หมอมือเปล่า


หมอก็เป็นปุถุชนธรรมดา การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ไม่ควรทำให้ตนเองหรือครอบครัวเดือดร้อน การทำงานของหมอต้องเป็นไปตามความเหมาะสมทางการแพทย์และผู้ป่วย ไม่ควรทำอะไรตามกระแสสังคม

   เหตุการณ์เมื่อ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ผมกัลป์ทีมที่กลับจากการประชุมได้พบกับผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับการบาดเจ็บและได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยโดยที่เราไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือเพราะรถที่นั่งไปเป็นรถตู้นั่งธรรมดาไม่ใช่รถพยาบาล แต่ในฐานะที่เราเป็นหมอเป็นพยาบาลเราก็ควรที่จะต้องเข้าไปดูแล ทำให้ต้องใช้วิจารณญาณค่อนข้างมาก

   สภาพผู้บาดเจ็บทั้งสองคน มีเลือดออกมาเพราะบาดเจ็บที่มือและมีกระดูกขาหักแบบเปิดทั้งสองคน ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอำเภอบ้านตากใกล้ๆกับเขตอำเภอเมืองตาก ขณะที่เราจอดรถลงไปดูเราไม่มีถุงมือ ต้องใช้ถุงพลาสติก ครอบมือเข้าไปช่วยประเมินผู้ป่วย ตรวจสภาพร่างกาย ช่วยจัดท่าของขาที่หักและช่วยห้ามเลือด ไม่มีหูฟังที่จะตรวจหัวใจ ปอด ต้องใช้มือคลำชีพจรดูว่าคนไข้จะมีภาวะช็อคหรือไม่ ตรวจวัดความดันไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องตรวจ พูดคุยกับคนไข้เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วย ตำรวจยังไม่มา โรงพยาบาลไม่ทราบเพราะไม่มีใครแจ้งไป แม้จะใส่ถุงพลาสติกครอบแต่ก็ไม่สามารถห่อหุ้มมือได้ดีพอที่จะป้องกันการสัมผัสเลือดผู้ป่วยได้ หากผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ ผมกับผู้ช่วยคนอื่นๆก็มีความเสี่ยงมากต่อการติดเชื้อไปด้วย แต่ก็อุ่นใจบ้างเพราะยายก็อายุน่าจะเกือบ 70 ปีแล้ว ซึ่งปกติเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ผมจะเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่เสมอว่าต้องป้องกันตนเองไว้ก่อนในลักษณะของUniversal precaution

พอประสบเหตุการณ์นี้ ก็ได้ให้คนขับรถเรียกหน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ้านตากพร้อมวิทยุแจ้งตำรวจทันที ผมกับทีมลงไปช่วยคนเจ็บ พอดีมีชุดผู้ป่วย ผ้าปูต่างๆที่ได้คืนมาจากโรงพยาบาลจังหวัดมาด้วยก็ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับห้ามเลือด พันแผลชั่วคราว ปูนอน บังแดด ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆพยายามไปหาไม้มาเพื่อดามขา แต่ดูแล้วเป็นไม้รั้วเก่าๆ ตะปูเป็นสนิมและเปื้อนดินมาก ก็เลยไม่ได้ใช้เพราะกลัวจะมีการติดเชื้อมากขึ้น จึงได้ให้คนไข้นอนกับพื้นแล้วช่วยจัดท่าทางไว้ของขาไว้ ตรวจดูการทำงานของเส้นประสาทและเอ็นกล้ามเนื้อ คลำชีพจรหลังเท้าได้ปกติก็อุ่นใจว่าไม่มีการตัดขาดเส้นเลือดแดงหรือเส้นประสาท แต่ก็ไม่กล้าเคลื่อนย้ายด้วยรถตู้นั่งเพราะจะไม่สามารถจัดท่าของผู้ป่วยได้ และประเมินสถานการณ์แล้วหากรอสัก 15 นาทีก็ไม่น่าจะมีภาวะช็อคและเมื่อรถพยาบาลมาถึงจะได้ให้น้ำเกลือแล้วพิจารณาส่งไปที่โรงพยาบาลจังหวัดได้เลยโดยไม่ต้องย้อนไปที่โรงพยาบาลบ้านตากก่อนแล้วย้อนกลับไปโรงพยาบาลบ้านตากอีก แต่พอนั่งรอได้สัก 10 นาทีก็เริ่มกังวลเหมือนกันว่ารถพยาบาลจะมาทันไหม แต่พอประมาณ 15 นาทีรถพยาบาลก็มาพร้อมๆกับรถตำรวจและรถของหน่วยกู้ภัยที่ตาก

พอมีเครื่องมือมาเราก็ได้ตรวจคนไข้เพิ่มเติม ได้ทำการดามขาผู้ป่วย ให้น้ำเกลือ หากช้าอีกสัก 10 นาที ผู้ป่วยอาจช็อคได้เพราะวัดความดันได้ 90/60 และชีพจรเร็วขึ้นเป็น 120 ครั้งต่อนาที คนไข้ทั้งสองคนถูกนำส่งโรงพยาบาลจังหวัดโดยรถของโรงพยาบาล 1 คนและรถของหน่วยกู้ภัย 1 คน โดยในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินแต่ละครั้ง ผมจะย้ำกับคนขับรถอยู่เสมอว่า ให้นึกถึงความปลอดภัยของตนเอง พยาบาลด้วย ไม่ใช่เร่งรีบที่จะนำส่งคนไข้อย่างรวดเร็วจนเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดอุบัติเหตุซ้ำมาอีก เพราะมักพบบ่อยๆว่ารถส่งผู้ป่วยหรือรถกู้ภัยเองประสบอุบัติเหตุจากความเร่งรีบมากเกินไปจนเกิดอันตรายขึ้น ทุกชีวิตมีค่าเหมือนกันจึงไม่ควรประมาท

 

การเป็นแพทย์นั้น หากมีแค่สองมือเท่านั้นก็คงยากที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์มาประกอบด้วย หากเจอสถานการณ์แบบนี้ ผมคิดว่าผู้ช่วยเหลือเองก็ต้องดูความปลอดภัยของตนเองด้วย การลงไปช่วยเหลือผู้ป่วยก็ต้องมีคนที่ไปช่วยกันรถคันอื่นๆหรือดูแลเรื่องการจราจรไว้ด้วย เพื่อไม่ให้รถคันอื่นๆมาชนผู้ป่วยหรือผู้ช่วยเหลือซ้ำอีก ผู้ช่วยเหลือควรเตรียมความพร้อมตนเองในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย หากพบเหตุการณ์ที่ประเมินแล้วไม่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง ควรร้องขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาล ตำรวจหรือหน่วยกู้ภัยโดยการทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีนั้นไม่ใช่จะต้องลงไปช่วยสัมผัสผู้ป่วยเสมอไป การเป็นธุระในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่ช่วยเหลือก็เป็นการแสดงความช่วยเหลือ ความมีน้ำใจทางหนึ่งได้โดยที่ตนเองยังมีความปลอดภัยอยู่ และในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั้น การเอาเร็วเข้าว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนักเพราะอาจเพิ่มอันตรายหรือความพิการให้กับผู้ป่วยได้ ก่อนเคลื่อนย้ายจึงต้องมีการประเมินสภาพผู้ป่วยก่อน โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ทั้งที่คอหรือเอว หากมีกระดูกสันหลังหักแล้วเคลื่อนย้ายไม่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดการกดทับไขสันหลังและทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ และสำหรับแพทย์การมีถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งไว้ในรถส่วนตัวหรือรถของโรงพยาบาลทุกคัน จะทำให้เกิดความสบายใจเมื่อพบกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและลงไปช่วยผู้ป่วยได้ภายใต้ Universal precaution ได้ แต่หากต้องช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการปั๊มหัวใจคงไม่ยากแต่หากต้องช่วยหายใจด้วยอาจต้องคิดหนักหากไม่มีถุงบีบช่วยหายใจ (Ambu bag)

หมายเลขบันทึก: 11082เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2005 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท