เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2006 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ก่อนหน้านี้ก็ได้อ่าน Presentationของอาจารย์ ซึ่งน่าสนใจมากเลยค่ะ พลอยให้ดิฉันได้รับรู้สิ่งที่น่าสนใจจากอาจารย์  อาจารย์ได้เล่าถึงอาจารย์หมอชัยเลิศ ให้ฟ้งแบบเกริ่นๆ   เมื่อดิฉันเองเป็นนิสิตบัณฑิตศึกษา (ปี 46) ได้เรียนเชิญ อาจารย์หมอบรรยาย ICTกับการศึกษา ในรายวิชาประสบกราณ์ทางเทคโนโลยี ให้นิสิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา  มหาวิทยาลัยนเรศวร ฟัง  เราได้รับความรู้จากอาจารย์  ได้รับความเป็นกันเอง อาจารย์คุยได้สนุกสนาน อย่างที่อาจารย์เล่าให้ฟัง จนทุกวันนี้ในกลุ่มพวกเราเมื่อพบหน้ากันเรามักจะพูดถึง และระลึกถึงอาจารย์อยู่เสมอ ค่ะ

UKM 5 ครั้งนี้สิ่งที่ได้เกิดคาดคือ Feeds, PlanetMatter และ FeedSpring  ที่อาจารย์ได้นำเสนอครับ ได้เห็นอาจารย์ตัวจริงแล้วต่างจากรูปใน Blog มากครับ ดูในรูปค่อนข้างตัวใหญ่แต่ได้เจอตัวจริงแล้วไม่ใช่ครับ

อ่านเรื่องของอ.จันทวรรณ สนุกดีครับ

เริ่มที่ม.อ.เมื่อไหร่ รบกวนส่งข่าวให้ทราบด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

pomdent   06-7486949

   บันทึกนี้ทำให้มองเห็นตัวตนของท่านอ.จันทวรรณมากขึ้นเลยครับ เป็นการเขียน storytelling ออกไปนอกกรอบของคู่มือการใช้งาน gotoknow ผมว่ามันมีเสน่ห์ขึ้นมากเลย.....

   ผมขออนุญาตเขียนถึงอ.จันทวรรณ ในมุมมองของ beeman บ้างนะครับ และขออนุญาตลงภาพด้วยครับ....

ดิฉันไปงานแบบเร่งรีบ เลยไม่ได้ติดกล้องไปด้วย ต้องขอบคุณอ.สมลักษณ์ ด้วยคะ ที่กรุณาเขียนถึง http://gotoknow.org/archive/2006/01/13/12/22/33/e12023
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท