เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย (31.10)


ทีมงานของเรา ตกลงกันไว้ก่อนว่า ต้องรักษาหน้าตาของประเทศไว้ด้วย ไม่ใช่ของเราไม่ดีทั้งหมดและก็ไม่ใช่ของเขาจะดีทุกเรื่อง

           ร้านJack Style Thai Restaurant เป็นร้านอาหารไทย มีเจ้าของเป็นคนไทย คนเสิร์ฟมีแค่ 2 คน เป็นคนไทย 1 คน คนฟิลิปปินส์ 1 คน มีแขกเข้าไปรับประทานอาหารจนแน่นร้าน วันนี้ทางเดวิดและจอห์นเป็นเจ้าภาพ โดยจอห์นจะพาครอบครัวมาร่วมทานอาหารเย็นกับเราด้วย ประมาณทุ่มครึ่ง จอห์นก็มากับครอบครัวมีภรรยาคุณLibby ลูกสาวคนโตอายุ 9 ขวบชื่อ Emily และลูกสาวคนเล็กอายุ 7 ขวบชื่อAnna เป็นเด็กที่น่ารัก สดใสร่าเริงทั้งคู่ โดยเฉพาะคนเล็กจะทะเล้นด้วย ทำให้นึกถึงน้องขิมลูกสาวคนกลางของผม พวกเราทานอาหารกันไปคุยกันไปสักประมาณ 3 ทุ่ม ทางคุณLibby ก็พาลูกสาวทั้งสองคนกลับก่อนเพราะง่วงนอนและต้องไปโรงเรียนตอนเช้า ผม พี่สุวรรณาและน้องเดือนเดินไปส่งที่รถและชวนคุณLibbyไปเที่ยวเมืองไทย

           เมื่อกลับมาที่โต๊ะอาหารก็ได้พูดคุยกันต่อ ทางจอห์นและเดวิดให้ผมเขียนเรื่องการพัฒนางานและโรงพยาบาลบ้านตากเพื่อส่งลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของออสเตรเลียในลักษณะของงานวิชาการซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษยาวไม่เกิน 2,500 คำ โดยผมเขียนเป็นภาษาไทยแล้วทางอาจารย์ประวิทย์จะช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษให้และทางจอห์นจะช่วยขัดเกลาให้อีกรอบหนึ่ง ผมก็รับปากว่ามาเมืองไทยจะรีบดำเนินการให้เพื่อจะได้เผยแพร่งานของแพทย์ชนบทในเมืองไทยด้วย

           ประมาณ 4 ทุ่มก็แยกย้ายกันกลับที่พักโดยจอห์นกลับกับเดวิด ส่วนผม พี่สุวรรณา พี่กฤช กลับรถแท็กซี่และที่เหลือกลับรถของอาจารย์ประวิทย์ ประมาณ 4 ทุ่มครึ่งก็ถึงที่พักแต่ยังไม่ได้นอนเราต้องมาร่วมกันทำงานกลุ่มเพื่อการนำเสนอผลการศึกษาดูงานในวันพรุ่งนี้ โดยนำเอาเนื้อหาที่เราพูดคุยกันไว้แล้วมาปรับเป็นสไลด์เพาเวอร์พ้อยท์ โดยพี่สุวรรณา เป็นคนทำ มีน้องเดือนช่วยออกความคิดเห็นเรื่องการตกแต่งภาพ พี่กฤชช่วยตรวจทานให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ผมคอยให้ข้อมูลและช่วยทำสไลด์บางภาพและคัดเลือก ภาพประกอบการนำเสนอ อาจารย์ประวิทย์และพี่ชัยเวชเตรียมคำกล่าวในการนำเสนอ พอทำเสร็จก็มีการซ้อมการนำเสนอด้วย การใช้คำต่างๆจะพิถีพิถันมากขนาดเปิดตำรากันเลยเพราะเราจะแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษตรงๆเลยไม่ได้เพราะหลายคำมีสำนวนของเขาอยู่  ประมาณเที่ยงคืนก็เสร็จ แยกย้ายกันเข้าที่พัก

            ทีมงานของเรา ตกลงกันไว้ก่อนว่า ต้องรักษาหน้าตาของประเทศไว้ด้วย ในการนำเสนอจึงต้องพิถีพิถันมากเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการสื่อความหมายที่จะทำให้แพทย์ในออสเตรเลียที่จะมาฟังกว่า 40 คนเข้าใจผิด และสิ่งที่เราเน้นย้ำคือไม่ใช่ว่าเราไม่มีอะไรดีเลย  ระบบบริการสุขภาพของเมืองไทยก็มีสิ่งดีๆ สิ่งที่โดเด่นอยู่ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เราไม่ได้มาลอกของเขากลับไปทั้งหมด แต่เรามาดูว่ามีอะไรที่เราจะแบ่งปันประสบการณ์กันและทั้งสองประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้  หากมีคำถามเราจะต้องฟังให้ชัดและให้คำตอบอย่างเหมาะสมแก่ที่ประชุม โดยไม่ดูถูกประเทศตนเอง ออสเตรเลียเองก็ไม่ได้ดีเลิศยังมีอีกหลายอย่างที่เขาต้องปรับปรุงและเรียนรู้จากเราเช่นกัน
หมายเลขบันทึก: 11224เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2006 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท