ของดีที่มีอยู่...(ตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์)


บางอย่างก็เกิดความคิดขึ้นมาใหม่ บางอย่างก็คิดว่าเราจะกลับไปแล้วพัฒนาต่อยอด เพราะเรามีของดีอยู่แล้ว

          ระหว่างการเข้าร่วมงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ พวกเราทีมงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มีโอกาสเรียนรู้และได้เห็นเครือข่ายต่างๆ ที่ได้นำเสนอกิจกรรมที่ได้นำการจัดการความรู้ไปปฏิบัติในองค์กรของตนกันอย่างหลากหลาย  

          ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดมีลักษณะของเนื้องานที่เหมือนๆ หรือใกล้เคียงกันกับหลายหน่วย หลายองค์กร โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ทั้งโรงเรียนข้าว,ผัก,การใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมี ฯลฯ ทำให้เราได้เห็นลู่ทางในการกลับไปพัฒนางานของเราอย่างมากมาย บางอย่างก็เกิดความคิดขึ้นมาใหม่  บางอย่างก็คิดว่าเราจะกลับไปแล้วพัฒนาต่อยอด เพราะเรามีของดีอยู่แล้ว  และหนึ่งในจำนวนของดีที่เราคิดว่าเราน่าจะพัฒนาได้ ก็คือ "ตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์" ครับ

            ตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดให้มีตลาดนัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม  2545 โดยจัดให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร นำสินค้าที่ผลิตได้มาจำหน่าย ในทุกเช้าวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่เวลาเช้าของวันอาทิตย์ จนถึงเวลาประมาณเที่ยงวัน       

          ในระยะเริ่มแรก จะมีการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง ( ตรวจอยู่ประมาณ 1 ปี ) จนคิดว่าเกษตรกรที่นำสินค้ามาจำหน่าย มีความตระหนักในความปลอดภัยแล้ว เพราะเป็นตลาดของเกษตรกรเอง  นอกจากนี้ในทุกๆ นัด จะมีการเก็บข้อมูลผลการจำหน่ายตามประเภทของสินค้าที่นำมาจำหน่าย ซึ่งจำแนกเป็นประเภทต่างๆ คือ 

  • อินทรีย์

  • ปลอดสารพิษ

  • ปลอดภัยจากสารพิษ

  • กลุ่มสินค้าแปรรูป

  • กลุ่มสินค้าอื่น ๆ  

          ปัจจุบัน ตัวเลขการจำหน่ายสรุปแล้วจำหน่ายได้ประมาณ 3.5 ล้านบาท  ซึ่งทีมงานก็เคยปรึกษาหารือกันว่า เราน่าจะมีพัฒนาการดำเนินการตลาดนัดนี้ เพื่อสนับสนุนการผลิต และเป็นการประชาสัมพันธ์ ตามจุดประสงค์ของการจัดให้มีตลาดนัดขึ้น และสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะดำเนินการต่อไป เช่น

  • ประชุมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาตลาด
  • ค้นหาแหล่งที่ทำการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ เพื่อให้มีการนำสินค้ามาจำหน่ายให้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น
  • การสุ่มตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลผลิต
  • การประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขมาช่วยตรวจเลือดผู้ผลิตที่นำสินค้ามาจำหน่าย
  • การประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น 
  • หาความรู้จากการดำเนินการตลาดนัดจากที่อื่นๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้/พัฒนา
  • ฯลฯ

         นี่ก็เป็นของดีอีกอย่างหนึ่งที่เรามีอยู่  เป็นตลาดนัดเล็กๆ ที่จำหน่ายบริเวณถนนด้านหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด ที่เราได้ร่วมกันดำเนินการอยู่แล้ว   ทีมงานคงต้องหาวิธีการที่จะให้การเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้บริโภค ประชาสัมพันธ์ และหาเครือข่ายการทำงานเพื่อพัฒนาตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคกันต่อไปครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 10805เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2005 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท