เยี่ยมคลินิกเบาหวาน PCU นาราก อำเภอครบุรี


บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใว้ ทั้งการนำทีมงานของ รพ.เทพธารินทร์ไปเยี่ยมเพื่อน ได้ข้อมูลสำหรับการจัดหลักสูตรอบรม

วันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๘ ดิฉันและคุณสุภาพรรณ ตันติสภาวศิน ร่วมกับทีมงานของ รพ.เทพธารินทร์คือคุณจุรีย์พร จันทรภักดี นักกำหนดอาหาร และคุณยุวดี มหาชัยราชัน พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งทำหน้าที่เป็น Diabetes Educator ด้วย ออกเดินทางโดยรถตู้จาก รพ.เทพธารินทร์เกือบๆ ๗ โมงเช้า ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงครึ่งก็ถึง PCU นาราก อ. ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

ช่วงที่เราไปถึงคุณหมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล และทีมงานกำลังให้บริการผู้ป่วยเบาหวานในคลินิกเบาหวานรอบเช้า พอไปถึงคุณปราณี ประไพวัชรพันธ์ หัวหน้า สอ. รีบจัดที่จัดทางให้เราได้คุยกับผู้ป่วย พร้อมขอให้ดิฉันมอบรางวัลแก่ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่คุมน้ำตาลได้ดีตลอดทั้งปี เสียดายที่ถ่ายภาพมาไม่ชัดจึงไม่ได้นำลงบล็อก เราสมัครใจนั่งกับพื้นเช่นเดียวกับผู้ป่วย เมื่อรู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ผู้ป่วยก็พากันล้อมวงเข้ามาพูดคุย เล่าเรื่องของตนเอง เล่าเรื่องของเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน บอกว่าคนที่นี่รู้จักกันหมด มีทั้งคนไทยและคนลาว ผู้ป่วยทุกคนมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูมีความสุข แม้บางคนจะยังคุมน้ำตาลไม่ได้ดี 

ตอนนี้คุณหมอฝนปรับให้ผู้ป่วยมาเจาะเลือดตรวจน้ำตาลหลังอาหาร ๒ ชั่วโมง ทาง PCU จึงให้ผู้ป่วยรอบเช้ากินอาหารเช้า ๗ โมง รอบบ่ายกินอาหารกลางวัน ๑๑ โมง แล้วมาเจาะเลือด ผู้ป่วยบางรายยังไม่คุ้นเคย เพราะไม่ใช่เวลาอาหารปกติของเขา ผู้ป่วยที่มาตรวจรอบเช้าบางคนเคยกินอาหารตอน ๙ โมง เมื่อให้กินเช้าก็กินไม่ลง มาตรวจหลังอาหาร ๒ ชั่วโมง น้ำตาลในเลือดเพียง ๖๗ มก/ดล.ก็มี รอบบ่ายบางรายจึงกินอาหารเช้าควบกลางวันมาตอน ๑๐ โมงกว่า แต่คุณปราณีบอกว่าผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น เพราะไม่หิวข้าว ไม่เหมือนตอนที่ตรวจเป็น FBS การบริการตรงส่วนนี้ดิฉันคิดว่าก็คงต้องค่อยๆ ปรับเข้าหากันทั้งสองฝ่าย และหาวิธีการที่เน้นการให้ความสำคัญกับผู้ป่วย (patient focused) ให้มากขึ้น

ระหว่างคอยตรวจ ผู้ป่วยแต่ละคนจะถือบัตรคิว ซึ่งเป็นแผ่นขนาด A4 แต่ละแผ่นมีเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานบ้าง โรคอื่นบ้างต่างๆ กัน ถามผู้ป่วยว่าอ่านออกไหม คุณป้าๆ ทั้งหลายบอกอ่านได้ แต่ไม่ได้เอาแว่นมา ตรงนี้เป็น idea ที่น่าสนใจ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งคงต้องพิจารณาตั้งแต่การเลือกเนื้อหาที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ การมีกิจกรรมให้ผู้ป่วยสนใจอ่านและแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันที่ได้บัตรคิวใบอื่น เป็นต้น

 

 

 

ช่วงเช้าดิฉันและทีมงานพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกิน ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากแล้ว (หลายคนอายุเกิน ๗๐ ปี) บอกเหมือนๆ กันว่าทำอาหารกินเอง เป็นพวกผักและน้ำพริก เก็บผักตามบ้าน กินข้าวสวย กินครั้งละไม่มาก ขนมมีเป็นเทศกาล เช่น ข้าวหลาม กะยาสารท ผลไม้มีส้ม กล้วย ฟังที่เล่าแล้วรู้สึกว่าผู้ป่วยที่นี่กินอาหารไม่มาก บางคนอาจไม่พอด้วยซ้ำไป แต่ยังพบคนที่มีน้ำตาลหลังอาหารสูงเกือบ ๓๐๐ มก/ดล. หลายคน เมื่อคุยกับคุณหมอฝนและทีมงานก็ได้ข้อมูลว่าผู้ป่วยกินข้าวทีละเป็นกะละมัง กินเนื้อสัตว์น้อย ขนมก็มี หน้าผลไม้ก็มีให้กินเยอะ นอกจากข้อมูลเรื่องอาหาร เราถือโอกาสตรวจเท้าของผู้ป่วยไปด้วย บางรายก็มีอาการเท้าชาแล้ว ปัญหาที่พบเป็นเรื่องของ hygiene เท้าแตก ไม่เจอตาปลาหรือเล็บขบ ผู้ป่วยหลายรายสวมถุงเท้ามาด้วย (ลืมถามว่าเพราะหนาวหรือเพื่อป้องกันเท้า)

 

 รองเท้า ถุงเท้า สไตล์ชาวนาราก

 

ดิฉันไปสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ในจุดต่างๆ ด้วย ตั้งแต่จุดรับผู้ป่วย จุดคัดกรอง และจุดจ่ายยา ที่นี่ทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องเขียนกันมากมาย พยาบาลสัมภาษณ์ผู้ป่วย พิมพ์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แพทย์ดูข้อมูล ตรวจผู้ป่วยแล้วสั่งยา ข้อมูลไปปรากฏที่จุดจ่ายยา พิมพ์ใบสั่งยา ฉลากยาออกมาได้เลย ได้ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขทำระบบนี้ขึ้นมา มีทุก PCU แต่บางแห่งก็ยังไม่ได้ใช้ เพราะติดขัดในบางเรื่อง

มื้อกลางวันเรารับประทานอาหารที่ทาง สอ.จัดให้จากร้านค้าในแถบนั้น มีทั้งแกงเลียง แกงป่า ต้มยำ ลาบไก่ ปลาทอด ไข่เจียว ผัดพริก ไม่มีประเภทกะทิ แต่มีเครื่องในไก่  ช่วยทำให้เรารู้จักอาหารบ้านๆ ได้ส่วนหนึ่ง

หลังรับประทานอาหารกลางวัน ประมาณ ๑๒.๓๐ น. เราไปร่วมกิจกรรมกลุ่มของผู้ป่วยรอบบ่าย ที่นี่แบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ ตามสีและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบติดตามประจำกลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๑๕ คน การจัดแบบนี้ผู้ป่วยในกลุ่มบอกได้ว่าใครที่หายไป เพราะเหตุใด คุณปราณีเริ่มกิจกรรมโดยให้นั่งสมาธิประมาณ ๑๐ นาที แล้วบอกกลุ่มว่าวันนี้จะคุยกันเรื่องยา ยกตัวอย่างปัญหาที่เจอในผู้ป่วยรายอื่น เช่น กินยาไม่ครบ เข้าใจผิดว่ายาสองตัวใช้แทนกันได้ เมื่อแยกกลุ่มทีมของเราแยกย้ายไปคุยกันคนละวง ดิฉันเข้ากลุ่มสีเขียว ลองตั้งคำถามให้ผู้ป่วยแลกเปลี่ยนกันว่ามีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ไม่ลืมกินยา บางคนบอกว่ากำหนดใจ บางคนบอกจำเอา.....สังเกตว่าผู้ป่วยที่นี่ส่วนใหญ่ไม่พกยามาด้วย  มีคุณลุงคนหนึ่งกินยา ๔ อย่าง ยาที่ยังเหลืออยู่ ๓ อย่างพกมาด้วย อีกอย่างหนึ่งยาหมดแล้วก็เอาแผงยามา ดิฉันจึงใช้ยาของคุณลุงท่านนี้เป็นตัวอย่างให้กลุ่มรู้ว่ายาแต่ละตัวเป็นยารักษาอะไร คุยกันไปกันมาสักพักก็มีน้องโบว์ซึ่งเป็นพยาบาล และน้องเภสัชกรมาให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องชนิดของยาและเวลาในการรับประทานยา ผู้ป่วยเสนอว่าในฉลากที่แปะซองยาควรบอกด้วยว่าเป็นยารักษาโรคอะไร และให้บอกเวลาที่กินให้ชัดๆ เช่น ก่อนอาหาร/หลังอาหารนานเท่าใด

หลังจากกิจกรรมกลุ่มคุณหมอฝนจัดให้เราได้คุยกับพยาบาลจาก สอ. สสอ. และ รพ.ครบุรี ประมาณสิบกว่าคน และโภชนากร ๑ คน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับการอบรมเรื่องการกำหนดอาหาร เพื่อสอบถามความต้องการความคาดหวัง ความรู้เดิมที่มี ฯลฯ เราตกลงกันว่าการอบรมที่จะจัดขึ้นนั้น ผู้เข้าต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานต่างๆ แต่ละ setting จะต้องเตรียม case study ล่วงหน้า (มีกรอบให้ว่าต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง) และให้จัดทำรายการอาหารยอดฮิตของคนที่นี่ให้เราด้วย เราจะเน้นกิจกรรมที่เป็น workshop มากกว่าการบรรยาย คาดว่าจะจัดประมาณ ๒ วัน

คุยกันเสร็จประมาณบ่าย ๓ โมงกว่า ผู้ป่วยเกือบหมดแล้ว ระหว่างนั่งรอคุณหมอฝนเสร็จงาน คุณปราณีมาคุยว่าอยากได้ความคิดเห็นจากเราด้วยว่างานที่ทำอยู่นี้เป็นอย่างไร ดิฉันคุยเรื่องต่างๆ บอกความประทับใจ และแนะนำเรื่องการตรวจเลือดว่าน่าจะให้ผู้ป่วยมาเจาะทิ้งไว้ล่วงหน้า ไม่จำเป็นต้องมาเจาะวันเดียวกับการมาตรวจก็ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยกินอยู่ตามปกติของเขา

คุณหมอฝนเสร็จงานแล้วมาคุยกับเรา สรุปกันว่าการอบรมเรื่องการกำหนดอาหารให้จัดที่ รพ.เทพธารินทร์ เพื่อผู้เข้าอบรมจะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องงานและอื่นๆ คุณหมอฝนยังอยากจะส่งทีมมาดูงานเรื่องการดูแลเท้า ดิฉันเลยเสนอว่าให้ทำแบบ Peer Assist พร้อมทั้งบอกว่าให้เตรียมตัวเตรียมทีมอย่างไรบ้าง และไม่ลืมที่จะกระตุ้นเรื่องเขียนบล็อก จึงทราบว่าที่ยังไม่ได้เขียนเพราะมีปัญหาเรื่องอินเตอร์เน็ตทั้งที่ รพ.และที่นี่ ดิฉันลองดูแล้วไม่สามารถเข้าไปที่ gotoknow.org ได้ ความเร็วของอินเตอร์เน็ตต่ำและคงเป็นช่วงเวลาที่มีคนใช้เยอะ (เป็นของ TOT) จึงไม่สามารถใช้การได้ น้องโบว์จะทดลองดูอีกครั้งตอนเช้าๆ ก่อนเริ่มงานบริการ วันนั้นเราใช้เวลาอยู่ที่ PCU นารากทั้งวัน ออกเดินทางกลับเกือบ ๑๗ น.ถึงกรุงเทพก็ค่ำมากแล้วเกือบ ๒๑ น. 

AAR การเดินทางครั้งนี้ ดิฉันบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใว้ ทั้งการนำทีมงานของ รพ.เทพธารินทร์ไปเยี่ยมเพื่อน ได้ข้อมูลสำหรับการจัดหลักสูตรอบรม ดิฉันประทับใจบรรยากาศการทำงานของทีม PCU นาราก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่มีความเป็นกันเอง คุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี เห็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นของคุณหมอฝนหัวหน้าทีม ประทับใจคุณปราณีและทีมงาน ที่มีความคิดริเริ่มหาวิธีการที่น่าสนใจมาใช้ในการให้บริการ

หลังปีใหม่ทีมงานของเราจะจัดหลักสูตรและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ สำหรับการอบรม กำหนดวัน เวลา รวมทั้งเตรียมการจัด PA เรื่องการดูแลเท้าด้วย สิ่งที่ได้นอกเหนือจากนี้คือเทคนิคการให้ความรู้กับกลุ่มผู้ป่วย ทั้งในส่วนที่เป็นบัตรคิวและการจัดกิจกรรมกลุ่มก่อนการตรวจ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘

 

 คุยกับผู้ป่วยรอบเช้า

 

 กลุ่มสีเหลืองรอบบ่าย

หมายเลขบันทึก: 11020เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2005 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอความคุณอาจารย์มากนะคะที่มาเยี่ยมชมพวกเราที่ PCU นาราก และได้กรุณาให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และแนวทางการเขียนฉลากยาให้เข้าใจ ขอบคุณมากคะ

ดูจากภาพ แล้ว ผู้ป่วยความตั้งใจสูงนะครับ กิจกรรมจึงราบเรียบ ไร้อุปสรรค  ได้สาระด้วยครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ PCUนาราก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท