แม่บัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งยงด้วยความวิริยะ


“มุตโตแตก” คือเกิดปัญญาแตกฉาน สามารถคิดแต่งบทใหม่ด้วยปฏิภาณ

 

แม่บัวผัน  จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ผู้ยิ่งยงด้วยความวิริยะ

 

            ผมได้นำเรื่องราวของ พ่อไสว  วงษ์งาม ศิลปินพื้นบ้านผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี มาเสนอต่อท่านผู้อ่านไปแล้ว วันนี้ผมมีความภาคภูมิที่จะนำเรื่องราวของแม่เพลง ที่ผมเคยได้มีโอกาสกราบขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ อบรมเพลงอีแซวกับท่านมาแล้ว ท่านเป็นผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี พ..2533 ท่านคือ แม่บัวผัน  จันทร์ศรี เชิญมาสัมผัสชีวิตที่น่าพิศวง น่ายกย่องชื่นชมได้แล้วครับ

           

         แม่บัวผัน  จันทร์ศรี(สุวรรณประทีป) นามสกุลเดิมว่า โพธิ์พักตร์เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2463 เป็นบุตรนายดิน นางปาน บ้านเดิมอยู่บ้านห้วยโรง อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง แม่บัวผันเกิดในครอบครัวที่พ่อและญาติๆมีอาชีพเล่นเพลงและทำนา ส่วนแม่ปานเป็นแม่เพลงสมัครเล่น แม่บัวผันจึงเติบโตขึ้นในท่ามกลางการว่าเพลง ทั้งเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงอีแซว เพลงกล่อมเด็ก และเพลงขอทาน

            แม่บัวผันไม่มีโอกาสศึกษาในโรงเรียนจึงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ด้วยความวิริยะ ความมีมานะและความรักเพลง แม่บัวผันก็เริ่มหัดเพลงตั้งแต่อายุ 13 ปี(..2476) โดยหัดกับอาชื่ออิน หัดพร้อมกับพี่ชายคือพ่อบัวเผื่อน(ถึงแก่กรรม เมื่อ พ..2528) โดยเริ่มเมื่อถึงวันพฤหัสบดี ครูเพลงก็ทำพิธีจับข้อมือศิษย์ผู้ที่จะหัดเพลง เอาดอกไม้ ธูป เทียน ไปให้ครู ครูจับข้อมือให้ทำท่ารำ และต่อเพลงบทแรกๆให้ ต่อจากนั้นจึงเริ่มฝึกอย่างจริงจัง แม่บัวผันเริ่มจดจำหัดร้องเพลง หัดท่ารำ ฝึกไปจนสามารถคิดดัดแปลงยักเยื้องบทร้องเองได้ถึงขั้นที่เรียกกันว่า มุตโตแตกคือเกิดปัญญาแตกฉาน สามารถคิดแต่งบทใหม่ด้วยปฏิภาณ ใครว่าอะไรมาก็ว่าแก้ได้หมด

           แม่บัวผัน เป็นคนที่มีความพากเพียรและใส่ใจฝึกฝนเพลง ต่อเพลง และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อไปเล่นเพลงกับคนอื่น หากได้พยผู้อาวุโสกว่าจะเข้าไปกราบไหว้ และพยายามขอความรู้ไว้ประดับตัวอยู่เสมอ เวลาว่าเพลง แม่บัวผันก็จะร้องจะรำอย่างสุดความสามารถ

 

            แม่บัวผันไม่รู้หนังสือแต่สามารถจดจำบทเพลงชุดต่างๆ ที่เรียกว่า ตับเพลงได้มากมายเช่น ตับผูกรัก ตับกระได ตับชิงชู้ ตับตีหมากผัว ตับแต่งตัว ตับเข้าบ้าน ตับเช่านา ตับเช่าเรือ เป็นต้น แต่ละตับมีความสั้นยาวต่างกัน บางตับยาวเป็นร้อยๆบรรทัดก็มี แม่บัวผันนำมาใช้เล่นเป็นอาชีพร่วมกับสามี คือพ่อไสว วงษ์งาม(สุวรรณประทีป)นั่นเอง แม่บัวผัน อ่าน เขียน ไม่ได้ก็จริงแต่ก็สามารถใช้ปฏิภาณและความชำนาญ ร้องเพลงโต้ตอบหรือแต่งกลอนเพลงบทใหม่ในทันที เป็นการใช้ความสามารถที่สูงยิ่งกว่าการโต้กลอนสดธรรมดาเสียอีก เพราะต้องร้องสดๆคิดสดๆ และต้องรำไปด้วย นับเป็นศิลปินที่น่าทึ่ง การร้องเพลงโต้ตอบยังสามารถร้องว่าได้เป็นคืนๆหรือหลายคืนติดต่อกัน หากไม่มีปฏิภาณพอแล้วในไม่ช้าก็จะต้องเพลี่ยงพล้ำ

            นอกจากเพลงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แม่บัวผันยังร้องเพลงพื้นบ้านได้อีกหลายชนิด เช่นเพลงพานฟาง เพลงระบำบ้านไร่ เพลงยั่ว เพลงแห่นางแมว เป็นต้น โดยร้องด้นได้อย่างไม่ติดขัด และนำเพลงเก่าๆมาใช้ร้องได้เหมาะสมกับโอกาส

            ชีวิตของแม่บัวผัน เป็นชีวิตศิลปินที่ให้ความสุขแก่ประชาชน ให้ความรู้อันมีคุณค่าต่อสังคม เป็นผู้ดำรงศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่าไว้ จะเห็นได้จากผลงานการอบรม ฝึกสอนเพลงพื้นบ้านให้แก่ศิษย์ และคนรุ่นหลังมาตลอด 30 ปีเศษ ได้เผยแพร่เพลงพื้นบ้านตามสถาบันต่างๆตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้บันทึกเทปตัวอย่างเพลงพื้นบ้านภาคกลางเผยแพร่ เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องเพลงพื้นบ้านแก่ผู้ศึกษาและสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้นำประวัติของท่านมาเป็นสาระในเอกสารการสอนชุดวิชาไทยศึกษา ให้นักศึกษาและผู้สนใจได้ศึกษา และเกียรติประวัติที่แม่บัวผัน และชาวสุพรรณบุรีภาคภูมิใจที่สุดก็คือ การได้รับรางวัลยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี พ..2533

คำสำคัญ (Tags): #ภูมิปัญญา
หมายเลขบันทึก: 112128เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มักหลายๆๆๆๆๆๆๆ

ขอบคุณ หลายๆเช่นกันครับ ฝน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท