กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business หรือ Legal Aspect of International Business Transactions)


การจะทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business หรือ Legal Aspect of International Business Transactions) ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า ธุรกิจระหว่างประเทศหมายความว่าอย่างไร คำว่าธุรกิจระหว่างประเทศไม่มีคำจำกัดความทางกฎหมายกำหนดไว้โดยตรง ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายจึงต้องพิจารณาโดยแยกแยะจากคำว่า “ธุรกิจ” และคำว่า “ระหว่างประเทศ” คำว่า “ธุรกิจ” (Business) หมายถึงการผลิต การจำหน่าย และการให้บริการ หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงการอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม และการบริการ การอุตสาหกรรมก็ได้แก่การผลิตสินค้าและสิ่งของต่าง ๆ เช่นการผลิตรถยนต์ การผลิตเครื่องจักร ซึ่งเมื่อผลิตแล้วก็ต้องมีการขาย การจำหน่ายออกไปยังผู้ซื้อและผู้ใช้ อันก่อให้เกิดการค้าหรือการพาณิชยกรรม เมื่อผู้ซื้อหรือผู้ใช้ได้ซื้อหรือใช้ของดังกล่าวแล้วก็อาจจำเป็นจะต้องมีการให้บริการ การซ่อมแซม เป็นต้น อันเป็นที่มาของการบริการ นอกจากนี้แล้วการบริการยังรวมถึงการขนส่ง การบริการทางพาณิชย์ การประกันภัย และการบริการทางวิชาชีพ ส่วนคำว่า “ระหว่างประเทศ” เป็นคำที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงต้องมีประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศ ซึ่งต้องมีการข้ามประเทศ ประเทศในที่นี้หมายถึงรัฐที่ต้องมีความแน่นอนในอาณาเขต(Territory) ประชาชน (People) รัฐบาล(Government) และความเป็นอิสระ(Independence) ฉะนั้นธุรกิจระหว่างประเทศก็น่าจะหมายถึงกิจกรรมทางธุรกิจดังที่กว่าข้างต้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในทางการผลิต การจำหน่ายและการให้บริการที่มีการข้ามพรมแดนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
การประกอบธุรกิจระหว่างประเทศจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการประกอบธุรกิจภายในประเทศ เพราะมีความเกี่ยวพันกับบุคคลที่อยู่ห่างกันโดยระยะทาง ห่างกันโดยพรมแดนทางการเมือง มีภาษาวัฒนธรรมและกฎหมายที่แตกต่างกันและยังต้องเกี่ยวข้องกับประเทศ รัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง ระบบกฎหมายทั้งของประเทศคู่ธุรกิจและประเทศที่สาม หรือกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย เช่น การค้าระหว่างประเทศ มีประเทศที่เกี่ยวข้องคือประเทศของผู้และประเทศของผู้ขาย ผู้ซื้อกับผู้ขายมักจะอยู่คนละประเทศและจะต้องมีการส่งมอบสินค้าที่ต้องผ่านพรมแดนระหว่างประเทศ กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Law หรือ Legal Aspects of International Business Transactions) จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจข้ามพรมแดนระหว่าประเทศ อันได้แก่ การซื้อขาย การค้า การขนส่ง การลงทุน การเงิน การกู้ยืม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ
กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กว้างและครอบคลุมถึงกฎหมายในสาขาต่าง ๆ หลายสาขา โดยมีที่มาจากกฎหมายภายในของประเทศคู่ธุรกิจ กฎหมายระหว่างประเทศ ประเพณีปฏิบัติทางการค้า
กฎหมายภายในได้แก่ กฎหมายภายในของประเทศที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ในกรณีที่เป็นการค้าระหว่างประเทศ ก็ได้แก่ กฎหมายภายในของประเทศที่เป็นผู้ส่งออก และกฎหมายภายในของประเทศผู้นำเข้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องในแต่ลักษณะ
กฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศคู่ค้าหรือประเทศคู่การลงทุนได้ทำความตกลงกันไว้ ความตกลงนี้อาจจะเป็นไปได้ทั้งที่เป็นความตกลงที่เป็นแบบทวิภาคีคือระหว่างรัฐสองรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นความตกลงที่เป็นแบบพหุภาคีที่มีหลายรัฐร่วมเป็นภาคี ความตกลงแบบทวิภาคีที่สำคัญ เช่น ความตกลงสำหรับการร่วมมือทางการค้า (Trad Agreement) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน(Agreement for Avoidance of Double Taxation) ความตกลงเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุน (Investment Treaty) ความตกลงแบบพหุภาคี ได้แก่อนุสัญญาต่างๆ เช่น อนุสัญญาเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศ อนุสัญญาเกี่ยวกับการขนส่งทางบก ความตกลงที่เกี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ที่เรียกว่า General Agreement on Tariff and Trade หรือที่เรียกโดบย่อว่า GATT ซึ่งปัจจุบันได้ยกสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลก
ประเพณีปฏิบัติทางการค้า ได้แก่ การที่ได้มีการปฏิบัติจนได้รับการยอมรับกัน ซึ่งลักษณะนี้จะมีปรากฏในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการตีความศัพท์ทางการค้า ที่รู้จักกันในนามของ Incoterms 1990 ประเพณีปฏิบัติทางการค้านับว่าเป็นที่มาของกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายการค้าหรือพาณิชย์ระหว่างประเทศได้วิวัฒนาการมาจากประเพณีปฏิบัติทางการค้าทางเรือสมัยก่อน ดังเช่นหลักในเรื่องของสัญญา CIF สัญญา FOB ซึ่งได้วิวัฒนาการมาจากประเพณีปฏิบัติทางการค้า นอกจากนี้ประเพณีการเดินเรือก็ได้ก่อให้เกิดหลักในเรื่องของการขนส่งทางทะเล การประกันภัยทางทะเล เป็นต้น
โดยสรุปแล้วกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจระหว่างประเทศหรือธุรกิจข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ลักษณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้องและประกอบเป็นกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศนี้มีที่มาจากสามแหล่งหลักคือ จากประเทศผู้ส่งออกการลงทุน สินค้าหรือบริการ จากประเทศผู้รับการลงทุนสินค้าหรือบริการและจากความตกลงธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ

หมายเลขบันทึก: 111523เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2007 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น.ส.เพ็ชรรัตน์ เขียวสวาท

พี่หนูอยากรู้เกี่ยวการทำงานด้านนี้ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมหนูเรียนอยู่ที่ม.รามคำแหงสาขาธุรกิจระหว่างประเทศแต่หนูอยากรู้ถึงประสบการณ์จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท