ชื่นชมบรรยากาศที่สนามหญ้าหน้าบ้าน


มีความสุขอยู่กับธรรมชาติ / ระบบนิเวศน์ ส่วนตัว

ชื่นชมบรรยากาศที่สนามหญ้าหน้าบ้าน


ช่วงวันหยุดปีใหม่ผมได้มีโอกาสชื่นชมบรรยากาศที่สนามหญ้าหน้าบ้านเสียเต็มอิ่ม    ที่บ้านผมเป็นฤดูใบไม้ร่วง     โดยเฉพาะใบสะเดา กับใบนนทรี    ทำให้ผมมีงานทำคือคอยกวาดใบไม้ไปสุมที่โคนต้นไม้เพื่อหมักเป็นปุ๋ย     พร้อมทั้งราดด้วยน้ำผสมจุลินทรีย์ที่เพื่อนชาวนาสุพรรณบุรีให้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม     ต้นสะเดาแตกยอดออกมาเป็นดอก     บอกให้รู้ว่าหน้าน้ำปลาหวานสะเดาลวกมาถึงแล้ว     ผมชอบกินของขม (แต่ไม่ชมเด็กสาว) จึงนึกถึงเรื่องนี้   
ต้นปาล์ม ๒ ชนิดออกดอกงามมาก คือปาล์มขนนก กับ เต่าร้าง     ที่บ้านผมมีปาล์ม ๒๒ ชนิด    ได้แก่
1.        ปาล์มคอนวลหรือหมากนวล Veitchia merillii (มีมากที่สุดหลายสิบต้น)   ส่วนใหญ่เพาะเอง
2.        ปาล์ม Foxtail หรือปาล์มหางหมาจิ้งจอก Wodyetia bifurcata  มี ๒ ต้น  เป็นปาล์มโตเร็วมาก
3.        คิงส์ปาล์ม Archontophoenix alexandrae มี ๒ ต้น  เพาะเอง  
4.        ปาล์มขนนก Dypsis madagascariensis มีต้นเดียวแต่แตกหน่อเป็น ๒  ต้นติดกัน   ซื้อมา ๘๐ บาท    เป็นปาล์มที่โตเร็วที่สุดที่ผมเคยเห็น 
5.        ปาล์มขนไก่  Allagoptera arenaria มี ๑ ต้น เพาะเอง ปลูกในกระถาง  อายุประมาณ ๕ – ๖ ปี
6.        ปาล์มน้ำพุ   Carpentaria accuminata   มีประมาณ ๑๐ ต้น เพาะเอง  มีทั้งปลูกในกระถาง และลงดิน  โตเร็ว
7.        ปาล์มแชมเปญ  Hyophorbe lagenicaulis  ซื้อมา ๑๕๐ บาท   โตช้ามาก
8.        เต่าร้าง  Caryota mitis  ได้หน่อมาจาก มวล.    เอามาทดลองปลูกในกระถางเล็ก  กระถางใหญ่  และลงดิน    ได้ทฤษฎีการพัฒนาตนเองเรียกว่า ทฤษฎีต้นเต่าร้าง ๓ ต้น เอาไปพูดให้แก่ภาควิชาวิสัญญีวิทยา  คณะแพทย์รามาฯ เมื่อ ๕ – ๖ ปีก่อน   ที่ปาล์มเมอรี รีสอร์ท  ระยอง    ได้เมล็ดพันธุ์ปาล์มมาหลายชนิด  
9.        ปาล์มพัด    Pritchardia pacifica   ต้นที่ซื้อมา ๘๐ บาทโตเร็วมาก    พอเริ่มตั้งลำต้นก็โดนปลวกกิน    ปราบปลวกได้ก็โตใหม่   เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ ๒ ปี    พอเผลอ ปลวกกินตายไปเลย     ที่เหลือเป็นต้นที่เพาะเอง     อยู่ในกระถาง   มี ๓ ต้น
10.     ปาล์มจีบ    Licuala grandis   มี ๓ ต้น   เพาะเอง เป็นปาล์มต้นเตี้ย   โตช้า
11.     ปาล์มบังสูรย์    Johannesteijsmannia altifrons   คุณพยาบาลที่รามาฯ ให้หน่อที่เพิ่งเพาะขึ้นมา ๒ ต้น    ปลูกในกระถาง    แต่ใบมีลักษณะผสมระหว่างบังสูรย์กับปาล์มจีบ  
12.     ตาล (โตนด)   Borassus flabellifer   ได้มาจากทีมวิจัยของ ศ. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  ที่สทิงพระ สงขลา   ปลูกในกระถางทำไม้แคระ   
13.     ตาลฟ้า    Bismarckia nobilis   เพาะเอง     ขึ้นติดกัน ๓ ต้น    กำลังชั่งใจว่าตัดให้เหลือต้นเดียวจะดีไหม    เพราะต้นโตมากเหมือนตาลโตนด
14.     หมากแดง    Cyrtostachys renda   ได้หน่อมาจากคณะแพทย์ มอ.    กาบที่คอแดงสวยงามมาก  
15.     หมากเหลือง   Dypsis lutescens   มีทั้งที่ติดมากับบ้าน  ซื้อมา และที่เพาะเอง    โตเร็ว  แตกกอเก่ง    กาบที่คอและดอกสีเหลือง
16.     หมากเขียว   Ptychosperma macarthurii   เพาะเอง    โตเร็ว    ต้นสีเขียวลักษณะเป็นปล้องคล้ายต้นไผ่สวยมาก    กาบที่คอและดอกสีเขียว
17.     สิบสองปันนา    Phoenix roebelenii    ต้นโตซื้อมาจากกาญจนบุรี  ๑๕๐ บาท   ต้นในกระถางซื้อจากนครนายก  ๑๐๐ บาท    
18.     จั๋งจีน   Rhapis humilis    ได้รับเป็นของขวัญปีใหม่จากเพื่อนบ้าน
19.     ปาล์มสะดือ (ชื่อตั้งเอง)   เพาะเอง    ใบรูปพัดจักเว้าครึ่งตัวใบ    คล้ายปาล์มสะดือจุ่น    ลักษณะพิเศษคือก้านใบอาจยาวมาก (เกือบ ๒ เมตร) หากปลูกในที่ร่มที่ต้องแข่งกับต้นไม้อื่นเพื่อรับแดด    แต่ถ้าปลูกในที่แดดจ้าก้านใบจะสั้น (คืบเดียว)   ก้านใบไม่มีหนาม   ใบขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางเกือบเมตร   สีเขียวเข้มกว่าใบตองผิวใบมันสวนงามมาก
20.     ปาล์มสะดือแคระ (ชื่อตั้งเอง)   เพาะเอง    ต้นเล็ก (ไม่ทราบว่าที่ต้นเล็กเพราะปลูกในกระถางตั้งในที่ร่มมากหรือเปล่า)    เป็นคนละชนิดกับปาล์มสะดือแน่นอน
21.     ปาล์มหยก (ชื่อตั้งเอง)  ใบสีเขียวอมฟ้า    ผมเพาะไว้ในกระถางเล็กนิดเดียว    หลายปีแล้วใบยังมีลักษณะเหมือนต้นอ่อน คือเป็นใบ ๒ แฉก   มาเห็นว่าต้นอื่นๆ ตายไปหมดแล้ว    จึงเอาต้นที่เหลือไปใส่กระถางใหญ่
22.     ปาล์มคอสตาริก้า (ชื่อตั้งเอง)   เพาะเอง    เอาเมล็ดมาจาก คอสตา ริก้า เมื่อ ๖ ปีก่อน    โตช้า และแตกกอ    ลักษณะคล้ายหมากดอกสร้อย (Iguanura geonomaeformis)   ซึ่งมีในประเทศไทยและมาเลเซีย  

   ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่นิดเดียวมีต้นปาล์มถึง ๒๒ ชนิด    ถ้านับจำนวนต้นก็น่าจะเกือบร้อยต้น
ต้นไม้ที่บ้านผมปลูกแบบธรรมชาติ    ผมเรียกว่าปลูกป่า คือปล่อยให้รก    ภรรยาบอกว่าปลูกแบบให้เทวดาเลี้ยง    เดิมหญ้าที่ปลูกในสนามเป็นหญ้านวลน้อย    แต่ตอนนี้สนามชักร่มไม่เหมาะต่อหญ้านวลน้อย เราจึงเอาหญ้ามาเลเซียซึ่งชอบร่มมากกว่ามาปลูกให้ขยายไปแทนหญ้านวลน้อย     เข้าใจว่าผมปลูกปาล์มไม่เก่ง     ไม่ค่อยออกดอก    มีออกดอกอยู่ ๔ ชนิดเท่านั้น คือปาล์มนวล    เต่าร้าง    หมากเหลือง    และปาล์มขนนก    
เมื่อมีต้นไม้มากนกก็จะมา    สร้างความเป็นธรรมชาติให้เรา    ผมเป็นคนชอบนก (หมายถึงนกที่บินได้ ไม่ใช่น้องหนูที่ชื่อนก) สมัยอยู่ที่ มอ. หาดใหญ่ แถวๆ ปี ๒๕๑๘ – ๒๑ ผมเลี้ยงนกหลากหลายชนิด   เช่นนกกรงหัวจุก (นกปรอดหัวโขน)    นกกางเขนดง   นกกางเขนบ้าน    นกปรอดแม่ทะ (ปักษ์ใต้เรียกนกกรงแม่พระ)   นกปรอดสวน    นกปรอดหน้าขาว    นกกะรางหัวหงอก    นกเขียวคราม    นกโพระดก   นกเขาชะวา (นกเขาเล็ก)    นกเขาใหญ่    นกเขาแขก   นกเขาไฟ    นกหงส์หยก   ขณะนี้นานๆ ครั้งผมยังฝันถึงนกที่เคยเลี้ยง     ผมทำนกตายไปนับสิบตัวกว่าจะรู้ว่านกที่มีขนตรงโคนจงอยปากเป็นนกกินแมลง    ผมเห็นมันกินกล้วยก็เอากล้วยน้ำว้าให้มันกิน มันก็กิน  แต่ไม่ช้ามันก็หงอยตาย    ตอนหลังจึงรู้ว่ามันตายเพราะขาดอาหาร (โปรตีน)    ต้องเลี้ยงด้วยไข่มดแดงมันจึงจะแข็งแรง    ตอนหลังผมฝึกให้มันกินอาหารหมาที่แช่น้ำให้นุ่มแล้ว    ก็ใช้ได้ดี    ผมเคยผสมพันธุ์นกเขาใหญ่ได้    และผสมพันธุ์นกเขาใหญ่กับนกเขาแขกได้ด้วย    นกลูกผสมขันเสียงคล้ายนกเขาใหญ่แต่ขยันขันเหมือนนกเขาแขก    กลางคืนก็ขัน    ผมชอบฟังเสียงนกร้องและขัน    ตอนหลังเลิกเลี้ยงเพราะบ้านพักผมอยู่เชิงเขาหรือชายป่า    งูเขียวหางไม้และงูตัวดำๆ ตัวยาวเป็นวาจึงมาเยี่ยม เพราะนกเป็นอาหารงู    ผมเกรงว่างูจะทำอันตรายลูกและครอบครัวจึงเลิกเลี้ยง    ตอนมาอยู่กรุงเทพเพื่อนเป็นนักผสมพันธุ์นกเขาชะวา    จะเอามาให้    ผมไม่รับ เพราะเลิกคิดที่จะเลี้ยงนกแล้ว    ชื่นชมนกธรรมชาติดีกว่า   
ที่บ้านผมตอนนี้นกที่เป็นเพื่อนใกล้ชิดที่สุดคือนกอีแพรดแถบอกดำ  (Rhipidura javanica)   เป็นนกที่เชื่อง     บางครั้งมาบินป้วนเปี้ยนห่างไม่ถึงวา    ชอบทำท่าแพนหางสวยงามและดูร่าเริงมาก   แต่เสียงร้องไม่เพราะคือดังแพรดๆ ตามชื่อ    นกที่มีมากที่สุดคือนกเขา ทั้งนกเขาเล็กและนกเขาใหญ่     ส่งเสียงขันคูสนั่นไปทั่วบริเวณหมู่บ้าน    ผมเคยเอาข้าวเปลือกใส่ bird feeder ที่ซื้อมาจาก Santa Clara เอาให้กิน    เขามากินกันมากมายเป็นร้อยตัว     แต่พอไข้หวัดนกระบาดผมก็เลิกเลี้ยง    นกที่ส่งเสียงร้องให้ได้บรรยากาศคือนกกระปูดใหญ่ (Centropus sinensis)    จำได้ว่าสมัยเด็กๆ คนที่บ้านไปขโมยลูกนกที่ขนยังไม่ขึ้น เอามาให้ก๋ง (คุณตา) ซึ่งเป็นคนจีน มาจากเมืองจีน เอามาดองเหล้ากิน เชื่อว่าทำให้แข็งแรง    ผมสงสัยว่าทำไมช่วงวันหยุดปีใหม่ ๔ วันนี้ไม่ได้ยินเสียงนกกะปูดเลย    แต่ได้ยินเสียงนกเอี้ยง (นกเอี้ยงหงอน -  Acridotheres grandis และนกเอี้ยงสาริกา – Acridotheres tristis)   ร้องอยู่ในขณะที่พิมพ์อยู่นี้    ในขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงนกตีทอง (Megalaima haemacephala)  ร้องมาแต่ไกล แต่ไม่เคยเห็นตัวเลย     เสียงร้องของนกตีทองนี้ได้ยินทุกวัน   นกที่บินมาเป็นกลุ่มๆ เป็นช่วงๆ วันละหลายรอบ คือนกปรอดสวน (Pycnonotus blanfordi)    กับนกปรอดหน้าขาวหรือหน้านวล (Pycnonotus golavier)    และที่ร้องเสียงหวานเจื้อยแจ้วให้ได้ยินทุกวันคือนกกางเขนบ้าน (Copsychus saularis – Oriental Magpie Robin)    นกที่ผมรู้สึกเสียดายที่ไม่มีในบริเวณบ้านตอนย้ายมาอยู่ใหม่ๆ คือนกปรอดหัวโขน (Pycnonotus jocosus – Red-whiskered Bulbul)   ซึ่งผมหลงใหลเสียงร้องมาก    เปิดตำรานกดูก็พบว่าพบได้ทั่วประเทศไทยยกเว้นภาคอีสานกับบริเวณกรุงเทพและปริมณฑล    บ้านผมอยู่ปากเกร็ดจึงไม่มีนกนี้ในธรรมชาติ    ได้ชื่นชมเสียงร้องเป็นครั้งคราวเพราะบ้านติดกันเลี้ยง    แต่ในช่วงประมาณ ๑ ปีมานี้ผมสังเกตว่ามีนกปรอดหัวโขนมาอยู่บริเวณหมู่บ้านผมแล้ว     ในช่วงวันหยุด ๔ วันนี้ผมได้ยินเสียงร้องทุกวัน    เสียงใสฟังแล้วชื่นใจ   นานๆ จะเห็นนกกินปลีอกเหลือง (Nectarinia jugularis) มากินน้ำหวานดอกไม้ข้างบ้าน    ส่วนนกกระจิ๊ด (Phylloscopus) มาแทบทุกวันร้องจิ๊ดๆๆๆ เสียงดัง    เกือบทุกเช้าตอนใกล้รุ่ง นกกาเหว่า (Eudynamys scolopacea) จะมาจับกิ่งปีบหลังบ้านส่งเสียงร้องดังลั่น    มีนกอีกชนิดหนึ่งมาบ่อยช่วงกลางวันจนถึงเย็น ได้ยินเสียงร้องและเห็นตัวไวๆ อยู่บนต้นไม้ แต่ไม่เคยเห็นตัวจะจะเลย     ส่วนนกยางบินผ่านบนท้องฟ้า    และที่มีมากที่สุดคือนกกระจอกบ้าน


เมื่อวานตอนเย็นนั่งอ่านหนังสือที่สนาม    ได้ยินเสียงนกร้องเพราะมาก    และร้องกระชั้นถี่   เสียงคล้ายนกเอี้ยงแต่มีลูกเล่นมากกว่า    สงสัยว่านกป่าหรือนกเลี้ยง    ไปชะโงกดูจึงเห็นกรงที่บ้านติดกัน    เป็นนกกิ้งโครงคอดำ (Gracupica nigricollis)

      
ปีนี้สังเกตว่าเห็นผีเสื้อจำนวนมาก อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน   และมีหลากสี    บินไปบินมาอย่างรวดเร็ว    ไม่เกาะตรงที่เตี้ยๆ ให้ได้ชมกันชัดๆ     แต่การได้เห็นผีเสื้อจำนวนมากในสวนของเราเอง  ก็ให้ความรู้สึกที่ดี    ว่าสวนในบ้านของเราเล็กนิดเดียว แต่ก็มีทั้งพืชและสัตว์ให้ได้ชื่นชมมากมาย   จัดเป็นระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ      ตอนกลางคืนเห็นหิ่งห้อยนานๆ ครั้ง     ถ้าสังเกตจะเห็นหนอนเรืองแสงอยู่ตามพื้นดินด้วย  

 
เล่ามาถึงตอนนี้ให้คิดถึงเพื่อนเก่าที่ไม่เห็นนานเป็นปีแล้ว    คือตัวเหี้ยครับ    ชอบปีนรั้วหลังบ้านเข้ามาในบ้านผม    จนบ้านข้างๆ ซึ่งเลี้ยงปลาคาร์พจำนวนมาก ต้องเอาตาข่ายมาขึงกันมันเล็ดลอดจากบ้านผมไปเข้าบ้านเขา    ที่ว่างด้านหลังบ้านผมยังเป็นที่ลุ่ม เป็นดงต้นกกธูปฤาษี   


อากาศในวันหยุดปีใหม่ ๔ วันกำลังสบาย    ไม่หนาวเกินไป และไม่ร้อน     จึงได้นั่งอ่านหนังสือที่สนาม    วันปกติออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง     กลับถึงบ้านก็มักเกือบค่ำ    วันเสาร์ – อาทิตย์ ก็มีน้อยที่ได้อยู่บ้าน    ถ้าช่วงที่อากาศร้อนก็มักไม่ได้ออกมานั่งชื่นชมธรรมชาติ     หรือมิฉะนั้นก็ต้องง่วนอยู่กับการเตรียมงาน  

      
เกือบลืมบันทึกว่า นอกจากได้ชื่นชมบรรยากาศ    ต้นไม้   นก   และแมลง แล้ว ยังได้ชื่นชมรสของขนุนซึ่งสุกตอนนี้พอดี    ปลูกไว้ข้างบ้าน ๒ ต้น (ทิศตะวันตก ทำหน้าที่บังแดดบ่ายไปในตัว)    ต้นแรกเป็นขนุนไพศาลทักษิณขยายพันธุ์โดยการเพาะเนื้อเยื่อ    อธิการบดี มก.  ศ. ดร. ธีระ สูตะบุตร กรุณาให้มา     อีกต้นหนึ่งลืมชื่อไปแล้ว ซื้อต้นเล็กๆ มาจาก มก. บางเขน     ปีนี้ขนุนหวานและหอม อร่อยมาก    ต่างจากปีที่แล้วซึ่งจืดสนิท     อาจเป็นเพราะได้ปุ๋ย หรือเพราะต้นเติบโตเต็มที่ 


เป็นวันหยุดปีใหม่ที่ได้พักผ่อนและชื่นชมธรรมชาติอย่างเต็มอิ่ม
วิจารณ์ พานิช
๓ มค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 11244เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2006 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
คนอยากรู้เหมือนกัน

อยากทราบว่าต้นเต่าร้างนั้นเขานิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันหรือไม่ เพราะบางท่านเชื่อว่าต้นเต่าร้างชื่อไม่เป็นมงคลเพราะมีคำว่า "ร้าง" ควรจะเปลี่ยนชื่อหรือไม่ เป็นต้นเต่านา หรือ ต้นเต่าเงิน เต่าทอง จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าถูกยางที่เป็นพิษควรจะทำอย่างไร เพราะมันคันมาก มีวิธีแก้คันหรือไม่ อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท