AAR การพัฒนางานวิจัย R2R ของสถาบันสุขภาพเด็กฯ


AAR การพัฒนางานวิจัย R2R ของสถาบันสุขภาพเด็กฯ

         พญ. สุรภี  เรืองสุวรรณ   ผอ. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (เดิมชื่อโรงพยาบาลเด็ก)  พญ. ลัดดา ดำริการเลิศ,  นพ. ธนะรัชต์  นัดมา "สวัสดีปีใหม่" และคุย AAR กับ นพ. สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์และผม  ที่ สคส. เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.48

                                    

                        จากซ้าย พญ. สุรภี,  พญ. ลัดดา,  นพ. สมศักดิ์

                                     

                                            พญ. สุรภี,  นพ. ธนรัชต์

         เรื่องเดิมมีอยู่ว่าในการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข   รพ.เด็กถูกเปลี่ยนจากเน้นการบริการเป็นเน้นงานวิชาการ   กลายเป็นสถาบันวิชาการด้านสุขภาพเด็ก   จึงต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัย   เน้นที่การวิจัยในงานประจำหรืองานบริการผู้ป่วยเด็ก   ผมได้ไปช่วยหมอลัดดา (ที่เดิมเป็นหัวหน้าแผนก ENT แต่อยากเปลี่ยนมาทำงานบริหารงานวิจัย) พูดกับ ผอ. สุรภี ให้เห็นโอกาสที่สถาบันฯ จะได้ประโยชน์จากการที่สนับสนุนให้หมอลัดดาเปลี่ยนมาทำงานจัดการงานวิจัยโดยมี นพ. สมศักดิ์ เลขาธิการ มสช. เป็นพี่เลี้ยง

         หมอลัดดาก็ได้เปลี่ยนมาทำงานจัดการงานวิจัยที่ตนรักตั้งแต่นั้นมา

         ผมอยากรู้ว่าที่ผมไปแนะนำคุณหมอสุรภีและคุณหมอลัดดานั้น   ผมได้ทำความดีหรือทำบาป   คืออยากรู้ว่าสถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้รับประโยชน์สมความมุ่งหมายหรือไม่

         การพูดคุยกันในเวลาสั้น ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง   ทำให้ผมเห็นว่าเรากำลังร่วมกันทำงานที่ยิ่งใหญ่   ที่จะขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขบางหน่วยงานจากการเป็นหน่วยที่เน้นบริการ   ไปเป็นหน่วยงานที่เน้นการสร้างสรรค์วิชาการ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความรู้จากงานประจำ   สถาบันสุขภาพเด็กฯ กำลังพัฒนาไปเป็นผู้นำด้านนี้

         เราคุยกันเรื่อง การทำ Change Management ผ่านการตรวจหา microsuccess   ให้กลุ่มคนที่มีความสำเร็จเล็ก ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ขององค์กร   มาเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟัง   ว่าพวกตนคิดและทำอย่างไร   จึงเกิดความสำเร็จเล็ก ๆ นั้น   เราอาจเรียกวิธีนี้ว่า "ยุทธศาสตร์ความสำเร็จจิ๋ว"

         ตามมาด้วย "ยุทธศาสตร์การเฉลิมฉลอง"   ผมยุให้คุณหมอสุรภีจัดกิจกรรมเลี้ยงก๋วยเตี๋ยว   เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จเล็ก ๆ ในการทำงานวิจัย R2R   โดยที่ความสำเร็จเล็ก ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผลสุดท้าย   เพียงแค่มีผลดีเล็ก ๆ ที่แสดงวิธีคิดหรือวิธีปฏิบัติที่ค้นพบ   ก็เอาเฉลิมฉลองได้   เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางนั้นเป็นแนวทางที่เชื่อ (หรือเป็นที่ยอมรับ) ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายใหญ่   ในการฉลองก๋วยเตี๋ยวนั้น   ผู้บริหารจะแจ้งว่าฉลองอะไรและให้ทีมงานเจ้าของความสำเร็จเล่าอย่างไม่เป็นทางการว่าความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  มาจากความเชื่อแบบไหนจากการปรึกษาหารือ   หรือได้แนวคิดจากไหน   เอามาดำเนินการอย่างไรและทีมงานคิดจะทำอะไรต่อ

         ที่จริงในการพูดคุยกัน 5 คนนี้   เราคุยกันในช่วงแรกแบบ AAR คือ   ถามกันว่าเป้าหมายของสถาบันสุขภาพเด็กฯ ในเรื่อง R2R คืออะไร   ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมาเกิดผลส่วนไหนที่ได้มาเกินคาดหรือสมประสงค์   ส่วนไหนที่ยังได้น้อย   และปีต่อไปคิดจะทำอะไรต่อ   แต่ในที่สุดการพูดคุยก็เคลื่อนไปสู่สภาพ "ไร้รูปแบบ" สู่บรรยากาศที่ทุกคนได้เรียนรู้มาก

         ผมสรุปบอกตัวเองว่างานนี้ผมสอบผ่าน   ไม่บาป  แต่ได้บุญ ได้รับความสุขใจ   ที่ได้มีโอกาสช่วยร่วมกันคิดผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสถาบันสุขภาพเด็กฯ   ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมของสังคมไทยมากทีเดียว   และนี่คือการประยุกต์ใช้ KM ชั้นสูง


         เรานัดกันว่าอีก 1 ปี   เราจะมา AAR กันใหม่อีกครั้ง

วิจารณ์  พานิช
 30 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 11322เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2006 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท