ชกลม หรือ ชกเป้า


ผมจึงเชื่อว่า ทุกหมัดมีความหมาย ต่อคะแนนทุกทุกคะแนน

เมื่อวานนี้ทีม  สคส.  มีนัดพูดคุยประจำสัปดาห์  เราเรียกมันติดปากว่า  "Weekly Meeting"  การพูดคุยของเราก็จะมีการสอบถามกันกันว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่จะนำมาคุยกัน  แล้วคนที่รับผิดชอบเป็นแม่งาน (ตอนนี้เป็นคุณหญิง-นภินทร   ชื่อเล่นเขา "หญิง" เฉยๆนะครับ  ไม่ได้เป็นคำนำหน้าอะไรเลย  อย่าเข้าใจผิดนะครับ)   ต่อนะครับ        แม่งานก็จะเวียน mail ให้ทุกคนทราบประเด็นที่เราจะคุยกันและทราบว่าใครเป็นเจ้าของเรื่อง   อีกทั้งถือว่าเป็นการเชิญไปในตัว

ส่วนใหญ่  ทั้งอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช และ ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด  จะล๊อค-วันเอาไว้เลยเพื่อร่วมพูดคุยกับทีมงาน   โดยมาก (สำนวนแบบทองแดง) เราจะจัดทุกวันพุธ    แต่เมื่อวานนี้อาจารย์ติดภารกิจอื่นที่สำคัญ   เลยมีเฉพาะอาจารย์ประพนธ์ช่วยเป็นคุณอำนวยใหญ่  ในเวทีนี้

จากการพูดคุยกันเมื่อวาน    เราใช้เวลากับการสนทนาเรื่อง  "ตีความเกณฑ์ตัวชีวัด KM ของ กพร."    โดยเราแบ่งความรับผิดชอบรับไปศึกษาล่วงหน้าคนละ 1 เกณฑ์และในการพูดคุยประจำสัปดาห์ของเราก็จะทะยอยยกขึ้นมาตามลำดับแล้วแต่เวลาจะเอื้อำนวย      ล่าสุด (คือเมื่อวานนี้) เราคุยกันมาถึง  เกณฑ์ตัวที่  4 คือ การวัด การวิเคราะห์และการจัดการความรู้   และเกณฑ์ตัวที่ 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล   โดยมี  อ.กรกฎ เป็นคนนำเสนอเกณฑ์ตัวที่ 4  และ คุณสุภาภรณ์ (เพชร) นำเสนอเกณฑ์ตัวที่ 5  และทีมช่วยกันตีความ

การตีความของเรา   เป็นการบอกกับตัวเองว่า  เราเข้าใจเกณฑ์นั้นว่าอย่างไร   และลองประเมิน  สคส. ตามเกณฑ์นั้นว่าเราได้คะแนนเท่าไร   วิธีการประมาณนี้

ในระหว่างที่เราลองประเมิน  และตีความ   เราคุยมาถึงเรื่อง "ตัวชี้วัด"   ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่สำคัญ  แต่เกณฑ์ที่เราเห็นๆนั้น(โดยทั่วๆไป)   มักจะแข็งไปหน่อย  ทำให้เกิดผลตามมาคือ   คนทำงานจะไม่สนใจเรื่องอื่น  ทั้งๆที่เป็นเรื่องดี   แต่จะให้ความสำคัญกับ ตัวชี้วัด  เพียงอย่างเดียว   สรุปง่าย ก็คือ   

"ผมจะชกเป้าอย่างเดียวเลย  ไม่ชกลมอีกแล้ว"

จากการพูดคุยเกิดแง่มุมดีๆเยอะทีเดียว  เช่น พูดถึงว่า  ตัวชี้วัดอาจจะต้องมีหลายระดับ  อาทิ  ระดับองค์กร  ซึ่งตัวนี้อาจให้น้ำหนักเยอะหน่อย    แล้วก็มีระดับอื่นอีก  แต่ทั้งหมดทั้งปวง  ต้องผูกโยงตัวชี้วัดทุกระดับให้เกี่ยวข้องกันหมด   ต้องซับซ้อนนิดหน่อย    ลึกๆผมยังคิดต่อไปแบบเตลิดเปิดเปิงอีกว่า  ไอ้ตัวชี้วัด เนี่ย!  มันควรจะต้องมีระบบ Update ด้วย   เพราะว่าเวลาเราทำงานจริง  เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้าการเปลี่ยนแปลงของโลก  ของสังคม  ของชุมชน  ขององค์กร  หรือแม้แต่ในครอบครัว  ที่มักจะมีเรื่องราวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    หากเราไม่ update ตัวชี้วัดละก้อ   ดูเหมือนจะไม่ค่อยดี     เพราะบางทีเราคิดว่าตอนที่กำหนดตัวชี้วัดมาครั้งแรกนะ    เราเข้าใจว่ามันดีแล้ว    แต่เมื่อเวลาผ่านไป  เราเห็นตัวอย่างเหตูการณ์ทั้งของเราเอง  หรือที่อื่นที่ทำได้ดีกว่า   สิ่งที่เราเคยเห็นว่าดีที่สุด ณ ตอนนั้น   อาจไม่เหมาะสำหรับตอนนี้ก็ได้     แต่ต้องบันทึกไว้นะครับการเปลี่ยนแปลง หรือ update  มีเหตุผลเบื้องลึกอย่างไร? 

ยิ่งมาตอนที่เราพูดถึงเกณฑ์ข้อที่ 4  ว่าด้วยการวัดผล  การวิเคราะห์  และการจัดการความรู้      ความรู้สึกของเราคล้ายๆกัน    คือ   การจัดการความรู้   ในความหมายตามเกณฑ์   เราคิดว่าถูกให้น้ำหนักน้อยมาก    แต่นั้นยังร้ายเท่า     ที่มองอย่างไรก็ยังเห็นว่า   ความหมายที่ออกมาในโทน "จัดการสารสนเทศ"  มากกว่า "จัดการความรู้"         หากหน่วยงานมองเห็นเป็นโทนนี้ละก็  เขาก็ต้องไปทางนั้นแน่ๆ    และอาจจะมองต่อไปอีกว่า   มันเป็นเพียงติ่งหนึ่ง  ของเกณฑ์ทั้งหมด    ความสำคัญในทางปฏิบัติก็จะลดลงไปอีกหลายเท่าตัว     และหากเป็นอย่างนี้จริง   มันจะไม่ถูกทำให้เป็นเนื้อเดียวกับงานประจำเป็นแน่   

เกณฑ์ข้อที่ 5 ว่าด้วยการมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล     เราเห็นว่าการทำ KM ตามรูปแบบที่เราเชื่อนั้น  มันจะมาโผล่ในข้อนี้มาก    ไม่ว่าจะเป็นระบบ HRM  การเรียนรู้และการสร้างแรงจูงใจ  หรือการสุขและความพึงพอใจของคนทำงาน    

สรุปความเชื่อของผม

เกณฑ์ตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นมาโดดๆ   ในระดับเดียวนั้น    จะต้องเผชิญกับมุมมืดของมัน    คือ  ทำให้คนมองทิศทางการทำงานแบบ "ม้าลำปาง"    ที่ไม่มีโอกาสได้มองความงดงามของสองข้างทางเลย   เพราะมีอาการถูกปิดตาคล้ายๆกัน

คนจะไม่เข้าใจว่า  "การชกลม" นั้น  ไม่ได้แปลว่า  ชกผิด  ชกหวืด!  เสมอไป    

การดึงจังหวะ   เช่น  ชก 1-2, 1-2, 1-2-3    นี่คือ  ลีลา  ที่ทุกท่วงท่ามีความหมาย   การเหวี่ยงลมเพียง 1 จังหวะ  อาจทำให้หมัดตามมีน้ำหนักแรงขึ้น  หรือหลอกล่อให้คู่ชกถลำเข้ามาก็อาจเป็นได้    ผมจึงเชื่อว่า  ทุกหมัดมีความหมาย    ต่อคะแนนทุกทุกคะแนน 

ตัวชี้วัด สำหรับ กรรมการ ก็คงดูที่  เข้าเป้าหรือไม่  มากน้อยเพียงไร

แต่ตัวชี้วัดในแง่ของ ผู้ชม (และกรรมการบางท่าน)  จะมองรวมไปถึง  ท่วงท่า  ลีลา  จังหวะ  มากกว่าการมองว่าเข้าเป้าเพียงอย่างเดียว   ชนะใจคนดู ได้เหมือนกัน

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สคส.
หมายเลขบันทึก: 10913เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2005 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท