นมขวด หัวนมหลอก และฟัน


เว็บไซต์สุขภาพหลายแห่งมีช่องทางให้ผู้ชมถามปัญหาผู้เชี่ยวชาญได้ เว็บไซต์ทางด้านทันตกรรมแห่งหนึ่ง (www.simplestepdental.com) มีผู้ถามปัญหาว่า หัวนมหลอกกับขวดนมทำให้ฟันลูกน้อยเสียหรือไม่...

                                      

เว็บไซต์สุขภาพหลายแห่งมีช่องทางให้ผู้ชมถามปัญหาผู้เชี่ยวชาญได้ เว็บไซต์ทางด้านทันตกรรมแห่งหนึ่ง (www.simplestepsdental.com) มีผู้ถามปัญหาว่า หัวนมหลอกกับขวดนมทำให้ฟันลูกน้อยเสียหรือไม่

คำตอบจากเว็บไซต์นี้มีการอ่านทบทวนคำตอบโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะทันตกรรมและศัลยกรรมช่องปาก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา (Faculty of Columbia university school of dental & oral Surgery) อาจารย์ท่านตอบมาดังต่อไปนี้...

การปล่อยให้เด็กกินนมจากขวดหรือใช้หัวนมหลอกนานเกินอาจทำให้ฟันหน้าด้านบนยื่นออก (slant out) ฟันหน้าด้านล่างลู่เข้า (tilt in) กระดูกขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างวางตัวผิดปกติ (maligned) และเพดานช่องปากแคบได้

สรุปคือ การให้เด็กดูดนมขวด หรือการใช้หัวนมหลอกนานเกินไปมีส่วนทำให้ฟันเหยินได้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีฟันแท้ขึ้นแล้ว หรือเด็กที่มีอายุ 6 ขวบขึ้นไป

     

นอกจากนั้นการใช้หัวนมหลอกชุบน้ำหวาน หรือน้ำผึ้งยังมีส่วนทำให้ฟันผุได้ง่าย การปรับเปลี่ยนให้เด็กกินนมจากขวดเป็นแก้ว(ควรเป็นถ้วยหรือแก้วที่ตกไม่แตก)ควรใช้แรงจูงใจทางด้านบวก เช่น การชมเชย การกอดจูบ ฯลฯ

การสำรวจของศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กอายุ 2-5 ปีมีฟันผุ 28 % จึงไม่แนะนำให้เด็กกินนมขวดก่อนนอน และแนะนำให้ใช้น้ำสะอาดใส่ขวดแทน

พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรพาเด็กไปปรึกษาทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันซี่แรกโผล่ขึ้นมา และหมั่นสังเกตว่า มีฟันผุเกิดขึ้นหรือไม่ ฟันผุช่วงแรกจะเห็นเป็นจุดสีขาว จุดนี้จะลุกลามลงไปในเนื้อฟันมากขึ้น เห็นเป็นแผลแตกสีน้ำตาลในระยะต่อมา

ควรทำความสะอาดช่องปากเด็ก โดยล้างมือให้สะอาด นำผ้าสะอาดมาชุบน้ำพอเปียก(หมาดๆ) หุ้มผ้าสะอาดรอบนิ้ว เช็ดเหงือกและฟันเด็กด้วยผ้าชุบน้ำเบาๆ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

    

พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรตรวจช่องปากกับทันตแพทย์หรือผู้ช่วยทันตแพทย์ทุกปี ท่านที่มีฟันผุหรือโรคเหงือกต้องระวังไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อแบคทีเรียช่องปากจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็ก โดยรักษาฟันผุและโรคปริทนต์(เนื้อเยื่อรอบโคนฟันอักเสบเรื้อรัง)ให้หาย ใช้ช้อนกลาง และไม่กินอาหารในภาชนะเดียวกัน

ผู้เขียนขอแนะนำให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี... ทั้งการรักษาสุขภาพช่องปาก และการใช้วาจาให้ถูกต้อง ไม่พูดเท็จ พูดคำจริง ไม่กล่าวคำหยาบ กล่าวคำไพเราะ ไม่ส่อเสียดให้คนแตกกัน พูดจาส่งเสริม่ให้คนสามัคคีกัน ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อเหลวไหล กล่าวคำที่มีประโยชน์ เพื่อรักษาสุขภาพที่ดีของช่องปาก ช่องหู และช่องใจให้ดีไปนานๆ...

แหล่งข้อมูล:

หมายเลขบันทึก: 11303เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2006 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท