ความรู้ตัวเขียน


แม้แต่ "ความรู้ตัวเขียน" คนก็ตีความต่างๆ กัน
ความรู้ตัวเขียน
ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาครูและบุคลากร
ทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๙ ธค. ๔๘    ประธานในที่ประชุม คือ รมต. ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
จาตุรนต์ ฉายแสง ได้บ่นว่าหลักสูตร หลักเกณฑ์ และแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่กระทรวงฯ จัดขึ้น   
 เมื่อลงไปถึงครูผู้ปฏิบัติ มีการตีความเอาไปปฏิบัติแตกต่างกันไป คนละทางสองทาง     ศ. สุมน 
อมรวิวัฒน์ ได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า หากใช้การสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ก็จะเกิดผลเช่นนั้น 
   
ผมจึงเกิดความคิดว่า ความรู้ตัวเขียน เป็นความรู้แจ้งชัด หรือ explicit knowledge
 เดิมผมเข้าใจว่าเป็นความรู้ที่แม่นยำ ไม่ว่าใครอ่านก็จะตีความเหมือนกันหมด     แต่ไม่จริง
เสียแล้ว    ในชีวิตจริงคนตีความความรู้ที่เป็นตัวหนังสือไม่เหมือนกัน    เพราะแต่ละคนจะเอา
ความเชื่อ ค่านิยม ความคิด และบริบท ของตนเข้าไปตีความ     ทำให้ได้ “ความรู้ปฏิบัติ”  
ออกมาต่างกัน    

ผมจึงเสนอต่อที่ประชุมว่าในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ ต้องไม่เอาเฉพาะเอกสารหรือ
ข้อเขียนหลักสูตรเป็นตัวตั้ง     แต่จะต้องเอาผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายเป็นตัวตั้ง 
แล้วให้ผู้ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับน่าชื่นชมเหล่านั้นเป็นผู้บอกว่าเขาตีความเอกสารเหล่านั้น 
อย่างไร     และเวลาเอาไปใช้ปฏิบัติ เขาปรับให้เหมาะสมต่อบริบทอย่างไร    เขาต้องปรับกี่รอบ  
  มีกิจกรรมย่อยๆ ตามเอกสารความรู้ตัวเขียนอย่างไรบ้าง    เขาเคยตีความผิดหรือตีความแล้ว
ปฏิบัติ แล้วไม่เกิดผลดี ต้องปรับเปลี่ยนการตีความใหม่ อย่างไรบ้าง     ความรู้ที่รวบรวมจาก
ผู้ปฏิบัติได้ผลดีเหล่านี้แหละที่เรียกว่า “ขุมความรู้”  ที่เมื่อเอามาสังเคราะห์เข้าด้วยกันก็จะได้
 “แก่นความรู้” (Core Competence) ในการจัดการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ในชีวิตจริง ต้องรู้จักใช้ทั้ง “ความรู้ตัวเขียน” และ “ความรู้ปฏิบัติ” ให้เสริมพลัง
(synergy) กัน

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ธค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 11099เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2006 06:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท