โครงการเตรียมความพร้อม : จากการพูดคุยสู่การนำเสนอ (ต่อ)


งานจะเคลื่อนต้องรีบทำ

   เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอะไรอีกแล้วก็ไม่รู้ค่ะ  มันรวนๆจะพิมพ์ต่อก็ไม่ได้  จะ copy งานมาใส่ก็ไม่ได้  ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยต้องรีบส่งที่พิมพ์ๆมาก่อน  กลัวว่าถ้าช้ากว่านี้ข้อมูลที่พิมพ์มาทั้งหมดจะหายไปอีก  ทีนี้ได้นั่งร้องไห้แน่ๆเลย  เพราะ  นั่งพิมพ์อยู่ตั้งนาน

   ขอเล่าต่อเลยนะคะ  หลังจากที่ได้คุยกับทางมสช.แล้ว  เมื่อกลับมาถึงลำปางผู้วิจัยก็รีบเคลียร์งานเฉพาะหน้า  พอว่างก็รีบเขียนโครงการทันที  เพราะ  ตั้งใจเอาไว้ว่าในวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม  2548  ซึ่งเป็นวันประชุมเครือข่ายฯ  จำนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม  ความคริงแล้วคงมีคนสงสัย (ไม่มากก็น้อย) ว่างานของ สกว.ที่เราทำเรื่อง KM อยู่ก็หนักอยู่แล้ว  แล้วยังจะมารับงานของมสช.เรื่องนโยบายสาธารณะอีกซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่มาก  นักวิจัยจะไหวไหม? แล้วชุมชนล่ะจะเอาด้วยหรือเปล่า? ตรงนี้ขออธิบายให้ทราบก่อนนะคะว่าความจริงแล้วทั้ง 2 โครงการนั้นมีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันสามารถทำด้วยกันได้เป็นอย่างดี  เพราะ ถ้าพิจารณาจากเป้าหมายแล้ว KM ของทีมเรามุ่งไปที่การขยายกลุ่มใหม่และการเชื่อมประสานกับหน่วยงานสนับสนุน  ในขณะที่เรื่องนโยบายสาธารณะก็มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน  เราจึงทำงานไปด้วยกันได้  โดยที่นักวิจัยก็ไม่หนักจนเกินไป  ส่วนชุมชนจะเอาด้วยหรือเปล่านั้น  วันประชุมเครือข่ายฯคงรู้กัน  (แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับแกรนนำหลายคน  พบว่า  ทุกคนเห็นด้วย) 

    เอาล่ะ  ตามที่ได้สัญญากันไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้นะคะว่านำเนื้อหาสรุปของโครงการที่เขียนเสนอ มสช. มาเล่าให้ฟัง  (ขอเสนอแต่เฉพาะส่วนสำคัญนะคะ)  สาธุ ! คอมพิวเตอร์อย่ารวนอีกเลยไม่อย่างนั้นคงอดอ่านแน่ๆ

โครงการ การเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่สำหรับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง : กองทุนเพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน

การเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่สำหรับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง : กองทุนเพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน

ที่ปรึกษาโครงการ นายเจริญสุข ชุมศรี  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

                             นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว   พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง

                             ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์ลำปาง

                             ครูชบ ยอดแก้ว  ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนแห่งชาติ

วัตถุประสงค์

         1.เพื่อค้นหาแกนนำภาคประชาชนในการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการภาคประชาชน จังหวัดลำปาง

        2.เพื่อสร้างความเข้าใจ แสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง ในการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการภาคประชาชน จังหวัดลำปาง

กลุ่มเป้าหมาย

       1.ภาคประชาชน ได้แก่ คณะกรรมการและสมาชิกของเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางที่สมัครใจเข้าร่วมการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะจำนวน 25-30 คน

        2.ภาควิชาการ ได้แก่ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดลำปาง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง , มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง , วิทยาลัยโยนก เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงานภาควิชาการอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.ภาคเหนือ) , สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคเหนือ (สวรส.ภาคเหนือ) เป็นต้น (ในระยะเตรียมความพร้อมจะให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นแกนนำก่อน เนื่องจากขณะนี้มีคณาจารย์ที่ดำเนินโครงการวิจัย รวมทั้งให้ความร่วมมือในการฝึกอบรม ให้ความรู้กับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ ชุมชนจังหวัดลำปาง)

        3.ภาคการเมือง ได้แก่ ส่วนราชการ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง , รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง , ปลัดจังหวัดลำปาง , หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง , พัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง , พัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง , สาธารณสุขจังหวัดลำปาง , นายอำเภอทั้ง 13 อำเภอ เป็นต้น ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหาร ส่วนจังหวัดลำปาง , องค์การบริหารส่วนตำบล , เทศบาล เป็นต้น

ระยะเวลาดำเนินการ

        3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2549)

การดำเนินโครงการ

      การดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกเป็นการค้นหาแกนนำ ขั้นที่สองนำแกนนำไปเรียนรู้การบริหารจัดการแนวทางการดำเนินงานที่จังหวัดสงขลา ขั้นที่สามจุดประกายให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง เข้าใจและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการ ภาคประชาชนจังหวัดลำปาง

     1.การค้นหาแกนนำ

      จากสภาพการณ์ของเครือข่ายฯที่มีคนทำงานที่มีความรู้ความเข้าใจและยินดีอาสาสมัครเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมนั้นมีน้อยกว่าปริมาณงาน ดังนั้น หากต้องการพัฒนากองทุนสวัสดิการภาคประชาชนให้เป็นเรื่องสาธารณะจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาแกนนำขึ้นมาเพื่อเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว

     เมื่อเป็นเช่นนี้ในขั้นเตรียมความพร้อมงานที่สำคัญอันดับแรก คือ การค้นหาแกนนำ จากสมาชิกและคณะกรรมการเครือข่ายฯ ซึ่งตั้งเป้าไว้ประมาณ 25-30 คน โดยบุคคลเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ใจที่พร้อมจะทำงานเพื่อสังคม

       สำหรับการดำเนินการเพื่อค้นหาแกนนำนั้น จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2549 โดยจะมีการจัดประชุมใหญ่คณะกรรมการและสมาชิกของเครือข่ายฯทั้งหมด ใช้เวลา 1 วัน ในวันนั้นจะมีการกล่าวถึงสถานการณ์ของเครือข่ายฯและความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนโยบายสาธารณะ นอกจากนี้แล้วจะมีการเชิญหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ คือ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้งครูชบ ยอดแก้ว ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์และเป็นต้นแบบของการทำกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มาบอกเล่าประสบการณ์และชี้แนะแนวทางการดำเนินงานให้กับเครือข่ายฯ หลังจากนั้นจะเป็นการรับสมัครแกนนำที่มีความสนใจเข้าร่วมในโครงการนี้

     2.การเรียนรู้จากตัวอย่างจริง

      เมื่อค้นหาแกนนำได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำแกนนำเหล่านั้นไปร่วมเรียนรู้จากตัวอย่างจริงที่ดำเนินงานด้านกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งการทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนโยบายสาธารณะด้วย นั่นก็คือ กองทุนสัจจะวันละ 1 บาท เพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน ที่จังหวัดสงขลา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักประมาณ 25-30คน สาเหตุที่เลือกช่วงเวลานี้ เพราะ ทางจังหวัดสงขลาจะจัดงานมหกรรมเกี่ยวกับกองทุนสวัสดิการ ภาคประชาชน ซึ่งเป็นงานระดับชาติ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทีมจังหวัดลำปางจะได้เข้าไปเรียนรู้วิธีการดำเนินการ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสถานที่จริง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ รวมทั้งสามารถนำบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาดูงานมาปรับใช้กับการดำเนินงานของเครือข่ายฯได้

     3.จุดประกายความร่วมมือ

       เป็นขั้นตอนการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็น

นโยบายสาธารณะให้เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง

  สำหรับในภาคประชาชนนั้นได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ในขั้นตอนของการค้นหาแกนนำและการการเรียนรู้จากตัวอย่างจริง ส่วนในภาควิชาการนั้น ในระยะเตรียมความพร้อมจะให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นแกนนำก่อน เนื่องจากขณะนี้มีคณาจารย์ที่ดำเนินโครงการวิจัย รวมทั้งให้ความร่วมมือในการฝึกอบรม ให้ความรู้กับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ ชุมชนจังหวัดลำปางอยู่ในขณะนี้ สำหรับภาคการเมือง ในขณะนี้ (ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2548) เครือข่ายฯได้ลงพื้นที่พร้อมกับนักวิชาการเพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นแล้ว (แต่ยังไม่ครบทุกพื้นที่ เนื่องจากการลงพื้นที่ในช่วงเวลานี้เน้นไปที่พื้นที่ที่เครือข่ายฯมีสมาชิกอยู่)

      ดังนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม จะมีการจุดประกายให้ทั้ง 3 ภาคส่วนมีความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ โดยการจัดเวทีใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

      1.ได้แกนนำภาคประชาชนในการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนกองทุน สวัสดิการ

ภาคประชาชน จังหวัดลำปาง

   2.ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง เกิดความเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการภาคประชาชน จังหวัดลำปาง

     3.เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางมีความพร้อมในการปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ

เพื่อขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการภาคประชาชน จังหวัดลำปาง

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10858เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2005 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท