สปสช.สาขาเขต (ใหม่) และสาขาจังหวัด (เดิม) “ภารกิจที่ 1”


การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

     ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.อุดรธานี ได้ลองประมวลภารกิจของงานประกันฯ ภายหลังจากมีการตั้ง สปสช. สาขาเขตพื้นที่แล้ว ซึ่งได้นำเสนอไว้ที่เวบบอร์ดถามมา – ตอบไป ของ สปสช.ที่กระทู้ ประมวลภารกิจเมื่อมี สปสช. เขต ผมเห็นว่ามีประโยชน์ และขอร่วมแจมด้วย แต่ขอย้ายเวทีเสียหน่อย ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการครับ

     เริ่มด้วยภารกิจที่ 1 การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยให้สำนักงานจัดให้มีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ แล้วประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อดำเนินการลงทะเบียนเลือกเป็นหน่วยบริการประจำของตนตามมาตรา 6

 สาขาจังหวัด (เดิม)

 สปสช.สาขาเขต (ใหม่)

      เดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาจังหวัด ดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่ประกาศรับสมัคร ชี้แจงหลักเกณฑ์ ดำเนินการตรวจประเมิน จัดทำบัญชี การประชาสัมพันธ์การดำเนินการให้มีการเลือกหน่วยบริการ การจัดทำข้อตกลง/สัญญาต่าง ๆ การติดตามประเมินผล  ควบคุม กำกับคุณภาพหน่วยบริการ ตลอดจนการรับเรื่องอุทธรณ์การขึ้นทะเบียน (โดยเฉพาะในปี 2548 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กำหนดให้มีการตรวจประเมินทั้ง CUP เอกชน โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ CUP สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด และตรวจประเมินถึงระดับ PCU ทุกแห่งด้วย)

     สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เขต) จะเป็นผู้รับผิดชอบงานนี้ โดยจะเป็นผู้จัดเตรียมงบประมาณ และขอความร่วมมือให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจังหวัด  ดำเนินการตั้งคณะกรรมการออกตรวจประเมินสถานพยาบาลที่สมัครเข้าโครงการ  การติดตามและประเมินผล การควบคุมกำกับคุณภาพหน่วยบริการ รวมทั้งจะเป็นผู้รับเรื่องอุทธรณ์ จัดทำข้อตกลง, สัญญา ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจังหวัด ทำหน้าที่ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ  และการติดตามประเมินผล ควบคุม กำกับ  คุณภาพหน่วยบริการระดับจังหวัด (สรุป: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต เป็นผู้วางแผน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการตามแผน)

     ความคิดเห็นจากผมมองว่าเป็นการดีที่ สปสช.สาขาเขต จะทำเองตรงนี้ แต่น่าจะรับเป็นเจ้าภาพไปเลยทั้งการวางแผนและการดำเนินการ ในส่วนที่จะอาศัยกำลังคนจาก สปสช.สาขาจังหวัดนั้นก็เป็นวิถีที่สวยงามกว่า เนื่องจากที่ สปสช.สาขาเขตมีกำลังคนน้อย และดูแลหลาย ๆ จังหวัด แต่เป็นไปในลักษณะของการขอเชิญ (เน้นว่า...เชิญ) ให้ไปเป็นคณะทำงานตรวจประเมินประจำจังหวัด อาศัยตัวแทนจาก 3 ฝ่ายประกอบกัน คือ ภาคประชาชน (ผู้ใช้บริการ) ภาคเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเครือข่ายหน่วยบริการ (ผู้ให้บริการ) และภาคเจ้าหน้าที่จาก สปสช.สาขาจังหวัด+สาขาเขต (ผู้ซื้อบริการ) ดังนี้มุมมองของความชัดเจนว่าใครคือผู้ซื้อ หรือผู้ให้บริการจะชัดกว่าที่ผ่าน ๆ มา และเป็นการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างดี

     หากเมื่อความยังไม่มี สปสช.สาขาเขต ตรงนี้เมื่อ สปสช.สาขาจังหวัด ซึ่งก็คือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูค่อนข้างจะถูกมองว่าลำเอียง โดยเฉพาะจากสถานบริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ภาคเอกชน ในจังหวัดที่มีการเข้าร่วม อย่างที่พัทลุงไม่มี ก็ไม่มีปัญหาในส่วนนี้ แต่ก็มีมุมมองสะท้อนออกมาเช่นกันว่า ในกรณีของรัฐเอง หากผลการประเมินไม่ผ่านจะทำอย่างไร หากจะตอบเองว่าก็พัฒนาให้ผ่านเสีย ก็เป็นการตอบแบบขวานฝ่าซาก ซึ่งภายใต้ภาวะงบประมาณในภาพรวมของโครงการขณะนี้ ต้องตอบว่า อืม อืม ในลำคอ

     ผมย้ายประเด็นมาขยายต่อที่นี้ก็มุ่งหวังว่าจะได้ ลปรร.กันต่อจากกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ หวังไว้อย่างนั้นครับ

เมนูภารกิจ สปสช.สาขา ทั้ง8 ภารกิจ ที่ได้มีการวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นไว้ (เชิญคลิ้กติดตามไป ลปรร.กัน)
ภารกิจที่ 1 การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ
ภารกิจที่ 2 การลงทะเบียนผู้มีสิทธิ
ภารกิจที่ 3 การส่งเสริมการพัฒนา และควบคุม กำกับคุณภาพ หน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ
ภารกิจที่ 4 การมีส่วนร่วมภาคท้องถิ่น และภาคประชาชน
ภารกิจที่ 5 การคุ้มครองสิทธิ/รับเรื่องร้องเรียน/ประชาสัมพันธ์
ภารกิจที่ 6 การบริหารการเรียกเก็บ และเวชระเบียน
ภารกิจที่ 7 การบริหารกองทุน/หน่วยบริการคู่สัญญา
ภารกิจที่ 8 ภารกิจอื่น ๆ

หมายเลขบันทึก: 11504เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2006 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท