ตลาดนัดความรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขภาคอีสาน


ตลาดนัดความรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขภาคอีสาน


          ผมสัญญากับที่ประชุมว่าจะกลับมาเขียนบล็อกเพื่อให้ข้อสังเกต 2 ประเด็นคือ   (1) ยุทธศาสตร์ขยายผลจาก 1,500 เป็น 1 ล้านครอบครัว   (2) วิธีประยุกต์ใช้ KM เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อ 1

KM


          นั่นคือเหตุการณ์ในการประชุมเครือข่ายพันธมิตรโครงการชุมชนเป็นสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร   จ.ขอนแก่น   ในวันเสาร์ที่ 2 ก.ค.48   โดยมี นพ. อภิสิทธิ์  ธำรงวรางกูร      ประธานโครงการชุมชนเป็นสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   และปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน 2 ใน 12 ท่านคือ   พ่อบุญเต็ม  ชัยลา   กับพ่อคำเดื่อง  ภาษี   ร่วมกันให้ข้อมูลโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว   เกิดผลดีใน 1,500 ครอบครัวและมีหลักฐานว่าน่าจะได้ผลดีใน 20,000 ครอบครัว   จึงอยากปรึกษาหารือเพื่อหาวิธีขยายผลให้เต็มพื้นที่ 1 ล้านครอบครัว


          ความสำเร็จที่ผ่านมาดำเนินการในลักษณะของการสร้างเกษตรกรต้นแบบ   ซึ่งจะพัฒนาตนเองและเรียนรู้ร่วมกันใน 8 เรื่องหลักคือ
1)      การทำเกษตรผสมผสาน
2)      การออมน้ำ
3)      การออมดิน
4)      การออมต้นไม้
5)      การออมสัตว์
6)      การออมเงิน
7)      พฤติกรรมสุขภาพ
8)      การเรียนรู้


         แต่ละเรื่องมีรายละเอียดมากมาย   ผมจะไม่เล่าในที่นี้เพราะจะยาวมาก


        การประชุมครั้งนี้มีการเสนอยุทธศาสตร์ขยายผลให้ครอบคลุม 1 ล้านครอบครัว   โดยโครงการฯ
ปรับตัวเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาเกษตรประณีตฯ   ใช้แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์หมอประเวศ   หมออภิสิทธิ์เสนอให้ “11 ส. 1 พ.” รวมพลังทำ 12 มรรค
11 ส. ได้แก่
·       สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)
·       สกว. ภาค
·       (ม) สช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)
·       สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)
·       สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ)
·       สปรส. (สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ)
·       สป.สช. (สำนักงานปฏิรูประบบบริการสุขภาพ)
·       สคส.
·       สจส. (เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนโดย ธกส.)
·       สทพ. (ผมจับความไม่ทันว่าย่อจากอะไร)
·       สธ. (กระทรวงสาธารณสุข)
1 พ. คือ  พอช. ภาคอีสาน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)
12 มรรค ได้แก่
·       การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
·       จิตวิวัฒน์
·       ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
·       เศรษฐกิจดุลยธรรม
·       การศึกษา (เด็ก  เยาวชน  บัณฑิตรักถิ่น)
·       ศาสนา (พระคุณเจ้ากับการพัฒนา)
·       สุขภาพ (พยาบาลชุมชน)
·       การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ (การปลูกจิตสำนึกปลูกต้นไม้/ดินดี/สระน้ำ)
·       การสื่อสาร (วิทยุชมชน)
·       วิทย์ + เทคโนโลยี (ปุ๋ยชีวภาพ,  ผักหวานหาคู่)
·       ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียง)
·       กฎหมาย (กฎหมายที่เอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียง)


        เป็นจินตนาการที่กว้างไกลน่าชื่นชมมากนะครับ


        ความฝันนี้ไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ นะครับ   มีหลักฐานว่าการดำเนินการโครงการนี้เกิดผลดีจากคณะผู้ประเมิน   และการดำเนินการในลักษณะที่มีการประสานงานโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน   และศูนย์การเรียนรู้ 12 แห่ง (ปราชญ์ชาวบ้านท่านละ 1 แห่ง) สามารถเคลื่อนกลุ่มเป้าหมายได้ 20,000 ครอบครัว   ทีมคุณหมออภิสิทธิ์จึงคิดขยายเป้าหมายเป็น 1 ล้านครอบครัวในปี 2560


          อีก 12 ปีนะครับ   เป็นการมองเป้าหมายระยะยาว   ที่ผมชื่นชมจริง ๆ


          ต่อไปนี้จะเป็นการเสนอข้อสังเกตตามที่สัญญาไว้
         
ยุทธศาสตร์ขยายผล
1)      ควรขยายผลจากหลากหลายฐานปฏิบัติมากกว่านี้   เวลานี้กล่าวได้ว่ามีฐานเดียวคือ  ฐานเศรษฐกิจพอเพียง   น่าจะพิจารณาการขยายเครือข่ายสู่กิจกรรมรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องมือรวมกลุ่มคนและเชื่อมกลุ่มเป็นเครือข่ายได้   เช่น
- กลุ่มออกกำลังกาย (หลากหลายแบบ) ขยาย/เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
- กลุ่มเยาวชน  ขยาย/เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
- กลุ่มครู
- กลุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม
- เป็นต้น
          แต่ละกลุ่มเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย   และเชื่อมกับกลุ่ม/เครือข่ายที่ดำเนินการกิจกรรมที่แตกต่างกัน
          ตรงนี้ต้องคิดให้ดี   เพราะผมกำลังเสนอให้ยอมรับกลุ่มที่ไม่ได้ดำเนินการตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายด้วย   เพื่อใช้พลังของกลุ่มคนชั้นกลางในการขยายผล   ทั้งนี้ยังต้องยืนยันในหลักการพึ่งตนเอง   พึ่งพากันเอง   การลดละเลิกอบายมุข   การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ   และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
2)      ยุทธศาสตร์ “ทำเหมืองปัญญา  ประชานำ ‘อำนวย’ เสริม”   ขอขยายความดังนี้
เหมืองปัญญา   หมายถึงการขุดค้น “ปัญญา” ในชุมชนหรือท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว   และขุดค้น
“ปัญญา” ที่มีอยู่นอกท้องถิ่น   เลือกสรรปัญญาตามเป้าหมาย “ชุมชนเป็นสุข” เอามาใช้ประโยชน์และหมุนเกลียวความรู้   ยกระดับการปฏิบัติและยกระดับความรู้   เป็นวงจรไม่รู้จบ
          ประชานำ   หมายความว่าให้เอาตัวชาวบ้านหรือกลุ่มของชาวบ้านเป็นผู้คิดและตัดสินใจเอง   ไม่ใช่คนของ “ส. ทั้ง 11” เป็นผู้คิดหรือตัดสินใจแทน
          “อำนวย” เสริม   หมายความว่า “ส.ทั้ง 11” หนึ่ง พ. และองค์กรอื่น ๆ ที่จะเข้ามาส่งเสริม   จะต้องไม่หลงบทบาทแสดงตัวเป็น “คุณกิจ” เสียเอง   “คุณกิจ” คือชาวบ้าน   ผู้ส่งเสริมต้องแสดงบทบาท “คุณอำนวย” (facilitator) และที่สำคัญต้องไม่เป็น “คุณอำนาจ”
3)      ยุทธศาสตร์ทำแผนที่คนดี/ความดี   แล้ว “คุณอำนวย” เข้าไปเชื่อมโยงให้เกิด node ใหม่  
ทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับ node มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน   ผมมองว่าในภาคอีสานน่าจะเกิด node ใหม่อีกสัก 10 – 15 node   แล้วมีการดำเนินการขับเคลื่อน node เป็นเครือข่ายของ node   โดยต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายของ node ในด้านวิธีการ   โดยมีจุดร่วมคืออุดมการณ์ (purpose) ชุมชนเป็นสุขอย่างยั่งยืน
            ตามยุทธศาสตร์นี้จะต้องมีการสร้าง “คุณอำนวย” เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย   และสร้าง “คุณประสาน” (network manager) ขึ้นด้วย   สคส. ยินดีร่วมจัด workshop สร้าง “คุณอำนวย” และ “คุณประสาน” ตามแนวทาง KM หากเครือข่ายพันธมิตรเห็นพ้องกัน
          ตรงนี้ขอขยายความว่า   ผมมีความเห็นว่าศูนย์การเรียนรู้โดยปราชญ์ชาวบ้าน 12 ท่าน   ยังมีจำนวนน้อยเกินไป   ควรจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกหลายเท่า   จึงจะสามารถขยายไปครอบคลุม 1 ล้านครอบครัวได้   จึงน่าจะได้จัดกระบวนการเสาะหาและยกย่องปราชญ์ชาวบ้านรุ่นที่ 2, 3, 4...   ผ่านการทำงานร่วมกัน   เรื่องนี้ผมเห็นตัวอย่างคุณสุรเดช  เดชคุ้มวงศ์ทำที่ จ.พิจิตร   น่าสนใจมาก
          จริง ๆ แล้วหลายส่วนที่ผมเสนอเป็นเรื่องที่ทีมคุณหมออภิสิทธิ์ทำอยู่แล้วหรือเสนอไว้แล้ว   ผมนำมาเสนอเพื่อเป็นการเสริมหรือตอกย้ำ   และความเห็นของผมบางส่วนอาจไม่เหมาะสมก็ได้   เนื่องจากความรู้ด้านบริบทสังคมอีสานสังคมชนบทของผมมีจำกัด
         
วิธีประยุกต์ KM ในการดำเนินการโครงการฯ
1.      ใช้กระบวนการ KM ในการดำเนินการเครือข่าย   สรรหา “ปราชญ์ชาวบ้าน” รุ่นที่ 2, 3, 4...   เรื่องนี้น่าจะเชิญคุณสุรเดช  เดชคุ้มวงศ์จาก จ.พิจิตรมาเป็นที่ปรึกษา
2.      ใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเครือข่ายพันธมิตร   และในการเสาะหาพันธมิตรหรือการพัฒนา node ใหม่ในชุมชนภาคอีสาน
ก่อนจบการประชุม   ได้มีการนัดประชุมเครือข่ายพันธมิตรครั้งต่อไปในวันที่ 17 ก.ย.48   โดยได้
ตกลงกันว่าจะทดลองประชุมแบบ KM เอาความสำเร็จมาเล่าโดย storytelling และสกัด “ขุมความรู้” (knowledge assets) สังเคราะห์เป็น “แก่นความรู้” (Core Competence) ในการพัฒนาเพื่อชุมชนเป็นสุข   โดยคุณดวงพร  เฮงบุณยพันธ์  ของ มสช. เป็นผู้จัด “ตลาดนัดความรู้”   สคส. จะมอบหมายให้คุณ     อุรพิณ  ชูเกาะทวด  เป็นวิทยากรหลัก   ผมเป็นกองหนุน   จะต้องคิดยุทธศาสตร์และรายละเอียดของตลาดนัดอย่างชัดเจน   และต้องเตรียมผู้เข้าประชุมล่วงหน้า   รวมทั้งเตรียม “คุณอำนวยกลุ่ม” (group facilitator) และ “คุณลิขิต” (note taker) เตรียมสถานที่ประชุมและ flip chart สำหรับใช้ในการประชุมกลุ่ม   และให้ผู้เข้าร่วมเตรียมความสำเร็จมาเล่าเรื่อง
          ผมปรึกษาหมออภิสิทธิ์ว่าตลาดนัดความรู้ครั้งนี้จะเป็นเรื่องอะไร   หมออภิสิทธิ์เสนอ “สัมมาชีพเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข”   แต่เมื่อมาที่สนามบิน   ผมปรึกษากับหมอสมศักดิ์และคุณดวงพรกังวลกันว่าหัวข้อนี้จะกว้างเกินไป   นอกจากนั้นคนที่มาเข้าตลาดนัดความรู้ต้องเป็น “คุณกิจ” ตัวจริง   ซึ่งในเรื่องนี้ต้องเป็นชาวบ้าน   แต่ที่มากันวันนี้เป็น “คุณอำนวย” ทั้งสิ้น   ถ้าจะยังคงเป็นตลาดนัดความรู้ที่คนกลุ่มเดิมของวันนี้มาร่วม   หัวข้อของตลาดนัดก็ต้องเป็น “ตลาดนัดความรู้เพื่อการเป็นคุณอำนวยด้านสัมมาชีพเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข”    ผู้มาเล่าความสำเร็จก็คือคนที่มาวันนี้


          ใจผมอยากให้ “คุณกิจ” ตัวจริงเป็นผู้มาเข้าตลาดนัด   และคนกลุ่มที่มาร่วมวันนี้เป็น observer   คงต้องคิดกันให้ตก   คงจะต้องนัดคุยกันโดยเร็วระหว่างหมออภิสิทธิ์   หมอสมศักดิ์   คุณดวงพร   คุณ  อุรพิณ   และผม   เพื่อตัดสินใจ   จะได้มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         2 ก.ค.48
         

            

       นพ. อภิสิทธิ์  ธำรงวรางกูร                                       บรรยากาศการประชุม

 


      พ่อบุญเต็มและพ่อคำเดื่อง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1134เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2005 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท