สถาบันพุทธทาส


สถาบันพุทธทาส

         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ได้ริเริ่มจัดตั้งสถาบันสันติศึกษาขึ้นในปี 2547   โดยจะดำเนินการครอบคลุม 4 เรื่อง คือ
1. ศูนย์ศึกษาการจัดการความขัดแย้ง (Conflict Resolution)
2. ศูนย์จิตพินิจศึกษา (Contemplative Education)
3. สถาบันพุทธทาสเพื่อสันติภาพ
4. ศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการพัฒนา (Islamic Perspective for Peace and Development)

         ต่อมาได้มีมติแยกสถาบันพุทธทาสเพื่อสันติออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ   และเพิ่มศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นเรื่องที่ 4 ในสถาบันสันติศึกษา

         คำว่า Contemplative Education ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้ภาษาไทย (แขก) ว่า จิตพินิจศึกษาและจิตพิสัยศึกษา   แต่ ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ เสนอให้ใช้คำว่าจิตปัญญาศึกษา   และทราบจาก ดร. สรยุทธ  รัตนพจนารถ ว่ามหาวิทยาลัยมหิดล  มีดำริจะจัดตั้ง สถาบันจิตปัญญาศึกษา   โดยจะว่าจ้างให้ Peter Hurst รองอธิการบดี Naropa University มาทำงานประจำที่สถาบันนี้ระยะหนึ่ง   โดย Peter Hurst จะทำงาน 2 แห่งคือ  ที่สถาบันจิตปัญญาศึกษา  กับที่อาศรมศิลป์ (รศ. ประภาภัทร  นิยม)

         ศูนย์จิตพินิจศึกษาของ มอ. มีผู้ดำเนินการหลักคือ  พระดุษฎี เมธงฺกุโร,  รศ. ดร. อาภรณ์  เชื้อประไพศิลป์,  และ นพ. บัญชา  พงษ์พานิช

         "สถาบันพุทธทาสเพื่อสันติ : หอจดหมายเหตุ  พิพิธภัณฑ์  สถานศึกษาและปฏิบัติธรรม   โดยการประสานศึกษาและพัฒนาของกลุ่มศึกษาที่สวนโมกข์,  สวนสร้างสรรค์ นาคร - บวรรัตน์,  สุธีรัตนามูลนิธิ,  มูลนิธิสานแสงอรุณและกลุ่มบริษัทแปลน  เป็นโครงการสำหรับจัดตั้งและก่อสร้างขึ้นในที่ดิน 50 ไร่บริเวณค่ายพุทธบุตร   ประกอบด้วย ส่วนหอจดหมายเหตุ  ห้องสมุด  และคลังเพื่อถนอมรักษาและศึกษาค้นคว้า,  ส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเผยแผ่,  ส่วนประชุม  เสวนา  อบรมและปฏิบัติธรรม,   และส่วนบริการสถานที่   โดยเห็นควรให้เป็นโครงการความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับสวนโมกข์บนที่ดินตามสิทธิใช้สอยของสวนโมกข์   ให้มีสถานะเป็นหน่วยงานสถาบันในกำกับของมหาวิทยาลัยด้วยระบบบริหารจัดการเฉพาะ   ในเบื้องต้นเห็นควรให้หาทรัพยากรงบประมาณจากผู้สนใจศรัทธาด้วยการไม่บอกบุญเรี่ยรายสาธารณะ   โดยงบประมาณราชการนั้นควรให้เป็นงบประมาณตามมาสมทบ
สวนโมกข์และคณะธรรมทานเห็นว่าโครงการมีขนาดใหญ่มาก   ต้องใช้จ่ายงบประมาณสูง (จากการประมาณการนับร้อยล้านบาท) และอาจเป็นปัญหาในการดำเนินการระยะยาว   ไม่สอดคล้องต่อแนวงานที่ทำมา   จึงขอให้ชะลอลงเสีย   โดยจะพยายามแสวงหาหนทางที่เรียบง่ายและประหยัดอื่น     ส่วนงานที่ทำเป็นหลักคืองานการเผยแผ่และส่งเสริมการปฏิบัติธรรมมากกว่าการก่อสร้างและรักษาข้าวของ"

         นั่นคือบันทึกที่มาที่ไปและความไม่เห็นพ้องที่นำมาสู่การนัดประชุมหารือในวันนี้ (28 ธ.ค.48) ที่สวนโมกข์นานาชาติ   และเขาเชิญผมเข้าร่วมหารือด้วย

                                   

                           รศ. ดร. บุญสม  ศิริบำรุงสุขกินข้าวจานแมว มื้อเที่ยง

         เมื่อเริ่มต้นประชุม  รองอธิการบดี มอ.  รศ. ดร. บุญสม  ศิริบำรุงสุข  (ผู้กำลังจะรับช่วงตำแหน่งอธิการบดีในเดือน พ.ค.49) ก็กล่าวสรุปประเด็นดังกล่าวข้างต้น   และแจ้งว่าทาง มอ. มาขอคำแนะนำจากทางสวนโมกข์ว่าควรปรับปรุงโครงการดังกล่าวอย่างไรจึงจะตรงกับเจตนารมณ์ของทางสวนโมกข์   และหันไปทาง นพ. บัญชา พงษ์พานิช  กำลังหลักในการเก็บรักษาและเผยแพร่งานของท่านพุทธทาส   และคุณเมตตา  พานิช  กำลังหลักของคณะธรรมทานและมูลนิธิพุทธทาส   ผู้เข้ามาจัดการดูแลจนบริเวณสวนโมกข์สะอาดเรียบร้อยขึ้นผิดตา   ทั้งสองท่านคงจะถือว่าตนเป็นผู้น้อยจึงเรียนให้ท่านเจ้าอาวาสคือ  ท่านอาจารย์โพธิ์หรือท่านเจ้าคุณพระภาวนาโพธิคุณ   เป็นผู้ให้ความเห็นก่อน   แต่ท่านอาจารย์โพธิ์ก็บ่ายเบี่ยงว่าอยากให้ผู้ใหญ่ "เช่น หมอวิจารณ์ ให้ความเห็นก่อน"   ผมจึงเรียนที่ประชุมว่าทาง มอ. ได้ระบุชัดเจนว่าต้องการทำอะไร  อย่างไร   ทางสวนโมกข์บอกเพียงว่าไม่อยากให้ทำใหญ่โตซึ่งจะเกินกำลัง   แต่ยังไม่ได้บอกว่าอยากให้ทำอะไรบ้างและทำอย่างไร   จึงขอให้หมอบัญชาและคุณเมตตาช่วยกันบอกความต้องการของทางสวนโมกข์   เท่านั้นแหละครับ   ความต้องการของทางสวนโมกข์ก็พรั่งพรูออกมาจากคุณเมตตา  หมอบัญชา  แต่ตัวท่านเจ้าคุณอาจารย์โพธิ์เอง   ว่าสิ่งที่ขาดที่สุดคือคนทำงาน   ที่เป็นทั้งผู้มีความรู้และปฏิบัติธรรมจนเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของผู้อื่น   เรื่องเงินหรืออาคารนั้นไม่ใช่ปัญหา   ถ้ามีคนทำงานที่เป็นกำลังหลักได้  ทรัพยากรที่เป็นเงินและอาคารจะมาเอง

                              

                              ท่านอาจารย์โพธิ์ - พระภาวนาโพธิคุณ 

                               

จากซ้าย พระดุษฎี เมธงฺกุโร   นพ. บัญชา พงษ์พานิช   คุณเมตตา พานิข   ท่านอาจารย์โพธิ์

         นี่คือปัญหาที่พบทั่วไปในทุกวงการครับ   เราขาดคนที่ทำจริง   ทำต่อเนื่องจนคนอื่นศรัทธา

         ทางสวนโมกข์บอกว่างานของสวนโมกข์เพิ่มขึ้น   แต่คนที่เป็นกำลังหลักไม่เพิ่ม   จึงเกิดปัญหามาก

         ทาง มอ. แจ้งว่าจะไปขอให้กลุ่มบริษัทแปลนและมูลนิธิสานแสงอรุณเขียนแบบก่อสร้างอาคารใหม่   โดยอนุรักษ์อาคารเดิมที่มีอยู่ให้มากที่สุด  และเริ่มจากอาคารที่มีขนาดเล็ก ๆ แล้วจึงค่อยขยายตามกำลังดำเนินการ   โดยเน้นว่าส่วนที่เป็นหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์จะอยู่ที่สวนโมกข์   แต่จะมีการจัดทำคลังข้อมูลเพื่อให้ค้นได้ทางอินเทอร์เนต   โดย มอ. จะเข้ามาดำเนินการ

         สรุปว่าสถาบันพุทธทาส (ตกลงกันว่าใช้ชื่อนี้เพื่อให้มีความยืดหยุ่น)   ซึ่งจะมี 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ (1) หอจดหมายเหตุ  (2) พิพิธภัณฑ์  และ (3) สถานศึกษาและปฏิบัติธรรม   ใน 2 ส่วนแรกจะอยู่ที่สวนโมกข์   ส่วนที่ 3 จะอยู่ที่พื้นที่ค่ายพุทธบุตร 50 ไร่   เรียกว่าศูนย์พุทธบุตร

ทาง มอ. จะรีบดำเนินการ
 - ล้อมรั้วด้านหลังกันถูกบุกรุก
 - ปรับพื้นที่ให้หายรก  เหมาะสมต่อการจัดค่ายศึกษาและปฏิบัติธรรม
 - จัดพิมพ์หนังสือผลงานบางเล่มของท่านพุทธทาส
 - หานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามาทำวิจัยเชิงลึก  โดยอาจจัดทุนการศึกษาสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์
 - ใช้สถานที่ในการฝึกอบรมและปฏิบัติธรรม

         ตอนบ่ายเราไปดูสถานที่ค่ายพุทธบุตรที่ทิ้งร้างอยู่กว่า 10 ปี   ตอนนี้มีพระชูชัยไปดูแลรักษาอยู่   ท่านชูชัยนี้บวชมาแล้ว 4 พรรษา   มาดูแลที่ค่ายพุทธบุตร 2 ปีแล้ว   สังเกตดูจากการพูดจาโต้ตอบ   เป็นคนมีสติปัญญาดี  น่าจะเป็นกำลังของสวนโมกข์ได้ในอนาคต

             

             ขวาสุด พระชูชัย                          ไปดูสถานที่บริเวณค่ายพุทธบุตร

         ผมได้ความรู้จากการไปร่วมเจรจาครั้งนี้มาก   ว่าทางผู้นำของสวนโมกข์มีความยึดมั่นในการดำเนินการแนวทาง "ของแท้" ของท่านพุทธทาส   ซึ่งน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง   และความร่วมมือระหว่าง "หน่วยงานเชิงอำนาจ" อย่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานไร้อำนาจแบบสวนโมกข์   มหาวิทยาลัยควรขอให้สวนโมกข์บอกความต้องการ   แล้วมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเสริมส่วนที่ต้องการนั้น    ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเอาโครงการเมกะโปรเจ็คเข้าไปทับจนหน่วยงานเล็ก ๆ แบบสวนโมกข์ "หายใจไม่ออก"  และเสี่ยงต่อการ "กลายพันธุ์"

          ประชุมเสร็จผมไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่  คุณศิริ  พานิช ผู้นอนไร้สติจากโรคเส้นเลือดในสมองแตกมาเกือบปี   และไปกราบพระบรมธาตุไชยา  พุทธเจดีย์ลัทธิมหายาน   สมัยศรีวิชัย

                                    

                  พระบรมธาตุไชยา พุทธเจดีย์ลัทธิมหายาน สมัยศรีวิชัย

         ก่อนจบ  ขอบันทึกไว้ว่าท่านอาจารย์โพธิ์คือ พุทฺธธมฺโม ภิกขุ ผู้ก่อตั้งที่ปภาวันธรรมสถาน  ที่เกาะสมุย   ที่ทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.48

วิจารณ์  พานิช
 28 ธ.ค.48
สนามบินสุราษฎร์ธานี

หมายเลขบันทึก: 10935เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2005 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เมื่อได้ยินชื่อของ"สถาบันพุทธทาส" ผมรู้สึกปีติยินดีที่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คุณหมอวิจารณ์ พานิช" ในฐานะผู้ที่มีบทบาทมีความสำคัญในแวดวง"การจัดการความรู้ของไทย" ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับท่านพุทธทาสในสายสกุล "พานิช" ได้กรุณาหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ถือว่าเป็นข่าวดีที่เป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศครับ
ผมเป็นอีกผู้หนึ่งที่เคารพและศรัทธาในพระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และเคยทำปริญญานิพนธ์วิเคราะห์แนวคิดท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเปรียบเทียบกับนักคิดนักเขียนชาวอเมริกันชื่อธอโร ไว้เมื่อสิบปีก่อน และในขณะนี้กำลังจะคิดทำดุษฏีนิพนธ์ต่อยอด แนวคิดท่านในระดับลึก  และพยายามนำความรู้สู่การปฏิบัติในแวดวงการศึกษา  อยากเข้ามาช่วยในกิจการ"สถาบันพุทธทาส" มากครับ เพื่อสันติสุขของมวลหมู่มนุษย์ชาติครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท