การให้บริการผู้ป่วยเบาหวานของ PCU เมยวดี


สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขใจของเข้าหน้าที่ PCU เมยวดีที่ได้ให้การดูแลผู้ป่วย

        เรื่องเล่าคราวนี้เป็นเรื่องที่ดิฉันได้ฟังจากงานประชุม"ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานครั้งที่ ๒" เป็นเรื่องที่เล่าโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพชุมชนเมยวดี (ซึ่งดิฉันไม่ทราบชื่อเนื่องจากแวะเข้าไปฟังอยู่ห่างๆ) เรื่องเล่าเรื่องนี้โดนใจดิฉันตรงที่เขาพยายามหาทางปรับการบริการให้เข้ากับบุคคลในชุมชน ไม่ไปดึงดันเอาตามความสะดวกของตนเอง ดังนั้นจึงอยากถ่ายทอดให้ท่านอื่นได้ฟัง ซึ่งอาจจะถ่ายทอดออกมาไม่หมด ถ้าเจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพชุมชนเมยวดีได้เข้ามาอ่านที่บล็อกนี้ ขอความกรุณาเล่าข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติมด้วยค่ะ

การให้บริการผู้ป่วยเบาหวานของ PCU เมยวดี

        PCU เมยวดีเปิดปี ๒๕๔๔ มีตำบลที่อยู่ในความดูแลด้วยกัน ๔ ตำบล มีผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบ ๑๐๒ คน การดูแลรักษาผู้ป่วยก็จะเป็นการรับยา พบหมอ แล้วก็กลับบ้าน ซึ่งจะใช้เวลาต่อคนประมาณ ๑๐-๑๕ นาที/คน/ครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะรู้จักผู้ป่วยมากขึ้น? เนื่องจากมีผู้ป่วยที่มา Readmit บ่อยครั้ง จะดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดได้อย่างไร? เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่มีอายุมากเดินทางมาหาลำบาก ต้องมีลูกหลานมาส่ง ในที่สุดก็ย้ายคลินิกลงไปที่หมู่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล (เรียกหมอประจำหมู่บ้านมาช่วยดูแล) นอกจากนั้นยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ป่วยว่าอย่านัดยายตรวจในวันพระได้มั๊ย เพราะยายต้องไปวัด ทางทีมงานก็พยายามปรับเวลานัดให้เหมาะสม

        ที่แรกที่ลงไปตรวจที่หมู่บ้านก็จะจัดทำเป็นคลินิกเจาะเลือด วัดความดัน พบหมอ (เนื่องจากแรกๆ มีหมอจากโรงพยาบาลชุมชนเมยวดีลงไปด้วย) แต่พอสนิทกับผู้ป่วยแล้วก็ให้หมอประจำหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล หมู่บ้านที่อยู่ใกล้จุดที่ทางทีมงานไปตั้งคลินิกก็ขอเข้ามาตรวจด้วย ทางทีมก็ให้เข้ามา และก็ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ป่วยให้ได้ยินว่า กระบวนการแบบนี้ดี ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องยื่นบัตร จองคิว และเวลาคุยกับผู้ป่วย พอสนิทกันผู้ป่วยก็กล้าเล่าให้เราฟัง เราก็จะบ่อยให้เขาเล่า (จะไม่ไปดุด่าเขา)

        ส่วนในเรื่องอาหารทางทีมก็พยายามแนะนำให้เขากินเท่านั้น เท่านี้ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ อย่าง Case ของยายแปลง มีอาชีพขายผัก อาหารเช้าที่ยายแปลงกินคือ กาแฟ หรือโอวัลติน กับปาท่องโก๋ซึ่งหาได้ง่ายในตลาด ซึ่งยายแปลงทำตามที่เรากำหนดให้ไม่ได้ เพราะอาชีพเขาต้องทานแบบนั้นจริงๆ เลยเป็นการตกลงยอมรับด้วยกันทั้งสองฝ่าย และพยายามหาหนทางเพื่อไปปรับวิธีการกินให้เข้ากับวิถีชีวิตของยายแปลง โดยให้รับประทานตามที่ทีมกำหนดในมื้อที่ทานที่บ้าน หรือมื้อที่สะดวกกับยายแปลง

        สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขใจของเจ้าหน้าที่ PCU เมยวดีที่ได้ให้การดูแลผู้ป่วย ตนเองดูแลผู้ป่วยมาได้ ๓ ปีแล้ว ตอนแรกไม่ได้มุ่งวัดที่ Outcome แต่ปรากฎว่าหลังๆ มาวัดพบว่าอัตราการ Readmit ของผู้ป่วยลดลง

เล่าโดย สุภาพรรณ ตันติภาสวศิน

           เจ้าหน้าที่เครือข่ายจัดการความรู้

หมายเลขบันทึก: 11476เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2006 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท