เริ่มต้นจัดการความรู้


บันทึกการจัดการความรู้ในองค์กรที่เริ่มต้นจากศูนย์...

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงไม่ใช่คณะแพทย์แรกสุดที่เริ่มการจัดการความรู้ในองค์กร แต่เป็นคณะแพทย์เพียงคณะเดียวในปัจจุบันที่มีรองคณบดีฝ่ายการจัดการความรู้ ดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ในคณะตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2548

เมื่อเริ่มจัดการความรู้นั้น คณบดี(รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์) ได้มอบหมายให้ผมเริ่มดำเนินการได้ทันที ผมจึงเริ่มปรึกษาท่านศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จากสคส. ถึงแนวทางที่ควรทำ และได้รับคำแนะนำหลายประการรวมถึงคำแนะนำให้บันทึกลงใน web blog ด้วย

การบันทึกการจัดการความรู้ของคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ใน blog นี้ จึงจะได้เล่าเรื่องการจัดการความรู้ในองค์กรตั้งแต่เริ่มต้น โดยหวังว่า ท่านที่ได้อ่านคงจะได้ช่วยกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้ทีมงาน KM ของคณะแพทยศาสตร์ นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และหวังว่าข้อความใน blog นี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอื่นที่เริ่มจัดการความรู้บ้าง ไม่มากก็น้อย

คำถามแรกที่ผมถูกถามจากศ.นพ.วิจารณ์ พานิชคือ คิดว่าจะจัดการความรู้ในองค์กรไปทำไม? เมื่อได้สนทนากับท่านอาจารย์ต่อไป จึงได้ข้อสรุปว่า เราควรเริ่มคิดถึงเป้าหมายของการจัดการความรู้ก่อน โดยเป้าหมายของคณะแพทยศาสตร์ ธรรมศาสตร์นั้น คิดถึง การเป็นองค์กรชั้นนำด้านการผลิตแพทย์ที่มีความรู้ดีเยี่ยม มีทักษะในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นเลิศด้านการทำงานในชุมชน โดยเราจะใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งเพื่อนำคณะฯไปสู่เป้าหมายนั้น เราคาดว่าการจัดการความรู้จะช่วยเพิ่ม สมรรถนะของอาจารย์ บุคลากร  ทีมงานต่างๆของคณะแพทย์ให้ทำงานหลักขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถสร้างและสะสมความรู้ที่จำเป็นและความรู้ใหม่ขององค์กรได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเริ่มประเมินตนเอง เราพบว่าคณะแพทย์ของเราไม่เคยมีการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ อย่างเป็นระบบมาก่อนเลย บุคลากรส่วนใหญ่ไม่เคยทราบความหมายที่แท้จริงของการจัดการความรู้ เมื่อถามว่าในคณะฯเคยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบหรือไม่ ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการฝึกอบรมต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่ เช่น การสอนใช้คอมพิวเตอร์ และสอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ หรือถามผู้บริหารระดับรองคณบดีหลายคนก็ได้คำตอบไม่เหมือนกัน ทำให้ผมนึกในใจว่า เรื่องแรกที่ต้องทำ คือต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า การจัดการความรู้หมายถึงอะไร

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ คือการสร้างทีมนำ โดยได้ทาบทามเจ้าหน้าที่จากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ งานการเจ้าหน้าที่ งานแผน งานคอมพิวเตอร์ อาจารย์หนุ่มสาว ได้ 6 คน มาร่วมทำงานเป็นทีมแบบ part time ก่อน(โดยขอให้แบ่งเวลา 2 วันต่อสัปดาห์เพื่อมาทำงานด้าน KM) โดยมีผมเป็นหัวหน้าทีมหรือ CKO(Chief knowledge officer) ผมได้ให้หนังสือ การจัดการความรู้ฉบับมือใหม่หัดขับ ให้ทีมงานไปอ่านก่อนประชุมทีมนำนัดแรก รวมทั้งให้ไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก www.kmi.or.th

การประชุม KM Team นัดแรกเกิดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค. 2548 เมื่อเริ่มประชุมผมได้สอบถามทีมงานว่าเข้าใจเรื่องจัดการความรู้หรือยัง ก็พบว่า เมื่ออ่านหนังสือหรือดู website แล้ว ส่วนใหญ่ตอบว่า อ่านไม่รู้เรื่อง ?!? ทำให้นึกถึงที่ท่านอาจารย์วิจารณ์เคยเปรียบเทียบว่าการจัดการความรู้เหมือนกับการหัดขี่จักรยาน ให้อ่านหนังสือวิธีขี่จักรยานให้ตายก็ขี่ไม่เป็นถ้าไม่เริ่มปฎิบัติ ทีมงานอยากให้ผมอธิบายเรื่องการจัดการความรู้ให้ฟัง ผมจึงเริ่มปวดหัวขึ้นมาทันที (ขอพักเล่าเรื่องก่อน โปรดติดตามต่อไปนะครับ) 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11423เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2006 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมจะติดตามครับ

วิจารณ์

ดิฉันเพิ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินงาน "ศูนย์ความรู้"  สังกัดส่วนงานที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่คือ "ส่วนงานประมวลและพัฒนาความรู้"  ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี่เองค่ะ  นับเป็นมือใหม่หัดขับอย่างแท้จริง  ขณะนี้ได้ทดลองขับขี่พาหนะชื่อ Intranet ในองค์กร   ซึ่งได้ความคิดและแนวทางมาจากการพูดคุย F2F กับเครือปูนซิเมนต์ไทยและ True ในงาน KM2 เมื่อวันที่ 1-2 ธ.ค.๔๘  ผ่านมายังไม่ครบเดือน ด้วยความเปิดกว้างของผู้บริหารทำให้ยานลำนี้แล่นฉิว  มีการปรับโฉมใหม่ใสปิ๊ง  เรียก Rating ได้น่าพอใจเชียวค่ะ 

ขอรอคอยตอนต่อไปเพื่อจะได้อาศัยเรียนรู้จากท่านด้วยค่ะ 

แวะมาเก็บ มาเรียนรูค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท