เปลี่ยน Sugar Clinic เป็นการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน


ทำงานเป็นทีม มีการประสานงานกันทั่วถึง มีมาตรฐาน

วันนี้ดิฉันเดินทางฝ่าสายฝนและน้ำท่วมถนนจากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ไปยังโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล เพื่อฟังการนำเสนอผลงานของ Care Team DM จากโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก

นำทีมมาโดยนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ร่วมทางคือคุณนุชเนตร ชูโชติ พยาบาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการทีมคร่อมสายงานอายุรกรรมและเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน Care Team DM และคุณปราณี จุลกศิลป์ พยาบาลผู้รับผิดชอบคลินิกเบาหวาน

โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด ๒๐๐ เตียง อยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อยู่ติดชายแดน ห่างจากประเทศมาเลเซียเพียง ๓๐๐ เมตร โรงพยาบาลผ่านการรับรองของ HA แล้วเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๗

วัตถุประสงค์ของ Care Team DM คือเพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการดูแลแบบองค์รวม อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ลดและป้องกันภาวะแทรกซ้อน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีส่วนร่วม

คุณหมอธงชัยเล่าว่าเดิมการบริการผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลก็เหมือนกับที่เป็นอยู่ทั่วๆ ไปคือเป็น "Sugar Clinic" ดูแต่ผลน้ำตาลในเลือดก็หมดเวลาแล้ว ในการพัฒนาคุณภาพจึงคิดว่าควรต้องมีบริการอย่างอื่นบ้าง เพราะจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการนั้นมีมากเป็นอันดับสามทีเดียว

โรงพยาบาลส่งพยาบาลมาอบรมหลักสูตรของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ๕ คน กลับไปทำงานและขยายผลต่อ สิ่งนี้ก็น่ายินดี เพราะทุกแห่งที่ได้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ทีมงานหลักๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผ่านหลักสูตรของสมาคมฯ ทั้งนั้น เปิดอบรมทีไร มีคนสมัครมามากกว่าจำนวนที่รับได้ทุกปี

ทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวาน มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น

- มีการลงทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้โปรแกรม Excel ง่ายๆ ที่คลินิก ทำให้รู้ข้อมูลและปัญหาของผู้ป่วย 
- มีการประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ในโรงพยาบาล เช่น ตา ศัลยกรรม จิตเวช ฝากครรภ์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุม  
- มีการประสานงานกับ PCU และชุมชน มี อสม./แกนนำชุมชนเป็นทีม "อาสาแคร์" ช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างโรงพยาบาลและชุมชน
- กิจกรรมให้ความรู้มีหลายรูปแบบ ทั้งในผู้ป่วยและผู้ป่วยนอก มีกิจกรรมค่ายเบาหวาน จัดที่โรงพยาบาล เพราะปลอดภัยที่สุด เภสัชกรที่นี่นอกจากต้องประเมินการใช้ยาของผู้ป่วย ให้คำแนะนำเรื่องยาแล้ว ยังต้องให้ความรู้เรื่องอาหารด้วยนะคะ เพราะทั้งโรงพยาบาลมีโภชนากรเพียงคนเดียว
- มีกิจกรรมชมรมรักษ์สุขภาพ ให้ผู้ป่วยมาเล่าประสบการณ์ของตนให้เพื่อนทราบ ช่วยสอนกันเอง และเป็นตัวอย่างให้กันและกัน โดยกำหนดกรอบเรื่องไว้ล่วงหน้าทั้งปี
- ไม่ลืมที่จะลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย เช่น การควบคุม BP ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จะส่งต่อไปให้งานจิตเวชดูแล เพื่อให้เลิกบุหรี่ได้

 นี่เป็นเพียงตัวอย่างงานส่วนหนึ่งของทีมนี้ค่ะ

ที่น่าชื่นชมคือมีการวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วย ปัญหาของการบริการ ทำกิจกรรมอะไรก็มีการประเมินผล มีข้อมูลแสดงให้เห็น

นอกจากการดูแลแล้ว ยังมีการส่งเสริมสุขภาพ การคัดกรองผู้ป่วยด้วย ดิฉันเล่าไม่หมด แต่จะติดต่อคุณหมอธงชัยและทีมงานให้เล่าเรื่องและประสบการณ์ผ่าน blog ของเรา

คุณหมอธงชัยสรุปจุดเด่นของการทำงานว่า "ทำงานเป็นทีม มีการประสานงานกันทั่วถึง มีมาตรฐาน" และบอกว่าอีก ๒ ปี จะสามารถบอกประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ เห็นตัวเลข เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน เชื่อว่าผลงานจะสามารถเทียบกับที่อื่นๆ ได้

คุณหมอธงชัยสนใจเรื่องค่ายเบาหวาน อยากทราบว่าเขาทำกันอย่างไรบ้าง ดิฉันเลยถือโอกาสแนะนำ blog ของเราด้วยเลย

ทางบริษัท Terumo ก็มีแนวคิดอยากจะสร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ดิฉันจึงเสนอให้มาสนับสนุนเครือข่ายของเรา

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘

 

หมายเลขบันทึก: 1142เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2005 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

KM เป็นเรื่องของการเชื่อมโยง    เครือข่ายเบาหวานดูจะเชื่อมโยงเก่งมาก

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท