พอแล้ว พอกัน (สิ่งที่เรียนรู้จากการขอตำแหน่ง ผศ.)


ผมเรียนรู้มาตลอดชีวิตว่าการตั้งใจทำงานจริงย่อมนำพาซึ่งความสำเร็จ ผมพิสูจน์ปรัชญานั้นมาตลอดชีวิต และผมไม่เคยเชื่อเลยว่าความตั้งใจในการทำงานของมนุษย์จะกลับกลายเป็นตัวทำลายกำลังใจไปได้ แต่วันนี้ผมเรียนรู้สิ่งใหม่ครับ ผมเรียนรู้ว่าในบางครั้งความตั้งใจของเราก็กลับกลายเป็นตัวทำลายเราได้เช่นกัน

 เรื่องนั้นเกี่ยวกับการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ของผมครับ และผมยินดีที่จะมาแบ่งปันให้เป็นอนุสรณ์เตือนใจกันในที่นี้

“เรื่องราว”

ผมยื่นขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 2 ปีพอดีหลังจากผมจบปริญญาเอก ตรงตามเงื่อนไขในการขอตำแหน่งทุกประการ ใช่แล้วครับ เมื่อผมตั้งใจทำงานคืนทุนให้ครบตามกำหนดเป็นอย่างน้อย ผมก็ขอทำงานให้ดี และการทำงานให้ดีก็คงไม่มีอะไรเกินกว่าขอตำแหน่งทางวิชาการเมื่อถึงเวลาอันสมควร ใช่แล้ว ผมคิดอย่างนั้นในตอนนั้น

อย่างไรก็ตาม จากวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2547 จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 1 ปีกับ 4 เดือนผมยังไม่ได้รับผลการพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับสิ่งที่ผมขอนั้นสูญหายไปในอากาศและปล่อยให้ผมรอคอยด้วยความสับสนและงงงวย

ในช่วงหนึ่งปีแรกผมก็ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มากนัก นานๆ ครั้งถ้าผมเดินไปเจอฝ่ายบุคคลากรของคณะฯ ในจังหวะดีๆ ผมก็จะถามว่าเรื่องการขอ ผศ. ของผมเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบที่ได้รับก็คือ “อยู่ระหว่างการดำเนินการ” แล้วผมก็ไม่ได้ถามอะไรต่อไปมาก เพราะรู้อยู่ว่าระบบไม่อนุญาตให้ผมรับรู้อะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับกระบวนการการขอตำแหน่งของผม

แต่หลังจากเวลาผ่านเกินกว่าหนึ่งปี ผมก็รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ผมต้องตามเรื่องนี้แล้ว ผมเริ่มรู้สึกว่าเรื่องของผมถูกปล่อยทิ้งให้ดำเนินไปตามยถากรรม ดังนั้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมก็เริ่มถามข้อมูลมากขึ้น ผมได้คำตอบว่าคณะฯ แต่งตั้งคนอ่านไป 4 คน และ 2 คนได้อ่านและส่งผลการประเมินมาแล้ว แต่อีก 2 คนไม่ได้ส่งผลมาเลย ทางคณะฯ พยายามติดตามแล้ว คนหนึ่งติดต่อไม่ได้เลย ส่วนอีกคน “เคย” ติดต่อได้นานแล้ว

เจ้าหน้าที่ของคณะฯ ก็ได้พยายามช่วยเหลือผมโดยการรับปากว่าจะพยายามติดต่อคนอ่านที่ “เคย” ติดต่อได้ให้ช่วยส่งเอกสารการประเมินมาโดยเร็วเพราะเวลาล่วงเลยไปเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าผมมีโอกาสติดต่อกับคนอ่านผ่านทางเจ้าหน้าที่ได้บ้างหรือไม่ อาทิเช่น การเขียนจดหมายชี้แจงอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีคนอ่านสงสัยในกรณีใด แต่คำตอบที่ได้คือระบบการขอตำแหน่งนี้ไม่เปิดช่องให้ผมสามารถติดต่อกับคนอ่านได้ แน่นอนครับ ระบบทิ้งผมไว้ให้สับสนงงงวยอีกครั้ง

จากเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ปรากฎว่าคณะฯ ไม่สามารถติดต่อคนอ่านทั้งสองคนนั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์หรือทางอีเมล์ ดังนั้นคณะฯ จึงบอกผมว่าคงต้องใช้วิธีแต่งตั้งคนอ่านคนใหม่เพราะตามระเบียบแล้ว คณะฯ ต้องการคนอ่านอีกคนเดียวเท่านั้นก็สามารถสรุปผลได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะฯ บอกผมว่าการหาคนอ่านงานของผมนั้นยากเหลือเกิน เพราะเอกสารผลงานของผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมสับสนเป็นยิ่งนัก ผมไม่คิดว่านักวิจัยไทยจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้และการผลิตเอกสารเป็นภาษาอังกฤษไม่ใช่เป็นนโยบายที่มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้ทำหรอกหรือ? กลายเป็นว่าสิ่งที่ผมตั้งใจทำกลับกลายเป็นสิ่งที่มาทำร้ายผมเสียนี่

มาถึงเดือนนี้เดือนมกราคมแล้ว คณะฯ ยังไม่สามารถหาคนอ่านเพิ่มให้ผมได้ คนอ่านอีกเพียงคนเดียวที่จะส่งเอกสารประเมินมาเพื่อคณะฯ จะได้เปิดสรุปคะแนนได้ ช่างหายากเย็นเหลือเกิน

ในบันทึกต่อไปผมจะจัดเอกสารเป็น PDF files ให้อ่านกันครับ ถ้าหาคนอ่านอย่างเป็นทางการไม่ได้ ก็มาอ่านกันเล่นๆ ก็แล้วกัน ผมไม่มีอะไรต้องปิดบัง ผมไม่รู้ว่าถ้าเอาเอกสารผลงานมาเปิดเผยแล้วมันจะ “ผิดระเบียบ” หรือเปล่า แต่ผมถูกสอนให้เป็นลูกผู้ชายกล้าทำกล้ารับ ให้ผมทำอะไรแบบแอบทำผมทำลำบากเหลือเกิน และผลงานวิชาการที่คนทำมั่นใจก็ย่อมต้องสามารถเปิดเผยได้ จะผิดระเบียบก็ให้มันรู้กันไป

ที่จริงแล้วคุณลักษณะของคนที่จะอ่านผลงานของผมยังมีอีกสองประการนั่นคือ เป็นผู้มีตำแหน่งวิชาการที่สนใจด้านการจัดการความรู้ และมีพื้นความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่าคุณสมบัติเหล่านั้นจำเป็นมากนัก เพราะในเอกสารของผมไม่ได้ลงลึกในองค์ความรู้ แต่เป็น Technical Report ที่เน้นถึงความสำเร็จของผลงานที่ผมกระทำมากกว่า เพราะผลงานที่ผมยื่นขอนั้นเกี่ยวกับโปรแกรม BlogExpress ครับ ตัวเอกสารอ่านได้โดยตรงในบันทึกถัดไปครับ (ลิ้งค์)

“ผลลัพธ์ของการรอคอย”

มาถึงวันนี้เป็นเวลา 1 ปี กับ 4 เดือนแล้วกับการรอคอย ในช่วงเวลานี้มีสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมนั้นมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กำลังใจของผมที่จะทำงานให้แก่ประเทศไทยหายไปเยอะทีเดียว

“(ก่อนนี้) ขาขึ้น”

ตอนผมจบกลับมาใหม่ๆ ผมเคยคิดว่าผมจะทำงานให้ได้ดีในทรัพยากรที่จำกัด ผมจะเอาชนะความท้าทาย เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ผมจะสร้างซอฟท์แวร์ของคนไทยที่สร้างในประเทศไทยให้มีการใช้งานไปทั่วโลก ผมตั้งใจจะเป็นคนหนึ่งที่จะรับหน้าที่ประกาศให้ชาวโลกรู้ในสองประการว่า หนึ่ง “คนไทยก็ทำได้” และสอง “คนไทยทำได้ดีกว่า”

ผมไม่ได้แค่คิดและฝัน แต่ผมทำจริง ซอฟท์แวร์อย่าง BlogExpress และ WinGlance คงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความตั้งใจจริงของผมได้ มาถึงวันนี้ ซอฟท์แวร์อย่าง FeedSpring, PlanetMatter และ MemeExpress ก็ยิ่งช่วยเน้นย้ำถึงความตั้งใจจริงของผมให้ชัดขึ้น แต่ซอฟท์แวร์สามตัวหลังนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้เพื่อนร่วมงานที่เอาจริงเอาจังมากอย่าง ดร.จันทวรรณ และการสนับสนุนด้วยดีของ สคส.

ผมขอบอกอีกทีครับ ว่าซอฟท์แวร์เหล่านั้นผลิตที่นี้ ที่ริมเขาคอหงส์ จ.สงขลา แห่งนี้ โดยคนที่เกิดและโตที่หมู่บ้านขุนแสน จ.ชุมพร เป็นความภาคภูมิใจเพราะผมจะสร้าง UsableLabs ให้ผลิตสินค้า “OTOP” ที่เป็นซอฟท์แวร์ส่งออกไปทั่วโลก ผมตั้งใจจะทำเป็นตัวอย่างว่า OTOP ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าพื้นเมืองอย่างเดียว ซอฟท์แวร์เราก็ทำได้ และที่สำคัญที่สุด ผมอยากเป็นตัวอย่างให้แก่นักศึกษาว่า “ถ้าเราตั้งใจจริง ไม่ว่าเรื่องไหนเราก็ทำได้”

“(ตอนนี้) ขาลง”

แต่มาถึงวันนี้แรงบันดาลใจเหล่านั้นลดลงไปเยอะทีเดียวครับ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่นี้ ที่เพื่อนฝูงส่งข่าวคราวความคืบหน้าในชีวิตมาบอกกันและกัน ทั้งเพื่อนในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันนี้เสียงผมอ่อยลงเยอะที่จะบอกเพื่อนว่าทำไมผมยังทำงานกินเงินเดือนแค่ 16,040 บาทอยู่

ผมเห็นเพื่อนในประเทศที่อยู่ในแวดวงธุรกิจมีครอบครัวน่ารักมีชีวิตที่มีรากฐานมั่นคง ในขณะที่ตัวผมเองยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ผมเห็นเพื่อนในต่างประเทศเริ่มเปิดบริษัทซอฟท์แวร์ “ของจริง” ไม่ใช่ทำอะไรที่เลือนลางอย่าง UsableLabs เพื่อนบางคนก็มีงานการทำในบริษัทซอฟท์แวร์ใหญ่ได้ทำงานวิจัยที่ “cutting edge” มีฐานะที่มีกินไม่เดือดร้อนเหมือนตอนสมัยเรียนหนังสือ ในขณะที่ตัวผมเองกินอยู่ลำบากกว่าสมัยเรียนอีก ก็สะท้อนใจเกิดคำถามในใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่นะนี่

คำตอบที่เคยมีสำหรับคำถามนี้ที่ก่อนหน้านี้เคยมีพลังและดูยิ่งใหญ่เพราะจะได้มีส่วนช่วยสร้างอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในประเทศไทย ปัจจุบันมันแผ่วลงในใจแล้วครับ แถมจะมีเสียงด้านมืดก้องอยู่ข้างๆ หูว่า “ขายนาที่ชุมพรใช้ทุน แล้วบินไปหางานทำจะดีกว่า” เสียงยังสะท้อนต่อไปว่า “ไปเป็นโปรแกรมเมอร์บริษัทไหนสักแห่ง ไปมีครอบครัวน่ารักๆ มีชีวิตอยู่สบายๆ สนใจอะไรกับเมืองไทย” ผมขอสารภาพครับ มาถึงตอนนี้ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าเสียงไหนเป็นเสียงมืดเสียงไหนเป็นเสียงสว่างแล้ว

“อยากเป็นไปทำไม ผู้ช่วยศาสตราจารย์”

ผมเขียนมาตั้งยาวเพื่อเล่าถึงความคับข้องใจในระบบการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ของผม แต่บันทึกนี้ก็คงไม่ครบถ้วนแน่ถ้าผมไม่บอกว่าผมอยากเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ทำไม

ผมอยากเป็นเพราะผมอยากได้เงินประจำตำแหน่งครับ ปัจจุบันผมเงินเดือน 16,040 บาท ถ้าได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์จะมีเงินประจำตำแหน่งอีก 10,000 บาท ดังนั้นผมจะได้สุทธิ 26,040 บาท สำหรับผู้ชายอายุ 34 ปีที่จะต้องเริ่มต้นสร้างครอบครัว เงินจำนวนสองหมื่นกว่าบาทต่อเดือนคงเป็นเงินที่ไม่มากนักใช่ไหมครับ

ปัจจุบันผมยังมีรายได้พิเศษจาก สคส. อีกเดือนละ 5,000 บาท และจาก สกว. 10,000 บาท แต่เงินสองจำนวนนี้จะหมดไปภายในปีหน้าครับ

ส่วนซอฟท์แวร์ของผมส่วนใหญ่แจกฟรี ได้เงินบริจาคบ้างประปราย ส่วนซอฟท์แวร์ที่ขายได้แก่ WinGlance นั้นใช้งานแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจกึ่งช้ำใจ ที่ช้ำใจเพราะส่วนใหญ่ crack ของผมไปใช้ทั้งนั้นเลย เคยมีคนเจอในแผ่นผีที่ขายแถวพันธ์ทิพย์อีกต่างหาก ไม่รู้จะภาคภูมิใจอย่างไรถึงจะสาสม

ปัจจุบันผมไม่สอนในโครงการหลักสูตรพิเศษต่างๆ แล้วครับ ตอนกลับมาใหม่ๆ ผมก็สอนอยู่ช่วงหนึ่งและมีความสุขดีกับค่าสอน 1,000 บาทต่อชั่วโมงสำหรับสอนภาษาไทย และ 1,800 บาทต่อชั่วโมงสำหรับสอนภาษาอังกฤษ เงินจะหาง่ายอะไรปานนั้น แต่ผมเลิกสอนเพราะผมเชื่อว่าผมจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยมากกว่าถ้าผมมาทำในสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน แต่ตอนนี้กำลังสงสัยว่าการเลิกสอนโครงการพิเศษนี่ผมคิดถูกหรือคิดผิด

และเพราะการเลิกสอนในโครงการพิเศษนั่นละครับ ที่ทำให้ผมตัดสินใจขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เพื่อหาทางเพิ่มรายได้ ทั้งๆ ที่อาจารย์ที่สอนผมสมัยปริญญาตรีท่านหนึ่งเคยเตือนไว้แล้วว่าระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการของไทยไม่ค่อยน่าจะไปยุ่งด้วยเท่าไหร่

มาถึงวันนี้จึงได้ปวดใจซ้ำสอง เนื่องจากอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านเตือนแล้วแต่ไม่ฟัง

“สรุป”

ผมเริ่มเรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองไม่ค่อยเหมาะกับการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเท่าไหร่ บางสิ่งบางอย่างที่ผมอยากให้ระบบมีระบบก็ไม่มีให้ บางสิ่งบางอย่างที่ระบบอยากให้ผมมีผมก็ไม่มี ทางแก้มีสองทาง ทางแรกคือการปรับตัวเข้าหาระบบเพราะจะให้ระบบปรับตัวเข้าหาผมนั้นคงไม่มีหวัง ดังนั้นอะไรที่ผมทำไม่เหมือนคนอื่นก็พยายามทำให้เหมือนที่คนอื่นเขาทำกันและพยายามคิดให้เหมือนกับที่คนส่วนใหญ่คิด ส่วนทางที่สองก็คือเลิกยุ่งกับระบบ

ระบบการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ก็เช่นกัน ด้วยทางแก้ทางแรก เมื่อระบบเป็นระบบแบบลับลมคมในที่ผมไม่มีสิทธิ์รับรู้ว่าใครอ่านงานของผม และคนอ่านก็ต้องแอบอ่านไม่ให้ใครรู้เช่นนี้ ผมก็ต้องยอมรับกับระบบ ปรับตัวที่จะรับรู้ว่าการทำงานหนักไม่ได้หมายถึงจะมีผลลัพธ์ที่ดีได้ในระบบนี้ เพราะชีวิตเราไม่ได้อยู่ในมือเราเองแต่อยู่ในมือของคนที่เราไม่รู้จักและไม่รู้จักเรา ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยไปเพิ่มการ “สังคม” กับผู้คนที่จะมีโอกาสชี้ชะตาชีวิตเรามากขึ้น จะได้มี “พรรคพวก” เยอะๆ

หรือในอีกทางหนึ่งคือเลิกยุ่งกับระบบ หาทางไปให้พ้น เพื่อระบบจะได้ไม่ต้องมีผมเป็นส่วนเกินและผมจะไม่ต้องเป็นส่วนเกินของระบบ ไม่ต้องไปพยายามปรับพยายามทำใจเรื่องอะไรทั้งนั้น เพราะน้ำกับน้ำมันพยายามปรับอย่างไรก็คงไม่สามารถผสมเป็นเนื้อเดียวกันได้ ปีหน้านี้หนี้ผมก็เหลือแค่ 4 ล้าน น้อยกว่าราคารถเบนซ์ของใครบางคนอีก คิดเป็นดอลล่าร์ก็เท่ากับ $100,000 เท่ากับเงินเดือนโปรแกรมเมอร์ปีกว่าๆ เท่านั้น ผมอดทนเก็บเงินสักสามปีก็น่าจะผ่อนทุนหมด

คุณว่าผมเลือกวิธีไหนดีครับ?

คำสำคัญ (Tags): #มหาวิทยาลัย
หมายเลขบันทึก: 11358เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2006 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (44)

ลูกผู้ชายจะไม่ปริปาก ถ้าไม่ถึงที่สุด ตามที่อ่านมาถ้าถามผมว่าเลือกทางไหน ผมเลือกออกไปทำงานต่างประเทศหาทุนสัก 10 ปีครับ (ยังโสดอยู่ใช่ไหมครับ?) ค่าใช้ทุน ก.พ. น่าจะผ่อนเอาได้ กลับมาซักอายุ 45 ปีก็ยังนำความรู้มาช่วยประเทศเราต่อได้ 

 

           ขอส่งกำลังใจมาให้ครับ คนหลายคนมีทางเลือก(ที่คิดว่า)ดีกว่าที่เป็นอยู่มากมาย แต่เขาก็ไม่ไป บางทีเขาก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมไม่หนีจากระบบที่(ไม่ดี)รอบๆตัวไปซะ แต่ลึกๆแล้วก็คือเขารักที่จะทำในสิ่งที่เขาทำอยู่ เหตุผลที่ดูดีกว่ามากมายจึงฉุดเขาไปไม่ได้ หลายครั้งเขาจึงถูกมองจากคนอื่นว่าโง่ ที่ไม่คิดถึงตัวเอง แต่บางทีถ้าเขาฉลาด(แบบที่คนอื่นคิด) เขาอาจไม่มีความสุขในชีวิต(จริงๆ)ก็ได้ เพราะเขาหนีห่างออกไปจากสิ่งที่เขารักและประเทศชาติของเขา

            ทุกคนมีสิทธิ์ในชีวิตของตนเองครับ ตั้งสติแล้วเลือกให้ดีครับ ไม่มีผิดมีถูกหากเราเป็นคนเลือกเอง

ดร.ธวัชชัย ....อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะครับ ...ตอนที่ผมกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ช่วงแรกผมได้ไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ...จำได้ว่าได้นำสัญญาจ้างที่แสดงให้เห็นว่าผมมีดำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ติดมาแล้วตั้งแต่ตอนสอนหนังสืออยู่ที่อเมริกา แต่ปรากฎว่าทางทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) บอกว่าตำแหน่งที่อเมริกานั้น transfer มา "ระบบ" ของเมืองไทยไม่ได้ บอกให้ผมทำเรื่องขอตำแหน่งใหม่ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงว่าผมต้อง generate เอกสารจำนวนมากมายที่เคยใช้สอนตอนที่อยู่อเมริกาทั้งหมดใหม่ ....พอดีช่วงนั้นผมได้ offer งานภาคธุรกิจเอกชน ผมก็เลยตัดสินใจไม่เป็นอาจารย์ประจำ และเลิกความคิดเรื่องขอตำแหน่งวิชาการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ที่เล่ามานี้ไม่ได้ต้องการให้อาจารย์ทำตามอย่างผม เพราะเป็นคนละบริบทกัน ....หากอาจารย์จะโลดแล่นอยู่ในแวดวงวิชาการ ผมว่าตำแหน่งนี้ เป็นสิ่งที่จำป็นครับ แต่อย่างว่าล่ะครับ ถ้าจะเข้า "ระบบ" ก็ต้องเดินตาม "ระบบ" (ที่ไม่ค่อยจะมี "ประสิทธิภาพ" เท่าใดนัก) ของเขา ส่วนเรื่องกรรมการประเมินผลงานนั้น ผมได้ทราบว่าทางคณะได้จัดการเรียบร้อยแล้วครับ อาจารย์ให้เวลาทางคณะอีกนิดนะครับ ไหนๆก็รอมาเป็นปีแล้ว ผมขอฝากข้อความให้กำลังใจไว้ว่า "ท้อแท้มาแล้วก็ไป ท้อใจนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา อย่าปล่อยใจให้ยอมแพ้ต่อปัญหาก็แล้วกันครับ" ...อดทนนะครับ

ดร.ปรัชญนันท์ นิลสุข

ผมก็ขอ ผศ.(พิเศษ) กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพราะ
สอนให้เขามาหลายปี  ก็เลยเอาเอกสารการสอนและงานวิจัย
ทีทำมาหลายเรื่องเสนอขอเพราะเห็นว่า ผศ.(พิเศษ) ไม่มีผลอะไรกับมหาวิทยาลัย  เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ต้องจ่ายเงินประจำตำแหน่งอะไรให้ผม   ทำไปเพียงเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการสอน  และแสดงความสามารถทางวิชาการให้ลูกศิษย์เห็นว่าอาจารย์พิเศษมีคุณภาพ   ผมก็ยังรอต่อไปครับ

ไม่มีอะไรคืบหน้าเลยครับ  เขาบอกว่าไม่มีระเบียบสำหรับ ผศ.(พิเศษ)   แต่ที่จริงในกฎหมายของมหาวิทยาลัยเขามีและหลายคนเป็น ศ. (พิเศษ) ในหลายมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำเพราะมหาวิทยาลัยขอให้โดยไม่มีการตรวจผลงาน

ดร.ธวัชชัย  อยู่เมืองนอกนาน ต้องทำใจกับระบบในประเทศไทย ซึ่งที่จริงเขาวางระบบต่าง ๆ เอาไว้ดีมากครับ   แต่คนปฏิบัตินั่นแหละคือปัญหา

ให้กำลังใจเหมือนกันหลาย ๆ ท่านนะครับ  ผลงานของอาจารย์น่าชื่นชมและเป็นแนวทางสำหรับนักศึกษาที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์

ด้วยความเคารพและชื่นชม

สู้ๆครับพี่ ผมติดตามอยู่
ให้กำลังใจอาจารย์ค่ะ  ไหน ๆ ก็รอมานานแล้ว  ก็รออีกนิดแล้วตกเบิกย้อนหลังก็แล้วกันนะคะอาจารย์
  อาจารย์คะ  มีบุคลากร (สายค.) ที่ มอ.นี่แหละค่ะประสบปัญหาเช่นเดียวกับอาจารย์เปี๊ยบเลยค่ะ คำว่า "กำลังดำเนินการ" และ "รอ reader อ่านอยู่" กลายเป็นคำสามัญที่ใช้ตอบคำถามแล้วมังคะ! ดิฉันเห็นด้วยกับท่าน ดร.ปรัชญนันท์ ค่ะว่า ระบบเขาดี แต่คนปฏิบัตินั่นแหละคือปัญหา
     อาจารย์ครับ ผมเองก็ทำงานอยู่ที่มอ มาสิบกว่าปี ผมอยากจะบอกอาจารย์ว่าระบบไม่ได้เป็นไปอย่างที่อาจารย์เข้าใจอยู่ว่าทอดทิ้งอาจารย์ ถ้าพิจารณากันจริงๆ จะพบว่าระบบราชการที่หลายๆคนโทษว่ามันไม่ดีอย่างนั้นมันไม่ดีอย่างนี้ ถ้ามองด้วยใจที่เป็นธรรมผมคิดว่าระบบราชการของเรามุ่งเน้นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตกันขึ้น จึงต้องมีกฎมีระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกัน แต่ลืมนึกไปว่าสำหรับคนที่ตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆ บางทีมันยากเหลือเกินที่จะได้ทำ ในราชการสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ได้หมายความว่าห้ามทำ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะทะลึ่งทำหรือไม่
     ในกรณีของอาจารย์ การพิจารณาขอตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์สามารถติดตามได้ครับว่าผลงานของอาจารย์ไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว เพียงแต่ในขั้นตอนของการส่ง reviewer อาจต้องปกปิด เพื่อป้องกันการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้ขอกำหนดตำแหน่งกับ reviewer ซึ่งผมก็คิดว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะทำอย่างนั้น  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับอาจารย์ น่าจะเป็นผลจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ติดตามงานมากกว่า นี่เป็นเรื่องของคน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบ เพียงแต่เป็นคนในระบบราชการที่มักจะชอบต้มซุปกินตอนเช้ากับตอนเย็น  แล้วสุดท้ายก็เลยถูกเหมาเอาว่าเป็นเรื่องของระบบ ปัญหาลักษณะนี้จะลดลงได้มาก หากอาจารย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น มันก็ไม่ต่างจากการใช้เส้นสักเท่าไหร่ แต่ผมพบแล้วว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้เรื่องของเราในระบบไม่ถูกทอดทิ้งให้เงียบเหงา ปล่าวเปลี่ยว ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับการใช้เส้น แต่สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราทำงานส่วนรวมได้ง่ายขึ้นค่อนข้างมาก
     ผมเชื่อโดยสุจริตใจครับว่าอาจารย์เป็นคนเก่ง เป็นคนตั้งใจจริง และเป็นคนที่อุทิศตัวเองทำงานเพื่อประเทศชาติจริง ซึ่งหาไม่ได้ง่ายนักในระบบราชการไทยปัจจุบัน หากราชการไทยจะต้องสูญเสียคนอย่างอาจารย์ไป ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ผมไม่แนะนำให้อาจารย์ปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ากับระบบ ผมเชื่อว่าการที่อาจารย์รักษาอุดมการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ก็คือ การที่เราจะคงความเป็นตัวของเราเองได้นั้น ทำอย่างไรเราจะอยู่ในราชการได้อย่างสบายใจ และไม่มีปัญหามากนัก เท่าที่ผ่านมาผมใช้อยู่ 2 วิธีครับ
     1. การที่มีทีมงานที่ดี มีเพื่อนที่ดี ช่วยให้เรามีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปให้ประสบผลสำเร็จ อาจารย์โชคดีที่มีทีมงานที่ดีแล้ว เรื่องแรกก็ผ่านไปเปราะหนึ่ง
     2. การมี connection ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แต่เฉพาะระดับภาควิชา ระดับคณะ แต่ให้รวมไปถึงระดับมหาวิทยาลัยด้วย แล้วอาจารย์จะรู้ว่าการประสานงานในราชการง่ายขึ้นมาก ถ้าเรารู้จักเป็นการส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เรื่องนี้คงไม่ยากเกินไป สำหรับอาจารย์
     แล้วอาจารย์จะรู้ว่า การทำงานในราชการให้สนุก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
    ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผมทำงานราชการที่ มอ ผมขัดแย้งกับหัวหน้าหน่วยงานผม นั่นเป็นสาเหตุที่ผมไม่เคยได้รับการพิจารณา 2 ขั้นตามกระบวนการปกติเลย ยกเว้นที่หลวงเขาแจกฟรี นั่นก็ไม่ทำให้ผมท้อ ผมสมัครเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่นและได้รับทุน ronpaku หัวหน้าผมก็บอกว่า "ผมจะเป็นคนแรกที่ได้ทุน แต่ไม่ได้ไป " นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมหมดกำลังใจ ผมเสนอขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ 7-8 หัวหน้าผมก็เขียนความเห็น เสีย negative นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมหยุด ปัจจุบันผมผ่านมาหมดแล้ว ผมเพิ่งได้รับอนุมัติให้ย้ายหน่วยงานได้ ผมได้มาเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น ผมได้ตำแหน่งชำนาญการ ตอนนี้กำลังตั้งอกตั้งใจศึกษาอยู่ว่า จะขอตำแหน่งเชี่ยวชาญได้อย่างไร
     ถ้าเราสนใจปัญหาในระบบราชการ มันจะมีปัญหาสารพัด ไอ้นั่นก็ทำไม่ได้ ไอ้นี่ก็ทำไม่ได้ ผมไม่แนะนำครับให้อาจารย์สนใจปัญหาเหล่านั้น เพราะในราชการคำว่าไม่ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ แต่หมายความเรายังเข้าไม่ถูกช่อง สิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด คือ เราต้องศึกษาเรื่องที่เราจะทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน อย่าเชื่อที่เจ้าหน้าที่บอก เพราะนั้นอาจไม่เป็นจริง ส่วนใหญ่ผมจะขอเอกสารราชการว่าด้วยเรื่องนั้นๆ มาศึกษาก่อนว่าเรื่องนั้นทำอย่างไร เช่นการขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ มีการพิจารณากันอย่างไร มีกี่ขั้นตอน มีกรรมการกี่ชุด เกณฑ์การพิจารณามีอะไรบ้าง  ฯลฯ แล้วอย่าปล่อยให้เรื่องของเราถูกทอดทิ้ง การที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำให้เราได้รู้ว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ถ้ามีแล้วเขาช่วยเราแก้ไขอย่างไร ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจารย์สามารถรับรู้และแก้ไขได้ เช่นถ้าเขาติดต่อ reviewer ไม่ได้ ก็ทำเรื่องขอเปลี่ยน reviewer ได้ ทั้งในส่วนของ external reviewer และ internal reviewer ปัญหาคือเขาทอดทิ้ง และไม่มีใคร take action กับปัญหาที่เกิดขึ้น และอาจารย์เองก็ละเลยไม่ได้ติดตามอย่างไกล้ชิด
     ปัจจุบันผมสนุกกับการทำงานในระบบราชการที่ใครๆก็ว่ามันไม่ดี อย่างนั้น มันไม่ดีอย่างนี้ ผมไม่เคยทำงานเช้าชามเย็นชาม แม้จะอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดของชีวิต จนช่วงหนึ่งผมเคยคิดว่าผมไม่มีตัวตนอยู่ในหน่วยงาน แต่ก็ไม่เคยทำให้ผมทอดทิ้งการผลิตผลงานวิจัย ผมทำงานวิจัยในหน่วยงานไม่ได้ ผมก็อาศัยความสัมพันธ์ที่ดีไปทำงานวิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์ก็ได้ ผมทำงานบางอย่างในเวลาราชการไม่ได้ ผมก็เอาไปทำนอกเวลาราชการก็ได้ สุดท้ายผมก็มีผลงานวิจัยตีพิมพ์มาโดยตลอด อย่างน้อยปีละ หนี่งเรื่อง สิ่งที่ผมพยายามบอกเพื่อนร่วมงานก็คือ ในราชการเขาไม่ได้มองว่าคุณทำงานเก่งแค่ไหน หรืออย่างเป็นอาจารย์เขาก็ไม่ได้มองว่าคุณสอนเก่งขนาดไหน สิ่งที่เขาสนใจก็คือคุณมีงานวิจัยตีพิมพ์หรือเปล่า ทั้งสาย ก ข ค เหมือนกันหมด เพราะเมื่อคุณจะขอตำแหน่งทางวิชาการ คุณต้องเอางานวิจัยเหล่านี้มาเสนอทั้งนั้น เพราะฉะนั้นงานวิจัยเป็นสิ่งที่เขาสนใจและใช้แยกคนออกจากกัน หากมีผลงานตีพิมพ์ทุกปี เขาจะกล่าวหาว่าเราไม่ทำงานไม่ได้ นี่เป็นวิธีการที่ผมใช้อยู่เป็นไม้กันสุนัขกัด
     อาจารย์ครับ ผมเชื่อเสมอว่า "ปัญหามีไว้แก้" อาจารย์ก็ได้เจอปัญหาแล้ว ตอนนี้อยู่ที่อาจารย์จะแก้ไขหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้คือการสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง คนหนุ่มไฟแรงเช่นอาจารย์ กลับมาก็อยากจะทำนั่นทำนี่ให้กับบ้านเมือง แต่มาเจอระบบราชการไทยที่อุดมได้ด้วยผุ้ที่ทำงานด้วย spinal cord และไม่รับผิดชอบ ผมคิดว่าอาจารย์ต้องหาวิธีการผ่าฟันไปให้ได้ โดยที่เรายังคงเป็นตัวของเราอยู่ สิ่งเหล่านี้มันเหมือนมะเร็งร้ายที่อยู่ในตัวเรา นับวันก็จะค่อยๆกัดกร่อนให้เราหมดกำลังใจและถูกกลืนกินเข้าไปอยู่ในระบบ  เราก็ต้องไม่ยอมมันครับ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ และต้องอยู่ได้อย่างมีความสุข และไม่หมดความเป็นตัวของเราครับ เพราะถ้าเมื่อไรที่เรายอมมันก็ไม่ต่างจากการที่เราตายไปจากตัวของเราเอง
     ผมไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจอาจารย์อย่างไร แต่ผมเชื่อว่าอาจารย์น่าจะฝ่าฟันปัญหานี้ไปได้ด้วยดี    แล้ววันหนึ่งเมื่ออาจารย์จะหันกลับมามองสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต อาจารย์จะภูมิใจที่ที่ระบบราชการไม่สามารถกัดกินแก่นแท้ในชีวิตเราได้ เรายังคงเป็นตัวเราอยู่ชั่วนิรันดร์

สวัสดีครับ ผ่านมาเจอโดยบังเอิญ ขอให้โชคดีครับ
http://www.narisa.com/blog/patrickz
http://peerasan.blogspot.com/

ผมว่า ในเมื่อระบบราชการไทยเป็นยังไง
ก็น่าจะใช้ช่องโหว่ของระบบราชการไทย
ก็คือระบบเส้นสาย

y don't u find another jobs la krub....

 

and by the way, u were graduated Ph.D. right....

 

i think u can work in commercial field easily....

 

y do  u still insist to teach and waiting for a promotion la krub....?

 

umm... OK...one thing u have to pay back for your funding...

 

do u love to teach?

and what do u really love?

 

MONEY ror?

all people must say that.....

 

u have to be patient for those money krub....

don't forget that u got funding na krub....

 

how much that u got from those fund?

u have to divided your salary with those funding duay na krub....

 

sorry, my english is bad.....cause i graduate from THAILAND.....

 

which now , i have to pay TAX for your funding na krub.....

 

so sorry, that i forgot my email....i am gentleman enough for any mistake from my idea....

[email protected]

 

if u think to get for what u ask for?

 

it's wrong...u have to think about giving back from what u alreayd earn it?

ผมอายุ 35 ปี เคย เป็น คนขายเครื่องมือวิทย์ เคยเป็นกัปตันห้องอาหาร เคยเป็นบ๋อยโรงแรม เคยเป็น ข้าราชการ(คนเดียวในประเทศที่ขอลาออกจากราชการตอนเศษฐกิจตกต่ำ ในปลายปี 40) เคยเป็นอาจารย์สอนวิทยาลัยครู เคยเป็นอะไรอีกหลายๆๆอย่างที่ผมคิดว่า ในชีวิตทั้งชีวิต ของอาจารย์ไม่เคยสัมผัส

ได้ฟังคำรำพึงรำพันของอาจารย์ แล้วอ่านประวัติแล้ว ไม่สงสัยเลยว่า ทำไมถึงคิดอย่างนั้น

อาจารย์ เลี้ยง แมว  ไม่ดื่มสุรา ทำงานกลางคืน

รำพึงรำพัน เรื่องเงินเดือน ตำแหน่งทางวิชาการ

งานที่ไม่มีคนที่มีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจงานอาจารย์ได้

ถ้า ผม เป็น หัวหน้าภาควิชาของอาจารย์ เป็นคณะบดีของอาจารย์ เป็น รองอธิการบดี เป็นอธิการฯ ของอาจารย์ ผมคงอดคิดถึงตอนที่รับเงินเดือน 700 กว่าบาทในสมัยของท่านเหล่านันได้

ใช่แล้วครับ เงินเฟ้อสูงขึ้น สังคมเปลี่ยนไป รายได้ต้องเพิ่มขึ้น แต่อย่าลืมว่า ความเป็นมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน แต่คนเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ผมคงไม่บังอาจ แนะนำอาจารย์ได้ ถึงแม้จะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเช่นกัน  แต่ผมมีความสุขที่ลูกศิษย์ของผม ที่เคยสอนมาตั้งแต่ระดับมัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย เข้ามาทักทายผม เรียกผมว่าอาจารย์ได้อย่างสนิทใจ แค่นี้ก็เกินพอแล้วครับสำหรับชีวิตนี้

ปล. เงินเดือนผมเท่าอาจารย์ ไม่เลี้ยงแมว ทำงานกลางวันนอนกลางคืน ดื่มสุรา แต่ไม่คิดจะสูบบุหรี่เงิน สอนทางด้านวิศวกรรมเคมี และมีความสุขกับการเป็นอาจารย์มาแล้ว 13 ปี และหวังว่าจะได้เป็นครู        หวังว่า อาจารย์คงจะมีความสุขเหมือนกันนะครับ

ผมก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย..เหมือนกันทำงานมา 10 ปี 6 เดือน เงินเดือน 15,040 บาทไม่รู้ขึ้นปีละกี่ขั้น กำลังจะยื่นขอผศ.กำลังดูหลักเกฑณ์อยู่ ผมมีความคิดว่าเราเรียนมาเหนื่อยนัก แต่ทำไมรัฐบาลถึงให้ค่าตอบแทนน้อยจัง ไม่รู้ว่ารัฐบาลมีตาหรือเปล่า หรือกำลังทำอะไรอยู่แล้วประเทศเราจะพัฒนาไปอย่างไร .....มีแต่เล่น

พรรคเล่นพวก...น่าเบื่อ

ผมกำลังมีความคิดและได้รับการจุดประกายจากอาจารย์ที่ปรึกษาในการเรียน เมื่อได้อ่านบทความของท่านแล้วรู้สึกท้อแท้เล กับการทำตำแหน่ง ผศ. มีแบบนี้ด้งงยผรือประเทศไทย

เฮ้อ อ่านแล้ว คิดเหมือนกันค่ะ ว่าเวลาที่ตัวเองจะขอ ผศ จะต้องรอนานแค่ไหน

ของอาจารย์รอมาปีกว่า ๆไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ

เพราะเพื่อนๆ ของดิฉันหลายคนที่ขอไปแล้ว ตอนนี้ปีกว่า ๆ ก็ยังไม่ได้รับผลอะไรเหมือนกันค่ะ

อาจารย์พูนศรีทำไมได้เงินเดือนน้อยจังคะ ดิฉันมาบรรจุปอตรีที่มหาวิทยาลัยเมื่อสองปีก่อน ตอนนี้เงินเดือนประมาณ 13,000 ค่ะ

แต่ของคุณทำงานมาเป็นสิบปีแล้ว ทำไมได้แค่นี้เองคะ

ขนาดดิฉันได้ขนาดนี้ เดือนหนึ่งๆ จ่ายอะไรไปแล้ว ส่งให้พ่อแม่แล้ว แทบไม่พอใช้ค่ะ เดือนชนเดือนเลยเชียว ดีนะ ที่ยังประหยัด ก็เลยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินใคร

ผ่านมาพบ เลยอดที่จะแสดงความคิดเห็นไม่ได้ ผมเองก็อายุใกล้เคียงกับอาจารย์ ธวัชชัย ล่ะครับ ได้ส่งเรื่องขอ ผศ ไป ประมาณ หนึ่งปี และก็ได้ติดตามอยู่เรื่อยๆ รวมรวมแล้วก็ประมาณ สิบครั้ง แต่ละครั้งในการติดตามก็ไม่ได้คำตอบอะไรมากมายหรอก และตอนที่เราจะติดตาม (โทรถาม และเดินเข้าไปถามที่ กจ เอง) เราต้องตั้งสติให้ดีก่อนครับ และตอนนั้นเราต้องอารมณ์ดีด้วย เนื่องจากว่าถ้าเราถามดีๆ แต่ตอบกวนๆ เราจะได้มีสติมากขึ้น และจะจำไว้เสมอว่าเราจะไม่แสดงความคิดเห็นมาก เพียงแค่อยากรู้ว่า สถานะของเอกสารผมไปอยู่ที่ไหนแล้ว และวันไหนจะให้โทรมาถามได้อีก ซึ่งก็มีหลายสิ่งอึดอัดใจ แต่ก็พูดไม่ได้ครับ คิดว่า พูดไปก็มีแต่เสีย เลยไม่พูดดีกว่า

สำหรับผมวันนี้ก็ใกล้ที่จะได้รับจดหมายตอบกลับแล้ว ว่าผลการพิจาณาเป็นอย่างไร จากการที่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอมาปี กับอีกนิดๆ

ซึ่งผมคิดว่ามันนานเกินไปครับ น่าจะ หกเดือนทราบผบประมาณนั้น คงจะเหมาะสมมาก แต่ถ้ามองกันอีกอย่างเจ้าหน้าที่ใน กจ ในหน่วยงานของมหาลัยก็น้อยครับ ตามที่เคยเจอมา เห็นเจ้าหน้าที่ประมาณ ไม่เกิน ยี่สิบคน (ใน กจ) แต่ว่าอาจารย์ทั้งหมดประมาณ 500 คน ซึ่งก็อาการหนักครับที่จะทำได้รวดเร็วและตามใจอาจารย์ได้ทุกคนอย่างดี

ปัญหานี้จะต้องให้ผู้บริหารมหาลัยครับ เป็นคนแก้ไข ถ้าระบบไม่ดี ก็ต้องแก้ไขระบบเลยครับ กฎหมายแก้ได้ แต่กฎหมู่แก้ยากครับ แต่ผมคิดว่าปัญหาคนใน กจ ครับ ปล่อยปะละเลยไม่ติดตามเรื่อง และแจ้งให้อาจารย์ทราบ ว่า สถานะการขอกำหนดตำแหน่งของอาจารย์เป็นยังไง ถ้าจะให้ดีจะต้องมีการรายงาน หรือทำหนังสือแจ้งความคืบหน้าให้อาจารย์ได้ทราบ

แต่ในส่วนตัวผมก็คิดอีกอย่างครับว่า คนรุ่นเก่า ชอบคิดแบบเก่าๆ และรับไม่ได้ที่อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง ก้าวหน้าในการทำงานมากกว่า เลยไม่ค่อยสนับสนุน พอพูดคำนี้ คำว่า ไม่สนับสนุนเท่านี้แหละครับ การก้าวหน้าของอาจารย์จะกลายเป็นการหน่วงแล้ว

สุดท้ายนี้ผมขอให้กำลังใจอาจาย์ครับ ในฐานะเป็นอาจารย์เหมือนกัน แต่อยู่ต่างมหาลัย และอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับ ผศ เพื่อจะได้เพิ่มกำลังงใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติได้มากๆ ต่อไป

อ่านเรื่องราวของอาจารย์ขอบอกว่าเห็นใจจริงๆ พี่รับราชการมา28 ปีเป็นอาจารย์สายการสอนพี่คิดว่าพี่สอนมาก็หลายสถาบัน(อ.พิเศษที่ทางสถาบันเชิญ)นศ.เป็นวิศวเท่าที่จำได้เป็นหลักพัน พี่เสนอผลงานทางวิชาการในตำแหน่งผศ.ทางมหาวิทยาลัยฯติดต่อผู้อ่านเป็นระยะเวลา 42 เดือนโดยไม่มีการแก้ไขใดๆแล้วพิจารณาผลงานพี่โยใช้คุณธรรมและจริยธรรมว่าผลงานไม่ถึงเกณฑ์ พี่ก็ไม่เข้าใจว่าการที่ผลงานไม่ถึงเกณฑ์กับการแก้ไขปรับปรุงทั้งเล่มแล้วได้ตำแหน่งผศ.มันต่างกันตรงไหน หรือเป็นเพราะว่าเป็นความโชคไม่ดีที่เจอผู้อ่านที่มีมาตรฐานสูง อยากจะบอกว่าประเทศไทยถ้าไม่เสแสร้งหรือหลอกลวงก็จะไม่ได้อะไร

ถ้าคุณมีโอกาสพี่ขอบอกว่าอย่าเสียเวลาแต่ก่อนพี่เคยภาคภูมืใจในการเป็นข่าราชการแต่ปัจจุบันไม่ใช่ ถ้าศักยภาพเรามีไม่ต้องกลัว พี่กำลังคิดอยู่ว่าจะลาออกตอนไหนดี เป็นกำลังใจให้นะพี่ว่าคุณยังไม่หมดหวังหรอกแค่ 2 ปีเอง พี่ขอแนะนำให้สวดมนต์ทำสมาธิดีๆเพื่อเพิ่มพลังให้ตัวเอง

สู้ ๆ นะครับ ผมกำลังทำ ผศ. เช่นกัน ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า " ทำดี ได้ดี " ทำความดีมันยาก มีอุปสรรค บ้างเป็นธรรมดา เอาใจช่วยครับ

เป็นกำลังใจให้ กับคำพูดที่ว่าหลังฝนตกฟ้าจะสดใสเป็นจริงเสมอ แต่ต้องอดทนรอให้ฝนค่อยๆซา ซึ่งมันอาจจะช้าและอาจจะเจออะไรต่อมิอะไร แต่พอมันผ่านฟ้าสดใส นั่นแหละวันของคุณ บางทีระบบราชการก็...

เรียน ผศ.ดร.ธวัชชัย

เสียดายที่เพิ่งได้มาอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ จากต้นปี49 ถีงตอนนี้อาจารย์ก็คงผ่านช่วงเวลานั้นไปได้แล้วอย่างภาคภูมิใจ ได้รู้จักอาจารย์ผ่านผลงานของอาจารย์ว่าเป็นผู้สร้างและพัฒนาโปรแกรมในเรื่องการจัดการความรู้ให้พวกเราได้ใช้กันอย่างถ้วนหน้า ในฐานะที่เป็นคนไทยรู้สึกชื่นชมในความรู้ความสามารถและผลงานของอาจารย์มาก มีโอกาสได้เจอตัวจริงช่วงสั้นๆในห้องที่สอนการใช้blogในงานKM ดูเหมือนจะครั้งที่3 แป๊ปเดียวจริงๆอาจารย์ให้คำแนะนำในจุดที่ยังทำไม่ได้ก่อนมาประชุม ก็รู้สึกไม่ผิดหวังเลยจริงๆที่ได้ชื่นชมอาจารย์อยู่ก่อนมา หลังจากกลับมาทำงานพี่คิดว่าพี่ได้เอาสิ่งที่อาจารย์สร้างมาช่วยเหลือผู้คนมากมาย ตลอดเวลาก็รำลึกถึงอาจารย์ผู้ที่ทำโปรแกรมนี้อยู่เสมอ ผลงานและคุณความดีที่อาจารย์ทำจะอยู่ในหัวใจคนไทยไปชั่วลูกชั่วหลานแม้Tangible Assets อาจน้อยมากๆอย่างที่คนที่เป็นอาจารย์เคยเจอ แต่อยากให้อาจารย์ได้รับ Untangible Suppport และ มีกำลังพอจะลุกมาทำอะไรก็ได้ที่หล่อเลี้ยงฝันของอาจารย์ต่อไป

บางครั้งการได้รับรู้เรื่องราวของคนที่แย่กว่าอาจทำให้อาจารย์พอมีกำลังใจได้บ้าง อดีตอาจารย์ทุนUDCอย่างพี่จะเล่าให้ฟัง

พี่เรียนจบจากมหิดลระหว่างเรียนป.โท ได้รับทุนUDCเดือนละ 1,200.- และค่าเทอม+ค่าหนังสืออีกเล็กน้อย ขณะนั้นเงินเดือนรัฐบาลก่อนออกมารับทุนstartที่2,765.บาทเงินเดือนอาจารย์เอกชนก่อนลาออกมาเรียน 6,000.-บาท พอมาใช้ทุนที่มอ.เงินเดือน สามพันเศษๆสามีเป็นหมออยู่ในชนบทเงินเดือน+เบี้ยเลี้ยงทั้งหมดรวมแล้วไม่ถึงหกพัน งานก็อยากเรียกว่าโคตรหนัก ช่วงนั้นโชคดีรัฐบาลขึ้นเงินเดือนข้าราชการเพิ่มเป็นหกพันกว่าบาท ต่างคนต่างก็ทำงานหนักแถมอยู่กันคนละที่ผู้ใหญ่ก็เป็นห่วงว่าครอบครัวจะไปไม่รอดพอใช้ทุนหมดก็โอนไปทำงานด้วยกันวันที่เรื่องจะเสนอปลัดกระทรวงเซ็นอนุมัติ หน้าห้องท่านปลัด(ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน)กรุณาโทรมาบอก"อาจารย์คะตอนนี้เรื่องของอาจารย์กำลังจะเสนอให้ท่านปลัด อาจารย์ต้องโดนลดเงินเดือน 5 ขั้น อาจารย์ทราบหรือยังคะ" ได้ยินตอนนั้นก็ยอมรับว่าไม่ทราบมาก่อนไม่ได้วางแผนชีวิตว่าต้องถูกลดเงินเดือน แต่ก็ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าเพราะตั้งแต่ทำเรื่องโอนจนถึงวันที่จะอนุมัติใช้เวลาประมาณ 1 ปี งานการก็มอบหมายให้ผู้อื่นไปหมดแล้วภาคก็เตรียมรับคนใหม่เพราะงานมันรอไม่ได้เราทำงานอยู่ก็รู้ดี ทำอย่างไรก็ได้ที่อย่าให้เรื่องส่วนตัวเราไปกระทบกับงาน ก็ตัดสินใจไป

งานใหม่ไม่ไช่งานที่เราถนัดและคุ้นเคยการเรียนที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพการทำงานในระบบมหาวิทยาลัยกับการทำงานในชนบทมันต่างกันมากกว่าถึงมากที่สุด ความเป็นอยู่การใช้ชีวิต ผู้คนก็แตกต่าง พี่หอบเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผ่อนยังไม่ครบ มอ.ให้สวัสดิการกู้ตอนสอนอยู่ที่มอ.ไปด้วยจำได้ว่าซื้อในราคา75,000.-เป็นเพนเที่ยมรุ่นแรก อินเตอร์เนตไม่ต้องพูดถึงยังไม่มีใช้ ตอนอยู่มอ.เวลาจะใช้เมล์ต้องไปใช้ที่ศูนย์คอมฯ ซึ่งต้องเข้าคิว พอย้ายก็ต้องเคลียร์หนี้ที่เหลือให้หมดจึงจะไปได้ สิ่งที่ท่องไว้ว่าอยู่ที่ไหนเราก็ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ก้องอยู่ในตัวเหมือนความรู้สึกที่อาจารย์เล่าไว้ อาจารย์ก็คล้ายกับพี่และหลายๆคนแต่เมือ่20 ปีก่อน โทรศัพท์มือถือไม่มีใช้เพราะเครื่องตก1-2 แสน มีโทรศัพท์บ้านก็หรูแล้วเพื่อนฝูงโทรมาหาจากกรุงเทพฯถามว่ากำลังทำอะไรอยู่บอกว่ากำลังต้มถั่วกับต้มข้าวโพด เพื่อนไม่เข้าใจถามว่าทำไมต้องต้มทำไมไม่ซื้อกิน ในชนบทไม่มีของให้เลือกเหมือนกับที่ในเมืองและที่ต้องต้มเพราะทำอย่างอื่นไม่เป็น เวลาผ่านไปฟังดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา และยิ่งธรรมดามากๆสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ถ้าไม่ทำเองซิจะเป็นเรื่องแปลก

ถ้าตอนนั้นมีงานของอาจารย์เกิดขึ้นแล้วก็คงดีไม่น้อย เพราะแม้เมื่อมาได้เจอในภายหลังก็ยังรู้สึกถึงคุโณปการเป็นอย่างสูงความดีนี้ของอาจารย์จะยังคงอยู่ชั่วลุกชั่วหลาน ยังอยากให้คนดีๆยังยืนอยู่ได้ในสังคมไทยแม้ตัวเองคงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้

นี่เป็นการแสดงความคิดเห็นครั้งแรกที่เขียนยาวที่สุดคะ

สวัสดีค่ะ ดร. ธวัชชัย เสียดายที่ได้อ่าน blog นี้ช้าไปมาก อยากบอกอาจารย์ว่า ดิฉันรอ ผศ เป็นเวลา 18 เดือน ค่ะ ที่สำคัญทางมหาวิทยาลัยไม่คิดจะประกาศให้ ทั้งๆ ที่จะไปเรียนต่ออยู่แล้ว จนกระทั่งวันหนึ่งทนไม่ไหว ส่ง เมล์ไปหาผู้บริหารมหาวิทยาลัย หลังจากนั้น 1 วัน ดิฉันได้รับคำตอบว่าได้ ทุน และ ได้ ผศ ถ้าไม่เมล์ไปด่า คงไม่มีใครตอบหรอกคะ อยากเห็น ดร. อดทน ต่อสู้นะคะ ตอนนี้ เรากลับจากเรียนปริญญาเอกแล้ว แต่คนในมหาลัยยังไม่เรียกเราว่า ดร. เลย ฮ่าาา ที่สำคัญดิฉันยังไม่ทราบเลยว่าเงินเดือนของดิฉันปรับเป็นแท่ง ผศ หรือยัง เพราะตอนทีมหาวิทยาลัยประกาศ ผศ ให้ดิฉัน คือเดือน มีนาคม 50 และต่อมาวันที่ 1 เมษายน 50 ดิฉันบินไปเรียนต่อญี่ปุ่น วันนี้ กลับมาทำงานแล้วยังไม่มีใครบอกได้เลยว่า เงินเดือนดิฉันอยู่แท่งไหน เฮ้อ ระบบ ที่แสนดี เอาเป็นว่าอดทนกันต่อไปคะ หมายเหตุ ส่งเมล์มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้นะคะ

เป็นกำลังใจให้คับ ไม่รู้ตอนนี้ อ.เป็นอย่างไร ผมก็เป็น อ.ใหม่ได้ 1 ปี ก็กำลังศึกษา ตำแหน่งทางวิชาการครับ ถึงเงินเดือนไม่เยอะแต่ เป็นอาชีพที่มีความสุขครับ ^^

ขออนุญาตเเชร์นะครับ

อยากทราบข่าวปัจจุบันของอาจารย์

ตอนนี้ผมมีความสุขดีในฐานะนักวิชาการอิสระครับ ได้ทำสิ่งที่มีความสุขในการทำ เป็นเจ้านายตัวเอง และได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่ครับ

ดีใจด้วยจริงๆค่ะที่อาจารย์มีความสุขแล้ว เข้าใจระบบราชการ คนเราอยู่ที่เราทำอะไรแล้วมีความสุขต่างหาก(สิ่งนั้นไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน) สุขทุกข์อยู่ที่ใจค่ะ

อาจารย์ทุกข์ใจเกือบสองปี. ดิฉันทุกข์ใจกับการขอผศ เกือบ 4 ปี จนบัดนี้ยังไม่เรียบร้อยเลยคะ อายุก็มาก อีก 6 ปีก็เกษียรคะ ทำสารพัด คำตอบก็เหมือนๆที่ทุกคนเจอ แต่เพิ่มเรื่องประธานหมดวาระ ใช้เวลาหาถึง 1 ปีเต็ม ดิฉันแก้ไขงานครั้งสุดท้ายเมื่อสองปีก่อน เรื่องผลงานมีมากมาย มหาวิทยาลัยชื่อดังให้เกียรติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ออกสื่อวิทยุและตีพิมพ์ในวารสารจุฬา..ได้รับรางวัลทางวิชาการ... เตรียมทำผลงาน รศ รอไว้ ตอนนี้ใช้ไม่ได้แล้วคะ จะสามปีแล้ว โดยเฉพาะงานตีพิมพ์ ไม่รู้ว่าจะโทษใครดี หรือคนพวกนั้นเขาไม่รู้ว่าการทำผลงานสามารถสร้างประเทศชาติให้มีคนคิดเป็นมากขึ้น. ดิฉันพยายามประคองตัวเองให้ยังทำงานให้ดีได้ ถอยห่างโดยขอไปช่วยราชการที่เชียงใหม่และอยู่กับครอบครัวที่ยังพอมีกำลังใจให้อยู่

ผมเห็นใจ อ.ชลินดาครับ ระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการของไทยเรานั้นเป็นระบบอำนาจแบบเก่าเหมือนทหารตำรวจเสียมากกว่าครับ น่าแปลกที่ไม่มีผู้ใหญ่ด้านการศึกษาคนไหนออกมาส่งเสียงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงครับ

ทำใจครับท่าน ดร.ธวัชชัย ระบบเป็นสิ่งสำคัญ ทรัพยากรบุคคลที่ทำให้ระบบขับเคลื่อนได้สำคัญยิ่งกว่าครับ...ขอให้มีความสุข ส่วนผมก็เข้าสูเส้นทางแห่งความทุกข์แล้วครับ....สวัสดีครับ

เป็น อาจารย์ ม.เอกชน แต่กำลังจะขอ ผศ. ใน ปี 58 เพราะมี งานวิจัยที่ยังติดค้าง อยู่ ส่วน บทความวิชาการตามเกณฑ์ มีแล้ว peoceeding ก็มีแล้ว เอกสารประกอบการสอน ต้องใช้เวลาในการเขียน สะสมงานมาเรื่อย ๆ จนเต็ม เหมือนกัน

ทุกคนมีสิทธิ์ ฝัน จะพยายามทำงานเป็นอาจารย์ให้ดีที่สุด เพราะตัวเองก็สอนมาไม่สอนกว่าอาจารย์ 14 ปี เช่นกัน ที่จะมา อยากขอคำแนะนำจากอาจารย์ การเขียนเอกสารประกอบการสอน

เมื่อ เราสะสมงานไว้ ก็อยากจะได้ ความก้าวหน้า ชื่อเสียง และความมั่นคง และสุดท้าย คือความภาคภูมิใจ

แต่บางอย่างมันแลก กับ การว่า การรอ คอย คือ ความสำเร็จ

จอห์นนพดล ผ่านมาสิบปี แต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข ผ.ศ เมืองไทย เห้ออออ

ตรรกกะผิดๆ ในการพิจารณาเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ มร.ชม.

ก่อนอื่น ผมต้องบอกก่อนว่าเรื่องขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ของผมนั้น แม้ได้ผ่านขั้นตอนจากทางคณะฯ แต่ก็ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย เพราะถูกส่งกลับไปกลับมานับสิบครั้ง ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ท้อถอยแต่ประการใด แต่เหตุที่ผมเขียนบทความนี้ ก็เพื่อให้ข้อคิดสำหรับอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่จะขอตำแหน่งวิชาการในโอกาสต่อไป

ผมเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อห้าปีที่ผ่านมา ผมโชคดีหลายประการ นับตั้งแต่ได้ถูกสัมภาษณ์โดยอดีตหัวหน้าสาขาและรองคณบดีฯ ที่ให้เกียรติและความไว้วางใจผมอย่างมาก เมื่อเข้ามาสอนใหม่ (ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์การสอนจากที่อื่นมาก่อน เคยมีแต่ประสบการณ์การเป็นวิทยากร) ผมได้รับมอบหมายจากอดีตหัวหน้าสาขาให้ผมสอนวิชาสองวิชาในเทอมแรก ได้แก่วิชาภาวะผู้นำ กับวิชาการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์

การที่ได้สอนสองวิชานี้ ทำให้ผมได้เขียนทั้งพ็อกเก็ตบุ๊คส์และเอกสารประกอบการสอนในการทำงานปีแรกสุดของผม ด้วยเหตุเพราะวิชาภาวะผู้นำ มีเอกสารประกอบการสอนของเดิมอยู่แล้ว เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ วิชา ที่ผมไม่เคยจะคิดเขียนตำราขึ้นมาอีก เพราะผมควรจะสนับสนุนใช้ของเดิม (แต่ส.ก.อ.ก็กลับจะให้อาจารย์ทุกคนเขียนตำรา จะเขียนซ้ำๆ กันไปเพื่อประโยชน์อันใด?) แต่ในเทอมที่สอนอยู่ผมให้นักศึกษาทำรายงานโดยการหาหนังสืออ่านประกอบการเรียน จึงพบว่าหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์เกี่ยวกับภาวะผู้นำส่วนใหญ่เป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ ส่วนคนไทยเขียนมีน้อยและส่วนใหญ่จะเขียนโดยข้าราชการทหารตำรวจ ผมเคยเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนและทำธุรกิจส่วนตัว มาก่อน ผมจึงลองเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คส์ขึ้นเล่มหนึ่ง คือ "๓๓ กฏทองสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ" และปรากฏว่าเป็นหนังสือขายดี จนทำให้ได้เขียนพ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มที่สองและสามในเวลาต่อมา ส่วนวิชาการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ผมพยายามหาตำราเรียนอยู่นาน ก็หาไม่ได้เลยแม้กระทั่งเล่มเดียว เพราะมีเพียงมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่เคยสอนวิชานี้ และก็ไม่ได้ผลิตตำราออกมาขาย ผมจึงจำเป็นต้องรีบทำเอกสารเพื่อให้ทันนักศึกษาใช้เรียน โดยข้อมูลส่วนใหญ่ต้องหาจากอินเตอร์เน็ต พ็อกเก็ตบุ๊คส์ ตลอดจนเวปไซต์ต่างๆ และในเทอมต่อๆ มา ผมก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเล่มตำรา และใช้มาอีกหลายเทอมทั้งที่ผมสอนเองและอาจารย์ท่านอื่นสอน และผมเป็นอาจารย์ผู้ประสานงานวิชานี้มาทุกครั้งที่เปิดสอน

สี่ปีผ่านไป ผมทราบว่า ส.ก.อ. ได้แก้ไขระเบียบการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุญาตให้ใช้ตำรา หนังสือ กับเอกสารประกอบการสอน รวมสองอย่างโดยไม่จำเป็นต้องมีงานวิจัยด้วย ในการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะอาจารย์ไม่ใช่โดเรม่อน ที่จะเก่งทุกอย่างทำทุกเรื่อง และครูอาจารย์ที่ดีควรจะต้องสอนเก่งมากกว่าทำวิจัยหรือเขียนบทความเก่ง ผมไม่เคยปฏิเสธงานวิจัย เพราะผมเลือกทำวิจัยเมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และผมเคยขอทุนวิจัยจากทั้งคณะวิทยาการจัดการและสถาบันวิจัย มร.ชม. แต่ยังไม่เคยได้รับ เพราะผมต้องการวิจัยว่า ทำไมนักศึกษาเราถึงไม่ชอบและตอบข้อสอบอัตนัยไม่เป็น ? เขียนโครงการไปเสนอทีไรก็ไม่ได้รับงบประมาณ เพียงเพราะผมไม่ได้สอนคณะครุศาสตร์ และผมก็ไม่เคยเห็นด้วยว่า อาจารย์ที่ดีต้องทำวิจัย และการขอผลงานวิชาการสมัยก่อนบังคับให้อาจารย์ต้องทำวิจัยจึงขอได้

พอผมทราบระเบียบใหม่นี้ ผมก็เห็นช่องทางว่า ผมน่าจะขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ทันที เพราะบังเอิญผมมีทั้งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์ และเอกสารประกอบการสอนพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ผมจะต้องขอด้วยวิธีการพิเศษ เนื่องจากผมยังสอนไม่ครบห้าปี ผมจึงนำตัวอย่างทั้งพ็อกเก็ตบุ๊คส์และเอกสารประกอบการสอน ไปขอคำแนะนำจาก ศาสตราจารย์มนัส ประธานพิจารณาตำแหน่งวิชาการอาจารย์ ซึ่งท่านก็ได้กรุณาตรวจสอบให้ว่าพ็อกเก็ตบุ๊คส์ที่ผมเขียนเข้าข่ายหนังสือ ใช้ประกอบขอตำแหน่งได้ และรองศาสตราจารย์สนิท ก็ได้กรุณาตรวจสอบและแนะนำปรับปรุงการเขียนเอกสารประกอบการสอนให้ผมด้วย ผมรู้สึกขอบพระคุณและดีใจมาก ที่ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือทั้งสองท่านกรุณากับผมมาก และผมก็รออีกหนึ่งปีตามที่ท่านแนะนำค่อยยื่นเรื่องขอตำแหน่ง แทนการขอตำแหน่งก่อนเวลา ซึ่งกฏกติกาจะยากกว่า

ผมเตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว และปรับปรุงแก้ไขเอกสารประกอบการสอน เตรียมหลักฐานการเป็นวิทยากรและอื่นๆ ตลอดจนแบบ ก.พ.อ.03 ไว้ล่วงหน้าเกือบปี ผมจำได้แม่นว่าผมเข้ามาทำงานวันแรกคือ ๑ ส.ค. ๕๑ ผมจึงยื่นเอกสารต่อคณะวิทยาการจัดการในวันที่ ๑ ส.ค. ๕๖ โดยหัวหน้าสาขาฯ รองคณบดีฝ่ายวิชาการฯ ได้กรุณาช่วยตรวจสอบเบื้องต้นให้ผมด้วย ท่านช่วยเหลือผมอย่างมากจนผมคิดว่าทุกอย่างน่าจะสะดวกราบรื่น

หลังจากนั้นราวสองสัปดาห์ ผมก็ได้รับโน้ตเขียนด้วยลายมือ ซึ่งเข้าใจว่ากองการเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคำขอของกระผม มีหลายเรื่องให้แก้ไข ซึ่งบางเรื่องก็จุกจิกเกินความจำเป็น เช่น การพิมพ์ตัวหนา,ตัวปกติในคำร้อง (ก็ไม่รู้ว่าถึงกับทำให้คำร้องเป็นโมฆะเลยหรือ ?) การไม่ได้ระบุที่ผลงานว่าชิ้นไหนเป็นหนังสือ ชิ้นไหนเป็นบทความวิชาการ ชิ้นไหนเป็นเอกสารประกอบการสอน (ซึ่งใครๆ ก็ดูออก และในคำร้องก็ระบุไว้หมดแล้ว แต่ผมก็แก้ไขด้วยการพิมพ์สติ๊กเกอร์ติดปกให้ทั้งหมดทุกชิ้น) และตลกยิ่งขึ้นคือ ต้องให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสาขาวิชาฯ เป็นผู้วินิจฉัยให้ว่าชิ้นไหนเป็นผลงานประเภทไหน นอกจากนี้หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์ที่ผมเขียนขายทั่วไป ต้องหาหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าได้เผยแพร่อย่างกว้างขวาง (ก็มันขายทั่วประเทศ ทำไมผมต้องเอาหลักฐานมาแสดงอีก) แต่ก็ไม่เป็นไร หนังสือที่ผมใช้ขอประกอบผลงานวิชาการ ผมใช้พ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มที่สามของผม คือ "การจัดการที่ดี ต้องเหมือนการทำฝนหลวง" เพราะสองเล่มแรกขาดตลาดไปนานแล้ว ผมไม่อาจหามาครบห้าเล่มเพื่อประกอบได้ ผมจึงใช้เล่มใหม่ และเล่มนี้ทั้งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เคยมีหนังสือเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ แนะนำให้อ่าน ส่วนคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มร.ชม. ก็มีหนังสือไปยังทุกมหาวิทยาลัยและทุกมหาวิทยาลัยก็มีหนังสือเวียนให้อาจารย์นักศึกษาอ่าน อีกทั้งรายการหนังสือน่าอ่านช่อง ๗ สี ก็ได้แนะนำเป็นหนังสือน่าอ่านทางโทรทัศน์ไปแล้ว และโครงการหลวงก็ยังอนุญาตให้วางจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ในร้านโครงการหลวงทั่วประเทศด้วย ผมจึงหาหลักฐานประกอบการเผยแพร่อย่างกว้างขวางไม่ยาก

เท่านั้นยังไม่พอ....เอกสารประกอบการสอน เนื่องจากวิชาการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ มีเปิดสอนมาหลายครั้ง บางเทอมผมก็สอนเอง บางเทอมผมก็เป็นแค่ผู้ประสานงาน แต่ผมมักจะปรับปรุงเนื้อหาในเล่มให้ทันสมัยขึ้นทุกเทอมก่อนพิมพ์ ผมจึงนำส่งเล่มล่าสุดที่พิมพ์ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ไปใช้ประกอบการพิจารณา ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ เพราะผมสอนเองในปี พ.ศ.๒๕๕๔ จนผมต้องไปให้โรงพิมพ์พิมพ์ของเก่ามาใช้แทน

ผมดำเนินการแก้ไขทุกอย่างครบถ้วน แล้วจึงยื่นคำร้องไปใหม่ในวันที ๑๙ ส.ค.๕๖ ซึ่งเวลาผ่านมาเกือบสามสัปดาห์แล้ว เพียงเพราะการตรวจเอกสารขั้นต้น หลังจากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการประจำคณะ ซึ่งมีการนัดประชุมครั้งถัดมาในวันที่ ๑๒ ก.ย.๕๖

ต่อมาในวันที่ ๑๘ ก.ย.๕๖ กระผมจึงได้รับบันทึกข้อความจากทางคณบดีคณะวิทยาการจัดการ แจ้งมติที่ประชุม โดยเนื้อหาสำคัญคือ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาว่า

๑. บทความวิชาการที่ผมเขียนลงในวารสารคณะวิทยาการจัดการ ไม่ใช่วารสารทางวิชาการ

๒. บทความวิชาการที่ผมเขียนลงในวารสารมหาวิทยาลัยรังสิต (มี Peer review) เป็นบทความด้านการศึกษา ไม่ใช่สาขาบริหารธุรกิจ (ข้อนี้ไม่ว่ากัน ผมชอบเขียนในสิ่งที่ผมอยากเขียน ไม่ใช่เขียนเพื่อขอตำแหน่ง เช่นเดียวกับบทความในหนังสือพิมพ์รายวันที่ผมเขียนประจำ ผมก็ไม่สามารถใช้ประกอบการขอตำแหน่งวิชาการได้ )

๓. เอกสารประกอบการสอนที่ผมใช้สอน ยังไม่มีเอกสารยืนยันการเผยแพร่

๔. พ็อกเก็ตบุ๊คส์ที่ผมเขียน ไม่สามารถใช้เป็นหนังสือได้

๕. เอกสารประกอบการสอน ยังมีการอ้างอิงน้อยเกินไป (ก็จะอ้างมากๆ ได้อย่างไร เพราะผมต้องหาข้อมูลจากวารสารบ้าง เวปไซต์บ้าง และต้องลงทุนซื้อหนังสือภาษาอังกฤษ มาศึกษาเองด้วยเวลาจำกัด และผมก็ทำบรรณานุกรมอ้างไปครบหมดแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคำถามแปลกๆ ถามผมว่าพ็อกเก็ตบุ๊คส์ที่ผมเขียนทำไมไม่มีหนังสืออ้างอิง ก็จะมีได้อย่างไร ก็ผมเขียนเองทั้งหมด ทำไมคนไทยต้องอ้างฝรั่งถึงเชื่อถือได้หรือ? ผมอ้างแต่พระราชดำรัสและวิธีการทรงงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครับ จึงไม่มีหนังสืออ้างอิง)

ด้วยความกรุณาอย่างยิ่งจากทั้งท่านหัวหน้าสาขา คณบดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ ทุกคนช่วยเหลือผมอย่างดียิ่ง จึงสรุปว่าให้ผมแก้ไขตามข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิคณะฯ และพ็อกเก็ตบุ๊คส์ให้ยื่นเป็นผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นแทน และผู้ช่วยคณบดีก็มีน้ำใจกับผมอย่างมาก นัดให้ผมไปพูดคุยหารือหาทางออก ตลอดจนแนะนำให้ผมเขียนแบบ วช.๑.๑ ให้มีเพียงผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น กับเอกสารประกอบการสอน เพื่อประกอบการขอตำแหน่ง ไม่ต้องเอาบทความวิชาการไปรวม แต่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบ กพอ.๐๓ เพราะเป็นเพียงข้อมูลที่แจ้งไปทั้งหมด แต่การพิจารณาว่าผลงานวิชาการใช้ได้หรือไม่ของผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัย คงจะพิจารณาแค่สองสิ่งนี้ ผมจึงแก้ไขแล้วส่งกลับไปใหม่ในวันที่ ๑๙ ก.ย.๕๖ (โปรดสังเกตว่า ผมแก้ไขและส่งคืนทันที เพราะเป็นนิสัยปกติผมคือ ทำงานเร็ว ทำงานยากให้เป็นงานง่าย)

ในระหว่างนี้ ผมก็ได้ปรึกษากับอาจารย์โก๋ (ดร.จอห์นนพดล ผู้มีตำแหน่งด็อกเตอร์แต่ มร.ชม. ไม่ยอมจ่ายเงินเดือนด็อกเตอร์ให้) อาจารย์โก๋ก็นำเรื่องของผมไปปรึกษาตัวแทนสภาอาจารย์ จนได้ข้อมูลใหม่มาบอกผมว่า สิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิคณะพูดและปรากฏอยู่ในบันทึกรายงานการประชุมของคณะวิทยาการจัดการ ผิดเกือบทั้งหมด ผมเองก็หาข้อมูลจากเวปไซต์ต่างๆ จึงพบว่าไม่ตรงกับประกาศ ก.พ.อ.เลยเช่นกัน

เป็นไปตามที่ผมคาดไม่ผิดแม้แต่น้อย ในวันที่ ๒๗ ก.ย.๕๖ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ โดยรศ.ประสิทธิ์ เลขานุการคณะกรรมการฯ ก็มีหนังสือแจ้งกลับมาทางคณบดีคณะวิทยาการจัดการว่า พ็อกเก็ตบุ๊คส์ผมไม่ใช่ผลงานวิชาการในลักษณะอื่น (แต่ก็ไม่บอกว่าเป็นหนังสือได้ หากผมสรุปเพียงจากผู้ทรงคุณวุฒิคณะฯและคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการมหาวิทยาลัย พ็อกเก็ตบุ๊คส์ผมก็คงใช้เป็นผลงานวิชาการไม่ได้) และผลงานวิชาการที่ผมจะใช้ได้กลับเป็น บทความวิชาการ ที่ผู้ทรงคุณวุฒิคณะฯ บอกว่าใช้ไม่ได้ (อย่างนี้ควรจับให้สองหน่วยงานนี้มาคุยกันเองสักรอบจะดีไหม?) นอกจากนี้ก็แจ้งให้ผมแก้เล็กแก้น้อย ซึ่งบางอย่างผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมซีเรียสนักหนา เช่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ ขั้น..... ผมก็เติมตัวเลขเงินเดือนลงไป เพราะผมไม่มีขั้น เพราะผมไม่ใช่ข้าราชการ ต้องแก้เป็น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ รับเงินเดือน.... หรือแม้วันที่ให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ก็ต้องแก้ไข ถ้าให้ผมยืนยันผมก็ต้องยืนยันตามเดิมคือ ๑ ส.ค.๕๑ เพราะผมจำได้แม่นว่า แม้มหาวิทยาลัยจะเรียกตัวผมตั้งแต่ ๒๒ ก.ค.๕๑ แต่ผมก็มาไม่ได้เพราะยังติดงานอยู่ และมหาวิทยาลัยก็เริ่มจ่ายเงินเดือนให้ผมตั้งแต่ ๑ ส.ค.๕๑ ผมก็ไม่เห็นนัยสำคัญที่ต้องแก้ไขวันที่เริ่มงานในคำร้องขอตำแหน่งครั้งนี้ผมเลย เพราะห่างกันแค่ไม่ถึง ๑๐ วัน (ถ้าผมแก้ ผมจะไปขอเงินเดือนย้อนหลังจะดีไหมครับ?)ส่วนพ็อกเก็ตบุ๊คส์ ที่พิมพ์ขายก็มีตัวหนังสือชัดเจนที่หน้าปกว่า ผมเขียนคนเดียว ก็ยังขาดหนังสือรับรองว่าผมมีส่วนร่วมในผลงานวิชาการชิ้นนี้ (เอกสารนี้เขาให้ไว้ใช้สำหรับงานวิจัยหรืองานเขียนที่ทำกันหลายคนไม่รู้หรอกหรือ? สำหรับผมจะทำทำไมให้เปลืองกระดาษ?)

นอกจากนี้ รศ.ประสิทธิ์ ก็ยังแจ้งให้ผมปรับแก้ผลงานทางวิชาการในแบบ กพอ.03 กับ วช.1.1 ให้มีจำนวนเท่ากันด้วย ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องปรับแก้ไป ทั้งที่แบบ กพอ.03 จะมีข้อมูลอื่นๆ ไม่ว่างานบริการทางวิชาการ งานอื่นๆ มากกว่า วช.1.1 อยู่แล้ว ถ้าผมจะใส่ผลงานทางวิชาการมากกว่าส่วนที่จะใช้พิจารณาคุณภาพผลงานทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัย มันจะเสียหายตรงไหน?

เท่านั้นยังไม่พอ...วันที่ที่ยื่นคำร้อง ทั้งในแบบ กพอ.03, แบบ วช.1.1, ใบรับรองต่างๆ ผมต้องแก้ไขใหม่ทั้งหมด เป็นวันที่ที่ส่งเอกสารชุดใหม่ให้กับคณะฯ ทั้งที่ที่ผ่านมาผมก็ทำผิดพลาดในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และหลายข้อผิดพลาดก็เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ทรงคุณวุฒิคณะฯ กับการตีความที่เกินความจำเป็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าคนเราจะจับผิด ยังไงๆ มันก็ต้องหาข้อผิดจนได้ แต่ทำไมไม่ช่วยรักษาผลประโยชน์ให้อาจารย์ อนุโลมให้ใช้วันที่ยื่นครั้งแรกหากได้ส่งผลงานวิชาการครบถ้วนแล้ว เพราะคำสั่งแต่งตั้งหากได้รับอนุมัติจะนับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง

ในที่สุดผมก็จำเป็นต้องยืนยันกับทางคณะฯว่า ผมขอใช้พ็อกเก็ตบุ๊คส์ที่ผมเขียนเป็นหนังสือ อย่าเรียกเป็นผลงานวิชาการลักษณะอื่น เพราะตามเอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ให้คำนิยามหนังสือไว้ว่า "ผลงานทางวิชาการที่เรียบเรียงขึ้นโดยมีรากฐานทางวิชาการที่มั่นคง และให้ทัศนะของผู้เขียนที่สร้างเสริมปัญญาความคิด และสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้แก่สาขาวิชานั้นๆ และ/หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่อง มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงในเชิงเนื้อหาและครอบคลุม โดยไม่จำเป็นต้องสอดคล้องหรือเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักสูตรหรือของวิชาใดวิชาหนึ่งในหลักสูตร และไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในวิชาใดวิชาหนึ่ง ทั้งนี้เนื้อหาสาระของหนังสือต้องมีความทันสมัย เมื่อพิจารณาถึงวันที่จัดพิมพ์"

ส่วนบทความทางวิชาการ ๓ บทความ ที่กระผมเคยเขียนและตีพิมพ์ในวารสารคณะวิทยาการจัดการ และผู้ทรงคุณวุฒิของคณะวินิจฉัยว่าวารสารของคณะไม่ใช่วารสารทางวิชาการ เพราะวารสารของทางคณะฯ ยังไม่ได้รับมาตรฐาน TCI ทางคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ กลับมีหนังสือแจ้งว่าให้นำไปใช้เป็นบทความเชิงวิชาการแทนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์ในการขอตำแหน่งครั้งนี้ได้ ซึ่งผมก็ตัดสินใจไม่ใช้เสียเลยจะดีกว่า เพราะเกินความจำเป็นไปมากที่จะใช้ทั้งหนังสือและบทความวิชาการ ทั้งที่กระผมก็มั่นใจพันเปอร์เซ็นต์ว่าใช่บทความวิชาการ เพราะมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำบทความเรื่อง "วิพากษ์การจัดการปัญหาน้ำท่วม ด้วยกระบวนการ POSDC" ของผมจากวารสารของคณะฯ ไปเผยแพร่ต่อในเวปไซต์ของทางมหาวิทยาลัยเองและหากดูตามนิยามเอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ.ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๖) ก็ระบุเพียงว่า บทความทางวิชาการต้องเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่มีการกำหนดเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน และต้องมีบรรณาธิการประเมินและตรวจสอบคุณภาพของบทความ ซึ่งวารสารของคณะฯ ก็มีทั้งสองข้อครบถ้วน

ส่วนเอกสารประกอบการสอน ผมได้จัดพิมพ์เป็นเสมือนตำราเรียนและมีการปรับแก้ไขมาหลายครั้ง บังเอิญผมมีเหลือเล่มล่าสุดจากการที่ถูกส่งคืนมาจากการนำไปใช้ประกอบขอตำแหน่ง ผมจึงได้ส่งให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในเชียงใหม่อีกเจ็ดสถาบัน เพื่อจะได้มีหลักฐานว่าได้มีการเผยแพร่แล้วตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิคณะฯ แจ้งความจำเป็นมา ซึ่งผมก็รู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะในเมื่ออยู่ระหว่างพิจารณามาตรฐานและทำการปรับแก้ไข ทำไมจะต้องส่งเผยแพร่ไปก่อนจึงจะนำมาใช้ประกอบเป็นผลงานวิชาการได้ จะไม่เป็นการเผยแพร่สิ่งที่อาจไม่ได้มาตรฐานออกไปนอกมหาวิทยาลัยของเราหรือ? และตามระเบียบ ก.พ.อ. ก็เขียนไว้เพียงว่า ได้ใช้ประกอบการสอนวิชาใดวิชาหนึ่งในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษามาแล้ว และที่ผมอดห่วงไม่ได้คือ เอกสารประกอบการสอนอาจารย์เราเขียนแต่ละเล่ม กว่าจะทำสำเร็จได้ก็ยากเย็น ทำไมต้องรีบนำไปให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ

เท่านั้นยังไม่พอ...หลังจากได้ส่งแก้ไขตามที่ รศ.ประสิทธิ์แนะนำไปไม่กี่วัน เรื่องก็ถูกส่งกลับมายังคณะฯ อีกครั้ง ให้กระผมเติมชื่อวิทยานิพนธ์ที่กระผมทำในสมัยเรียนปริญญาโทลงในแบบ กพอ.๐๓ ด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประเด็นนี้มาก่อนในการตรวจหกเจ็ดรอบที่ผ่านมา และผมก็ไม่เข้าใจว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผมมันเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับการขอตำแหน่งวิชาการของผมในครั้งนี้ และอาจารย์จำนวนมากที่สอนอยู่ก็ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ในสมัยเรียนปริญญาโท ยิ่งกว่านั้น ในประวัติที่ผมสมัครงานและกองการเจ้าหน้าที่เก็บไว้ ก็มีข้อมูลครบถ้วนอยู่แล้ว ทำไมต้องมาให้ผมกรอกเพิ่ม และทำไมบทความวิชาการที่ไม่ได้ใช้เป็นผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งในครั้งนี้ จึงให้ผมเอาออกจาก กพอ.๐๓ แต่วิทยานิพนธ์ที่ผมไม่ประสงค์จะใช้กลับให้ผมเติมลงไป

ปัญหาการตีความไม่ตรงกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิคณะฯ กับคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัย ผสานกับการละเอียดในเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญ ทำให้ผมต้องเสียเวลาไปสองเดือนเศษ เดือดร้อนเจ้าหน้าที่คณะฯ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพที่ต้องนัดผมหารือครั้งที่สองในวันที่ ๙ ต.ค.๕๖ และสรุปให้ผมแก้ไขตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยผมต้องทำบันทึกชี้แจงโดยตรงอีกฉบับขึ้นส่งตรงถึงคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัย ด้วยความมีน้ำใจและห่วงใยของผู้ช่วยคณบดีฯ ได้บอกกับผมว่าอาจจะต้องแก้กันอีกหลายรอบนานนับปี ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจเลยเพราะหากทำงานกันแบบนี้ ผมคิดว่าโอกาสที่อาจารย์ของเราจะได้ตำแหน่งวิชาการคงจะไม่ต่างจากการเข็นครกขึ้นภูเขา ท่านเป็นห่วงอีกหลายประเด็น เช่น หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์ผมที่ตามระเบียบแล้วต้องมีหนังสืออ้างอิง (แต่ผมไม่มีเพราะเขียนขึ้นเองทั้งเล่ม) รวมทั้งหลักฐานการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในที่สุดผมก็เลยตัดสินใจถ่ายเอกสารหนังสือตอบรับของห้องสมุดที่มีอยู่เพียง ๓๓ แห่งให้ไปด้วย (ส่วนหนึ่งไม่ถึงครึ่งของห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ผมเคยส่งหนังสือไปให้ แต่ห้องสมุดอื่นๆ ที่บรรณารักษ์ซื้อเข้าไปเองอีกมากผมไม่มีหลักฐาน แต่จะเห็นได้จากการไปค้นชื่อหนังสือนี้จะพบในเวปไซต์ห้องสมุดจำนวนมาก) เพื่อยืนยันว่าหนังสือได้เผยแพร่อย่างกว้างขวางแล้ว นี่ถ้าผมไม่เกรงใจ ผมจะถ่ายเอกสาร ส.ค.ส. ที่ท่านองคมนตรีได้ส่งให้ผมมาอวยพรปีใหม่และขอบคุณที่เขียนหนังสือการจัดการเล่มนี้ขึ้นไปให้ด้วย (สำหรับท่านประธานองคมนตรี ได้ให้ ท.ส.โทรมาผมโดยตรงเพื่อขอบคุณที่ผมส่งหนังสือไปให้องคมนตรีทุกท่าน ผมจึงไม่มีหลักฐานไปแสดง)

ล่วงเลยมาอีกเกือบเดือน หลังจากทื่ผมได้ส่งคำร้อง กพอ. ๐๓และ วช.๑.๑ชุดใหม่ไปเมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย.๕๖ รศ.ประสิทธิ์ ก็มีบันทึกถึงคณบดีคณะวิทยาการจัดการแจ้งมติคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ เสนอแนะให้กระผมแก้ไขหนังสือ "การจัดการที่ดี ต้องเหมือนการทำฝนหลวง" สองเรื่อง คือ ๑) รูปภาพต่างๆ ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มา และ ๒) ต้องมีการอ้างอิงและบรรณานุกรม ทั้งที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวางขายทั่วไป ไม่ใช่หนังสือเรียน ซึ่งแทบไม่เคยมีใครตีพิมพ์สองสิ่งนี้ในพ็อกเก็ตบุ๊คส์ที่วางขาย แต่ รศ.ประสิทธิ์ ก็อ้างตามคำจำกัดความของรูปแบบหนังสือ ตามประกาศ กพอ. ฉบับที่ ๒ อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกตัวอักษร ซึ่งเท่ากับว่าคณะกรรมการพิจารณาฯ ได้ยอมรับว่าพ็อกเก็ตบุ๊คส์ผมสามารถใช้เป็นผลงานทางวิชาการ ในรูปแบบหนังสือได้ แต่ก็ยังติดขัดในแค่รูปแบบของหนังสือนี้ ดังนั้น กระผมก็คงจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามรูปแบบ และผมก็จะต้องหาวิธีที่จะพิมพ์จำนวนห้าเล่ม ให้เป็นหนังสือที่มีรูปแบบครบถ้วนถูกต้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขอตำแหน่งในครั้งนี้ แทนที่จะสนใจว่าหนังสือนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่? นอกจากนี้แล้ว กระผมก็จะต้องเปลี่ยนวันที่ในคำร้องขอตำแหน่งทั้งในแบบ กพอ.๐๓ และ วช.๑.๑ อีกครั้ง เพราะบันทึกของ รศ.ประสิทธิ์ ได้ย้ำทุกครั้งว่า ผมจะต้องเริ่มต้นวันที่ในคำร้องใหม่ทุกครั้งที่มีการแก้ไข ทำให้เงินประจำตำแหน่งผมหากได้ จะต้องถูกขยับออกไปเรื่อยๆ ผมอยากจะบอกตรงๆ ว่า ผมมาสอนหนังสือที่นี่ไม่ใช่เพราะเงิน แต่เพราะต้องการทำตามความตั้งใจที่อยากจะเป็นครูของผม แต่ผมเสียความรู้สึกครับ

การยื่นคำร้อง กพอ.๐๓ และ วช.๑.๑ ใหม่พร้อมหนังสือที่ปรับปรุงใหม่ ๕ เล่ม ที่ได้เพิ่มบรรณานุกรมและการอ้างอิงแหล่งที่มาของรูปภาพนั้น ผมได้ส่งไปพร้อมบันทึกลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ถึงคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มร.ชม.อีกครั้ง ปรากฏว่า รศ.ประสิทธิ์ ได้แจ้งกลับมายังคณบดีคณะวิทยาการจัดการว่า ไม่สามารถรับคำร้องพร้อมหนังสือฉบับแก้ไขได้ เพราะผมจะต้องทำบันทึกขอถอนการพิจารณาผลงานทางวิชาการของผมไปก่อน เมื่อได้รับอนุมัติให้ถอนแล้ว ผมจึงจะสามารถส่งคำร้องพร้อมหนังสือไปใหม่ได้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยาก ก็ในเมื่อผมแก้ตามคำแนะนำไม่ใช่ผมทำเรื่องขึ้นใหม่ และเท่ากับว่าทั้งคำร้อง กพอ.๐๓ และ วช.๑.๑ ที่ผมต้อง set zero มาครั้งแล้วครั้งเล่า เปลี่ยนวันที่ในคำร้องใหม่ โดยต้องไปรบกวนหัวหน้าสาขาวิชาและคณบดีเซ็นให้อีกเรื่อยๆ แม้ทั้งสองท่านจะยินดีเซ็นชื่อให้ใหม่และเซ็นให้ทันที มันน่าเบื่อมากสำหรับผมที่ต้องแก้วันที่ วิ่งให้ผู้บังคับบัญชาเซ็นความเห็นเดิมๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

ดังนั้น ในวันที่ ๑๕ พ.ย.๕๖ ผมจึงจำเป็นต้องทำบันทึกเพื่อขอถอนการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของกระผม โดยมีหนังสือถึงคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งฯ และหลังจากนั้นอีกเพียงสี่วัน คือวันที่ ๑๙ พ.ย.๕๖ รศ.ประสิทธิ์ ก็มีหนังสือกลับมายังคณบดีคณะวิทยาการจัดการ ส่งคืนเอกสารและผลงานทางวิชาการทั้งหมดของกระผมคืนมาให้ กระผมได้รับสำเนาหนังสือนี้ในวันที่ ๒๑ พ.ย.๕๖ เท่ากับว่าผมได้ยุติการขอตำแหน่งทางวิชาการของกระผมอย่างสมบูรณ์ โดยที่กระผมก็ไม่เข้าใจว่ากระผมได้ทำผิดระเบียบในการขอตำแหน่งมากจนไม่สามารถพิจารณาให้ได้เชียวหรือ ?

การทำเรื่องขอถอนคำร้องของกระผม ได้สร้างปัญหาขึ้นใหม่หลายประการ ตั้งแต่ผมต้องไปแก้ไขหนังสือ "การจัดการที่ดี ต้องเหมือนการทำฝนหลวง" ให้เป็นหนังสือเล่มใหม่ วันที่จัดพิมพ์ใหม่ ถึงแม้เป็นการไม่ยากสำหรับผมที่จะพิมพ์ใหม่ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพราะผมมีสต็อคหนังสืออยู่ที่บ้านหลายร้อยเล่ม (พิมพ์ครั้งแรกถึงหนึ่งหมื่นเล่ม เกือบทั้งหมดอยู่ในร้านหนังสือและสต็อคโรงพิมพ์ กับขายและแจกจ่ายไปแล้วรวมราวสามพันเล่ม) ผมต้องรีบนำหนังสือนี้ไปพิมพ์ใหม่โดยแก้เฉพาะคำนำในการพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่หนึ่ง โดยเน้นไปว่าไม่ได้ปรับปรุงเนื้อหาแต่ประการใด เป็นการพิมพ์ใหม่เพียงเพิ่มบรรณานุกรมและแหล่งที่มารูปภาพเท่านั้น หนังสือที่พิมพ์ปรับปรุงใหม่นี้ ผมจะต้องรีบนำออกเผยแพร่เพื่อมีหลักฐานแสดงว่า หนังสือฉบับปรับปรุงครั้งที่หนึ่งได้เผยแพร่วงกว้างแล้ว โดยผมต้องขับรถนำหนังสือที่แตกต่างจากเล่มเดิมเพียงแก้ไขวันที่และเพิ่มบรรณานุกรมกับแหล่งที่มารูปภาพไปมอบให้ห้องสมุดและหน่วยงานต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อจะได้รับใบตอบรับอย่างน้อยห้าแห่งมาโดยเร็ว

แค่เพียงไม่กี่วัน คือวันที่ ๒๙ พ.ย. ผมก็ใช้สิทธิ์ตามที่ท่านผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ และท่านคณบดีคณะวิทยาการจัดการเคยแนะนำกระผม ยื่นเรื่องใหม่ แน่นอนว่าผมต้องปรับแก้วันที่ใหม่ในเอกสารทุกอย่างโดยจะต้องพิมพ์ขึ้นใหม่เกือบทั้งหมดด้วย แต่ที่กระผมส่งกลับไปได้เร็วมากเพราะกระผมได้รับความกรุณาจากหัวหน้าสาขาฯ เซ็นรับรองเอกสารที่จะยื่นใหม่ตั้งแต่วันที่กระผมทำหนังสือขอถอนการพิจารณาแล้ว

เป็นเรื่องตลกปัญญาอ่อนอีกครั้ง ผ่านอีกห้าวันผมก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่คณะวิทยาการจัดการว่า รศ.ประสิทธิ์ ได้แจ้งว่าผมต้องแก้ไขบันทึกนำส่งเอกสารและคำร้องที่ลงวันที่ ๒๙ พ.ย. ให้เป็นแบบฟอร์มเดียวกับที่ผ.ศ.พิไล นำส่งเอกสาร ทั้งที่เนื้อหาบันทึกที่ผมส่งไปก็คือเรื่องเดียวกัน ก็ในเมื่อเป็นแค่บันทึกนำส่งทำไมต้องให้เหมือนกันทุกคน ในเมื่อไม่มีฟอร์มมาตรฐานและเป็นอาจารย์คนละสาขาวิชากัน และที่ท่านคงจะลืมไปแล้วก็คือ บันทึกที่ผมส่งไปครั้งล่าสุดนี้ ท่านเคยรับนำไปเสนอพิจารณาในการนำส่งเอกสารและคำร้องมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ทำไมต้องเปลี่ยนแบบฟอร์ม อย่างนี้ไม่เป็นการกลั่นแกล้งกันชัดๆ หรือ ท่านไม่รู้หรอกว่านับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมยื่นคำร้องของตำแหน่งในวันที่ ๑ ส.ค.๕๖ ผมได้เก็บสำเนาเอกสารหลักฐานไว้ทุกอย่าง

เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการส่วนตัวของ รศ.ประสิทธิ์ ผมจึงได้ทำบันทึกนำส่งใหม่ผ่านคณบดีคณะวิทยาการจัดการอีกครั้ง โดยทางคณะวิทยาการจัดการอนุญาตให้ผมลงวันที่เดิมคือ ๒๙ พ.ย. แต่รับหนังสือจริงในวันที่ ๖ ธ.ค. แล้วนำส่งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการในวันที่ ๘ ธ.ค. ด้วยบันทึกที่เนื้อหาเดียวกับบันทึกฉบับเดิมแต่คนละรูปแบบ

วันที่ ๑๒ ธ.ค. กระผมก็ได้รับสำเนาหนังสือของ รศ.ประสิทธิ์อีกครั้ง ไม่น่าเชื่อครับว่า รศ.ประสิทธิ์จะแจ้งกลับมาว่า จากการตรวจสอบหนังสือ "การจัดการที่ดี ต้องเหมือนการทำฝนหลวง" ฉบับปรับปรุงตามที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งฯ แนะนำ ที่มีการปรับปรุงเพียงเพิ่มบรรณานุกรมกับอ้างอิงแหล่งที่มาของรูปภาพ และมีหลักฐานผมได้ส่งไปให้กับหน่วยงานรัฐบาลชั้นนำทั้งในกรุงเทพ แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ และวางขายด้วยอีกเล็กน้อยในเชียงใหม่ จะยังไม่สามารถใช้เป็นผลงานวิชาการได้ เพราะยังเผยแพร่สู่สาธารณะไม่ครบสี่เดือน ทั้งที่เนื้อหา หน้าปก และทุกอย่างในเล่มปรับปรุงใหม่ก็เหมือนกับเล่มเดิมทุกประการ นอกจากเพิ่มบรรณานุกรมกับอ้างอิงแหล่งที่มาของรูปภาพ แถมด้วยการอ้างอิงบรรณานุกรมไม่ถูกต้อง ส่วนการอ้างอิงแหล่งที่มาของรูปภาพจะต้องอ้างอิงไว้ใต้รูปภาพเท่านั้น และต้องมีสารบัญภาพด้วย (ท่านทำหน้าที่ตรวจหนังสือแทนผู้ทรงคุณวุฒิไปแล้วหรือ?) และเป็นการสมควรไหมครับที่ผมจะต้องรออีกสี่เดือน และผมจะเจอปัญหาอะไรอีก ?

ผมจึงตัดสินใจทำบันทึกชี้แจงการเผยแพร่หนังสือกลับไปยัง รศ.ประสิทธ์ ในวันที่ ๑๕ ธ.ค. ยืนยันว่าหนังสือเล่มปรับปรุงใหม่กับเล่มเดิมมีเนื้อหาตรงกันทุกประการ ซึ่งท่านก็ควรจะรู้ดีอยู่แล้วแต่ไฉนจึงต้องให้ผมรออีกสี่เดือน กับขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการจะแต่งตั้งขึ้น เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องและคุณภาพทางวิชาการของหนังสือ พร้อมนำเรื่องนี้ปรึกษากับประธานสภาคณาจารย์ มร.ชม. ซึ่งท่านก็เห็นใจกระผมเป็นอย่างมากที่ต้องเสียเวลามากมายไปกับการทำเรื่องขอตำแหน่งครั้งนี้

และแล้วในวันที่ ๑๗ ธ.ค. รศ.ประสิทธ์ ก็มีหนังสือแจ้งกลับมาทางคณบดีคณะวิทยาการจัดการว่า ให้ผมนำส่งเอกสารได้ใหม่ พร้อมหลักฐานที่ผมชี้แจงตามบันทึกของกระผมในวันที่ ๑๕ ธ.ค. ผมจึงส่งบันทึกขอนำส่งเอกสารทั้งสองอย่างไปอีกครั้งด้วยบันทึกลงวันที่ ๒๐ ธ.ค. ๕๖

ผ่านมาอีกไม่กี่วัน ผมก็ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยคณบดีฯ บอกให้ผมปรับแก้วันที่ในคำร้องและเอกสารประกอบอีกครั้ง ให้เป็นวันที่ ๒๐ ธ.ค. ๕๖ เพื่อให้ตรงกับบันทึกชี้แจงฉบับล่าสุด และผมจึงทำเอกสารใหม่หมดเป็นวันที่ ๒๖ ธ.ค. ๕๖

ครั้งนี้ใช้เวลาสองเดือนครึ่ง คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จึงมีหนังสือมายังคณบดีคณะวิทยาการจัดการส่งคืนการนำส่งเอกสารยื่นเรื่องขอตำแหน่งของผม โดยมีข้อเสนอแนะ ๔ ข้อ ได้แก่

๑. ควรแจ้งให้ผู้เสนอขอฯ ให้พึงระวังในการตรวจสอบหนังสือที่เสนอเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ให้เป็นไปตามคำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ทั้งในเรื่อง คำนิยาม รูปแบบ และการเผยแพร่ที่ ก.พ.อ.กำหนด

ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองการเผยแพร่จากคณะกรรมการของสถาบันอุดมศึกษา คณะ และ/หรือ สถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้น

๒. เรื่องของรูปภาพ ควรแจ้งให้ผู้เสนอขอฯ ตรวจสอบแหล่งที่มาของรูปภาพ และพึงระวังในเรื่องของ plagiarism ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ

๓. ควรแจ้งผู้เสนอขอฯ ให้ตรวจสอบวิธีการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม

๔. หนังสือ "การจัดการที่ดี ต้องเหมือนการทำฝนหลวง" ยังเผยแพร่สู่สาธารณชนไม่ครบสี่เดือน......

และเป็นเรื่องตลกมากที่บอกให้ผู้เสนอขอ ฯ ทำหนังสือรับรองในแต่ละข้อเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผลงานทางวิชาการที่เสนอเป็นไปตามคำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ทั้งในเรื่อง คำนิยาม รูปแบบ และการเผยแพร่ ที่ ก.พ.อ.กำหนด และเป็นไปตามจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการที่ ก.พ.อ.กำหนด แถมย้ำมาด้วยว่า ผู้เสนอขอฯ ต้องรับผิดชอบ หากภายหลังมีผู้ร้องเรียนหรือตรวจสอบพบว่าผู้เสนอขอฯ ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งที่ผู้พิจารณาว่าตรงหรือไม่ตรงตามคำจำกัดความวิชาการคือผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้ามาตรวจสอบ ไม่ใช่ผู้เขียนผลงานวิชาการ แล้วจะให้ผมรับรองให้เปลืองกระดาษทำไม ยิ่งเรื่องจรรยาบรรณกับจริยธรรมหากผิดจริงก็มีทั้งระเบียบ กฏหมายลงโทษอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการเขียนบรรณานุกรม หากมีผิดบ้างก็เป็นเรื่องปกติมาก ก็ควรให้แก้ไขภายหลังได้ แต่ผมก็ได้ส่งบรรณานุกรมของทั้งเอกสารประกอบการสอนและหนังสือที่ใช้ประกอบพิจารณา ให้สำนักหอสมุด มร.ชม. ช่วยตรวจสอบตามบันทึกที่ จก/บท พิเศษ/๕๖ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ซึ่งหัวหน้างานห้องสมุดก็ได้มีคำสั่งช่วยเหลือกระผม มอบหมายเจ้าหน้าที่และตั้งทีมงานช่วยตรวจปรับแก้ไขให้ด้วย และอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเป็นความกรุณาอย่างมากของห้องสมุด มร.ชม

ไม่น่าเชื่อเลยครับว่า...การนำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง กับเอกสารประกอบการสอนวิชาหนึ่งซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เมื่อทำเสร็จแล้วก็มีอาจารย์ใช้สอนกันมาหลายคนหลายภาคการศึกษา เพื่อใช้ประกอบเป็นผลงานในการขอตำแหน่งวิชาการของผม จะใช้เวลามาแล้วถึงกว่าเจ็ดเดือน ก็ยังไม่ถึงมือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แถมยังไม่รู้ว่าถึงเวลานั้นจะติดปัญหาอะไรอีก เพียงเพราะคนคนเดียวที่ทำหน้าที่เลขานุการที่ทำหน้าที่ "จ้องจับผิด" แทนที่จะช่วยเหลืออาจารย์

ปัญหาที่เกิดกับผมในการขอตำแหน่งวิชาการนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เป็นปัญหาที่มีมานานพอสมควรแล้วในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งวิชาการบางท่านต้องเสียเวลาหลายปีในการขอตำแหน่ง บางคนท้อหยุดเรื่องไปก็มีไม่น้อย การกระทำของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของ มร.ชม. คณะนี้ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องมาหลายปี จึงมีลักษณะเหมือนกลั่นแกล้ง ไม่สนับสนุน ไม่ช่วยเหลือ ไม่มีเมตตาธรรม แทนที่จะช่วยให้กำลังใจและช่วยสนับสนุนให้อาจารย์ได้ตำแหน่งวิชาการกันมากขึ้น แต่กลับทำให้ขอได้ยาก เสียเวลา จนทำให้จำนวนอาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งวิชาการมีน้อยมากในแต่ละปี จนอาจจะกระทบต่อการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย เพราะอาจารย์เรามีตำแหน่งวิชาการเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย ไม่ได้เกิดจากอาจารย์ไม่มีผลงาน ไม่ขอผลงาน แต่ขอแล้วยุ่งยากล่าช้า เพราะแทนที่จะช่วยเหลือแต่กลับหาช่องระเบียบมาทำให้การขอตำแหน่งไม่สำเร็จ กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์มีตำแหน่งวิชาการน้อยกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ สาเหตุก็เพียงเพราะการทำงานที่มุ่งรักษาระเบียบอย่างเคร่งครัดแทนที่จะใช้ระเบียบพอประมาณเพื่อความเจริญขององค์กรและกำลังใจของพนักงาน หารู้ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราโชวาทเตือนสติเจ้าหน้าที่ของรัฐเสมอ ไม่ให้คิดว่าระเบียบหรือกฏหมายสำคัญกว่าความถูกต้องและศีลธรรมตลอดจนความเจริญบ้านเมือง

ผมขอเรียกร้องผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ให้ช่วยกันหาวิธีการและมาตรการเพื่อให้เกิดการแก้ไขวิธีการปฏิบัติในการยื่นเรื่องของตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ให้สะดวกรวดเร็ว และมีมาตรการช่วยเหลือให้ได้ตำแหน่งกันมากยิ่งขึ้น อย่าให้การสนับสนุนการขอตำแหน่งวิชาการของอาจารย์เป็นเพียงคำพูดและนโยบายโก้หรูแต่ทำตรงกันข้ามสุดกู่ และขอให้กรณียุ่งยากแบบนี้เกิดกับผมเป็นคนสุดท้ายที่ขอตำแหน่งวิชาการ โปรดช่วยกันเผยแพร่บทความนี้และช่วยกันแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคนและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

อ.วิชัย กอสงวนมิตรคณะวิทยาการจัดการ

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการใช้กฏหมาย

“...กฎหมาย ทั้งปวง จะธำรงความยุติธรรมและความถูกต้องเที่ยงตรง มีความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมหรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ หรือด้วยเจตนาไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อม ความศักดิ์สิทธิ์และกลายเป็นภัยต่อประชาชน...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐

“...การ รักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ไม่ควรจะถือเพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒

“...กฎหมาย มิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมายแต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้วควรจะ ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามคนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริตควรต้องถือว่าทุจริต...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒

“...กฎหมาย นั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัว บทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ ๓๓

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๔

กิตติภัฎ รัตนจันทร์

เห็นใจครับ ของผมตอนขอ ผศ โดนไป 18 เดือน ครับ

นิติพงษ์ ส่งศรีโรจน์

หลักธรรมาภิบาลสำคัญยิ่ง

สวัสดีครับ ผมจะบอกท่านแบบนี้ล่ะกัน ผมสอนมาจะยี่สิบปีล่ะ ไม่เคยได้เงินเดือน (เพราะเป็นครูอาสา) อยู่ได้ด้วยการทำงานอื่นมาเลี้ยงชีพ ไม่เคยมีตำแหน่ง ไม่เคยได้เบี้ยเลี้ยง ไม่เคยมีหน้ามีตา แต่ที่ผมยังสอนเด็กๆทุกวันนี้ เพราะมันคือความภูมิใจที่ได้ทำดี และภูมิใจในความเป็นครู

เพิ่งเจอบทความนี่ พอกูเกิลแล้วพบว่าอาจารย์ได้ตำแหน่งผศ.แล้ว (น่าจะได้นานแล้ว) ยินดีด้วยนะคะอาจารย์ เห็นแล้วกลัวเลยว่าจบไปจะขอตำแหน่งยากไหม (กะว่าครบเวลาปุ๊บ จะขอปั๊บเลย ตอนนี้ระเบียบขอได้หนึ่งปีหลังจบดร.ใช่ไหมคะ ถ้าไม่ผิดพลาด) ตอนนี้เรียนอยู่ต่างประเทศ เห็นความก้าวหน้าของคณาจารย์ที่นี่แล้วอดสลดใจกับระบบในประเทศไทยไม่ได้ แต่ก็จะอดทนและสู้ค่ะ (เพราะยังไงก็ต้องกลับไปใช้ทุนเวลา) เพราะพ่อแม่ยังรออยู่ หนูเองก็อยากทำอาชีพที่รัก เป็นประโยชน์ต่อสังคม และดูแลคนที่เรารักได้ดีด้วย ชีวิตจะได้ไม่ดราม่าเกินไปนัก^^

11 ปีผ่านไป แต่ระบบราชการไทย ถึงแม้จะออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรํฐแล้ว ก็ยัั้งล้าหลังไม่ต่างจากเดิมครับ เข้าใจความรู้สึกของอาจารย์เลย แต่ประเทศเรา พัฒนาไม่ทันโลกจริงๆครับ

อ่านบล๊อกนี้ จากอาจารย์ที่เขียนเมื่อ 11ปีที่แล้ว ปัจจุบันยังเหมือนระบบไม่เคยเปลี่ยน อาจจะทุกข์มากกว่าเดิม เด็กเรียนก็น้อยลง ผมป็นเด็กทุนเหมือนกัน มีมหาวิทยาลัยรับเป็นต้นสังกัด อยู่ประจำวิทยาเขต แต่ไม่มีตัววิชาให้สอน ไม่รู้รับเรามาทำไม ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากมา ทุกวันนี้เหมือนอยู่ รร มัธยม ความรู้ปริญญาเอกที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ไม่ได้ใช้เลย แม้แต่เอกสารประกอบคำสอนยังไม่มีที่จะยื่นขอ ผศ เลย เปเปอร์มาพูดถึง เคยเห็นไหมสายวิทย์ที่ไม่มีห้องแลบ นั่นแหละ hopeless มากๆ ไม่ได้กลัวความลำบาก แต่กลัวการไม่ได้รับการสนับสนุน การใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาแบบลุอำนาจ ประเภทไม่มีเงิน แต่จะเอางาน กดดันสุดๆ ความหวังอยากพัฒนาประเทศมันหมดไปตั้งแต่มาทำงานได้สามเดือนแรกแล้ว ตอนนี้แค่ขอให้ตัวเองยังสามารถยิ้มได้แต่ละวันก็พอใจแล้ว ทรมานเหลือเกิน….??

ผมก็เป็นเหมือน Dr. อาจารย์ ธวัชชัย หมดอารมณ์ ผมเลิกสนใจมันแล้วครับ

ผมก็เป็นเหมือน Dr. อาจารย์ ธวัชชัย หมดอารมณ์ ผมเลิกสนใจมันแล้วครับ

ภูริวัจน์ รัศมีกุลวิทย์

สู้ๆครับ ทุกชีวิตเกิดมาต้องสู้ครับการเวียนว่ายตายเกิด(เป็นมนุษย์)มันลำบากครับนี่แหละพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงหาหนทางสู่นิพพานเป็นกำลังใจให้อาจารย์ ผู้อ่านทุกคน รวมถึงตัวผมเองนะครับ555

ไม่ไปไหนไม่มาไหน วงวิชาการก็สกปรกผู้บริหารก็ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรทำอาขีพนี้ไม่ใช่แล้ว

จะสร้างประเทศที่มีประชากรคุณภาพได้อย่างไรคะ

พึ่งโดนเหตุการเดียวกันมาค่ะรู้สึกเข้าใจมากๆ ประเทศไทย การศึกษาไทยมันห่วยจริงๆ ถ้าไม่พวกผองคือจบ ต่อให้เราให้เราเก่ง บางคนส่งงานก็ไม่ครบ คุณภาพไม่ได้แต่ผ่านเพราะมีผู้ใหญ่หนุนไม่แปลกใจ ทำไมไทยไม่พัฒนา ฉันตั้งใจทำผลงาน 3 ปี ให้ดิฉันตกด้วยเหตุผลที่ไร้สาระมาก บ ถ้าไม่ติด ุุุุุุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท