เมื่อลูกอยากเป็นภารโรง


                                       เมื่อลูกอยากเป็นภารโรง

การสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป้าหมายการทำงานของครูอยู่ที่จุดเน้นที่สำคัญที่สุด คือ ให้เด็กๆ ที่เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกับผู้ใหญ่ในโรงเรียน มีความสุข เป็นชีวิตที่สร้างพลังความคิดและความใฝ่ฝันที่จะให้ทุกคนรอบตัวเขามีความสุขอย่างชีวิตที่มีสุขสัมผัสได้ 
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ครูภาวิณี กำลังเดินตรวจช่องของใช้ของนักเรียนแต่ละคน  มีผู้ปกครองเดินมาพบ  หลังจากกล่าวทักทายแล้ว  ผู้ปกครองท่านนั้นก็ปรารภถึงความคิดของลูกว่า ลูกมีความคิดแปลกๆ อยากให้คุณครูช่วยแนะนำ ความคิดที่ผู้ปกครองเป็นห่วง คือ ลูกบอกว่าเมื่อโตขึ้นลูกอยากเป็นภารโรง  ลูกยืนยันความคิดนี้กับพ่อสองครั้งแล้ว  พ่อมีความห่วงใยในความคิดที่ดูเหมือนไม่เป็นผู้ใหญ่ และกลัวจะไม่เป็นปกติ เพราะเห็นลูกคนอื่น อยากเป็นหมอเหมือนแม่  เพราะช่วยเหลือคนเจ็บ  อยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อเพราะมีลูกน้องเยอะ   หรือ อยากเป็นนักร้องเหมือนดาราที่ดูจากทีวี เพราะมีคนปรบมือให้พวงมาลัยคล้องคอ แต่ลูกผมยังคงยืนยันว่าอยากเป็นภารโรงอย่างพี่ส้มเช้าเพราะช่วยจัดอาหารและทำความสะอาดให้ทุกครั้งที่เด็กๆทำเลอะเทอะขณะที่ผู้ปกครองบอกเล่าด้วยความรู้กังวล  ครูภาวิณีนึกถึงหน้าเด็กผู้หญิงตัวน้อย อายุห้าขวบเศษๆ  หน้าตาร่าเริงสดชื่นอยู่เสมอ มาโรงเรียนแต่เช้า เพราะผู้ปกครองต้องขับรถไปทำงานในเมืองที่มีจราจรค่อนข้างคับคั่ง  เป็นเด็กช่างซักช่างถาม ทำงานเรียบร้อย และค่อนข้างเร็ว จนมีเวลาช่วยครูดูแลเพื่อนที่ทำงานช้า  ครูภาวิณี บอกกับผู้ปกครองว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็ก ๆ วัยนี้ เด็กที่อยากจะเป็นภารโรงแต่ละปีมีหลายคน  แต่ทุกคน เปลี่ยนความคิดไปเรื่อย ๆ  พอโตขึ้น เขาจะเลือกอาชีพของเขาเองตามเหตุผลที่เป็นของเขา ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจมาก  แต่ให้รับรู้ความคิดของลูกด้วยความเข้าใจว่าลูกมีเหตุผลในการคิดอย่างไร  ใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดกับลูก ให้ลูกได้เรียนรู้วิธีคิดแบบผู้ใหญ่ไปด้วย  แต่สิ่งสำคัญ ต้องไม่หักล้างความคิดของลูกเพียงเพื่อให้ลูกเป็นเด็กดีอยู่ในโอวาท แต่อยากให้ค้นหาความคิดที่ถูกต้องของลูกแล้วให้กำลังใจ ชมเชย เพื่อสร้างเสริมให้เด็กคิดเป็นแต่เด็ก
กรณีของเด็กหญิงนิพดา คุณครูบอกกับผู้ปกครองว่า เขาเป็นเด็กฉลาด มีพื้นฐานความคิดเป็นคนดี อยากช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งคงเป็นผลจากการเลี้ยงดูอบรมที่บ้าน จากการบ้านที่ครูให้นักเรียนไปเขียนเรียงความสั้น ๆงานที่ฉันอยากทำพร้อมบอกเหตุผล  พบว่า นักเรียนที่อยากเป็นภารโรงมีประมาณ 5 คน ในห้องเรียน ป1/ท ซึ่งมี 72 คน เหตุผลที่เด็กหญิงนิพดาให้ไว้คือ อยากมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นอย่างที่พี่สัมเช้าได้ช่วยเหลือนักเรียนทุกวัน
ครูภาวิณี ได้ชี้แจงให้ผู้ปกครองคลายความกังวลว่า  ลูกฉลาด ลูกใช้เกณฑ์ความดี ในภาวะที่กำลังของตนเองจะทำได้เป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจ  ครูภาวิณีเชื่อว่า ถ้าเด็กได้รับกำลังใจให้ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลต่อไปเรื่อยๆ และมีสภาพแวดล้อมของการยอมรับความดีเป็นเกณฑ์ของวิถีสังคม   เมื่อเด็กเติบโตขึ้น เขาย่อมเลือกอาชีพ หรืองานที่เขาสามารถทำความดีได้มากว่างานภารโรงอย่างแน่นอน  ครูขอให้ผู้ปกครองได้ติดตามความคิดและการเปลี่ยนแปลง ขอให้เป็นผู้สนับสนุนความคิดที่ถูก และความเหมาะสมและศักยภาพที่เป็นไปได้ของลูก หวังว่าเด็กๆจะได้เป็นอย่างที่อยากเป็นอย่างมีความสุขที่สร้างสรรค์ พร้อมที่จะสร้างสรรค์ความสุขกับสังคมต่อไป
ครูภาวิณี

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11278เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2006 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เสียงทักทายจากอดีตค่ะ..

ระหว่างเข้ามาตรวจงานนักศึกษาในชุมชนของตัวเอง  บังเอิญพบหัวข้อบันทึกนี้ปะทะสายตา  ทำให้นึกถึงตัวเองที่เคยฝึกสอนสอนนักเรียนชั้น ป.2 วิชาสังคมศึกษาเรื่องอาชีพในชุมชน แล้วนักเรียนกลับไปบอกผู้ปกครองว่า "อยากเป็นคนเก็บขยะ" จนทำให้ผู้ปกครองต้องมาพบเพื่อถามว่า "สอนอะไรไป ลูกผมถึงอยากเป็นคนเก็บขยะ?"  จึงได้เปิดเข้ามาอ่านรายละเอียดค่ะ 

แล้วก็พบว่า...เป็นบันทึกของพี่หัวหน้าทีมชั้น ป.1 ซึ่งตัวเองไปเริ่มทำงานครูเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนสาธิตเกษตรในปี พ.ศ. 2518 นั่นเอง  และไม่ได้ติดต่อกันมานานครบ 30 ปีพอดี..

ก็เลยเกิดอาการย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาการสอนห้อง team teaching เมื่อครั้งกระโน้นขึ้นมาสิคะ  เห็นภาพของอาจารย์ภาวิณี หัวหน้าทีมกับการสอนคณิตศาสตร์ที่ทำให้เด็ก 72 คนเรียนรู้ได้โดยไม่เบื่อตลอดคาบ  นึกถึงอาจารย์พรทิพย์เพื่อนร่วมทีมที่ใจเย็นอย่างมหัศจรรย์  นึกถึงภาพของลูกศิษย์ในปีนั้นหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สิระ" กับน้ำตาที่ร่วงพรูเป็นเม็ดกลมๆ เล็กผ่านแก้ม ทันทีที่เผลอหลุดปากไปว่า "ทำอย่างนี้ ครูไม่รักแล้วนะ"..

แม้ว่าจะมีโอกาสได้สอนชั้น ป.1 เพียงปีเดียว แต่ก็ดีใจที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับหัวหน้าทีมคนเก่งอย่าง "อาจารย์ภาวิณี" ค่ะ

ภาวิณี ศรีสุขชวัฒนานันท์

"ความสุขที่อยู่ในใจ เป็นความเบิกบาน(ปราโมทย์)อย่างมหัศจจรย์ที่พบว่า คนหนึ่งที่เคยทำงานร่วมอุดมการณ์ (เด็กๆในห้องน่ารักทุกคน)เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปรากฏข้อความสื่อใจ-รักและคิดถึงยิ่งในคำคืนนี้ เกิดความปลื้มเปรม(ปิติ) เหมือนได้รับยาวิเศษที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายไร้เครียด (ปัสสัทธิ) ความรู้สึกขณะนี้ บอกตัวเองว่า สุข ฉันตั้งใจแน่วแน่(สมาธิ)ว่า ฉันจะใฝ่หาสิ่งดีๆ เช่นนี้แม้วัย 62 เพื่อเพิ่มความสุขที่แท้จริงในใจให้กับตัวเอง" นี่คือคำสอนของพระพรหมคุณาภรณ์ที่มีโอกาสเรียนรู้ซำๆหลายครั้ง แม้ในวันปีใหม่จากข่าวสารญาณเวศก์ ฉบับที่ 7 (มกราคม 2549)

ภาพเราท่ามกลางปู 72 คน(?) เป็นความสุขที่ได้ทบทวนทุกครั้ง

ดีใจจังค่ะ ที่บันทึกนี้มาแสดงบนบันทึกสุ่มแสดงเพราะทำให้ได้อ่าน (บันทึกดีๆ อย่างนี้พลาดไปบ่อยเหลือเกินค่ะ)

อ่านจนจบด้วยความซาบซึ้งใจ ทั้งความคิดของหนูน้อย และความเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของอาจารย์ค่ะ

จินตนาการของเด็กจะยิ่งใหญ่เสมอ แต่พอโตขึ้นๆ จินตนาการกลับเล็กลงๆ จนน่าใจหายค่ะ

 

สิ่งที่คุณจันทรรัตน์ควรทำ คือ สร้างแพลนเน็ตค่ะ เหมือนเป็น reading list เลือกติดตามอ่านเฉพาะบล็อกที่สนใจค่ะ

อ่านคู่มือที่หน้าแรก GotoKnow นะค่ะ

ดีใจจังค่ะที่ได้อ่านบันทึกนี้
  • จำได้ว่าตอนที่ลูกสาวคนเล็กเรียนชั้นอนุบาลหนึ่ง กลับมาบ้านบอกแม่ว่าอยากเป็นขอทาน
  • พี่เม่ยตกใจมากเลยค่ะ ก็เลยให้เขาขยายความลูกบอกว่า สงสารลุงขอทานมาก เพราะผอมโซและอดอยาก ที่สำคัญต้องยกมือไหว้เด็กๆอีกด้วย ลูกอยากจะทำหน้าที่ตรงนั้นแทน แล้วให้ลุงขอทานไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่านั้น
  • พี่เม่ยถามว่า แล้วลูกไม่กลัวจะอดโซหรือ?
  • ลูกบอกว่า จะอดได้อย่างไร เพราะแม่ต้องหาให้หนูทานทุกมื้ออยู่แล้ว หนูแค่ทำหน้าที่ขอทานแทนลุงเขาเท่านั้นเอง
  • พี่เม่ยจึงได้ถึงบางอ้อ ว่าเด็กๆเขาก็มีความคิดที่จะเห็นใจผู้อื่น และยินดีที่จะช่วยเหลือตามที่เขาคิดว่าทำได้  จึงรู้สึกภูมิใจในตัวลูกมากค่ะ....
น.ส.ธิติกานต์ สุวรรณประเสริฐ

เห็นหัวเรื่องนี้แล้วจึงทำให้สนใจที่จะอยากอ่านค่ะ ความคิดของเด็กแต่ละคนนั้นต่างก็มีความคิดที่แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการ ซึ่งการที่เด็กอยากเป็นภารโรงก็ไม่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงนัก เพราะอย่างน้อยก็เป็นอาชีพที่สุจริตไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และเมื่อเด็กได้เรียนรู้และโตขึ้น เด็กแต่ละคนก็จะค้นพบอาชีพที่ตนสนใจจริงๆ

ขอขอบพระคุณบทความดีๆที่น่าอ่านแบบนี้ค่ะ

กราบสวัสดี อจ. ค่ะ นิพดา เด็กหญิง ป 1 ท 2 คนนั้น ตอนนี้อายุย่างเข้า 40 ปีแล้ว แม้มีโอกาสมาได้อ่าน blog นี้เมื่อเวลาล่วงเลยมาหลายปีมากแล้ว และจำอะไรไม่ได้เลยนะคะ รู้สึกทึ่งและซาบซึ้งที่ อจ.สามารถจดจำประสบการณ์ของลูกศิษย์ได้มากมายขนาดนี้ ในทีสุด เด็กหญิงนิพดาฯ (เป็น "นาง" แล้ว) ไม่ได้ยึดอาชีพภารโรงนะตะ แต่ดำเนินรอยตามพ่อแม่ เป็นข้าราชการ (อยู่กระทรวงการต่างประเทศ) ค่ะ หนูยังจดจำ อ.จ. ทุกท่านที่เคยสอนตอนชั้น ป.1 ได้เป็นอย่างดีและระลึกถึงบุญคุณ อจ. เสมอ แม้ไม่ได้มีโอกาสกลับไปที่โรงเรียนมากนัก หวังว่า อจ. ภาวินีฯ และ อจ. รสสุคนธ์ฯ ได้ได้มีโอกาสรับทราบข้อความนี้ และเผื่อจะได้มีโอกาสติดต่อกับ อจ .อีกค่ะ

อีเมล์ : [email protected]

ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

นิพดา

ครูได้ไปงานเกษียณอยุราชการที่ รร. เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กย.พบลูกศิษย์ ป1 ท. หลายคน ทุกครั้งที่ครูพบพวกเรา ครูมีความสุข สดชื่น ภาพความน่ารัก ความซน ความดื้อ หลายรูปแบบ ทำให้ครูมีความสดชื่น มาวันนี้ ครูเกษียณรอบ 2 เกษียณจริง 65 ปี คิดว่าจะเก็บความหลังเล่าสู่กันฟัง นำบทเรียนที่ครูเรียนรู้แลกเปลี่ยนเผื่อแผ่แก่ผู้สนใจ

คิดถึงเสมอ

ครูภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท