ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (8)


ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (8)

         ผมกำลังเล่าเหตุการณ์ในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1  เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.48   โดยผมลงทุนถอด (และเรียบเรียงเล็กน้อย) เสียงคำพูดของแต่ละคนเลยนะครับ   ในตอนที่แล้วได้ถอดคำเสนอแผนการดำเนินการระยะสั้นในปี พ.ศ.2549   โดยรองเลขาธิการ สพฐ.  นางอารีรัตน์  วัฒนสิน

         ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวของประธานในที่ประชุม   นายจาตุรนต์  ฉายแสง

         "ทำอย่างไรอย่าให้ละเอียดเกินไป   เวลานี้เรื่องการเรียนการสอนเราไม่ได้ต้องการให้เหมือนกันหมด   คือต้องการความแตกต่างหลากหลาย  แต่ที่เป็นอยู่เป็นความแตกต่างหลากหลายแบบผิด ๆ ถูก ๆ   หมายความว่าบางที่ทำได้  บางที่ทำผิดไปเลย   บางที่เข้าใจผิดไปเลย   หลากหลายแบบนี้เราไม่ต้องการ   เราต้องการให้เป็นแบบถูกถูกถูก   แต่แตกต่างกันได้   เช่นหลักสูตรท้องถิ่นก็ย่อมแตกต่างกันแน่นอนอยู่แล้ว   ความคิดสร้างสรรค์ในการสอนวิทยาศาสตร์   สอนคณิตศาสตร์ก็ย่อมแตกต่างกัน   แต่ไม่ใช่บอกว่าสอนตามที่เด็กสนใจ   เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ห้ามครูสอน  ครูสอนคือผิด   เพราะต้องเอาตามเด็กสนใจ   ยังมีความคิดอย่างนี้อยู่มาก   บูรณาการคือพาเด็กไปที่โบสถ์วัด   พื้นกว้างคูณยาวเป็นคณิตศาสตร์   ดูภาพฝาผนังเป็นศิลปะ   คือบูรณาการแบบเบื้องต้นมาก   แต่การเรียนแบบบูรณาการแบบซับซ้อนกว่านี้ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเรียนแบบบูรณาการคืออะไร   การคิดวิเคราะห์หลายประเทศเขามีเป็นหลักสูตรไปแล้ว   ของเราแสดงให้ดูได้ชัด ๆ อย่างเดียวคือคณิตศาสตร์   ปัญหาใหญ่คือครูไม่เข้าใจ   เพราะครูก็ไม่เคยเรียนมาแบบวิเคราะห์   ครูก็เรียนมาแบบจำเหมือนกัน   ทำอย่างไรให้คู่มือนี้ทำให้รู้ว่าใครต้องทำอะไร   จับเฉพาะเรื่องสำคัญ ๆ ที่ผิดเพี้ยนไปมาก ๆ ให้มันถูกเสีย   แล้วส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย   ระดมสติปัญญา  แต่ต้องมีคู่มือจากส่วนกลาง   ทำให้เขาเข้าใจ

         ช่วงแรกเราไม่มีแบบเรียน   ให้ครูเขียนเอง   ให้ตีความกฎหมายแบบสับสน  ปล่อยมานาน   ให้เข้าใจแตกต่างกันมาก   เกิดความแตกต่างหลากหลายแบบผิด ๆ ถูก ๆ   และที่ผิด ๆ มีอยู่เยอะในโรงเรียนเป็นหมื่น   เพราะความอัตคัดขัดสนของเขา   ทั้งขาดสื่อ  ขาดเครื่องมือ  และยังมีคำล้อเลียนที่บอกว่าครูชอบลอกกัน   ที่ทำให้ครูศึกษาต่อกันและกันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น   ไม่ได้เรียนรู้จากเรื่องราวผลสำเร็จดี ๆ จากกัน   ทำอย่างไรจะให้ครูได้รับรู้ความก้าวหน้าและเรื่องราวความสำเร็จของที่อื่น ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

         ต้องการให้เกิดความพอดีระหว่างความเข้าใจหลักการตรงกัน   กับการปฏิบัติที่แตกต่างหลากหลาย   ขออย่าให้คู่มือละเอียดเกินจนไปพันธนาการความคิด   ขอให้ไปปลดปล่อยความคิด"

          ผมได้เสนอความเห็นดังนี้   "ผมสนใจประเด็นหลัง ๆ ของท่านประธาน   ที่ว่าครูเข้าใจไม่ตรงกัน   ผู้บริหารเข้าใจไม่ตรงกัน   ต่อหลักเกณฑ์ที่ทางกระทรวงกำหนด   ผมคิดว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้น   เพราะการกำหนดนั้นกำหนดโดยภาพใหญ่ ๆ โดยหลักการ   เวลาปฏิบัติเขาจะต้องใส่ความเชื่อ  วิธีคิด ฯลฯ ของเขาลงไป   ดังนั้นวิธีทำให้ไม่เกิดความสับสนอย่างที่ท่านประธานต้องการต้องลงไปดูที่ผลงาน   ตัวผลสุดท้ายว่าอยู่ที่ไหน   แล้วให้ครูหรือผู้บริหารบอกว่าที่ได้ผลดีเช่นนั้นเพราะเขาตีความอย่างไร   เชื่ออย่างไร   ทำอย่างไร   แล้วเราจึงจะได้ความเข้าใจที่แท้จริง   คือในการสร้างความสำเร็จเขาต้องใส่ความเชื่อ  การตีความ  ความเข้าใจบริบทของท้องถิ่น ฯลฯ ลงไป"

ประธาน : ทำอย่างไรให้ได้เร็ว   ผมไม่คิดว่าทำ 2,000 โรงจะทัน

วิจารณ์ : ทำได้ครับ  ใช้วิธี KM ให้ท่านที่ปรึกษาเจือจันทร์ทำ   ผมขอแจกหนังสือเรื่อง KM

ประธาน : อยากให้ทำได้เร็ว

วิจารณ์ : ทำได้โดยวิธีการ Knowledge Sharing เอาความรู้จากความดีหรือความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ทำเป็นภาคก็จะทำได้เร็ว  ดร. เจือจันทร์จะเข้าใจ

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (1)

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (2)

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (3)

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (4)

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (5)

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (6)

         ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (7)

วิจารณ์  พานิช
 31 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 11462เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2006 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อาจารย์คะหนูได้อ่านบันทึกของอาจารย์ทั้ง 8 ตอนแล้วรู้สึกดีใจมากเลยค่ะว่าวงการการศึกษาคงจะได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้นในส่วนของอาชีวศึกษานั้นหนูก็ได้ทราบข่าวการเริ่มขยับทำ KM ซึ่งทางผู้บริหารตกร่องเดิมในการทำลักษณะสั่งการจากข้างบน บางครั้งหนูก็มานั่งนึกๆ นะคะ ว่าในส่วนของกระทรวงศึกษานั้น เราแยกส่วนในการบริหารจัดการเป็นแท่งๆ ซึ่งทั้ง 5 แท่งนั้นไม่มีนโยบายร่วมกันเลย การจัดการศึกษาก็ให้แต่ละส่วนต่างคนต่างจัดการกันไป การศึกษาของเราจึงเป็นลักษณะใครดีใครได้และมีการชิงดีชิงเด่นกันมาโดยตลอดฝังรากลึกจนถึงระดับสถานศึกษา ซึ่งแตกต่างจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งแต่ละกรมกองมีทิศทางเดียวกัน บางทีปัญหาหลักอีกปัญหาหนึ่งก็น่าจะเป็น ธง ของกระทรวงซึ่งแต่ละสำนักยังมุ่งไปสู่เป้าหมายของการศึกษาของชาติที่แตกต่างกัน หนูรู้สึกว่าไม่อยากให้ KM เป็นเรื่องของกระแส นะคะ เพราะเมื่อนำการจัดการความรู้มาใช้ประโยชน์แล้ว มีประโยชน์มากจริงๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท