HA บรรยายที่ศูนย์อนามัยที่ 8


กิจกรรม 5 ส นี้ผมถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพ นำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือวินัยของเจ้าหน้าที่ หากจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสมสามารถสร้างวินัย 5 ประการตามแนวคิดของ Peter M. Senge ได้ด้วย

                ผมได้รับเชิญจากศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ให้ไปเล่าเรื่องการพัฒนาHAให้ทีมงานของศูนย์ โดยจัด 2 รุ่น เช้า-บ่าย ที่ห้องประชุมของศูนย์  ซึ่งผมเองก็มักใช้สไลด์บรรยายเดิมแต่จะปรับเปลี่ยนไปบ้างตามสถานที่หรือจุดเน้นของผู้เชิญรวมทั้งเวลาที่ต้องบรรยาย ส่วนใหญ่ผมจะเตรียมไว้เกินมากกว่าขาด เพราะถ้าขาดแล้วกลัวว่าไม่รู้จะพูดอะไรต่อ แต่เหตุการณ์แบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเลยเวลามากกว่า แสดงว่ายังเป็นผู้บรรยายที่ไม่ดีเพราะควบคุมเวลาไม่ได้

                ทั้งภาคเช้าและบ่าย ผมใช้สไลด์และการบรรยายชุดเดียวกัน ตอนบ่ายขณะพูดๆอยู่ บางครั้งก็รู้สึกงงๆเหมือนกันว่าอันนี้พูดไปแล้วหรือยัง เพราะรู้สึกเหมือนจะพูดไปแล้ว เนื่องจากเวลาพูดเช้ากับบ่ายห่างกันไม่มากนัก เท่าที่สังเกตผู้ฟังทั้งเช้าและบ่ายก็หลับน้อยมาก (คิดว่าไม่เกิน 5 คน หากพิจารณาเฉพาะเวลา)

                เนื้อหาหลักที่ผมพูดก็จะเป็นการโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ การเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆที่กำลังนิยมกันอยู่ในปัจจุบันและเน้นหนักไปที่ตัวแบบบ้านคุณภาพ ที่มีการพัฒนาคุณภาพ 10 ขั้นตอน คือ

  1. เริ่มต้นที่ฐาน ก็เน้นการทำ 5 ส แบบเข้าใจ เข้าถึงแนวคิดหลักการที่ถูกต้อง ทำให้ลึกลงไปถึงเนื้องานประจำ ไม่ติดที่รูปแบบกิจกรรม ขีดสีตีเส้นและเน้นการทำเป็นทีม ซึ่งกิจกรรม 5 ส นี้ผมถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพ นำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือวินัยของเจ้าหน้าที่ หากจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสมสามารถสร้างวินัย 5 ประการตามแนวคิดของ Peter M. Senge ได้ด้วย ส่งผลให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ง่ายขึ้น
  2. สร้างบ้านน่าอยู่ ทำโรงพยาบาลให้เหมือนบ้านหลังที่สอง ทำที่ทำงานให้น่าอยู่น่าทำงาน สร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง จัดสวัสดิการให้เหมาะสม กฎกติกาของโรงพยาบาลให้ปฏิบัติเสมอหน้ากัน
  3. ผู้บริหารต้องรู้ ยอมรับที่จะทำ ไม่ใช่พยักหน้ายอมรับแต่ไม่ทำจริง ต้องทำหน้าที่ทางการบริหารได้ครบ วางแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการได้ กำหนดทิศทางขององค์การได้ชัดทั้งในระดับโรงพยาบาล และระดับหน่วยงาน
  4. นำสู่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำ ให้ความรู้ตามความจำเป็นที่ต้องใช้ สร้างความฝันร่วมกัน
  5. สามัคคีคือพลัง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักกันโดยใช้กิจกรรมโอดีและมินิโอดี
  6. ตั้งทีมพัฒนา ใช้หลัก 3 ประสานคือทีมนำ ทีมทำ ทีมหนุนหรือทีม 3 ฝัน ตั้งกรรมการอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป กำหนดบทบาทที่ชัดเจน ติดตามงานอย่างเหมาะสม ทีมต่างๆต้องสอดคล้องกับการจัดการกระบวนการของโรงพยาบาล
  7. ค้นหาหลักการ เน้นหลักการง่ายๆคือลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง, ทำงานเป็นทีม, พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทบทวนความเสี่ยงสำคัญก่อนแล้ววางระบบแก้ไข เมื่อทำได้ดีก็จัดทำเป็นเอกสารเพื่อประกันคุณภาพ เมื่อทำไประยะหนึ่งแล้วก็คิดหาวิธีการให้ดีมากขึ้นด้วยกระบวนการCQI
  8. สานสู่การปฏิบัติ โดยทำงานประจำให้ดี มีอะไรให้คุยกันและขยันทบทวน ซึ่งก็เป็นการใช้หลักPDCAนั่นเอง ในส่วนทบทวนความเสี่ยงเริ่มต้นจากการทบทวน 12 กิจกรรมเน้นทำเป็นทีม ประเมินตนเองเพื่อดูว่าตนเองเป็นอย่างไรบ้าง เขียนUnit profileเพื่อให้รู้จักตนเองมากขึ้น หลังจากนั้นก็ดูว่าในแต่ละขั้นแต่ละส่วนมีระบบควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงครบถ้วนหรือยังและเมื่อมีครบแล้วอันไหนที่ควรทำให้ดีขึ้นอีก  อย่าทำกิจกรรมตามคนอื่นเพียงเพื่อให้มีกิจกรรมเท่านั้น จะทำอะไรต้องดูว่าได้ประโยชน์จริงหรือไม่ เหมาะกับโรงพยาบาลตนเองหรือไม่ ฟังคำแนะนำจากคนภายนอกแต่อย่าทำตามทั้งหมดต้องคิดดูก่อนว่าได้ประโยชน์จริงและปฏิบัติได้จริงในโรงพยาบาลของตนเอง
  9. จัดการประเมิน มีการประเมินทั้งจากภายในและภายนอก จากบุคคลภายในเช่นตนเอง,หัวหน้า,ตัวชี้วัด,IS, Facilitators จากลูกค้า เช่นตู้รับฟังความคิดเห็น, แบบประเมินความพึงพอใจ  จากบุคคลที่สามเช่นที่ปรึกษา, ผู้เชี่ยวชาญ,ผู้ประเมิน,ผู้เยี่ยมสำรวจ,ทีมนิเทศ
  10. เดินสู่จุดหมาย มองให้ชัดว่าจุดหมายที่แท้จริงคืออะไร การได้ใบรับรองคุณภาพไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง หากทำเพื่อหวังใบรับรองจะทุกข์เพราะต้องเร่วรัด ต้องคอยระแวงว่าจะไม่ผ่าน ทำให้ต้องยึดตามเกณฑ์ จะเป็นการบีบความคิด หากทำไปเองก็กลัวว่าจะไม่ผ่าน ทำให้ลืมมองความสุขที่เกิดขึ้นในทุกขณะที่ทำเพราะตาและใจมองไปที่ใบรับรองที่ยังมาไม่ถึง และเมื่อได้แล้วก็ทุกข์อีกเพราะกลัวจะต่อใบรับรองไม่ผ่าน ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงจึงควรมองไปที่ประชาชน เจ้าหน้าที่และโรงพยาบาล
                ผมได้ใช้เวลาบรรยายในทั้งสองช่วงเกือบ 3 ชั่วโมงเต็ม แต่ก็ไม่รู้สึกเหนื่อยอะไร เพราะมีความปิติที่ได้เล่าประสบการณ์ที่ทำมาให้เพื่อนร่วมทางหรือกัลยาณมิตรฟัง และหากมีส่วนทำให้โรงพยาบาลอื่นๆสามารถพัฒนาคุณภาพไปได้ดีขึ้นก็จะเป็นสุขมาก
 
หมายเลขบันทึก: 10922เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2005 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เสียงหนึ่งจากศูนย์ 8

ผ่านมา 4 ปีก็ยังทันสมัยกับเนื้อหาของคุณหมอพิเชษฐ์

แต่ขอบอกว่าวันนี้เมื่อได้ลงปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เคยฟังทฤษฎีอย่างเดียว แล้วอ่านบันทึกนี่ของคุณหมอซ้ำทำให้นึกเห็นภาพที่และแนวทางปฏิบัติต่อไปข้างหน้าได้ชัดเจนขึ้น

เพราะที่ผ่านมาก็ยังมีภาพที่คุณหมอเตือนไว้คือ มุ่งจะให้ได้รางวัลจึงเจอปัญหาเครียดหนัก แล้วเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจอย่างจริงจังว่าทำไมต้องรวบรวมความเสี่ยง แล้วจากความเสี่ยงมาต่อเป็นกิจกรรมทบทวนอย่างไร แถมยังไปเพิ่มภาระงานตัวเองซ้ำอีกตอนทำ CQI ก็ไปคิดเรื่องใหม่แทนที่จะหยิบปัญหาที่พบบ่อยๆมาพัฒนา ตอนนี้เลยเป็นระยะหยุดคิดเพื่อตั้งหลักให้มั่นคงอีกครั้ง เพราะเจอ PMQA พอดี ก็เรื่องพัฒนาคุณภาพคือกัน ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท