ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น


ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

         วันที่ 23 ธ.ค.48   สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาวิจัย  เรื่อง "การสำรวจสถานะองค์ความรู้และแนวทางพัฒนาทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์"   โดย ศ. ดร. ดิเรก  ปัทมสิริวัฒน์   คณะวิทยากรจัดการและสารสนเทศศาสตร์   มหาวิทยาลัยนเรศวร   รายงานนี้มี 108 หน้า   ผู้สนใจอาจขอได้จากสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ หรือจาก ศ. ดร. ดิเรก  [email protected]  เอกสารนี้เป็นเอกสารที่ดีมากครับ   ฝีมือ ดร. ดิเรกเป็นประกันคุณภาพอยู่แล้ว

ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้อภิปรายวิจารณ์/นำ   ใช้เวลาประมาณ 10 นาที   โดยได้เสนอความเห็นโดยสรุป  ดังนี้
1. น่าจะเพิ่มเรื่องทุนวัฒนธรรมในส่วนที่เป็น "ชีวิตวัฒนธรรม" คือในรายงานของ ศ. ดร. ดิเรก เน้นเฉพาะศิลปวัฒนธรรม
2. น่าจะชี้ให้ชัดว่าทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นจะเพิ่มพูนขึ้นได้มากมายหากมีการส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้เชิงภูมิปัญญาท้องถิ่นกับภูมิปัญญาสมัยใหม่   ผ่านการปฏิบัติของคนในท้องถิ่น   ซึ่งหมายความว่านักวิชาการ/วิจัยจะต้องไปเรียนรู้กับชาวบ้านและต่อยอดความรู้ปฏิบัติของชาวบ้าน   ผมได้ยกตัวอย่างโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ  สุพรรณบุรี

         ศ. ดร. เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์  ประธานการประชุมได้อภิปรายขอให้ ดร. ดิเรก เพิ่มข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมต่อรัฐบาล   ผมจึงมานึกขึ้นได้ในภายหลังว่า   ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมที่ทรงพลังที่สุดคือ   การสนับสนุนให้มี "คุณอำนวย" ในท้องถิ่น   ทำหน้าที่จุดประกายและเชื่อมโยง "การหมุนเกลียวความรู้" ผ่านกิจกรรมการทำมาหากินและดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น   โดยช่วยให้ชาวบ้านดูดซับความรู้จากแหล่งความรู้สมัยใหม่ไปทดลองใช้อย่างเหมาะสม

                                     

                                          บรรยากาศห้องประชุม

                                     

              ศ. ดร. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (ขวา), ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ซ้าย)

วิจารณ์  พานิช
 25 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 10930เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2005 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่แน่ใจว่า เป็นอคติ หรือไม่  สังเกตุว่า  หมอ อาจจะเป็นหนึ่งในตัวเลือก เพื่อให้เป็น คุณอำนวยในท้องถิ่น ( ถ้ารักจะเป็น ) เพราะเชื่อมชีวิต กับ วิทยาศาสตร์ ได้หลายแขนง  เชื่อมนักวิชาการ กับ ชุมชน  ศาสตร์หรือภูมิปัญญาต่างๆ กับชีวิต อย่างน้อยก็ฉลาดกิน ฉลาดอยู่

เราควรช่วยกัน ทดลองหา แนวทางหลาหลาย เพื่อรวมพล บ่มเพาะ คุณอำนวยในท้องถิ่น หรือ ช่วยกันเล่างาน ความภูมิใจบน บล็อค  ให้มากขึ้น ( มีไปแล้วบ้าง )

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท