คุยกับ มสช..


การเตรียมความพร้อมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับการทำงานกับชุมชน

    เฮ้! วันนี้ดีใจที่สุดเลย  เพราะ  อินเตอร์เน็ตที่มหาวิทยาลัยใช้งานได้แล้ว  หลังจากที่ใช้งานไม่ได้เป็นเวลากว่าอาทิตย์มาแล้ว  ช่วงเวลาที่ผ่านมาเลยอึดอัดน่าดู  เนื่องจากจะติดต่อใครก็ไม่ได้  (ไม่ได้จริงๆค่ะ  เพราะ  จะติดต่อทางโทรศัพท์ก็ดันลืมเอามาจากกรุงเทพฯ  จะติดต่อทาง Mail ก็ใช้งานไม่ได้) แต่ในความอึดอัดนั้นก็มีความสบายใจอยู่ด้วย  เพราะ  รู้สึกว่าไม่มีใครมารบกวน  ไม่รับรู้อะไรบ้างก็ดีเหมือนกัน  คนที่รู้อะไรไปหมดบางทีก็ไม่ดี  เหมือนอย่างที่มีคนเคยบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง  แต่ก็อย่างว่าอีกนั่นแหละค่ะ  เครื่องมือในการสื่อสารพวกนี้ช่วยให้เราทำงานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น  ช่วยร่นให้ระยะทางที่ดูเหมือนไกลนั้นไกล้เข้ามา  เหมือนอย่างการเขียน Blog นี่ไงคะ  แม้ผู้วิจัยจะอยู่เกือบเหนือสุด  แต่ทีมประสานงานอยู่เกือบใต้สุด  ในขณะที่ทีมวิจัยอื่นๆก็อยู่กระจายตัวกันออกไป  แต่ก็ทำให้เราทราบได้ว่าแต่ละทีมกำลังทำอะไรอยู่  รวมทั้งทำให้เราได้ความรู้  ได้เพื่อนใหม่จาก Blog ต่างๆด้วย

    ตั้งใจเอาไว่ว่าวันนี้จะเล่าเรื่องสุดท้ายของการประชุมเครือข่ายประจำเดือนให้ฟังค่ะ  นั่นก็คือ  เรื่องของการขยายผล  ความจริงแล้วเรื่องนี้มีจุดกำเนิดมาจากการที่ทีมวิจัยจัดการความรู้ของเราได้ทราบว่าทางทีมสงขลานั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้รับการหนุนเสริมงบประมาณจากทาง สสส.อีกทีหนึ่เพื่อให้มาดูแลในเรื่องนโยบายสาธารณะ  โดยทีมสงขลานั้นขณะนี้สามารถเคลื่อนงานได้ทั้งในส่วนของการขยายจำนวนสมาชิก  และการเชื่อมประสานกับหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ  ในตอนแรกทีมของเราก็ยังไม่ได้คิดอะไร  จนกระทั่งคุณสามารถได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณดวงพร               เฮงบุณยพันธ์  ซึ่งเป็นผู้จัดการของมูลนิธิ  ทางมูลนิธิมีความสนใจในเรื่องนี้จึงได้มีการติดต่อพูดคุยติดต่อกันมาระยะหนึ่ง  คุณดวงพรนั้นได้มาร่วมประชุมกับคณะกรรมการเครือข่ายฯแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม  2548  ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ลำปาง  มีผู้มาร่วมงานประมาณ 25 คน  ในวันนั้นคุณดวงพรได้มาเล่าประสบการณ์การทำงานกับทีมสงขลา  รวมทั้งถ่ายทอดการทำงานของทีมสงขลาด้วยบางส่วน  ซึ่งทีมลำปางมีความสนใจมาก  ก่อนกลับในช่วงตอนเย็นทีมลำปางได้พาคุณดวงพรลงไปดูพื้นที่ของกลุ่มแม่ทะป่าตันด้วย  (เสียดายมากที่ผู้วิจัยไม่ได้ไปร่วมงาน  เนื่องจากติดภารกิจที่มหาวิทยาลัย)

    หลังจากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม  2548  คุณสามารถในฐานะประธานเครือข่ายฯและผู้รับผิดชอบโครงการนี้ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อช่วยกันเขียนแผนเพื่อจะส่งโครงการเข้ารับการสนับสนุนจากมสช.  โดยใช้สถานที่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ลำปาง  (เสียดายอีกครั้งค่ะที่ผู้วิจัยไม่ได้เข้าร่วมในงานนี้ด้วย  เนื่องจากติดการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับชาวบ้านอยู่อีกห้องหนึ่ง)  ภายหลังได้เห็นโครงการที่คุณสามารถเขียนขึ้นมา  ได้มีโอกาสอ่านอย่างคร่าวๆแต่ก็ไม่ได้เสนอความคิดเห็นอะไรออกไป  เพราะ  คิดว่ายังไงก็คงจะมีการปรับอีก

   ในวันที่ 9 ธันวาคม  2548  ทางมสช.ก็ได้เชิญผู้วิจัยและคุณสามารถ  รวมทั้งพ่อชบ  ยอดแก้วและ  อาจารย์สุกัญญา (ทีมสงขลา)  ให้ลงไปพูดคุยกันที่มูลนิธิฯ  เริ่มคุยกันประมาณ 11.00น.  จบการสนทนาเวลาประมาณ 14.30 น.  (เนื่องจากเวลาน้อยระหว่างรับประมาณอาหารกลางวันก็คุยกันไปด้วย)  บรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปอย่างกันเอง  เราได้รับความรู้หลายอย่างจากทีมสงขลา  อาจารย์สุกัญญาเตรียมข้อมูลมานำเสนอได้ดีมาก  สั้น  กระชับ  เข้าใจง่าย  สิ่งหนึ่งที่ผู้วิจัยได้จากการประชุมก็คือ  เราคงต้องหารูปแบบการบริหารจัดกหารที่เหมาะสมกับเรา  จะเลียนแบบทีมสงขลาไม่ได้ทั้งหมด  เนื่องจากมีเงื่อนไขหลายอย่างที่แตกต่างกันมาก  เช่น  ที่สงขลาคนไม่ค่อยตาย  ดังนั้น  จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการจ่ายเงินสวัสดิการการตาย  ในขณะที่ลำปางคนตายมาก  เฉลี่ยในแต่ละเดือนจะมีคน 1,000 คนจะตาย 1 คน  (จากสถิติที่เครือข่ายฯเก็บข้อมูลมา)  เป็นต้น  ดังนั้น  ลำปางคงต้องหาทางแก้ไขในส่วนนี้ว่าถ้าหากเงินสวัสดิการ 50% ไม่พอสำหรับการจ่ายสวัสดิการเราจะทำอย่างไรกันต่อไป  เพราะฉะนั้นตอนนี้เครือข่ายฯต้องพยายามทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด

   ข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุย  คือ  คุณดวงพรเสนอแนะว่าก่อนที่ลำปางจะทำนโยบายสาธารณะในเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน  อยากให้มีช่วงเวลาของการเตรียมการก่อน  โดยทางมสช.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด  พวกเราจึงมาช่วยกันนั่งคิดว่าจะเตรียมการอย่างไร  ในที่สุดก็สรุปได้ว่าใน 3 เดือนแรก  คือ  มกราคม-มีนาคม  2549  จะเป็นช่วงเตรียมการ  โดยเดือนมกราคมขอให้เป็นการค้นหาแกนนำของลำปางก่อน  หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์แกนนำจะต้องไปศึกษาดูงานที่สงขลา  (ในเดือนกุมภาพันธ์  สงขลาจะจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้พอดี)  ส่วนเดือนมีนาคมจะเป็นส่วนของการจุดประกายไปยังหน่วยงานสนับสนุน  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  เป็นการนำองค์กรชุมชน  หน่วยงานภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และภาควิชาการ  มาคุยกันในเรื่องนี้ 

   เมื่อได้ข้อสรุปเช่นนี้แล้ว  ผู้วิจัยได้รับมอบหมายให้มาเขียนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอมาให้ทางมสช.พิจารณา  อ้อ! เกือบลืมไป  ในการสนทนาครั้งนี้  คุณดวงพรได้บอกตอนหนึ่งว่า    ทางมสช.ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน  ประกอบกับการทำงานของมสช.ที่ผ่านมาจากการประเมินผลงานต่างๆพบว่า   ถ้าหากชุมชนทำงานแล้วให้นักวิจัยประกบเพื่อประเมินงานจะออกมาดี  และมีประโยชน์มาก  (คงเหมือนกับที่มีคนเคยบอกว่าชุมชนปฏิบัติเป็นแต่เขียนไม่เป็น  ในขณะที่นักวิชาการเขียนเป็น  มีความรู้  มีแนวคิดทฤษฎีเต็มไปหมด  แต่ปฏิบัติไม่เป็น  ถ้าสองส่วนนี้ประสานกันได้  และทำงานอย่างเกื้อกูลกัน  งานก็จะออกมาดี)  ดังนั้น  ทางมูลนิธิจึงตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่าถ้าหากจะให้การสนับสนุนทีมลำปางจะต้อง

   1.พ่อชบ  ต้องรับเป็นที่ปรึกษาโครงการ

   2.ต้องลงไปศึกษาดูงานที่สงขลา

   3.ต้องมีนักวิชาการทำงานกับชุมชน

   เมื่อได้ข้อสรุปแล้วผู้วิจัยได้นัดหมายกับคุณจักรกฤษณ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบว่าจะส่งโครงการมาให้ดูภายใน 1-2 อาทิตย์นี้  ดังนั้น  หลังจากกลับจากการพูดคุยผู้วิจัยจึงเริ่มเขียนโครงการทันที  หลังจากนั้นจึงนำโครงการไปนำเรียนให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ท่านเจริญสุข  ชุมศรี)  และท่านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง (ท่านปิ่นชาย  ปิ่นแก้ว) ทราบ  ทั้งสองท่านเห็นดีด้วยกับโครงการนี้และรับเป็นที่ปรึกษาโครงการให้ค่ะ

  

   )

   

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10775เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2005 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท