ทางกลับคือการเดินทางต่อ (1)


บทความคอลัมน์ "ทางกลับคือการเดินทางต่อ" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับปฐมฤกษ์ มกราคม 2549

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอนเสียเถิดลูกนอน        พ่อจะกู้สหกรณ์ไปส่งออมทรัพย์
ลูกจงนอนเสียให้หลับ      พ่อจะกู้ออมทรัพย์ไปส่ง กข.คจ.
ลูกจงนอนเสียให้พอ        พ่อจะกู้ กข.คจ.ไปส่งเงินล้าน
ลูกจงอย่างเกียจคร้าน     จะรักษากองทุนเงินล้านไว้ให้ ธกส.

เพลงกล่อมเด็กเพลงนี้ชื่อเพลง “หมุนหนี้” แต่งโดยพี่ยับ วุ่นโต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาเปอะ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ผมอ่านเจอในขณะที่กำลังค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และเมื่อนำไปใช้ในการบรรยายเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชนในเวทีต่าง ๆ ก็ได้รับความสนใจคัดลอกนำไปใช้ประโยชน์กันมาก คงจะเป็นเพราะเนื้อหาของเพลงสะท้อนถึงสภาวะที่เป็นอยู่จริงในสังคมชนบท นั่นก็คือ พอถึงช่วงสิ้นเดือนผู้ที่เป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อบ้าน แม่บ้าน ลูกคนโต หรือลูกคนอื่น ๆ ที่มีงานทำ บรรลุนิติภาวะ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็จะสตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์เปิดไฟหน้าขับออกไปยังเป้าหมาย สวนกันไปสวนกันมาในหมู่บ้าน เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินที่เรียกว่า การ “หมุนหนี้” กันเป็นพัลวัน ดังในเนื้อหาของเพลงฯ

สภาวะแบบเดียวกันนี้ในสังคมเมืองก็ดูจะไม่แตกต่างกันไปมากนัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาด คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลูกจ้างบริษัทห้างร้าน ข้าราชการ ฯลฯ เมื่อถึงสิ้นเดือนก็จะต้องเผชิญกับภารกิจ “หมุนหนี้” เช่นเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากกองทุนเงินล้าน กข.คจ. ธกส. ฯลฯ มาเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าเงินผ่อน ชื่อเท่ห์ ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเปิดขึ้นมาให้บริการกันอย่างทันอกทันใจ มากมายหลายแห่งในช่วง 2-3 ปีมานี้

เมื่อพูดคุยสอบถามลึกลงไป ก็ได้รับคำตอบที่คล้าย ๆ กันว่า แต่ละคนอยากจะหลุดพ้นจากสภาวะหนี้สินเช่นนี้ อยากจะเริ่มต้นใหม่ย้อนกลับไปในวันที่ไม่มีหนี้สินมาเป็นเครื่องพันธนาการชีวิตและจิตใจ ถ้าวันนั้นรู้ได้ว่าความเดือดร้อนจะมาสุมรวมกันได้ถึงขนาดนี้ คงจะไม่คิดอยากมีอยากได้ไปตามแรงกระตุ้นจากสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่คอยกวักมือเรียกเราให้ออกไป หยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้จ่ายเพื่อความสุขทันใจต่าง ๆ นานา

ในอีกแง่มุมหนึ่งของเศรษฐกิจระบบทุนนิยม เหตุผลของการเพิ่ม “กำลังซื้อ” ด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับครัวเรือน เพิ่มการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ควบคู่ไปกับการขยายการส่งออก / ควบคุมการนำเข้า ก็เป็นวิถีทางที่ยากจะปฏิเสธในการบริหารประเทศไทยในปัจจุบัน

มาถึงตอนนี้ หลายฝ่ายตระหนักดีแล้วว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการเพิ่ม “กำลังซื้อ” ถ้าอยู่บนพื้นฐานของการที่ชุมชนและครัวเรือนไม่เข้มแข็งในการบริหารเงิน ไม่รู้จักพอดีในการใช้จ่าย เลือกที่จะใช้จ่ายเพื่อความสนุกสนานสำราญใจมากกว่าการสร้างงาน สร้างอาชีพ  ฯลฯ ในไม่ช้าปัญหาที่มาเยือนก็จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาในครัวเรือน ลุกลามกลายเป็นปัญหาของสังคม แสดงออกมาในรูปแบบของความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม พฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนในกลุ่มเด็กและเยาวชน ฯลฯ

หลายคนเริ่มมองหา “ทางกลับ” ด้วยถวิลหวังถึงภาพเดิม ๆ ของสังคมไทยที่สงบร่มเย็นในอดีต แต่ในความคิดของผม “ทางกลับ” ที่เป็นการเดินถอยหลังย้อนกลับไปสู่จุดที่เราผ่านมาแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะด้วยเงื่อนไขของเหตุการณ์ สถานที่ และเวลาที่ผ่านเลยไปไม่มีทางที่จะย้อนกลับมา เราทั้งหลายที่ได้เดินทางร่วมกันมาบนถนนสายนี้มีหน้าที่ที่จะต้องสรุปบทเรียนร่วมกันทั้งเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน เพื่อกำหนดภาพที่พึงประสงค์ของการสร้างเส้นทางที่เราจะ “เดินทางต่อ” มุ่งไปในอนาคต คอลัมน์ “ทางกลับคือการเดินทางต่อ” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่นี้ครับ.

 ไอศูรย์  ภาษยะวรรณ์
[email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11196เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2006 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีปีใหม่ค่ะ อาจารย์ไอศูรย์

       ที่อาจารย์กล่าวมาในข้างต้นเนื้อหาเหมาะกับโฆษณาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อหนึ่งเลยนะค่ะ  

       ปีใหม่แล้วขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยช่วยคุ้มครองให้อาจารย์และครอบครัวประสบแต่ความสุขและสุขภาพแข็งแรงนะค่ะ 

                                                   45545009

                                                     krittiya

คุณ 45545009 krittiya คงจะหมายถึง โฆษณา "สำนึกรักบ้านเกิด" อาจจะเป็นเพราะ "ชื่นชม" ในเนื้อหาและการนำเสนอของหนัง มันคงจะใกล้เคียงกับอุดมการณ์ของคุณ krittiya แต่ตอนที่เขียนบทความนี้ผมไม่ได้นึกถึงเลยนะ เป็นไปได้ว่า เรื่องนี้มี "กลิ่น" ที่คล้าย ๆ กัน ขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นครับ.
อยากให้ชาวบ้านระดับรากหญ้า(คำใช้เรียกคนจนของรัฐ)ได้อ่านบทความนี้ของอาจารย์จังเลยค่ะ........เพราะดิฉันอ่านแล้วตรงกับความรู้สึกที่คิดไว้เหมือนกัน........เราทุกคนต้องเดินทางต่อไป........แม้ว่าอนาคตช่างมืดมน........นี่หรือคนไทย........
เห็นด้วยค่ะ อยากให้เมืองไทยกลับไปเหมือนเดิม ที่ผู้คนมีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องมีเงินก็อยู่กันได้ ไม่เหมือนสมัยนี้ค่าของคนวัดกันที่วัตถุและเงิน
คนเคยร่วมบูรณาการ
ผมเคยอ่านพุทธทำนาย 16 ประการ มีแนวโน้มจะเป็นจริงไปเรื่อย ๆ ที่เราเคยทำโครงการบูรณาการกัน มาตอนนี้เงียบไปหมด สังคมกำลังถูกปิดกั้น ดูเหมือน ทุนนิยมแบบผูกขาด หมายความว่า ผูกขาดความรวยอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มนึงแล้วที่เหลือก็อยู่ด้วยประชานิยม เพื่อคนหนึ่งคนซึ่งมีที่หมายใหม่จะเป็น "รัฐบุรุษ"
สวัสดีครับ พี่ไอศูรย์  ปีใหม่ 2549 ขอให้พี่และครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญในด้านการงานนะครับ

สวัสดีครับ...คุณไก่แจ้

  • ขอพรปีใหม่จงบังเกิดผลกับคุณไก่แจ้ และครอบครัวเช่นกันครับ
  • เมืองระนองเป็นอย่างไรบ้าง เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท