ปัญหาน้ำตาลภายในประเทศ


อ้างหน้าตาเฉยว่าเป็นการปรับราคาตามตลาดโลก ทั้งๆ ที่ตนเองเคยหากินอยู่กับระบบที่ไม่ปรับราคาตามตลาดโลกมาโดยตลอด

                    ปัญหาน้ำตาลภายในประเทศกำลังทำท่าว่าจะบานปลาย

          ประชาชนผู้บริโภคกำลังเดือดร้อน เพราะน้ำตาลเริ่มขาดตลาด มีพ่อค้าฉวยการโก่งราคาขาย บางพื้นที่ราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ทั้งๆ ที่ราคาน้ำตาลในประเทศถูกควบคุมไว้ที่กิโลกรัมละ 14.25 บาท

          สงสัยว่า ทำไมน้ำตาลถึงกลายเป็นของหายาก และมีราคาแพงขึ้น?

          อยู่ดีๆ มีมดยักษ์มาขโมยกินน้ำตาลในบ้านเราไปจนหมดประเทศหรือก็เปล่า?

          จริงๆ เรื่องนี้ เป็นเรื่อง "ผลประโยชน์เพียวๆ" เป็นเรื่องของคนที่อยากจะได้กำไรแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สนใจใยดีว่าผู้บริโภคจะเดือดร้อนอย่างไร?

          ไม่สำนึกว่าระบบค้ำขายน้ำตาลแบบเดิมเคยเกื้อกูลตัวเองมาอย่างไร ?

          หากจะเข้าใจปัญหาน้ำตาลตอนนี้ ต้องมองภาพรวมในอดีตกันเสียก่อน ประเทศเราเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายไปขายในตลาดโลกมานาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเปรมเป็นต้นมา รัฐบาลก็มีนโยบายให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย และธุรกิจโรงงานน้ำตาลผูกขาดโดยรวมหัวกันขายน้ำตาลราคาสูงในประเทศและส่งออกต่างประเทศตามราคาตลาดโลก ที่ผ่านมา บางครั้งน้ำตาลทรายในตลาดโลกราคาถูก เพียงราคากิโลกรัมละ 3-4 บาทเท่านั้น แต่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลของไทยก็ยังคงขายน้ำตาลทรายภายในประเทศในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 13บาท ก็เพราะการรวมหัวกันจำกัดปริมาณขายในประเทศให้น้อยและห้ามนำเข้าจากต่างประเทศ เรียกว่า ขายออกไปนอกประเทศถูกๆ แต่ขายให้คนไทยในประเทศแพงๆ คนในประเทศถูกมัดมือมัดเท้า จะซื้อน้ำตาลราคาถูกในตลาดโลกเข้ามากินก็ไม่ได้ ต้องถูกบังคับให้กินน้ำตาลราคาแพงของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยมาอย่างยาวนาน สร้างระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการขายน้ำตาลภายในประเทศและการส่งออกน้ำตาล โดยเอาเงินผลประโยชน์ที่ได้มาแบ่งปันกันกินระหว่างโรงงานน้ำตาลกับชาวไร่อ้อย พูดง่ายๆ ว่า ปฏิเสธระบบการค้าเสรีตามราคาตลาดโลก แต่ใช้ระบบรวมหัวผูกขาดน้ำตาลในประเทศเพื่อหาผลประโยชน์มาแบ่งกันกิน นับเป็นการกระทำขูดรีดราคาและผลประโยชน์จากประชาชนผู้บริโภคน้ำตาลในประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน
           พอมาถึงวันนี้ ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวแพงขึ้น กิโลกรัมละประมาณ 17-20 บาท แต่น้ำตาลในประเทศยังถูกควบคุมราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.25บาท บรรดาโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเห็นราคาในตลาดโลกแล้วก็น้ำลายไหล อยากส่งน้ำตาลออกไปขายในตลาดโลกเยอะๆ หากใช้ระบบการค้าเสรีตามกลไกตลาดโลก ราคาน้ำตาลในประเทศก็จะต้องสูงขึ้นพอๆ กับราคาในตลาดโลก ไม่อย่างนั้นโรงงานน้ำตาลก็จะส่งน้ำตาลออกไปขายนอกประเทศกันหมด
           แต่ที่ติดอยู่ตอนนี้ ก็คือผลกรรมของระบบผูกขาดน้ำตาลในประเทศ เพราะได้เคยมีการกำหนดปริมาณการขายน้ำตาลในประเทศ และปริมาณน้ำตาลเพื่อส่งออกเอาไว้ ซึ่งการกำหนดโควต้าอันนี้นี่เอง ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือในการรวมหัวผูกขาด หากำไรพิเศษ ขายน้ำตาลราคาแพงพิเศษให้ผู้บริโภคในประเทศ ยามที่น้ำตาลตลาดโลกราคาถูกในอดีต แต่บัดนี้ บรรดาโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ต่างพากันออกมาเรียกร้องกดดันขอให้ปรับราคาน้ำตาลภายในประเทศให้แพงขึ้น

โดยอ้างหน้าตาเฉยว่าเป็นการปรับราคาตามตลาดโลก ทั้งๆ ที่ตนเองเคยหากินอยู่กับระบบที่ไม่ปรับราคาตามตลาดโลกมาโดยตลอด
 

          เรียกว่า จะไม่ยอมรับระบบเดิม อยากจะกินทั้งขึ้นทั้งล่อง ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยออกหน้า ถึงขนาดออกมาข่มขู่ว่า จะไม่ตัดอ้อยส่งให้โรงงานน้ำตาล ฝ่ายโรงงานน้ำตาลก็อยากให้ขึ้นราคาขายน้ำตาลในประเทศ แรงกดดันส่วนหนึ่งก็เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชันวัตร นายกรัฐมนตรี ไปหาเสียงกับชาวไร่อ้อยเอาไว้ บังคับให้รับซื้ออ้อยตันละ 800บาท พร้อมกับอ่อยว่าจะปรับระบบการค้าอ้อยน้ำตาลภายในประเทศใหม่ตามตลาดโลก เรียกว่า ฉวยโอกาสหาเสียงจากสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกราคาแพง แต่ทำร้ายประชาชนผู้บริโภคน้ำตาลภายในประเทศ!
           หากประชาชนผู้บริโภคในประเทศต้องซื้อน้ำตาลราคาแพงขึ้น ผลประโยชน์ที่โรงงานน้ำตาลได้รับเพิ่มขึ้น และผลประโยชน์ที่ชาวไร่อ้อยได้รับเพิ่มขึ้น ก็ไปล้วงมาจากกระเป๋าสตางค์ของประชาชนผู้บริโภคนั่นเอง เท่ากับว่า รัฐบาลไปเอาเงินของผู้บริโภคมาหาเสียงกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล! จะต้องคอยจับตาดูว่ารัฐบาลจะแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่กำหนดระบบรวมหัวผูกขาดไว้อย่างไร? รัฐบาลนี้จะทำลายระบบที่รัฐบาลเปรมวางไว้อย่างไร? จะต้องรับศึกกับโรงงานน้ำอัดลมและโรงงานท็อฟฟี่อย่างไร? ถ้าจะใช้ระบบตลาดจริงๆ ก็น่าคิด แต่ไม่เชื่อว่า ถ้ารัฐบาลปล่อยให้ขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศแล้ว ระบบรวมหัวผูกขาดขูดรีดผู้บริโภคในประเทศจะหมดไป เพราะยามใดที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกถูกลง เช่น ราคาตกลงไปอยู่แถวๆ 3-5 บาทต่อกิโลกรัม โรงงานน้ำตาลกับชาวไร่อ้อย ก็จะออกมาเคลื่อนไหว เดินเกมการเมือง ล็อบบี้ กดดันเรียกร้อง เพื่อผูกขาดกำหนดราคาขายในประเทศให้แพงพิเศษ หรือให้เอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยอุ้มระบบอ้อยน้ำตาลอีกเหมือนเดิม สินค้าน้ำตาล ก็จะกลายเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ แต่ใช้สองระบบขูดรีด ที่ทำให้ประชาชนผู้บริโภคในประเทศจะต้องซื้อน้ำตาลราคาแพงเสมอ ไม่ว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจะเป็นอย่างไร 

ก็เรื่องแบบนี้ นักธุรกิจผูกขาด หรือนักสัมปทานผูกขาด เขาถนัด!

ที่มา  แนวหน้า

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11413เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2006 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เมื่อตอนเที่ยงดูทีวีช่อง 3 เขาว่ารัฐบาลบังคับให้สรรพากรเดินเคาะประตูร้านทุกร้านเพื่อเก็บภาษีอ่ะ งานนี้ดิฉันอ่วมแน่ๆ คะ Y-Y สงสัยว่าจะได้ปิดร้านไปกรีดยางก็คราวนี้ และก็แว่วๆ ว่าถ้ารัฐถังแตกมากๆ ก็จะขึ้น VATT ด้วยน่ะเจ้าค่ะ ปกติแค่ 7% เวลาจ่ายบิลทีก็น้ำตาจะร่วงอยู่แล้ว ถ้าขึ้นอีกคราวนี้คงได้กินเลือดกันมั่งแหละค่ะ T-T
ก็รัฐฯ นำเงินไปใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง คำนึงถึงอนาคตของตนและพวกพ้อง เขาไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน เพราะถ้าทำเพื่อประโยชน์ยั่งยืนแล้ว เขาและพวกพ้องก็จะรวยทั้งเงินและความดีอย่างยั่งยืน ขอให้เขาคิดได้โดยเร็วตาสว่างโดยเร็วเถิด
ถึงอย่างไรก็แล้วแต่คนกินเงินเดือนก็ต้องจ่ายภาษีตามจริง ส่วนนักธุรกิจทั้งหลายไม่ได้เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าเงินเดือนหรอก ทำใจให้สงบ ใช้สติ แล้วหาทางทำงานเพิ่มขึ้น เราต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
ก็ให้ข้อควรปฏิบัติไว้ดังนี้นะ
         1. ใช้ปัญญาขยันแสวงหาทรัพย์เพิ่ม
         2. ใช้และรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ด้วยปัญญา
         3. คบมิตรที่เป็นกัลยาณมิตร ใช้ปัญญาแปลเอาตาม  ฐานะภูมิความรู้
         4. เลี้ยงชีวิตใช้จ่ายตามสมควรแก่ฐานะของตน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท