ข่าวความช่วยเหลือจากกรณีน้ำท่วมจาก สปสช.และ กสธ.


อนุโลมให้ประชาชนในจังหวัดที่ประสบภัย เมื่อมีปัญหาเจ็บป่วยและไม่สะดวกที่จะไปรับบริการที่สถานพยาบาลตามบัตรได้ สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลอื่นที่อยู่ในโครงการได้โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียง 30 บาท โดยสิทธิฉุกเฉินเดิมก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม

     นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า     ได้สั่งการให้ สปสช.ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาการเจ็บป่วยจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เป็นกรณีพิเศษแล้ว เนื่องจากได้ข้อมูลจาก รพ.ในพื้นที่น้ำท่วมว่ามีผู้ถือบัตรทองไปรับบริการและมีชื่อไม่ตรงกับที่ระบุในบัตรทองจำนวนมาก โดยผู้ถือบัตรทองมีทั้งมารับบริการปกติและฉุกเฉิน ซึ่ง ได้ให้สปสช.เร่งดำเนินการประสานกับสถานพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเป็นกรณีพิเศษ

     ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบันสำหรับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินผู้ป่วยสามารถใช้บริการ และสถานพยาบาลมีสิทธิเบิกชดเชยค่าบริการ ได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อคนต่อปี แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นภัยธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ประชาชนเดือดร้อน และสถานพยาบาลก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เจ็บป่วย และช่วยแบ่งเบาภาระของสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว สปสช. จึงอนุโลมให้ประชาชนในจังหวัดที่ประสบภัย เมื่อมีปัญหาเจ็บป่วยและไม่สะดวกที่จะไปรับบริการที่สถานพยาบาลตามบัตรได้ สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลอื่นที่อยู่ในโครงการได้โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียง 30 บาท โดยสิทธิฉุกเฉินเดิมก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นสถานพยาบาลจะเรียกเก็บไปที่สปสช. ซึ่งจะทำให้สถานพยาบาลคลายความกังวลในการแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ให้ถานพยาบาลในพื้นที่ประสบอุทกภัย แจ้งไปยังสปสช.เพื่อขอรับการชดเชยว่ามีค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้เป็นจำนวนเท่าใด

     นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ให้สปสช.สาขาเขตพื้นที่หาดใหญ่สำรวจและประสานสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้แล้ว และได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ ทำหนังสือแจ้งแนวทางดำเนินการให้สถานพยาบาลรับทราบถึงรายละเอียดในการขอรับการชดเชย การกำหนดรหัสพิเศษ เพื่อใช้ในการเบิกจ่ายงบประมาณ และ ปรับปรุงโปรแกรมการรองรับกรณีดังกล่าวด้วย

     นายพินิจ กล่าวในตอนท้ายว่า ในรอบ 2 สัปดาห์มานี้ ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ให้กับประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในเบื้องต้นได้รับรายงานจากรพ.ในพื้นที่แล้วพบว่า มีประชาชนเจ็บป่วยไปแล้วกว่า 130,000 ราย โดยโรคที่พบมากถึง 80% เป็นโรคเกี่ยวกับไข้หวัด น้ำกัดเท้า/ผื่นคัน ที่เหลือป่วยด้วยโรคทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ  ซึ่งจากนี้ไปจะลงพื้นที่เพื่อเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูการควบคุมป้องกันโรค ทั้งนี้งบประมาณสปสช.จัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 7.5  ล้านบาท และให้กำลังใจสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลังน้ำลดอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม  ในภาพรวมความเสียหายสถานบริการสาธารณสุขทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล ได้รับความเสียหายทั้งหมด 73 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานีอนามัย 69 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลชุมชน

     ที่มา: ข่าว สปสช.

หมายเลขบันทึก: 11195เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2006 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
     ตามหนังสือ สปสช. ที่ 02/1678 ลว.29 ธ.ค.2548 สปสช.ได้โอนเงิน P&P สำหรับประชาชนในระหว่างและหลังประสบภาวะอุทกภัยของจังหวัดภาคใต้มาให้แล้ว 8 จังหวัด รวม 7,500,000.00 บาท ดังนี้ครับ
     จว.นครศรีธรรมราช 1,500,000.00 บาท
     จว.พัทลุง 1,000,000.00 บาท
     จว.ปัตตานี 800,000.00 บาท
     จว.สงขลา 1,200,000.00 บาท
     จว.ยะลา 1,000,000.00 บาท
     จว.สตูล 700,000.00 บาท
     จว.ตรัง 700,000.00 บาท
     จว.นราธิวาส 600,000.00 บาท
     การจ่ายตามกรอบแผนงาน/โครงการให้ผ่านความเห็นชอบ คบปจ.ก่อนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท