สคส. ปีใหม่ ๒๕๔๙ : ความรู้ ๓ ชั้นของท่านพุทธทาส


ความรู้ชั้นสูงสุดคือความรู้จากการปฏิบัติ

สคส. ปีใหม่ ๒๕๔๙ : ความรู้ ๓ ชั้นของท่านพุทธทาส


ไปสวนโมกข์เมื่อวันที่ ๒๘ ธค. ๔๘ ได้ของดีมาฝาก เป็นของขวัญปีใหม่ ท่านอาจารย์โพธิให้หนังสือมา ๑ ชุด ๒ เล่ม ชื่อ “พินัยกรรมของพุทธทาส ระบบธรรม (เท่า) ที่นึกได้” ซึ่งมติชนสุดสัปดาห์ได้นำมาแนะนำแล้ว
ผมขอยกวรรคทอง มาเป็นของขวัญปีใหม่ สำหรับคอ KM ดังนี้

ความรู้ ๓ ชั้น

·       ความรู้จากการได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน 

   เป็นความรู้ขั้นต้นสำหรับเอามาใคร่ครวญ;
   ถือเอาทันทีไม่ได้.  ยังไม่รับเอา, ยังไม่ปฏิเสธ.

·       ความรู้หลังจากใคร่ครวญ พินิจพิจารณา
   โดยเหตุผล ว่าจะดับทุกข์ได้หรือไม่
   สำหรับนำเอาไป พิสูจน์ ทดลองปฏิบัติดู
   ในส่วนที่ควรทดลอง

·       ความรู้หลังจากผ่านการพิสูจน์ หรือทดลองปฏิบัติดูแล้ว ดับทุกข์ได้จริง
             สำหรับถือเป็นหลักปฏิบัติประจำตัว
             หรือสั่งสอนผู้อื่นสืบไป
             มีค่ายิ่ง

         ขอให้จัดความรู้ไว้เป็น ๓ ชั้นอย่างนี้
         จะปลอดภัย และ ได้ผลดี”


 
คงจะเห็นความสอดคล้องระหว่างธรรมะ กับหลักการจัดการความรู้นะครับ     นี่คือข้อพิสูจน์หนึ่งว่า KM คือหลักการตามธรรมชาติ    เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว
“ความรู้” ที่แท้จริงเป็นความรู้ที่มีเป้าหมายเพื่อการกระทำหรือการปฏิบัติ    ซึ่งสำหรับท่านพุทธทาสคือการดับทุกข์     สำหรับชาว KM คือการปฏิบัติภารกิจหรือปฏิบัติงานให้เกิดผลสำเร็จระดับที่เป็นเลิศหรือภาคภูมิใจ    ไม่ใช่ “ความรู้” ลอยๆ ไร้เป้าหมาย
สวัสดีปีใหม่ครับ
วิจารณ์ พานิช
๒ มค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 11163เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2006 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนท่านอาจารย์ ที่เคารพ

            ผมเคยทำปริญญานิพนธ์ เรื่อง " การเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสังคมในงานเขียน ของ  เฮนรี่  เดวิด  ธอโร และท่านพุทธทาสภิกขุ"

             เมื่ออ่านความรู้ ๓ ชั้น แล้ว เห็นว่า ปริญญานิพนธ์ที่ทำเป็นความรู้ที่อยู่ในชั้นที่สอง  ดังนั้นประโยชน์สูงสุดน่าจะได้ดำเนินการต่อยอดให้ถึงชั้นที่สาม  ผมจึงพยายามคิดหาหัวข้อและโจทย์การวิจัยเพื่อต่อยอด ในลักษณะความรู้สู่การกระทำ โดยคิดกรอบคร่าวๆได้ดังนี้ครับ

1) เราสามารถสร้างแบบความประพฤติ จากหลักอิทัปปัจจยตา ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้หรือไม่อย่างไร

2) เราสามารถสร้างแบบความประพฤติจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่ อย่างไร

3) เราสามารถบูรณาการแนวคิดทั้งสองได้หรือไม่อย่างไร

4) เราสามารถดำเนินการวิจัยด้วยการทดลองกับนักเรียนหรือเยาวชน จากความรู้หรือแนวคิดที่ได้อย่างไร

                      ทั้งหมดเป็นแนวคิด ที่ผมตั้งเป็นโจทย์เอาไว้ครับ  ตอนนี้พยายามคิดอยู่ตลอดเวลา ถึงจุดอ่อนจุดแข็งและความเป็นไปได้ครับ ถ้าผมคิดอะไรขึ้นได้อีก จะขออนุญาติเรียนให้ท่านทราบครับ

                                                 กราบขอบพระคุณครับ

                                                  นายชัชวาล  คงผึ้ง

                

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท