อมฤตธรรม


“สิ่งใด มีเหตุเป็นเครื่องบันดาลให้เกิดขึ้น พระตถาคตได้ตรัสบอกถึงเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับสนิทของสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะองค์นั้นมีปรกติกล่าวด้วยอาการอย่างนี้”

     “อมฤตธรรม” เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกล่าวสิ่งที่มีเกิดขึ้น และดับลงไป ว่าเป็นธรรมดาของโลก และอมฤตธรรมนั้น มิได้เกิดอยู่ในโลกนี้ ในลักษณะที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความคิดนึกต่าง ๆ และเพราะเหตุที่อมฤตธรรมนั้นมิได้เป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ดับ คือไม่ตาย ที่มาที่ไปของ อมฤตธรรม นั้นได้เกิดจากความสงสัยของ อุปติสสะ “พระสารีบุตร” และ โกลิตะ “พระโมคคัลลาน” ซึ่งเป็นศิษย์ของ สำนัก “สญชัย” ที่ตั้งใกล้ ๆ นครราชคฤห์ มีสาวกประมาณ ๒๐๐ คนเศษ แต่ทั้ง อุปติสสะ และ โกลิตะ ไม่ใคร่จะพอใจที่อาจารย์สอนเท่าใดนัก ด้วยประสงค์จะรู้สิ่งที่ดีและลึกซึ้งไปกว่านั้น อันเรียกกันว่า “อมฤตธรรม” โดยได้สัญญากันไว้ว่าจะเร่งศึกษา ค้นหา หากใครเจอก่อนก็จะต้องบอกอีกคนหนึ่งให้รู้ด้วย

     วันหนึ่งเมื่อ อุปติสสะ ได้พบกับบรรพชิตรูปหนึ่ง คือ “พระอัสสชิ” กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ มีอากับกิริยาเป็นที่จับตาจับใจ มีลักษณะอาการที่สุภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยม งดงาม เมื่อรอเวลาให้เสร็จสิ้นการบิณฑบาต ด้วยเกรงว่าจะไม่เหมาะสมในขณะนั้น อุปติสสะ จึงได้เข้าไปถามว่าผู้ใดเป็นอาจารย์ของท่าน อาจารย์ของท่านชื่ออะไร และคำสอนของอาจารย์ท่านเป็นอย่างไร ก็ได้คำตอบว่าอาจารย์คือ พระมหาสมณะแห่งวงศ์ศากยะ ส่วนคำสอนนั้นพระอัสสชิ ตอบว่าเพิ่งเข้ามาบวชยังไม่รู้มากนัก หากจะบอกก็จะบอกได้เพียงน้อย และก็ได้บอกไปว่า “สิ่งใด มีเหตุเป็นเครื่องบันดาลให้เกิดขึ้น พระตถาคตได้ตรัสบอกถึงเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับสนิทของสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะองค์นั้นมีปรกติกล่าวด้วยอาการอย่างนี้”

     และในทันทีนั้น อุปติสสะ ก็เกิดความความวาบสว่างขึ้นเข้าใจใน “อมฤตธรรม” และไม่ลืมเพื่อนตามที่สัญญาไว้ ก็ได้ไปบอกกล่าวเล่าเรื่องแก่ โกลิตะ และถือเอาพระพุทธองค์เป็นครู พระองค์ทรงรับเขาทั้งสองบวชเป็นภิกษุ และเป็นผู้มีความรู้สติปัญญาและความสามารถมาก มีนามว่า “พระสารีบุตร” และ “พระโมคคัลลาน”

     สิ่งที่ผมลองสรุปได้จากพุทธประวัติในตอนนี้...คือ
     สิ่งแรก     อากับกิริยาเป็นที่จับตาจับใจ มีลักษณะอาการที่สุภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยม งดงาม เป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะทำให้คนอื่นประทับใจคน ๆ นั้น
     สิ่งที่สอง  การรู้จักจังหวะ เวลา และโอกาส ดูจากที่ท่านอุปติสสะ รอจังหวะเวลาเพื่อถาม “พระอัสสชิ”
     สิ่งที่สาม  เมื่อเราทำดี เป็นคนดี มีชื่อเสียง ก็จะถูกถามถึงพ่อ แม่ และครูบาอาจารย์ ในทางกลับกันหากท่านทำไม่ดี ก็มักจะถูกถามถึงเช่นกัน
     สิ่งที่สี่      ความถ่อมตัวว่าไม่ใช่ผู้รู้ของพระอัสสชิ แต่ก็แบ่งปันเท่าที่รู้ให้คนอื่น
     สิ่งที่ห้า    การกล่าวเพียงสั้น ๆ แต่เป็นแกนของความรู้จริง ๆ ก็จะสามารถทำให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย (อันนี้บวกกับความมีสติปัญญาดี ความไฝ่รู้ของ อุปติสสะ ด้วย)
     สิ่งที่หก   การไม่ลืมเพื่อน ไม่ลืมสัญญา และมีน้ำใจแบ่งปันเมื่อได้รู้ ได้เข้าใจแล้ว ของ อุปติสสะ ที่มีต่อ โกลิตะ

หมายเลขบันทึก: 11207เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2006 03:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท