สวัสดีปีใหม่ค่ะ


เก็บตกจากการประชุมเครือข่ายฯ
    วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่หลายๆคนมีความสุข  เพราะ  นอกจากจะได้หยุดงานอยู่บ้านติดต่อกันหลายวันแล้ว  ยังเป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งเป็นเหมือนกับวันเริ่มต้นใหม่ของชีวิต (ของใครหลายๆคน)   หลายคนตั้งใจว่าในปีนี้จะทำตัวใหม่  จะทำโน่น  ทำนี่เต็มไปหมด  ก็ขอให้ทุกคนสมหวังกับความตั้งใจที่คิดจะทำสิ่งดีๆให้กับตนเอง  ครอบครัว  ชุมชน  และประเทศชาตินะคะ
    แม้จะเป็นวันปีใหม่ที่คนส่วนใหญ่ได้หยุดงาน  ได้พักผ่อนกับครอบครัว  แม้แต่ผู้วิจัยเองก็ตั้งความหวังไว้อย่างนั้น  แต่ก็ทำไม่ได้ครบทั้งหมด  เพราะ  แม้จะได้มีโอกาสกลับบ้าน  มาพักผ่อนกับครอบครัว  แต่ก็หอบงานมาทำเต็มไปหมด  ก็คงจะเหมือนกับคนที่มีอาชีพเดียวกันอีกหลายคนที่เป็นอย่างนี้  แม้จะไม่มีชั่วโมงสอนหนังสือในช่วงนี้ก็ต้องเตรียมตัวสอนอยู่ตลอดเวลา  เช่นเดียวกับการทำงานกับชุมชนที่ไม่มีวันหยุด (คิด)  
    วันนี้ก็เช่นกันแม้จะเป็นวันหยุดแต่ผู้วิจัยก็เอางานมานั่งคิด  นั่งอ่าน  นั่งศึกษา  ตอนแรกตั้งใจว่าจะเล่าถึงความคิดในใจที่จะทำงานในช่วงเวลา 6 เดือนต่อไป  แต่พอมานั่งอ่าน Blog ที่ตัวเองเขียนมาอย่างสม่ำเสมอในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการประชุมเครือข่ายฯ  อ่านไปอ่านมานึกว่าจะหมดเรื่องเล่าเกี่ยวกับการประชุมอย่างที่ได้บอกไว้  ที่ไหนได้พอเอาบันทึกการประชุม  (ที่อาจารย์พิมพ์ช่วยจดให้)  มาอ่านเทียบดู  ปรากฎว่ายังขาดอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ  ซึ่งผู้วิจัยพิจารณาแล้วเห็นว่าเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่เรากำลังทำงาน KM อยู่ก็เลยคิดว่าน่าจะเอามาเล่าสู่กันฟัง
    ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในเรื่องที่จะต้องประชุมเลย  แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพูดคุยเรื่องตำบลละแสน  ซึ่งก็อย่างที่เคยบอกเอาไว้แล้วว่าในการที่ พอช.จะหนุนเสริมงบประมาณลงมานั้นมีเงื่อนไขในเรื่องจำนวนสมาชิกด้วย  ในการประชุมคณะกรรมการคนหนึ่งได้บอกว่าเคยอ่านเงื่อนไขของ พอช. ว่าถ้าจะให้การหนุนเสริมงบประมาณตำบลนั้นจะต้องมีสมาชิก 600 คนขึ้นไป  ซึ่งในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่าหากเป็นอย่างเงื่อนไขที่มีการพูดกันจริง  หลายตำบลของจังหวัดลำปางนั้นยังไม่ผ่านเกณฑ์นี้  ได้มีประธานของกลุ่มออมทรัพย์กลุ่มหนึ่งซึ่งมาเข้าร่วมประชุมด้วยได้บอกในที่ประชุมว่าตนเองได้บอกกับประธานเครือข่ายฯไปแล้วว่าจะไม่ขอรับการหนุนเสริมงบประมาณในส่วนนี้  เนื่องจาก  กลุ่มของตนเองมีสมาชิกน้อย  การขยายสมาชิกทำได้ยาก  เพราะ  อยู่ในเขตเมือง  นอกจากนี้แล้วประธานกลุ่มคนดังกล่าวยังได้แสดงทัศนะอีกว่า  ความจริงแล้วถ้ากลุ่มของตนจะขยายสมาชิกก็สามารถทำได้  มีคนแก่จำนวนมากเหมือนกันที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิก  (ถ้าคนแก่เข้ามามาก  อาจมีปัญหาตายมากตามไปด้วย)  นอกจากนี้แล้วหากพิจารณาเงื่อนไขในการจ่ายสวัสดิการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการในเรื่องการชราภาพคิดว่าเงื่อนไขของเครือข่ายฯยังไม่เอื้อ  (ไม่ดึงดูด) ให้คนเข้ามาเป็นสมาชิก  เพราะ  ตั้งเงื่อนไขไว้ว่าหากจะได้รับสวัสดิการในเรื่องการชราภาพ (แก่) ซึ่งก็คือ  การได้รับบำนาญรายเดือนต้องมีการออมครบ 15 ปี  และมีอายุ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป  เงื่อนไขนี้ทำให้เด็กๆหรือวัยรุ่นไม่เข้ามาออม  ส่วนคนแก่ที่ต้องการได้รับสวัสดิการในเรื่องนี้ก็ไม่สนใจที่จะเข้ามาออมด้วย  เพราะ  ไม่แน่ใจว่าตนเองจะออมได้ครบตามเงื่อนไขของเครือข่ายฯหรือไม่    ในประเด็นนี้มีคณะกรรมการเครือข่ายฯบางคนแสดงความเห็นด้วย  โดยยกตัวอย่างตนเองว่าตอนนี้ก็แก่แล้ว  คิดว่าคงจะอยู่ไม่ถึงตามเงื่อนไขที่จะได้รับสวัสดิการชราภาพ
     ดังนั้น  จึงมีผู้เสนอว่าเครือข่ายฯ  น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการให้สวัสดิการชราภาพ   โดยผู้เสนอได้อ่านและนำเอกสารที่ได้รับแจกในตอนที่ทีมประสานงานมาจัดประชุมที่ลำปางมาให้ผู้วิจัยและอ่านให้ที่ประชุมฟัง  (เอกสารดังกล่าวตรงกับเอกสารที่ผู้วิจัยมีอยู่ซึ่งเป็นกติกาของกลุ่มสวัสดิการวันละบาทของพ่อชบ  ยอดแก้ว)  มีรายละเอียด  ดังนี้  (เฉพาะส่วนของการชราภาพ)
            1.สัจจะครบ 15 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    300 บาท
            2.สัจจะครบ 20 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    400 บาท
            3.สัจจะครบ 25 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    500 บาท
            4.สัจจะครบ 30 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    600 บาท
            5.สัจจะครบ 35 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    700 บาท
            6.สัจจะครบ 40 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    800 บาท
            7.สัจจะครบ 45 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ    900 บาท
            8.สัจจะครบ 50 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ 1,000 บาท
            9.สัจจะครบ 55 ปี           อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ 1,100 บาท
            10.สัจจะครบ 60 ปี         อายุ 60 ปี          ได้บำนาญเดือนละ 1,200 บาท
     จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขนี้จูงใจให้คนเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกมากกว่าเงื่อนไขของเครือข่ายฯ ในปัจจุบัน   ในประเด็นนี้ผู้วิจัยได้แสดงทัศนะออกไปว่าในเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่  จำเป็นที่จะต้องฟังความคิดเห็นของหลายๆคน  ดังนั้น  ในการประชุมวันนี้คงไม่เหมาะสมที่เราจะมาตัดสินหรือเปลี่ยนแปลงกฎนี้  เพราะ  มีหลายกลุ่มที่ไม่ได้มาร่วมประชุม  ประกอบกับประธานเครือข่ายฯก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วย  ควรที่จะนำมาพิจารณาเมื่อมาประชุมกันครบทุกคน  (ความจริงแล้วมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้วิจัยไม่ได้พูดออกไปก็คือ  ในเรื่องของการเปลี่ยนกฎ  โดยเฉพาะที่จะไปกระทบในเรื่องการเงิน  หรือการจ่ายสวัสดิการนั้น  ไม่ใช่ว่าจะใช้หลักเสียงข้างมากอย่างเดียว  ควรที่จะต้องมีหลักวิชาการในเรื่องการคำนวณเข้ามาใช้ในการพิจารณาด้วย)  
     จากการเปิดประเด็นในเรื่องนี้ทำให้ผู้วิจัยได้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยไม่ต้องไปสัมภาษณ์หรือลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนเลย  ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ผู้วิจัยขอยอมรับเลยว่าไม่เคยคิดถึงเลยว่าจะเป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อการขยายสมาชิก  ถ้าอย่างนั้น  ในเรื่องการขยายผลคงไม่ใช่แค่การอบรมวิทยาการเพื่อให้วิทยาการไปขยายสมาชิกหรือขยายกลุ่มอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรกเสียแล้วล่ะค่ะ  เครือข่ายฯคงต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆที่ (อาจ) มีผลประกอบด้วยค่ะ 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11136เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2006 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเห็นว่าขณะที่ลำปางพยายามก้าวไปตามแผนที่ภาคสวรรค์   ที่เขียนไว้(ซึ่งภาคีพัฒนาทั่วประเทศให้ความสนใจ)ก็น่าจะถือโอกาสปรับปรุงแผนที่โดยการประเมินสถานภาพเครือข่ายของตนเองไปด้วย อาจใช้3หัวข้อของอ.อ้อมก็ได้คือ ทักษะ ความรู้และเจตคติ โดยประเมินทั้งขบวนเลย

ใช้การประเมินเป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้โดยให้แต่ละคนประเมินตนเองตามบทบาทที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องอยู่
ทั้ง3ระดับคือ
เครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก
ใน2บทบาทคือ
บทบาทคุณกิจและคุณอำนวย

บทบาทคุณกิจระดับเครือข่ายคือ ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่างๆตามโครงสร้างของเครือข่าย
บทบาทคุณอำนวยระดับเครือข่ายคือ ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของคุณกิจเครือข่าย
ระดับกลุ่มก็เช่นเดียวกัน
อ.อ้อมช่วยออกแบบหัวข้อทักษะความรู้และเจตคติที่ยกตัวอย่างมาหรือหาเพิ่มจากแกนนำในกระบวนการประเมินนี้ก็ได้

เรามีสมมุติฐานว่า หากคนทำงานของเครือข่ายในแต่ละระดับมีความสามารถสูงขึ้นก็จะทำให้เครือข่ายบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือทำให้ภาคสวรรค์เป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น

                                 ระดับ
ความสามารถ       1    2    3    4    5     

ทักษะ           
ความรู้
เจตคติ
ทั้ง3หัวข้อประเมินจะแตกต่างกันในแต่ละระดับ ทีมวิจัยต้องช่วยกันคิด/พัฒนาให้สอดคล้องกับพื้นที่ของตนเอง

ใช้การประเมินตนเองกับการประเมินจากภายนอกก็จะช่วยให้เครือข่ายทราบสถานะภาพที่เป็นจริงเพื่อวางแนวทางการพัฒนาให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง (ประเมินภายนอกก็คือให้คนนอกเข้ามาประเมินองค์กรของเรา-ถ้าไว้ใจก็เหมือนกับให้อ.อ้อมศึกษาในฐานะคนนอกอย่างที่เคยๆทำมา)

โครงการจัดการความรู้ต้องช่วยตรงจุดนี้ เพราะภาคีอื่นๆหวังเข้ามาต่อยอดภาคสวรรค์โดยใช้เงื่อนไขบังคับเช่นสมทบ1แสนตามเงื่อนไขของกองทุนสวัสดิการชุมชนหรือแบบพี่ช่วยน้องของ  มสช.ซึ่งเป็นเรื่องดี
โครงการวิจัยจัดการความรู้เป็นการเพิ่มทุนโดยเติมกระบวนการเรียนรู้จากภายในและเชื่อมโยงการเรียนรู้เครือข่าย5พื้นที่เพื่อให้ภาคีเข้ามาต่อยอดทั้งขยายเครือข่ายภายในให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นและขยายไปที่อื่นๆรวมทั้งแนวคิดเชิงนโยบายด้วย โดยมีฐาน  ตั้งมั่นที่มีตัวตนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง (ซึ่งตอนนี้เข้าใจว่าฐานยังยอบแยบอยู่)

ซึ่งป็นผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท