ทำงานส่งท้ายปีเก่า


หากเงินยังไม่พอในขณะที่ความต้องการบริการและการเรียกร้องของประชาชนมากขึ้นอย่างนี้ อนาคตระบบบริการสาธารณสุขของไทยคงถึงทางตันและเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่

           เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เป็นวันทำงานสุดท้ายของปี 2548 ส่วนใหญ่เขาก็จะไม่ทำอะไรกันมาก ออกจะไปทางฉลองๆกันมากกว่า แต่ที่ สสจ.ตาก ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ท่านก็ได้จัดให้มีการทำงานไปตามปกติโดยมีการจัดการประชุมประจำเดือนที่เรียกว่าการประชุมคณะกรรมการวางแผนและประเมินผลสาธารณสุข (กวป) ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ที่ห้องประชุม สสจ.ตาก ก็มีวาระพูดคุยกันตามปกติแต่กว่าจะเลิกก็เที่ยงครึ่ง ก็รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันแบบง่ายๆ

           ภาคบ่ายจะมีการประชุมเรื่องสำคัญคือการโยกย้ายแพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ ที่จะต้องลงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของกระทรวง ก็พูดคุยกันเกือบชั่วโมงครึ่ง การพิจารณาค่อนข้างลำบากเพราะไม่รู้ว่าข้อมูลปลายทางที่ขอย้ายไปเป็นอย่างไร กติกาของกระทรวงจะให้ใครย้ายได้บ้าง คนที่สมัครเรียนจะได้ไปเรียนแน่ไหม(กลุ่มทันตแพทย์) ถ้าให้ย้ายแล้วจะมีคนมาแทนหรือไม่ ถ้าไม่มีมาแทนก็จะไม่มีคนให้บริการ หรือถ้าไม่ให้ย้าย เขาก็จะเสียโอกาส ปัญหาของที่ตากจะมีปัญหาเรื่องแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชแย่งกันไปอยู่ที่โรงพยาบาลแม่ระมาดและพบพระ(อยู่ห่างอำเภอแม่สอดซึ่งเป็นอำเภอที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตากประมาณ 30-40 กิโลเมตร) เพราะจัดเป็นเขตพิเศษที่ได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพิ่มเดือนละ 20,000 บาท ขณะที่บ้านตาก สามเงา ได้เดือนละ 2,000 บาท เพราะอยู่ในเขตปกติ อยู่ใกล้ตัวจังหวัดตาก ทั้งๆที่ตัวจังหวัดตากจะเล็กกว่าตัวอำเภอแม่สอดอีก ส่วนสองโรงพยาบาลดังกล่าวอยู่ใกล้อำเภอแม่สอด ที่มีเศรษฐกิจดีกว่าตาก โรงพยาบาลใหญ่กว่าพร้อมกว่า เมืองใหญ่กว่า มีสนามบิน มีรถปรับอากาศวีไอพี และทั้งบ้านตากและสามเงาก็เป็นพื้นที่ชนบทที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเทือกเขากลุ่มเดียวกับอำเภออื่นๆอีก 4 อำเภอ เพียงแต่อยู่ใกล้ทางหลวงเอเชียกว่าเท่านั้น และหากย้อนดูหลายๆปีจะพบว่าแพทย์โยกย้ายบ่อยมาก อย่างปีนี้ลองสุ่มๆถามน้องๆไม่มีใครไปอยู่สามเงาเลย  ส่วนอีกสองอำเภอคืออุ้มผางและท่าสองยางนั้นได้เดือนละ 20,000 บาทเหมือนพบพระแม่ระมาดแต่อยู่ห่างจากแม่สอดไกลกว่ามากเกือบ 150-200 กิโล จึงมีความเหมาะสมอย่างมากที่จะได้เงินเพิ่มเพราะกันดารและห่างไกลอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาแบบAll or None ในการแบ่งพื้นที่ทุรกันดาร สามารถแก้ปัญหาได้บางส่วนและสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก น่าจะมีช่วงห่างของค่าตอบแทนที่มีจำนวนระดับมากกว่าแค่ 1,2,3เป็น 2000,10000,20000 บาท ทำให้เวลาแบ่งระดับมันหยาบเกินไปจนบางที่ได้ประโยชน์ต่างจากอีกบางที่มากเกินไปทั้งที่สภาพไม่แตกต่างกันมากนัก

           ต่อจากนั้นก็มีการประชุมพิจารณาเงินกองทุนกันเจ๊งของจังหวัด ในส่วนที่กันไว้จากงบ UC ก็มีการพูดคุยกันมาก เพราะแต่ละโรงพยาบาลก็เป็นหนี้สินติดลบกันทั้งนั้น รวมทั้งสถานีอนามัยเองก็อยู่ได้แบบทรงสภาพจะมาพัฒนาอะไรมากขึ้นอีกไม่ได้เพราะเงินที่ได้จากโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคมีน้อยมาก จนไม่เพียงพอต่อการพัฒนาบริการให้มากกว่าเดิมได้ ในพื้นที่ของจังหวัดตากจะมีภาระการดูแลคนที่ไม่มีสิทธิที่จะลงทะเบียนบัตรทองโดยเฉพาะในเขตอำเภออุ้มผาง แต่ก็ต้องให้บริการเพราะการบริการทางการแพทย์เป็นเรื่องของมนุษยธรรมด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ เงินทอง กำไร ขาดทุนเท่านั้น ทำให้จำนวนเงินค่าหัวประชากรที่ได้มาหลังจากหักโน่นหักนี่แล้วเหลือมาให้บริการประชาชนน้อย เกือบเท่าๆกับงบ สปร.เดิม (แต่ตอน สปร.นั้น ยังสามารถนำเอารายได้ของโรงพยาบาลจากผู้ที่เสียเงินหรือเบิกได้มาช่วยสนับสนุนลดภาระของโรงพยาบาลลงได้) แต่พอเป็นบัตรทองทั่วหน้า รายได้จากแหล่งอื่นๆของโรงพยาบาลลดลงไปมากเพราะเป็นบัตรฟรีเกือบ 90 % ปัญหาจึงค่อยๆเกิดขึ้นและ หากเงินยังไม่พอในขณะที่ความต้องการบริการและการเรียกร้องของประชาชนมากขึ้นอย่างนี้ อนาคตระบบบริการสาธารณสุขของไทยคงถึงทางตันและเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ สุดท้ายประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนนั่นแหละจะกลายเป็นผู้รับกรรมเพราะขาดทางเลือก ไม่สามารถใช้เงินส่วนตัวไปเอกชน ไปบริการอื่นๆได้ ตอนนี้โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 6 แห่งของจังหวัดตาก จึงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ มีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ

           โรงพยาบาลชุมชนสามแห่งของจังหวัดตาก ที่มีผู้อำนวยการอยู่ต่อเนื่องมานาน (หาก 3 คน นี่ไม่อยู่นานก็คงจะเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปเป็น 10 คนแล้ว) คือบ้านตาก อุ้มผางและแม่ระมาด เจอปัญหาเงินแทบไม่มีใช้ โดยเฉพาะของแม่ระมาด ที่มีบริการชาวไทยภูเขาเยอะ และอุ้มผาง ที่มีคนไทยภูเขาที่อยู่มานานในเขตของไทยแต่ไม่มีบัตรประชาชนจึงขึ้นทะเบียนไม่ได้เกือบมากกว่าประชากรที่ขึ้นทะเบียนของอุ้มผางทั้งอำเภอ เราก็คุยกันว่า เกิดจากเราบริหารงานห่วยหรือโรงพยาบาลจึงเป็นหนี้สิน   ทำไมเราต้องมาทุกข์กับเรื่องเงินด้วย  เราน่าจะทุกข์แค่เรื่องของผู้ป่วย เรื่องบริการที่ดีแก่ผู้ป่วย มากกว่าการมาคอยทุกข์ด้วยเรื่องโรงพยาบาลจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง ก็โทรคุยปลอบใจกันอยู่บ่อยๆ ให้กำลังใจกัน ระบายให้กันฟังเพื่อลดความตึงเครียดของกันและกัน  หมอที่ทุ่มเทอย่างมากทั้งชีวิตจิตใจให้กับโรงพยาบาลมากว่า 15-20 ปีอย่างคุณหมอที่อุ้มผางในพื้นที่ที่อยู่ชายแดนห่างไกลเมืองกว่า250 กิโลเมตร ต้องเครียดขนาดกินยานอนหลับวันละ 2 เม็ด ทั้งที่วิ่งออกกำลังกายวันละหลายกิโลแล้วเนื่องจากการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลขาดงบประมาณ น่าจะเป็นธรรมกับเขาไหม

           ถือว่าเป็นสิ่งที่โชคดีของจังหวัดตากที่ผู้บริหารระดับจังหวัดทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ต่างพยายามช่วยกันจัดสรรเงิน 30 บาท อย่างช่วยเหลือเจือจุนกันมาตลอดให้พออยู่ได้โดยไม่ขาดสภาพคล่องแต่ยังคงมีสภาพหนี้ อยู่เป็นเตี้ยอุ้มค่อม ทำให้ดูเหมือนก็อยู่ได้นี่ พอจัดสรรเงินกองทุนช่วยเหลือสภาพคล่อง (กันเจ๊ง) ของกระทรวงก็เลยไม่ค่อยได้เพราะไม่พยายามปล่อยให้โรงพยาบาลใดๆเกิดปัญหาเป็นข่าว ส่งผลให้ข้อมูลที่ส่งไปเบี่ยงเบนไปเหมือนอยู่ได้ ทั้งๆที่ช่วยกันแทบแย่แล้ว

          ในการประชุมในวันนี้ ก็ได้มีการจัดสรรเงินงวดแรกของปี 2549 ให้พร้อมทั้งกองทุนกันเจ๊งกลางของจังหวัดให้โรงพยาบาลที่จะไปไม่รอดก่อนคือบ้านตาก สามเงา อุ้มผางและแม่ระมาด ส่วนอีกสองโรงคือพบพระกับท่าสองยาง ยังพอถูไถไปได้ก็รอไว้รอบหน้า แต่กว่าจะประชุมตกลงกันได้ก็เกือบ 5 โมงเย็น ก็ถือเป็นการทำงานส่งท้ายปีอย่างเต็มเวลาราชการจริงๆ

          โรงพยาบาลบ้านตาก โรงพยาบาลที่ผ่านHA, HPH แต่ก็เกือบเอาตัวไม่รอดเหมือนกันเพราะไม่ได้การสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษเลย ตอนที่ยังไม่ได้มีการประชุมนี้ ก็ตั้งใจว่าจะเรียกประชุมกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องเงินจะไม่มีใช้หลังปีใหม่ ปล่อยให้พักผ่อนปีใหม่อย่างมีความสุข ก่อนค่อยมาคิดแก้ปัญหากัน แต่พอได้เงินมาสเริมสภาพคล่องไปได้อย่างนี้ ก็คงไม่ต้องแล้วแต่อาจจะต้องคุยกันว่า จะกำหนดทิศทางอย่างไรดีเพื่อรองรับกับปัญหาเงินไม่พอใช้เพราะแม้รัฐบาลจะเพิ่มเงินค่าหัวประชากรบัตรทองขึ้นแต่เงินที่มาถึงโรงพยาบาลกลับลดลงกว่าปีที่แล้วอีก บางทีเราอาจต้องยุบโรงพยาบาลให้เล็กลง หากเตียงไม่พอก็คงต้องส่งไปโรงพยาบาลอื่นหรือบางทีเราอาจจะต้องปรับยุทธศาสตร์กันใหม่เพื่อยืนหยัดต่อสู้ให้อยู่รอดต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 11081เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2005 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท