จดหมายจากแดนไกล


จดหมายจากแดนไกล

ครูภาวิณี

 

            เช้าวันนี้ นักเรียนไม่ต้องเข้าแถวกลางสนาม เพราะฝนโปรยลงมาเหมือนวันก่อนๆ นักเรียนเข้าแถวหน้าห้องตัวเอง เป็นชายหนึ่งแถวและหญิงแถวหนึ่ง นับรวมแล้วได้ 71 คน  ขาดไปหนึ่งคน เขาขอลาเพื่อติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปประเทศเนเธอร์แลนด์    ครูและเพื่อนๆพลอยได้ความรู้เกี่ยวกับประเทศเนเธอร์แลนด์ จากจดหมายของเขาเสมอ    เช้าวันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เราได้จดหมายจากเขาผู้อยู่แดนไกล   พวกเราเดินเข้าห้องหลังเคารพธงชาติ  นั่งลงอย่างสงบ สวดมนต์ จากนั้น คุณครูก็ชูจดหมายให้ทุกคนดู  ครูชี้ที่มุมซองตรงดวงตราไปรษณีย์ แล้วพูดด้วยความมั่นใจว่าธนพร ส่งจดหมายจากเนเธอร์แลนด์ถึงเราอีกแล้ว “  ครูอ่านจดหมายชัดๆช้าๆให้ทุกคนฟัง  และชวนนักเรียนคุยถึงสิ่งที่มีในเมืองไทยในเรื่องเดียวกัน ให้นึกเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างกับที่ธนพรเล่ามา  อย่างเช่นวันนี้  เราได้รู้เกี่ยวพิพิธภัณฑ์ของเนเธอร์แลนด์ตามที่ธนพรเล่า  และรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์ของไทยไปพร้อมๆ กันตามที่ครูและเพื่อนบางคนได้มีโอกาสไปมาแล้วร่วมกันเล่าสู่กันฟัง   ครูนำจดหมายของธนพร ติดบนกระดานชานอ้อยหน้าห้อง  สำหรับผู้สนใจได้อ่าน เองอีกกี่รอบก็ได้

            ธนพรเป็นเด็กผู้หญิงรูปร่างเล็ก ๆ  แววตาสดใส ร่าเริง ขณะที่เข้ามาเรียนในชั้นประถมปีที่หนึ่ง มีอายุได้ห้าขวบ อยู่ในเกณฑ์เดียวกับนักเรียนคนอื่นๆ มาโรงเรียนแต่เช้า คุณแม่และคุณพ่อจะมาส่งเอง คุณแม่รับราชการเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช  ส่วนคุณพ่อทำงานอยู่กระทรวงพาณิชย์   วันหนึ่งคุณแม่มาพบคุณครูเพื่อขออนุญาตพาธนพรไปต่างประเทศกับครอบครัว เพราะคุณพ่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่ทูตพาณิชย์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการกลับเข้ามาเรียนใหม่เมื่อคุณพ่อหมดวาระงานในหน้าที่ทูต ซึ่งอาจจะเป็นเวลา 1-2 ปี

            จากการหารือในที่ประชุมระดับชั้น และกรรมการฝ่ายประเมินผลของโรงเรียน มีคำตอบให้ผู้ปกครองว่า  โรงเรียนใช้ระเบียบการประเมินผลการเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ คือใช้เกณฑ์เวลาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และมีผลการประเมินปลายปีการศึกษาผ่านเกณฑ์ที่กำหนด  แต่อย่างไรก็ตาม ในระเบียบมีข้อยกเว้นได้ตามดุลพินิจของสถานศึกษา  ดังนั้น โรงเรียนจึงพิจารณาให้ธนพรมีกิจกรรมเรียนรู้ตามหลักสูตรโดยผู้ปกครองเป็นผู้สอน  และประเมินผลการเรียนรู้โดยครูประจำชั้น   ดังนั้น  ก่อนที่คุณพ่อพิพรรธน์ อินทรศัพท์ จะพาครอบครัวออกเดินทางไปเนเธอร์แลนด์  คุณแม่สมลักษณ์จะต้องเตรียมสื่อการเรียนรู้หลายอย่าง นับตั้งแต่ หนังสือแบบเรียน  สมุดแบบฝึกหัด หนังสืออ่านเสริม พจนานุกรม  เทปเพลงประกอบบทเรียน  และแนวการสอน และการประเมินตามภาระของผู้สอน  เป็นต้น  คุณครูทำงานร่วมกับคุณแม่ และกำหนดเกณฑ์การประเมินร่วมกันด้วยการพิจารณาความสามารถจากการเขียนสื่อสาร ใช้เกณฑ์ประเมินการเรียนรู้แบบบูรณาการ  โดยให้เขียนในรูปของจดหมาย เล่าเรื่องต่าง ๆ  มากบ้างน้อยบ้างที่สะท้อนให้เห็นว่าได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่  วัฒนธรรมต่างถิ่น  และเมื่อย้ายกลับเมืองไทย ประสงค์จะกลับมาเรียนใหม่  โรงเรียนจะให้สอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาไทยเพื่อดูความพร้อมในการเรียนต่อ จากหลักการดังกล่าว คุณครูและคุณแม่ได้ทำแผนปฏิบัติ และปฏิบัติการอย่างจริงจัง

            คุณแม่สมลักษณ์ได้ทำหน้าที่ครูอย่างยอดเยี่ยม คุณครูได้รับจดหมายข่าวสาร จากธนพรสม่ำเสมอตลอด…1…ปี …6 เดือน  จากลายมือของเด็กหญิงที่เขียนด้วยตัวบรรจงแบบเกร็งๆ มาเป็นลายมือที่มีความมั่นใจแบบผู้ใหญ่  การวางตัวอักษรทั้งพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ถูกต้อง แสดงถึงความใส่ใจอย่างละเอียดอ่อน  ทุกครั้งที่รับจดหมายของธนพร คุณครูจะนึกภาพของคุณแม่ที่มีความรักความตั้งใจให้การศึกษาลูก  คงชวนลูกคุยถึงเรื่องที่พบเห็น  คงช่วยลูกค้นคำศัพท์ทั้งไทยและต่างประเทศ  คุณแม่คงให้คำแนะนำลูกในการใช้เหตุผล  คงเป็นตัวแบบของการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม  ธนพรมีโอกาสเรียนรู้ด้วยใจที่รักและผูกพัน  จึงไม่แปลกใจที่ธนพรมีทั้งความสามารถฉลาดเฉลียวและความอ่อนโยน มีน้ำใจ รู้กาลเทศะ   ครูภาวิณีได้ทำหน้าที่ประเมินการทำงานของแม่ลูกคู่นี้ว่าอยู่ในขั้นดีเลิศ   แม่เป็นครูที่วิเศษสุด  ลูกเรียนรู้ประสบความสำเร็จได้เยี่ยม  ต่อมา เป็นเวลาเกือบสองปี   คุณพ่อคุณแม่ก็พาธนพรมาฝากคุณครูอีกครั้ง และเข้าเรียนตามปกติในชั้นประถมปีที่สาม   ผลการเรียนของธนพรอยู่ในห้าอันดับต้นของห้องมาโดยตลอด  ต่อมาได้ข้ามชั้นขึ้นไปเรียนชั้นประถมปีที่หกโดยไม่ต้องเรียนชั้นปีที่ห้า พร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน

นี่เป็นแนวการจัดการศึกษาทางเลือกหนึ่งที่พิจารณาแบบปรับเหมาะเฉพาะกรณี  ถ้าจะเปรียบเทียบกับการตัดเย็บเสื้อผ้าก็คงได้ เรียกว่าเป็น tailor made ทีเดียว ไม่ใช่เสื้อโหล หรือ ลอกเลียนแบบตามแฟชั่น   การตัดสินใจเลือกวิธีการจัดการศึกษาครั้งนั้น  โรงเรียนไม่มีความกังวลว่าจะถูกท้วงติงเกี่ยวกับระเบียบกฎเกณฑ์  ทั้งนี้เพราะเป็นหลักการจัดการศึกษาที่เน้น ผู้เรียนสำคัญที่สุด   และ ด้วยองค์ประกอบความพร้อมของแม่ ทำให้โรงเรียนมีความมั่นใจว่า ทางเลือกดังกล่าวต้องให้ผลที่น่าพอใจอย่างแน่นอน 

ขณะนี้ กระแสความคิดในทางเลือกการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ที่เรียกว่า Home School  ในสังคมไทย ปรากฏเป็นความพอใจของผู้ปกครองบางคนที่คิดว่าเป็นโอกาสของลูกที่จะได้รับการพัฒนาที่ดีกว่าด้วยความเข้าใจและความสามารถของตน และเป็นความชอบธรรมตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 ซึ่งตราไว้ในมาตรา 12 ว่านอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน …”   อย่างไรก็ตาม ก็อยากฝากตัวอย่างรูปแบบ Home School เมื่อ 29   ปีที่แล้วให้พิจารณา  เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองกับครู หรือ บ้านกับโรงเรียน ที่ต่างก็มีความเชี่ยวชาญและโอกาสเฉพาะสำหรับเขาที่แตกต่างกัน มาช่วยกันเติมเต็มให้เขาผู้เป็นลูก และ ศิษย์ที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุด  และจะนำมาซึ่งความปราบปลื้มยินดีร่วมกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11276เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2006 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากการตัดสินใจของคณะครูระดับชั้นดังกล่าวที่ให้ธนพรไปต่างประเทศกับคุณพ่อนั้นนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเลยทีเดียวเพราะจะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ใช้แต่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น และเป็นการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง  คุณครูอาจจะมิใช่เป็นครูในห้องเรียนที่มาคอยยืนพูดอยู่หน้าห้องให้นักเรียนนั่งฟัง แต่นี่เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง  ประสบการณ์ตรงจากการใช้ชีวิตในต่างประเทศจริง ๆ ทั้งในเรื่องของวิชาสังคมศึกษาที่เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม  ค่านิยมต่าง ๆ วิชาภาษาไทยเป็นการเขียนภาษาให้ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ และมีความสวยงาม  วิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  การรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติพื้นฐาน  ภายใต้การกำกับควบคุมของคุณแม่ที่ถือว่าเป็นครูคนแรกของลูก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท