โครงการเตรียมความพร้อม : จากการพูดคุยสู่การนำเสนอ (ตอนจบ ภาค1)


งานจะเคลื่อนต้องรีบทำ

   วันนี้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเข้ามาเล่าเรื่องโครงการเตรียมความพร้อม (ภาค1) ให้จบ  เพราะ  เล่ามาหลายวันแล้ว  ความจริงตั้งใจจะให้จบตั้งแต่เมื่อวานนี้ค่ะ  แต่อย่างที่บอกไว้แล้วว่าเครื่องคอมพิวเตอร์มันรวน  พอคอมพิวเตอร์ใช้ได้  ระบบอินเตอร์เน็ตก็มีปัญหาอีก  แต่ยังไงซะวันนี้ก็ต้องจบค่ะ

   ขอเล่าต่อเลยก็แล้วกันนะคะ  หลังจากที่ปรึกษาหารือกับแกนนำ (บางคน)  รวมทั้งข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุยกับมสช.  เมื่อนำมาเขียนเป็นโครงการ  (เนื้อหาก็อย่างที่นำเสนอเมื่อวานนี้ค่ะ) เสร็จแล้ว  ผู้วิจัยได้นำโครงการเข้าที่ประชุมเครือข่ายประจำเดือนเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม  2548  ที่ผ่านมา  โดยพยายามเรียบเรียงเนื้อหาในการนำเสนอให้ชัดเจนที่สุด  พยายามพูดให้ช้าลง  บางทีก็มี "คำเมือง" ติดเข้าไปด้วย  และที่สำคัญพยายามหลีกเลี่ยงคำพูดหรือประโยคที่เป็นวิชาการมากๆ เพราะ  มีประสบการณ์จากที่เคยพูดให้คณะกรรมการเครือข่ายฯฟังแล้วเขาดูเหมือนว่าไม่ค่อยเข้าใจเรา  (ทำให้ผู้วิจัยต้องใช้ความระมัดระวังและฝึกฝนมากขึ้น)  แต่ครั้งนี้เหตุการณ์ดูเปลี่ยนไปมากค่ะ  จากการสังเกตดูเหมือนว่าทุกคนจะฟังผู้วิจัยพูดได้เข้าใจมากขึ้น  โดยที่คณะกรรมการจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับนักวิจัยอยู่ตลอดเวลา  เช่น  ซักถามเมื่อไม่เข้าใจ  พยักหน้า  ยิ้ม  เป็นต้น  (ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะบรรยากาศในการประชุมเครือข่ายดีก็ได้ค่ะ)  สำหรับข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุมก็คือ  ทุกคนเห็นด้วยกับโครงการ  เพราะ  โครงการที่เสนอมาคณะกรรมการเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาให้กับเครือข่ายฯได้  บรรยากาศในการประชุมเป็นกันเองมาก  หลังจากผู้วิจัยอธิบายจบ  ปรากฎว่าในที่ประชุมเริ่มมีการค้นหาแกนนำกันเดี๋ยวนั้นเลย  (มีคนอยากเป็นคุณสามารถ 1,2,3,....เต็มไปหมด)  แถมยังมีการถามเผื่อสมาชิกคนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ได้เป็นคณะกรรมการเครือข่ายฯอีกว่าจะสามารถสมัครเป็นแกนนำได้หรือไม่  ผู้วิจัยตอบว่าได้  ในเบื้องต้นนี้ขอแต่เพียงคนที่มีใจก่อนก็พอ  เชื่อไหมคะว่าคณะกรรมการอยากจะลงชื่อสมัครกันเลย  แต่ผู้วิจัยได้บอกว่าขอให้ใจเย็นๆก่อน  ตอนนี้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อน  รายละเอียดต่างๆจะมีความชัดเจนขึ้นในระยะต่อๆไป

    นอกจากนี้แล้ว  เมื่อพูดถึงการไปดูงานที่สงขลา  ดูเหมือนว่าทุกคนจะตื่นเต้นกันมาก  คณะกรรมการต่างช่วยกันออกความเห็นว่าจะไปกันยังไง  เอารถอะไรไป  ส่วนใหญ่อยากไปเครื่องบิน  เพราะ  ระยะทางไกลมาก  (แต่ก็คงเป็นเพียงความฝันค่ะ  เพราะ  ค่าเครื่องบินก็แพงมากเหมือนกัน)  แต่ถ้าไม่ได้จะเป็นรถอะไรก็ได้  อนึ่ง  มีคณะกรรมการบางคนที่ทำงานประจำแสดงความวิตกกังวลว่าถ้าไปหลายวันเกรงว่าจะไปด้วยไม่ได้หรือถ้าไปได้ก็จะอยู่ไม่ได้ครบวัน ในข้อนี้ผู้วิจัยก็ได้บอกว่าไม่เป็นอะไร  ถ้าหากมีความจำเป็นจริงๆร่วมกิจกรรมได้แค่ไหนก็แค่นั้น  ไม่บังคับกัน  เพราะ  อย่างที่บอกตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่างานนี้ขอคนที่มีใจ 

   สำหรับประเด็นในเรื่องการจุดประกายให้ภาคส่วนต่างๆเห็นความสำคัญนั้น  คณะกรรมการต่างเห็นด้วย  ไม่มีประเด็นซักถามอะไร  เพียงแต่มีบางคนได้แสดงความคิดเห็นว่าต่อไปนี้คงติดต่อหน่วยงานได้ไม่ยากเหมือนกับที่ผ่านมา  เพราะ  ทางธรรมศาสตร์ได้เข้ามาช่วย  และนักวิจัยรวมทั้งประธานฯก็ได้เข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆแล้ว

   พอวันรุ่งขึ้น (วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม  2548)  ผู้วิจัย , อาจารย์พิมพ์ รวมทั้งคุณสามารถก็ได้นำเรื่องโครงการเตรียมความพร้อมไปเรียนให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ท่านเจริญสุข  ชุมศรี) ทราบ ท่านแสดงความเห็นด้วย  พร้อมกับบอกว่าในระหว่างนี้หากมีหน่วยงานมาให้การสนับสนุนอย่างนี้ก็จะดี  เครือข่ายฯก็จะเข้มแข็งขึ้น  ทางจังหวัดยินดีจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว  นอกจากนี้ท่านยังได้มอบเอกสารเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดลำปางให้กับทีมวิจัยด้วย  ท่านเสนอแนะว่าให้เอาเอกสารนี้ไปศึกษา  เพราะ  ถ้าหากจะของบประมาณหรือต้องการได้รับการสนับสนุน  โครงการจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การทำงานของจังหวัด  ซึ่งเท่าที่ท่านดูแล้วคิดว่ากิจกรรมรวมทั้งเป้าหมายของเครือข่ายฯนั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลายข้อ  ดังนั้น  คงไม่มีปัญหาอะไร  ท่านยังแนะนำให้ไปคุยกับ พมจ.  ท่านเห็นว่า พมจ.จะเป็นเจ้าภาพที่ดีและเหมาะสมมาก  เนื่องจากยุทธศาสตร์การทำงานนั้นสอดคล้องกัน

   จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้  ผู้วิจัยขอสรุปสั้นๆว่า  หากต้องการให้งานเคลื่อนนั้นต้องรีบทำ  เหมือนกับการตีเหล็กก็ต้องตีเมื่อเหล็กยังร้อน  การทำงานกับชุมชนต้องอาศัยความอดทน  บางครั้งก็ต้องเร็ว  บางครั้งก็ต้องช้า  บางครั้งก็ต้องอ้อม  แต่ห้ามถอยโดยเด็ดขาด  มิฉะนั้นจะไม่ถึงเส้นชัย

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10960เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2005 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท