มรภ.จับมือ สคส. ปฎิรูปการเรียนรู้ผลิตบุคคลากรเพื่อท้องถิ่น


"การจัดการความรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นการทำการจัดการความรู้ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ซึ่ง การจัดการความรู้ (km) ไม่ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานทั้งหมด แต่เป็นเพียงส่วนประกอบในการนำไปสู่เครื่องมืออื่นๆ"

                                              
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

มรภ.จับมือ สคส.
ปฎิรูปการเรียนผลิตบุคคลากรเพื่อท้องถิ่น


            วานนี้(12 ก.ค.) ได้มีการลงนามความร่วมมือ “โครงการทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กับ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพี่อสังคม ในการนำเรื่อง การจัดการความรู้ เข้ามาใช้เรื่องการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ความสำคัญของการกระจายอำนาจ ทั้งด้านปกครอง การบริหารจัดการ และการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่น และบุคลากรต้องมีความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะด้านการบริหารจัดการ
            โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนของ มรภ.มุ่งเน้นให้ มรภ. เป็นองค์กรเรียนรู้ โดยนำร่องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาผู้นำ นักบริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการปกครอง ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของชาว“ราชภัฏ” ที่ว่า “ความรู้ดี มีคุณธรรม นำชุมชนพัฒนา” ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์นั้น
           ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)กล่าวว่า หน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในเรื่อง การจัดการความรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นการทำการจัดการความรู้ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ซึ่ง การจัดการความรู้ (km) ไม่ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานทั้งหมด แต่เป็นเพียงส่วนประกอบในการนำไปสู่เครื่องมืออื่นๆ
ซึ่งหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้ คือการเรียนรู้จากการปฎิบัติ ดูความรู้จากที่อื่นมาปฏิบัติ และบันทึกความรู้ที่ได้มาสู่การปฎิบัติได้ต่อไป
ดังนั้นการทำนำเอาการจัดการความรู้เข้าไปใช้ใน มรภ. ต้องมีการจัดการ (Management) ซึ่งการจัดการจะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้ และไม่ควรนำการจัดการความรู้ (km
) ไปใช้กับงานใหม่เท่านั้น สิ่งสำคัญคือเริ่มทำจากงานเก่าหรืองานประจำจึงจะทำให้เห็นผลของการจัดการความรู้ได้อย่างชัดเจน
            ด้าน ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาลัยราชภัฎสุราษฏร์ธานี กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นที่ มรภ.ต้องการพัฒนาบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถที่จะรองรับกับการกระจายอำนาจได้ ซึ่งผู้นำท้องถิ่นในแต่ละคน ต่างมีความรู้และประสบการณ์อยู่มากแล้ว หากจะใช้วิธีการสอน หรือการฝึกอบรมอย่างที่ผ่านๆมา ก็คงจะเกิดประโยชน์น้อยกว่ากระบวนการอื่นที่นำเอาวิธีการระดมความรู้เดิมที่มีอยู่ในตัวแต่ละคนมาใช้ให้มากที่สุด ซึ่งวิธีการ “จัดการความรู้” หรือ (Knowledge Management) เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ มรภ.เล็งเห็นอยู่ในขณะนี้
จากการหารือกับทาง สคส. เห็นควรว่าทำการจัดการความรู้เรื่องการเรียนการสอนใน มรภ. นำร่องอย่างน้อยที่สุด 13 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา , มรภ.พระนคร , มรภ.นครศรีธรรมราช , มรภ.อุบลราชธานี , มรภ.นครราชสีมา , มรภ.เลย , มรภ.มหาสารคราม , มรภ.พิบูลสงคราม , มรภ.อุตรดิตถ์ , มรภ.เชียงใหม่ , มรภ.ราชนครรินทร์ และ มรภ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแกนนำเครือข่าย
            ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีการเฟ้นหาบุคลลากร ที่มีความโดดเด่น ด้านการจัดรูปแบบการเรียนการสอน สถาบันละ 5 คน เพื่อเข้าร่วมการทำเวิร์กชอปเรื่องการจัดการความรู้ใน มรภ.และทำการขยายเครือข่ายในเรื่องการจัดการความรู้ต่อไป
ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในข้อตกลง ในการร่วมมือฝึกอบรมและพัฒนาอาจารย์ให้มีความรู้ความเข้าใจ เจตคติและทักษะในการจัดการเรียนการสอน , ร่วมศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาการเรียนการสอน และสุดท้ายคือติดตาม ทบทวน เพื่อการประเมินผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
ในเบื้องต้น สคส. จะเป็นวิทยากรในการจัดตลาดนัดความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนใน มรภ. ในเดือนตุลาคมปีนี้ เพื่อเป็นการสร้างคน ในเรื่องการจัดการความรู้ที่สามารถนำไปใช้กับงานในทุกๆด้านหากประสบความสำเร็จจะทำการขยายออกไปสู่ส่วนอื่นต่อไป
             สำหรับความสำคัญของการลงนามครั้งนี้ เชื่อว่า อธิการบดีทั้ง 13 แห่งมีความมุ่งมั่นในการทำงานครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ แม้ว่าวันนี้ความรู้พื้นฐานในเรื่องการจัดการความรู้อาจจะต่างกัน แต่ในที่สุดแล้วเชื่อว่าสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ซึ่งจะสำเร็จได้นั้นอยู่ที่ใจของใจของผู้ปฏิบัติงานนั้นๆด้วย
อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ไม่เพียงเฉพาะการนำการจัดการความรู้ไปใช้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สามารถนำเอาการจัดการความรู้(KM) ไปใช้ได้กับทุกเรื่องในที่สุด เพราะวิธีการจัดการความรู้เป็นการสังเคราะห์ความรู้จากทุกภาคส่วน มาเป็นความรู้ใหม่ของตนเองที่สามารถนำไปใช้ได้อีกด้วย.
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1095เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2005 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท