ศิลปศาสตร์ 18 ประการ


“Not medicine, but Administration make change”

            ตอนที่เรียนปริญญาโทการจัดการภาครัฐ มีอาจารย์ท่านหนึ่ง(ซึ่งผมประทับใจการสอนของท่านมาก) บอกว่าในระดับปริญญาตรีนั้น ส่วนในระดับปริญญาโทเราควรเรียนเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้เรามองกว้างขึ้น ไม่ใช่มองอยู่แต่ในมุมหรือวิชาชีพของตนเอง ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย ทำให้ผมไม่ไปเรียนวิชาแพทย์เฉพาะทางเพราะรู้สึกว่ายิ่งเรียนยิ่งแคบ แต่ไปสนใจทางเวชศาสตร์ป้องกันหรืองานด้านการส่งเสริมป้องกันโรคแทน อาจารย์หมอเทพ หิมะทองคำ เคยพูดว่า “Not medicine, but Administration make change”

                การเรียนรู้วิชาทางการบริหารนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  ต้องเรียนกว้างแล้วนำเอามาเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ให้ได้ แต่หลักสูตรส่วนใหญ่มักเน้นศาสตร์มากกว่าเพราะสอนง่ายกว่าศิลป์ ศาสตร์พูดให้ฟัง บอกให้รู้ได้แต่ศิลปะเกิดจากการปฏิบัติและทดลองทำจึงจะเกิดการรู้ขึ้นเป็นเหมือน KM
                ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารหรือกษัตริย์ในสมัยก่อนจึงต้องมีความรอบรู้หลายด้าน มองกว้าง มองไกล สมัยก่อนจึงต้องไปเรียนวิชาต่างๆถึง 18 สาขา พอดีได้อ่านในหนังสือพิมพ์พบว่าสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ในสยามประเทศไทย มติชนรายวัน จึงขอนำมาเสนอในที่นี้ด้วย
                “ ศิลปะ สิปปะ และ Art มีความหมายอย่างเดียวกันมาแต่ยุคแรกๆ คือ วิชาความรู้ หรือศาสตร์หลายๆ อย่างๆ เป็นองค์รวมอย่างที่เรียกกันทุกวันนี้ว่าสหวิทยาการ แต่สมัยโบราณมีคำเรียกต่างหากว่าศิลปศาสตร์ มี 18 อย่าง อาจารย์มหาหรีด เรืองฤทธิ์ "ศิษย์ก้นกุฏิ" ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อธิบายเรื่องศิลปศาสตร์ 18 ประการไว้ในหนังสือวรรณคดีไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512
                ศิลปศาสตร์ 18 ประการ กล่าวว่า พราหมณ์หรือกษัตริย์ชั้นสูง ทรงศึกษาจบทั้ง 18 ประการ คือ
1.        ยุทธศาสตร์ วิชานักรบ
2.        รัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง
3.        นิติศาสตร์ วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4.        วาณิชยศาสตร์ วิชาการค้า
5.        อักษรศาสตร์ วิชาหนังสือ
6.        นิรุกติศาสตร์ วิชารู้ภาษาของตนแตกฉานดี และรู้ภาษาของชนชาติที่ติดต่อกัน
7.        คณิตศาสตร์ วิชาคำนวณ
8.        โชติยศาสตร์ วิชาดูดวงดาวต่างๆ คือรู้จักว่าดวงดาวนั้นๆ ตั้งอยู่ทางทิศนั้นๆ และประจำเมืองนั้นๆ และรู้จักสีแสงของดวงดาวต่างๆ อันบอกลางดีและลางร้ายในกาลบางครั้ง
9.        ภูมิศาสตร์ วิชารู้พื้นที่ต่างๆ หรือรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.     โหราศาสตร์ วิชาโหร คือรู้พยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ และรู้ทายดวงชาตาราศีของคนได้ด้วย
11.     เวชศาสตร์ วิชาหมอยา
12.     สัตวศาสตร์ วิชารู้ลักษณะของสัตว์และเสียงสัตว์ว่าร้ายหรือดี
13.     เหตุศาสตร์ วิชารู้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งผลว่าร้ายหรือดี
14.     โยคศาสตร์ ยันตรศึกษา คือรู้จักความเป็นช่างกล
15.     ศาสนศาสตร์ วิชารู้เรื่องศาสนา คือรู้จักประวัติความเป็นมาแห่งศาสนาทุกๆ ศาสนาที่มหาชนนิยม เพื่อปฏิบัติไม่ขัดแก่สังคมใดๆ และรู้ข้อสอนในศาสนานั้นๆ ด้วย
16.     มายาศาสตร์ วิชารู้กลอุบาย หรือรู้ตำรับพิชัยสงคราม
17.     คันธรรพศาสตร์ วิชาคนธรรพ์คือวิชาร้องรำ(ละคอน) ที่เรียกชื่อว่า "นาฏยศาสตร์" และวิชาดนตรีปี่พาทย์ ที่เรียกชื่อว่า "ดุริยางคศาสตร์"
18.     ฉันทศาสตร์ วิชาประพันธ์ คือแต่งหนังสือได้ ทั้งที่เป็นร้อยกรอง(บทกลอน) และร้อยแก้ว(ความเรียง)
               หมายเหตุ  ตำรับต่างๆ ที่ว่าด้วยศิลปศาสตร์ 18 ประการ ดูไม่ค่อยจะตรงกัน คือแห่งหนึ่งมีความต่างจากแห่งหนึ่ง และแห่งหนึ่งมีชื่อเรียกต่างจากแห่งหนึ่ง เป็นดังนี้แทบทุกฉบับ ดังนั้น จึงต้องเรียงเอาตามความเห็นบ้าง ”
                จะเห็นว่าในสมัยก่อนจะเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่หลากหลาย กว้าง(Generalist) แต่หลังจากมีการพัฒนาขึ้น คนเรากลับเรียนแคบลงๆเป็นเฉพาะด้านมากขึ้นเรื่อยๆ(Specialist) มีผลให้เวลาทำงานจะแก้ปัญหาเล็กๆได้ดีแต่แก้ปัญหาใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับหลายส่วนหรือซับซ้อนมากไม่ค่อยได้เพราะขาดความสามารถในการเชื่อมโยงหรือบูรณาการเข้ามากัน จึงต้องอาศัยผู้บริหารที่มีความสามารถมาจัดการให้เกิดขึ้น
                แนวโน้มสมัยใหม่หลายองค์การกลับเปลี่ยนทิศทางจากการจ้างคนรู้เฉพาะเรื่อง เป็นส่วนๆมาเป็นการรู้กว้างๆและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้มากขึ้น


หมายเลขบันทึก: 11126เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2006 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท