งานหนักที่ลอยหายไป (เอกสารผลงานการขอตำแหน่ง ผศ.)


บันทึกก่อนหน้านี้ (“พอแล้ว พอกัน”) ผมได้เล่าเรื่องการขอตำแหน่ง ผศ. ของผมให้คุณได้อ่านพร้อมตบท้ายด้วยคำถามขอความเห็นในการเลือกเส้นทางการทำงานของผมให้คุณช่วยตอบ

ในบันทึกนั้นผมได้บอกถึงสิ่งที่ผมได้ทราบอย่างไม่เป็นทางการจากทางคณะฯ ว่า “ผลงานทางวิชาการของผมหาคนอ่านได้ยากเหลือเกิน” คนที่ยอมรับที่จะอ่าน 4 คนแรก ส่งกลับมาก็เพียงแค่ 2 คน คณะฯ จะหาคนอ่านเพิ่มอีกคนให้ครบ 3 ก็หายากหาเย็น

เมื่อหาคนอ่านอย่างเป็นทางการไม่ได้ ก็มาอ่านกันเล่นๆ ดูแล้วกันนะครับ เอกสารเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ เพราะตอนนั้นเขาบอกผมว่ามหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ทำเอกสารภาษาอังกฤษ ผมก็ไม่รอช้าทีเดียว ด้วยความที่พึ่งจบกลับมาแค่ปีกว่าๆ ภาษาอังกฤษยังกระชับอยู่ แถมศัพท์แสงต่างๆ ด้านนี้ก็เป็นภาษาอังกฤษ เขียนภาษาอังกฤษเลยกลายเป็นเขียนง่ายกว่าภาษาไทยไป

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเอาเอกสารผลงานทางวิชาการพวกนี้ที่อยู่ระหว่างการประเมินออกมาให้อ่านกันนี่จะ “ผิดระเบียบ” อะไรหรือเปล่า แต่ถ้าผิดระเบียบ ระเบียบนั้นก็ไร้สาระอย่างน่าตกใจ เพราะผลงานทางวิชาการที่ดีที่เจ้าของมีความมั่นใจในผลงานตัวเอง ตัองสามารถเปิดเผยแก่สาธารณะชนได้ ถ้าเปิดเผยไม่ได้ต้องแอบๆ ซ่อนๆ แล้วจะเป็นผลงานทางวิชาการที่ดีได้อย่างไร เอาเถอะ ถ้ามันจะผิดระเบียบก็ให้มันรู้กันไป (ว่าประเทศไทยมีระเบียบอย่างนี้ด้วย)

ผมส่งผลงานทางวิชาการเพื่อการขอตำแหน่ง ผศ. ประเภท “สิ่งประดิษฐ์” ครับ สิ่งประดิษฐ์ของผมคือโปรแกรมชื่อ BlogExpress ที่หลายๆ คนได้มีโอกาสใช้กันแล้ว

เพื่อการส่งสิ่งประดิษฐ์นี้เพื่อพิจารณาผมเขียนเอกสารประกอบด้วย ได้แก่

1. BlogExpress Technical Report (PDF) เป็นรายงานอธิบายในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนา รวมทั้งการรายงานความสำเร็จของโปรแกรมนี้ และตัวอย่างของการที่โปรแกรมนี้ได้มีการนำไปใช้

2. BlogExpress User Manual (PDF) นี่เป็นคู่มือการใช้งานโปรแกรม BlogExpress

3. BlogExpress: Tools of the Trade for Knowledge Management (PDF) นี่เป็นบทความสั้นๆ (8 หน้า) ถึงประโยชน์ของ BlogExpress เพื่อการจัดการความรู้ ผมเห็นประโยชน์ของ Blog กับการจัดการความรู้มานานแต่ผมทำ dissertation เกี่ยวกับ User Modeling ก็ไม่เกี่ยวกับ KM จนกระทั่งจบกลับมา (พ.ศ. 2545) จึงได้มีโอกาสนั่งเขียนโปรแกรม BlogExpress และได้แจกจ่ายให้ใช้ในปี พ.ศ. 2546 ด้วยความหวังว่าจะพัฒนาให้กลายเป็น “the tool of the trade” for KM เนื้อหาในบทความนี้ตอนหลังได้ใช้ใน proposal เพื่อขอทุนจาก สกว. (และ สคส.) ด้วย

4. BlogExpress CD (PDF) นี่เป็นหน้าปก CD ที่ผมทำให้คนอ่านเพราะสิ่งที่ผมส่งให้พิจารณาเป็นหลักคือสิ่งประดิษฐ์ (ตัวโปรแกรม) ดังนั้นผมเลยทำ CD ให้ด้วย คนอ่านจะได้ไม่ต้อง download เอง ส่วนท่านที่อ่านจากตรงนี้ อย่าลืม download โปรแกรม BlogExpress มาใช้ด้วยนะครับ ใช้ตอนนี้อาจไม่รู้สึกว่าเป็นโปรแกรมที่แปลกใหม่อะไร แต่ขอให้นึกว่าโปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมประเภท RSS Reader ตัวแรกๆ ของโลกที่มีให้ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ตั้งแต่สมัยแม้กระทั่งคนในอเมริกาก็ยังไม่รู้จัก RSS นะครับ

5. BlogExpress Source Code (PDF) เนื่องจากผมส่งสิ่งประดิษฐ์ ดังนั้นผมเลยแนบ source code ของ BlogExpress ให้คนอ่านด้วย แต่ที่นำมาให้อ่านกันนี้เป็นแค่ 4 แผ่นแรกของเอกสารนี้นะครับ เพราะแม้ BlogExpress จะเป็น freeware แต่ไม่ได้ open-source และตอนนี้กำลังใจที่จะทำการ open-source เจ้า BlogExpress นี้ เหลือประมาณศูนย์กว่าเปอร์เซ็นต์ ผมจึงยังไม่ขอเปิดเผย source ก่อน เอกสารนี้เลยให้คุณเห็นได้แค่ 4 แผ่น ต้องเป็นคนอ่านอย่างเป็นทางการครับ ถึงได้เห็น source code

ที่น่าเสียใจก็คือคนอ่านอย่างเป็นทางการ 2 คนใน 4 คน ได้เห็น source code แล้ว แต่ไม่ได้ส่งแบบประเมินกลับมา คณะฯ บอกว่าติดต่อหาตัวไม่ได้เลย กลายเป็นบุคคลสาบสูญที่คณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ ติดต่อไม่ได้ไปแล้ว

ที่จริงแล้ว ผมไม่กลัวและไม่ว่าเลยสักคำถ้าจะประเมินผมผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ขอให้ส่งเอกสารการประเมินกลับครับ การไม่ส่งกลับนี่คือการทำร้ายชีวิตผมเป็นเวลา 1 ปี กับ 4 เดือน เพราะคณะฯ ก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ระบบบอกว่าต้องรอ และรอ และรอ และรอ ไปจนกว่าคนอ่านจะส่งกลับมา แล้วชีวิตผมก็ต้อง รอ รอ และรอ อย่างทำอะไรไม่ได้ ไม่น่าเชื่อว่านี่คือระบบในวงการวิชาการของไทย

ผมถอดใจไปแล้วเรื่องการขอตำแหน่งครั้งนี้ ผมเริ่มรู้ตัวว่าผมขาดความสามารถที่จะอยู่กับระบบที่ชีวิตของเราอยู่ในมือคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง ตอนผมเรียนปริญญาเอก ผมคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเกือบทุกวัน (ปัจจุบันก็ยัง chat กัน online) และทุกสัปดาห์ผมจะได้คุยกับ committee คนใดก็คนหนึ่งนิดๆ หน่อยๆ ไปเรื่อยๆ แต่พอมาเจอระบบที่เราไม่รู้ว่าใครอ่านงานของเรา ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง ไม่มีสิทธิ์ทำอะไรทั้งนั้น ต้องรอฟังผลอย่างเดียว นานแค่ไหนก็ต้องคอย ผมงงครับ เสียศูนย์และเสียความสามารถในการทำงานไปเยอะ เพราะไม่รู้ว่าควรทำงานอย่างไรถึงจะสอดคล้องกับระบบแบบนี้ได้

ผลของการขอตำแหน่งทางวิชาการครั้งนี้สอนผมหลายอย่าง อย่างที่สำคัญที่สุดคือผมเรียนรู้ว่า “ไม่ว่าจะพร้อมทำงานหนักแค่ไหน ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ในบางระบบ” เพราะผมตั้งใจไว้ว่าถ้าคนอ่านส่งแบบประเมินกลับมาภายใน 45 วันตามกำหนดจริงๆ แล้ว แม้ทุกคนจะให้ไม่ผ่าน ผมก็พร้อมที่จะทำงานหนักแก้ไขและส่งใหม่ ผมไม่กลัวไม่ผ่านเลยจริงๆ เพราะผมพร้อมและตั้งใจที่จะทำงานหนักให้ผ่านอยู่แล้ว จะกี่ครั้งกี่รอบผมก็สู้ สมัยเรียนผมแก้ dissertation ของผมสักร้อยรอบได้มั้ง ดังนั้นเรื่องนี้ผมมีประสบการณ์และพร้อมจะทำ แต่การไม่ส่งกลับมาเป็นเวลาถึง 1 ปี 4 เดือนนี่สิ การพร้อมทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่ได้ทำ ต้องรออย่างเดียว และเป็นการรออย่างไม่มีจุดหมายอีกต่างหาก

ผมบอกตรงๆ ครับ ว่าผมไม่อยากเชื่อว่านี่คือระบบวิชาการของประเทศไทย ยอมแพ้ครับ แพ้อย่างหมดเชิงทีเดียว บอกตรงๆ ว่าไม่รู้จะทำอะไรต่อไปกับชีวิตการทำงานดี จะเป็นนักวิจัยที่ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ เป็นได้ไหม จะเป็นอย่างไรดี เพราะถ้าระบบเป็นอย่างนี้แล้วถ้าผมขอตำแหน่งอีกครั้งผลลัพธ์ก็เหมือนเดิม คือ “ไม่อ่าน ไม่ส่งกลับ ไม่ติดต่อกลับ” มันก็ไม่มีประโยชน์

หรือหาทางออกจากระบบออกมาก็ติดว่าต้องใช้ทุนอีก จริงๆ ถ้าต้องใช้ก็เหลือแค่ 4 ล้านเอง ถ้าตั้งใจทำงานเก็บเงินผ่อนก็น่าจะไหว

ไม่น่าเชื่อว่าทั้งๆ ที่ตั้งใจมาทำงานใช้ทุนให้เต็มที่แล้ว กลับต้องมานั่งคิดอย่างนี้ บางสิ่งบางอย่างในชีวิตช่างนอกเหนือความคาดหมายจริงๆ

คำสำคัญ (Tags): #มหาวิทยาลัย
หมายเลขบันทึก: 11359เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2006 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ระบบที่เป็นปัญหาน่าจะเป็นระบบการจัดการของคณะนะครับ เพราะระบบที่ผู้อ่าน(reviewer) ต้องไม่ได้รับการเปิดเผยนี่ค่อนข้างเป็นปกติ
ิไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในการอ่านเอกสารวิชาการบางประเภท
เพื่อให้ความเห็นแม้แต่คนแต่งเขาก็ไม่เปิดเผยให้ผู้อ่านรู้ ทั้งสองกรณีเพื่อป้องกันการลำเอียงหรือการเข้าหาผู้อ่าน
และการจะเปิดเผยนี้มักกระทำต่อเมื่อมีการอุทธรณ์  แย้งความเห็นของผู้อ่าน ซึ่งในเมืองไทยก็เคยมีการยื่นเรื่องที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร
เพื่อให้เปิดเผยชื่อผู้อ่าน 

อีกทั้งระเบียบก็กำหนดเวลาให้ส่งคืนไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานตามที่ควรมากกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะติดต่อผู้อ่านไม่ได้โดยสิ้นเชิงเป็นปีๆ

จากประสบการณ์
ไม่รู้ไปเหยียบหัวแม่เท้าผู้ใหญ่ในภาค ในคณะไว้มั่งเปล่า หรือความสัมพันธ์กับงานธุรการคณะเป็นอย่างไร ? จนสั่งราชการ เดินงานกันเป็นหนังสติ๊กขนาดนี้ เรื่องนี้คงต้องคิดดูเอา เพราะเรื่องที่ว่ามาไม่ใช่ปัญหาที่ระบบทั้งหมดหรอกครับ

เห็นอ.ธวัชชัยระบายความอัดอั้นมา 2 ตอนแล้ว หวังว่าตอนนี้คงรู้สึกดีขึ้นแล้ว  ลองทบทวนอีกทีอาจจะเจอทางเลือกที่ดีก็ได้  ขอเป็นกำลังใจค่ะ

คิดว่าทางที่ดีน่าจะอยู่ที่ว่า อาจารย์รู้สึก "พอเพียง" และ "พอใจ" ในชีวิตอย่างไรมากกว่า

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้ที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป พร้อมกับการ"คิดได้" ในที่สุดค่ะ

 

ขอเป็นกำลังใจให้อ.ธวัชชัยครับ ความรู้สึก "ท้อ" ผมว่าคงเกิดกับทุกคน แต่สิ่งสำคัญท้อได้แต่ "ไม่ถอย" ครับ
 น่าสงสาร อาจารย์จังเลย อุตส่าทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจ เอาใจช่วยอาจารย์คะ สู้ต่อไป สู้ๆๆ
เช้านี้พอมีเวลา เลยได้อ่านบทความของอาจารย์อีกเรื่อง  ในความเห็นของผมอาจารย์กำลังจะยอมแพ้ โดยถอดใจเรื่องนี้เสียแล้ว ซึ่งน่าเสียใจมาก ตำแหน่งของเราแท้ๆ เงินประจำตำแหน่งก็ของเราแท้ๆ ทำไมเราไม่ต่อสู้ต่อไปครับ ผมยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในกรณีของอาจารย์เลยนะครับ
1. อาจารย์ฟังมาจากใครครับว่า เรื่องของอาจารย์หาคนอ่านไม่ได้ อาจารย์ลองสอบย้อนกลับไปซิครับว่ามันเป็นจริงตามที่เขาบอกหรือไม่ เอาง่ายๆ อาจารย์ลองถามจากคณะดูว่า เรื่องของอาจารย์มีใครเป็นกรรมการชุด บี ที่เลือก reviewer แล้วติดต่อไปที่กรรมการเหล่านั้นสักท่านสองท่าน ถามดูให้แน่ใจว่าเรื่องของอาจารย์มีปัญหาอะไร เป็นจริงอย่างที่อาจารย์เชื่ออยู่ตอนนี้หรือเปล่า หลายครั้งอาจไม่เป็นจริงตามนั้น ผมจึงไม่แนะนำให้อาจารย์เชื่อเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อมากนัก (ดังความเห็นจากกระทู้เก่า ก่อนหน้านี้) ยกเว้นว่าได้สอบทวนจนแน่ใจแล้วว่าเป็นอย่างนั้นจริง ถ้าเป็นปัญหาอย่างที่อาจารย์ว่าไว้จริง
2. มันไม่แปลกที่กรรมการชุด บี ที่จะไม่รุ้ว่าในประเทศนี้ มีใครที่สามารถประเมินผลงานของอาจารย์ได้ เพราะในโครงสร้างของกรรมการ อาจไม่มีกรรมการใน field ที่เข้าใจผลงานของอาจารย์และรู้จักว่าควรจะให้ใครอ่าน  แต่เขาก็ได้พยายามทำงานของเขาแล้ว โดยคัดเลือกมา 4 ท่านให้อ่าน แต่มีปัญหาที่อีก 2 ท่านแกล้งลืมว่าตัวเองมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ นี่เป็นความสามารถของคนในระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่ปัญหาของระบบ กลับมาต่อเรื่องนี้ดีกว่า ก่อนที่ผมจะพาออกนอกเรื่องอีก ทีนี้ถ้าเขาหมดปัญญาทำงานของเขาที่เป็นเรื่องของเรา ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยเหลือเขาแก้ปัญหา เพื่อให้เรื่องของเราผ่านให้ได้ อาจารย์ลองคิดดูซิครับว่า ผลงานของอาจารย์นี้ ในมหาวิทยาลัย มีใครมีความสามารถอ่านเข้าใจ และ ให้คะแนนผลงานของอาจารย์ได้ และในส่วนนอกมหาวิทยาลัยมีใครที่สามารถทำเช่นนั้นได้ อาจารย์อย่าตอบนะครับว่าไม่ทราบเหมือนกัน เพราะนั่นก็จะทำให้อาจารย์ไม่ต่างจากกรรมการเหล่านั้น การบ้านของอาจารย์มีเพียงเท่านั้นจริงๆ หารายชื่อผู้ที่อาจารย์คิดว่าเหมาะสมมา อย่างละ 5 ชื่อ (ภายในมหาวิทยาลัย 5 ชื่อ และภายนอกมหาวิทยาลัยอีก 5 ชื่อ) และเสนอให้กรรมการชุด บีทราบ ว่าในความเห็นของอาจารย์ถ้าเขาหาคนที่เหมาะสมให้อ่านไม่ได้ อาจารย์คิดว่ามีบุคคลที่สามารถอ่านผลงานของอาจารย์ได้เข้าใจและสามารถให้คะแนนได้นั้นมีรายชื่อดังต่อไปนี้ ที่นี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าเขาจะเอาเรื่องของเราเข้าพิจารณาแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการเก่าที่ไม่รับผิดชอบ เมื่อไร ตามให้ติดนะครับอาจารย์ ไม่งั้นอาจารย์จะเสียเวลาคอยอีก เพราะกรรมการชุดนี้เขาไม่ได้ประชุมบ่อยนัก ในความเห็นของผม ผมคิดว่าถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ น่าจะไม่มีปัญหาแล้ว
คำแนะนำเพิ่มเติม
1. หมั่นเติมกำลังใจให้ตนเอง เพราะในราชการ มีปัญหาสารพัดที่บั่นทอนกำลังใจ ทีมงานที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี คนรอบข้างที่ดี สามารถช่วยได้ค่อนข้างมาก เมื่อไรที่มันสุดๆ แล้วจริงๆ หาเวลาหยุดพักบ้าง ปล่อยมันทิ้งไว้เสียบ้าง อะไรที่เป็นเรื่องด่วน ตั้งทิ้งไว้เดี๋ยวมันก็ไม่ด่วนแล้ว การที่เราหยุดพักบ้าง ไม่ได้ขลุกอยู่กับปัญหา ทำปัญญาให้ปลอดโปร่ง บางครั้งมันช่วยให้เราหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ หรือถ้าไม่ได้อย่างน้อยก็ช่วยให้เราสบายใจขึ้น
2. ในระบบราชการ อย่าเชื่อเจ้าหน้าที่ เพราะหลายครั้งคำตอบมาจากผู้ที่ไม่รู้จริง ให้สอบทานจากเอกสารราชการเรื่องนั้นๆ ว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่
3. connection ที่ดี ช่วยให้การประสานงานเป็นไปได้ด้วยดี เรื่องนี้ใช้ได้ดีในระบบราชการ ซึ่งผมคิดว่าบางครั้งเราใช้เรื่องนี้มากกว่าบริษัทเอกชนด้วยซ้ำ หมั่นทักทายทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ทั้งที่ภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัย การที่เรามีคนรู้จักในที่ต่างๆ ช่วยให้เราติดตามเรื่องต่างๆ ได้ค่อนข้างง่าย
4. เลิกโวยวาย ตีโพยตีพาย หยุดให้นิ่ง ใช้สติ ทุกปัญหามีทางแก้ อย่าทำเพื่อประชด เหมือนที่อาจารย์กำลังทำอยู่ในบล็อกนี้ มันไม่ผิดหรอกครับที่อาจารย์ทำ แต่มันเหมาะสมหรือเปล่า ยังดีที่อาจารย์ยังมีสติไม่เปิดเผย source code ออกมาด้วย ไม่อย่างนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้จะมีแต่อาจารย์เพียวๆ
5. ลองพิจารณาว่าวิธีการที่ผม high light ไว้ น่าสนใจที่จะทำหรือไม่

อาจารย์

รูปอาจารย์น่ะ เปลี่ยนเป็นหล่อๆหน่อยสิ

อาจารย์ตัวจริงหล่อจะตาย

 

รูปที่มีอยู่มันตาหวานดูแต๋วแหววจังเลยนะฮ้า

 

อะจะยึ้ยยยย

ตามความคิดของผมนะครับ

ถึงแม้อาจารย์จะมีดีกรีสูงแค่ไหนก็ตาม (สติปัญญาทางโลก)  แต่อาจารย์ก็มีแค่ในทางโลกเท่านั้นจึงทำให้อาจารย์เกิดความทุกข์ใจ ความกังวลใจ ความขุ่นใจ

และสาเหตุก็มาจากอาจารย์ยังขาดการฝึกอบรมเพิ่มเติม สติปัญญาทางธรรม ซึ่งฝรั่งเองก็ยังไม่สามารถอธิบายแต่เอามีกลยุทธที่จะทำให้หมดทุกข์ได้นั้นคือใช้ God มาช่วยตอบคำถามแทนนั้นก็คือ Faith นั้นเอง

คิดว่าอาจารย์คงเคยดูหนังฝรั่งเรื่อง Contact หนึ่งที่เกี่ยวกับผู้หญิงดอกเตอร์นักวิทยาศาสตร์จบจาก MIT ที่มีการสร้างยานแบบพิเศษที่ได้รับแบบการสร้างเครื่องมาจากมนุษย์ต่างดาว เพื่อที่จากสามารถใช้เดินทางไปพบกับมนุษย์ต่างดาวได้ ซึ่งตอนสุดท้ายนั้นหลังจากที่เธอเดินทางกลับมาแล้วต้องมาเล่า US Congress ฟังถึงสิ่งที่เธอไปพบมา ซึ่งเธอเองก็ไม่สามารถอธิบาสิ่งที่เธอไปพบมาได้เพราะเธอไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยเนื่องจากเป็นระยะเวลาแค่ 8 วินาที (เวลาในโลกของเรา)ที่เครื่องได้เดินทางไป (แต่ในเครื่องบันทึกของเธอบอกว่ามันมีการบันทึกเป็นเวลาหลายชั่วโมง)

เหตูผมที่ที่เธอต้องการไปด้วยยานเครื่องนั้นก็เพราะว่าเธอคิดว่าอาจจะวิธีทางที่จะเจอพ่อของเธอที่ตายไปนานแล้ว ซึ่งเธอคิดว่าทางวิทยาศาสตร์ในโลกนี้ก็คงไม่สามารถช่วยทำให้เป็นจริงได้

หนังเรื่อง Contact (1997)

http://www.imdb.com/title/tt0118884/

สุดท้ายผมแนะนำว่า อาจารย์น่าจะลองไปศึกษาเรื่อง การฝึกดูจิตซึ่งใช้แนวทางของ มหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งแน่จะถูกจริตกับคนที่มีสติปัญญาทางโลกสูงในระดับดอกเตอร์เช่นอาจารย์มากกว่าซึ่งอาจหาอ่านจากเวปไซด์ด้านล่างนี้ก็ได้ครับ (ผมเองก็อาจจะบังอาจมาสอนจระเข้ว่ายน้ำก็ได้ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงไม่ว่ากันครับ แต่ถ้าเข้าใจในเรื่องของการดูจิตแล้วผมก็จะหยุดคิดทันทีเพราะว่ามันเป็นความหลงซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์)

การดูจิต (ใช้เวลาเพียง 1.5 ชั่วโมงเท่านั้นครับ)

http://gotoknow.org/archive/2006/05/30/19/48/15/e32221

มหาสติปัฏฐาน 4

http://gotoknow.org/archive/2006/05/31/01/19/51/e32260

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.wfb-hq.org/specth11.htm

การให้ธรรมเป็นทานอันประเสริฐ การให้ทานเป็นหนึ่งในการสร้างบารมี (ทศบารมี)

http://www.budpage.com/budboard/show_content.pl?b=1&t=4920

ทำไมตัวเองต้องมาตอบ (รู้สึก)?

ทั้งๆที่ถ้าตัวเองก็ได้เรียนรู้การดูจิตตามแนว (รู้จำ) มหาสติปัฏฐาน ๔ มาบ้างแล้ว เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าตัวเองยังมีมหาสติในระดับที่สูงไม่มากพอ ก็เลยทำให้ตัวจิตในส่วนของความอยากตอบออกบังคับกายและความคิด แต่พอมาใช้ความคิด (รู้คิด) แล้วก็นึกถึงว่า การมีมหาสติที่กล้าแข้งจะต้องทำการฝึกฝนซึ่งเหมือนกับการฝึกเล่นเทนนิสหรือตีกรอบก็เลยถึง บางอ้อ (รู้แจ้ง)

ตามความคิดของผมลองหาอีกเรื่องหนึ่งมาดูนะครับเรื่อง องค์คุลิมาร โดยเฉพาะตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสส่วนที่พูดเกี่ยวกับเรื่องไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

นอกจากนี้ความเข้าใจเรื่อง ขันข์ ๕ ก็จำเป็น

ขันข์ (ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กาย หู ตา จมูก ลิ้น)

วิญญาณ (รู้สึก, feeling)

สัญญา (รู้จำ, memory)

สังขาร (รู้คิด, critical thinking)

เวทนา (รู้แจ้ง, seeing the truth)

 "The unexamined life is not worth living"

----Socrates http://www.quotedb.com/quotes/1563

เข้ามาดูอีกแล้ว! 

รู้สึก (ความอยากรู้อยากเห็นต่างประสามนุษย์ ตัญหา)

รู้จัก (จำได้ว่าได้บอกเล่าเรื่องของการดูจิตไว้ที่ Website อาจารย์)

รู้คิด (คนทุกคนยังตัดกิเลสและตัญหาไม่ได้แม้แต่ตัวผมก็เลยอดมาตอบไม่ได้)

รู้แจ้ง (ถ้าเราหยุดคิดถึง Websit นี้ เพราะว่ามันไม่อยู่ในระดับความสำคัญทางโลกลำดับแรกที่เราจำเป็นต้องทำ เราก็จะหลุดพ้นออกจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เราเสียเวลาในการทำงานของเราเข้ามาดู Website นี้)

ผมสงสัยว่าตอนนี้อาจารย์ได้ ผศ. แล้วหรือยัง

คุณไมโตครับ เรื่องแบบนี้ผมว่าหัวหน้าต้องช่วย โดยเฉพาะหัวหน้าภาค นี่แสดงว่าละเลยกันมาก

ไม่สมควรที่จะปล่อยให้คนขอรับผิดชอบกันเองถึงขนาดนี้ นี่ส่อถึงความไร้ประสิทธิภาพของหัวหน้าครับ !!!!

ขอบคุณมากครับ ผมได้ตำแหน่งเรียบร้อยแล้วครับ เป็นการได้ย้อนหลังโดยเรื่องของผมใช้เวลาในการประมวลผลสองปีกว่า นานที่สุดตั้งแต่เคยตั้งมหาวิทยาลัยมาครับ

เรื่องนี้ทำให้ผมตัดสินใจสองอย่าง หนึ่ง ไม่เห็นคุณค่าของการขอ รศ. ต่อไป และมองวงการวิชาการเป็นเรื่องไร้สาระที่ขึ้นอยู่กับระบบที่ไม่ทำงานจริง สอง เรื่องนี้ต้องล้างบาง สงสารน้องๆ รุ่นต่อไปที่ต้องมาเผชิญปัญหาเช่นนี้ครับ

เทอมที่ผ่านมาผมตัดสินใจเป็นหัวหน้าภาคเสียเอง หลังจากเรื่องนี้ผ่านมาได้เกือบสี่ปี มาถึงวันนี้ผมได้มีโอกาสทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงภาควิชาให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอยู่บ้างครับ ด้วยความหวังที่จะทำให้ภาควิชานี้ไม่ต้องเป็นแกะดำของมหาวิทยาลัยอีกต่อไปครับ

เรื่องการหารีดเดอร์เนี่ยน่าจะเป็นปัญหา เคยส่งบทความไปตีพิมพ์ แต่กลับเป็นว่าเรื่องเงียบหานไปเกินครึ่งปี พอโทรไปเจ้าหน้าที่วารสาร บอกว่าหาคนอ้านไม่ได้ สุดเซ็งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท