แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้นแบบ


ห้องสมุดมีชีวิต

หลังจากที่ดิฉันได้บันทึกแจ้งข่าวว่า สำนักวิทยบริการ มข. ได้รับการประกาศยกย่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้นแบบ 1 ใน 31 แห่งของประเทศนั้น ก็มีผู้สอบถามเข้ามามากมายว่า สำนักวิทยบริการ มข. ดำเนินการอย่างไรจึงได้รับการยกย่องดังกล่าว และมีอีกเรื่องหนึ่งที่คนสนใจกันมากคือ ห้องสมุดมีชีวิตเป็นอย่างไร และทำอย่างไรห้องสมุดจึงจะมีชีวิต ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดังกล่าว จึงอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้สนใจ และผู้รู้ ผู้เล่นในเรื่องเหล่านี้ ดังต่อไปนี้

คำว่า ห้องสมุดมีชีวิต ได้มีผู้นิยามความหมายไว้มากมาย ซึ่งดิฉันได้สรุปไว้เป็นบทร้อยกรองเมื่อครั้งที่ได้ไปศึกษาดูงานห้องสมุดมีชีวิตหลายแห่งในกรุงเทพฯ เมื่อปลายปี 2548 ไว้ดังนี้

            "มาดูงานสามวันได้ความคิด    

              ห้องสมุดมีชีวิตเป็นไฉน   

              ได้คำถามถูกใจตอบทันใด                                              

              มีชีวิตนั้นไซร้คือไม่ตาย                             

                           คือบริการคนทุกวัยไม่จำกัด      

                           และจัดหาทรัพยากรที่หลากหลาย  

                           มีกิจกรรมการเรียนรู้อยู่มากมาย  

                           ให้ผู้ใช้ได้เรียนเล่นกินพร้อมกัน     

        ห้องสมุดมีชีวิตพิชิตโลก      

        ห้องสมุดมีชีวิตพิชิตอ่าน                         

        ห้องสมุดมีชีวิตทุกคืนวาร    

        คือห้องอ่านห้องเรียนเล่นที่สุขใจ"

สำหรับคำถามที่ถามว่า ทำอย่างไรห้องสมุดจึงจะมีชีวิต คำตอบที่อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันคือ จากประสบการณ์ของดิฉันที่ได้มารับผิดชอบกลุ่มภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ ได้จัดโครงการ/กิจกรรมในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2549-2550) ให้มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและหลากหลายขึ้น ทำให้มีผู้มาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้นและผลการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการก็เพิ่มขึ้นทุกปี โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ที่กลุ่มภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้จัดในช่วงปีงบประมาณ 2549-2550 มีดังนี้

โครงการส่งเสริมห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งมีกิจกรรมหลายกิจกรรมด้วยกัน อาทิ

การปรับปรุงด้านกายภาพ  สำนักวิทยบริการได้ปรับปรุงสถานที่ สภาพแวดล้อม และบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยได้ปรับปรุงภายในอาคารจากอาคาร 1 ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่เปิดใช้บริการมาร่วม 25 ปี ให้กลับมาเป็นอาคารที่ทันสมัย มีสีสันสดใส และมีชีวิตชีวา ทั้งสองอาคารได้จัดให้มีมุมสงบ มุมสบาย มุมพักผ่อน มุมบันเทิง มุมพูดคุยสนทนา ห้องศึกษาค้นคว้าเป็นกลุ่ม (Group Study) และมุมรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มในห้องสมุด (Library Cafe)                          

 จัดฉายภาพยนตร์หนังดังกลางมอ ทุกวันเสาร์ เวลา 11.30-14.00 น. โดยจะคัดเลือกแต่ภาพยนตร์ดี ๆ ดัง ๆ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มีคติสอนใจ ให้แนวคิดสร้างสรรค์ และนันทนาการไปพร้อม

จัดกิจกรรมภาษาอังกฤษดีมีชัยไปกว่าครึ่ง  โดยจัดอบรมการสื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันกับชาวต่างประเทศให้กับบุคลากรห้องสมุด และจัดอบรมการสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาที่ต้องการจะสมัครทำงานกับบริษัทต่างประเทศ

จัดโต้วาทีน้องใหม่ เพื่อให้นักศึกษาน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาได้มีเวทีแสดงออกในทางสร้างสรรค์ พัฒนาความสามารถและทักษะด้านการใช้ภาษาไทยและการพูดในที่สาธารณะอย่างถูกต้องเหมาะสม รู้จักคิดวิเคราะห์ มีปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบประเด็นที่เป็นปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด อันเป็นการสนับสนุนการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังทำให้นักศึกษาเกิดความรัก ความสามัคคีต่อกันระหว่างนักศึกษาทั้งภายในคณะและต่างคณะ และยังสร้างภาพลักษณ์ของสำนักวิทยบริการและประชาสัมพันธ์การบริการของห้องสมุดที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา

จัดนิทรรศการส่งเสริมการอ่านและใฝ่รู้ โดยจัดนิทรรศการเดือนละครั้ง ซึ่งนอกจากจะมีนิทรรศการจัดแสดงแล้ว ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จัดนิทรรศการก็จะนำมาจัดแสดงร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรสารสนเทศเหล่านั้นอย่างคุ้มค่า

จัดอบรมค่ายเยาวชนในภาคฤดูร้อน เรียกกิจกรรมนี้ว่า "Mini Summer Camp for Juvenile" เป็นกิจกรรมที่จัดเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 6-10 ปี มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการด้านความคิดและทักษะต่าง ๆ เช่น การวาดภาพระบายสี การผลิตของเล่น การเล่านิทานจากภาพ การต่อคำศัพท์ ทุกกิจกรรมจะมีสอดแทรกคำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้าไปด้วย

Video on Demand เป็นการจัดบริการผ่อนคลายความเครียดแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ผู้รับบริการสามารถดูหนัง ฟังเพลงในห้องสมุดได้โดยไม่รบกวนผู้อื่น

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ซึ่งมีกิจกรรมมากมาย เช่น การสร้างเว็บท่า (Portal) การผลิตรายการวีดิทัศน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งเสริมการรักการอ่าน ชี้แหล่งสารสนเทศภูมิปัญญาอีสาน บริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ และการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยราชการ และภาคเอกชน

โครงการส่งเสริมการรู้สารสนเทศ ได้แก่ กิจกรรมสำนักวิทยบริการประสานสัมพันธ์เป็นการออกบริการเชิงรุกนอกสถานที่เพื่อแนะนำการใช้ฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นตามคณะ/หน่วยงานต่าง ๆ

กิจกรรมเรียนรู้ก้าวไกลไปกับเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจกรรมห้องสมุดก้าวไกล นักวิจัยก้าวหน้า เป็นการอบรมการใช้ฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นให้กับนักศึกษา นักวิจัย เช่น E-database, E-Journal, E-Book เป็นต้น

Library Tour เป็นกิจกรรมนำชมห้องสมุด แนะนำการใช้บริการต่าง ๆ ในห้องสมุด  สำหรับผู้มาติดต่อด้วยตนเอง

Library Tour on Web เป็นกิจกรรมนำชมห้องสมุด แนะนำการใช้บริการต่าง ๆ ในห้องสมุดผ่านเว็บของสำนักวิทยบริการ 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ดิฉันมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินงาน ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่กลุ่มภารกิจอื่นได้ดำเนินการมาแล้วและดิฉันยังกล่าวไม่ครบถ้วน ท่านใดที่สนใจสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของสำนักวิทยบริการ มข.

 

หมายเลขบันทึก: 114362เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจนะคะ ที่สำนักวิทยาบริการ มข ได้รับเกียรตินั้น เห็นด้วย และดีใจมากๆ ในฐานะที่เป็นคนในมอจะให้ดี คือ การตรวจการแต่งกายผู้เข้าไปใช้บริการสักนิ๊ดด  ก็คงจะดีนะคะ เพราะเห็นน้องๆ เด็กๆ ใส่ขาสั้น รองเท้าแตะ กันเยอะเลย เนาะ

เพื่อความเป็นระเบียบ สวยงาม สมกับเป็นแหล่งเรียนรู้จริงๆ เพราะอย่างไรก็ตาม มันคือแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ของคนๆ หลายๆ กลุ่มคน ควรจะมีเกณฑ์สักหน่อยนึง

ขอบคุณมากค่ะ ที่มีข้อเสนอแนะดี ๆ สำนักวิทยบริการจะนำข้อแนะนำนี้ไปปรับปรุงและเคร่งครัดการแต่งกายในห้องสมุดมากขึ้นนะคะ

นายิกา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท