ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (6)


ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (6)

ความเห็นของรัฐมนตรี

         ในตอนที่แล้ว   เล่าความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.48   โดยถอดเทปความเห็นของ ศ. สุมน  อมรวิวัฒน์กับความเห็นของผม   ที่จริงประธานหรือรัฐมนตรีจาตุรนต์  ฉายแสง  ได้ให้ความเห็นที่ดีมาก   หลังจาก ศ. สุมน พูดจบ   จึงขอถอดเทปเรียบเรียงมาลงบันทึกไว้  ดังนี้

         "ที่เสนอมา  ผมเห็นด้วยส่วนหนึ่ง   แต่ก็เห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้ส่วนกลางเข้าไปช่วยส่วนข้างนอก   ที่จริงการดำเนินการที่กำหนดโดยส่วนกลางก็เอามาจากส่วนข้างนอก   คิดว่าบางเรื่องจะยังคงมีปัญหาอีกต่อไป   เช่นเรื่องหลักสูตร   คำว่าหลักสูตรมีปัญหาคือ   โรงเรียนหนึ่งมาบอกผมว่าหลักสูตรท้องถิ่น  คือสอนเด็ก...(ฟังไม่ชัด)   อีกโรงเรียนหนึ่งบอกว่าสอนเรื่องเกลือสินเธาว์   ครูโรงเรียนหนึ่งบอกว่าหลักสูตรสถานศึกษาหมายความว่าสถานศึกษาต้องคิดหลักสูตรเองทั้งหมด   ซึ่งในกฎหมายก็ผิด   เพราะว่าสถานศึกษามีหน้าที่จัดหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องของชุมชนท้องถิ่น  ภูมิปัญญาท้องถิ่น   และก็มีหลักสูตรแกนกลางอยู่แล้ว   ครูยังอธิบายอีกว่า  หลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรท้องถิ่นแบ่งเป็น 70:30   โดยที่ 70:30 ต้องมีอยู่ในทุกวิชา   วิทยาศาสตร์ก็ 70:30   คณิตศาสตร์ 70:30  เขาบอกว่าเขาทำได้   โดยใส่เนื้อหาท้องถิ่นเข้าไป  ยิ่งเขาอธิบาย  ผมก็ยิ่งเป็นห่วง   คือเข้าใจผิดทั้งนั้น   ซึ่งสะท้อนออกมาที่การเรียนการสอน   ในงานศพแห่งหนึ่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียนในกรุงเทพแห่งหนึ่งนั่งใกล้ผม   บอกว่าจะต้องรีบกลับจากงานศพเพราะจะต้องกลับไปเขียนรายงานให้เด็กอ่านในวิชาที่จะสอนเพราะไม่มีหนังสือ   ผู้ปกครองมาบอกว่าสอนลูกไม่ได้แล้ว   เพราะไม่มีหนังสือ   ไม่รู้ว่าครูจะสอนอะไรต่อไป   มีปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน   มีปัญหาจากเอกสารเล่มนี้ (หมายถึงเอกสารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544 ของกระทรวงศึกษาธิการ)   ไปสู่สิ่งที่เด็กอ่าน   ยังมีปัญหาอยู่  ไม่ได้ต้องการให้ส่วนกลางไปทำแทนหมด   แต่ต้องไปทำให้เข้าใจชัดร่วมกันว่าควรจัดหลักสูตรท้องถิ่นอย่างไร   บางโรงเรียนบอกว่าหลักสูตรท้องถิ่นคือให้กรรมการโรงเรียนช่วยกันคิด   ผู้ปกครองมาบอกว่าทำไมโรงเรียนที่สมุทรสาครให้นักเรียนเรียนเรื่องประมงชายฝั่งที่สมุทรสาครเท่านั้น   ทำไมไม่ให้นักเรียนเรียนเรื่องประมงอย่างกว้างขวาง   นักเรียนควรได้เรียนกว้างขวางกว่าเรื่องแคบ ๆ   เช่นชาวเขาอาจเรียนเรื่องชาติพันธุ์   วัฒนธรรม   มีเนื้อหาสาระให้เรียนได้กว้างขวางมากมาย   คำว่าหลักสูตรตามความเข้าใจของผมเข้าใจว่ามันโยงกันไปได้ตลอด   พอหยิบหนังสือภาษาอังกฤษของโรงเรียนสตรีวิทย์มีเรียนจากละครบ้าง  จากเพลงบ้าง   เป็น Communicative English ดีมาก   แต่ไปรอเพื่อนเป็นหมอ   ลูกกำลังทำแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษอยู่  ผมเปิดหนังสือดู   เป็นแกรมม่าร์ทั้งเล่มเหมือนสมัยผมเรียน   ซึ่งจะเห็นว่าแม้ในกรุงเทพฯ ก็ลักลั่นกันมาก   ไม่ต้องพูดถึงต่างจังหวัด   ครูมาบอกว่าในต่างจังหวัดที่เขาทำได้โดยให้เด็กดูโทรทัศน์จากวังไกลกังวล  ปรับเสาอากาศให้รับได้  ครูก็หมดเวลาแล้ว   เป็นปัญหาทั้งการเรียนการสอนและปัญหาหลักสูตร

                                     

                                                ปกหนังสือ

         เล่มนี้ (หมายถึงเอกสารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544) มีปัญหาคือไม่มีวิจัยและพัฒนา   ที่เขียนมาไม่มีอ้างผลการวิจัย   ในขณะที่ของต่างประเทศผมเคยเห็นของอเมริกา   ทุกหน้ามีอ้างอิงผลการวิจัยว่าทำไมให้เรียนอย่างนี้   ผมจึงว่าส่วนกลางต้องวิจัย

         ผมเสนอว่าต้องให้เขตพื้นที่ทำงาน   แต่จะให้เกิดตามธรรมชาติที่เดียวก็ไม่ได้   เพราะเข้าใจต่างกันมากเหลือเกิน   ก็จะต่างคนต่างทำกันไป  ตรงนี้จะทำอย่างไรจะหาความพอดีได้อย่างไร"

         เมื่อท่านพูดจบ  ผมก็ยกมือขอเสนอความเห็นตามที่ได้ลงบันทึกไว้แล้วในตอนที่ 5

         ในตอนที่ 7 จะลงบันทึกเรื่อง   ข้อเสนอเรื่องผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาหลักสูตร

                   ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (1)

                   ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (2)

                   ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (3)      

                   ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (4)

                   ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (5)

 

วิจารณ์  พานิช
 30 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 11311เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2006 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท