คนไกลเบอร์เก่า


โรคใจล็อคนี่มันจะทำให้เรามองไม่เห็นความสำคัญของคนใกล้ชิด เพราะถูกล็อคให้นึกถึงแต่คนที่อยู่ไกลๆ

            หลายท่านคงรู้สึกคุ้นๆกับชื่อบันทึกที่ผมนำเสนออยู่นี้  ก็เป็นชื่อเพลงๆหนึ่งของคุณพลพล พลกองเส็ง ชุดที่ 5 พลพลคนกันเอง ที่ผมและครอบครัวชอบกันมาก ลูกๆร้องกันได้ทุกคน ผมเองพอได้ฟังดนตรีและเนื้อร้องก็ชอบมากเพราะเป็นสไตล์ลูกทุ่งด้วย เป็นเพลงร้องโต้ตอบกันของชายหญิง โดยคุณพลพลร้องคู่กับคุณต่าย อรทัย มีเนื้อร้องบางส่วนที่พอจำได้บ้าง

ชาย โทรหา คนดีที่อยู่บ้านเรา ด้วยเบอร์โทรเก่า น้องสาวยังจำได้ไหม

หญิง มือถือเครื่องนี้ไม่เคยลบเบอร์พี่ชาย ตั้งแต่จากบ้านเราไป บอกเอาไว้แต่ไม่โทรมา

ชาย คิดถึงแต่ถูกฉุดดึงด้วยงาน ทุกคนทางบ้านเข้าฝันแม่ยามหลับตา

หญิง พ่อแม่พี่น้อง ทุกคนก็รอเวลา ดีใจพี่ชายโทรมา ให้รู้ว่ายังห่วงใย

ชาย ดูข่าวทีวี ปีนี้บ้านเราฝนแล้ง

หญิง แต่คนยังแกร่ง เพราะยังไม่แล้งน้ำใจ

ชาย ห่วงพ่อและแม่ มีคนดูแลหรือเปล่า

 หญิง น้องทำกับข้าว ไปส่งท่านไม่เคยดูดาย

ชาย  “ฝากดูแลด้วยนะ

หญิง   เรื่องนี้ให้วางใจได้

ชาย  “อีกไม่นานก็คงกลับไป

หญิง บอกทีไรเงียบไปทุกที

                ผมฟังเพลงนี้แล้วก็ชอบ เลยนำมาเกริ่นลงในบันทึกนี้  ที่ต้องการสื่อคือเรื่องของโทรศัพท์ ที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งเราก็รู้ๆกันอยู่ แม้แต่ผมเองตอนที่จีบภรรยาก็ได้อาศัยโทรศัพท์นี่แหละเป็นสื่อเพราะไม่สามารถไปหาได้ ทำงานไกลกันเกือบสองร้อยกิโลเมตรและที่สำคัญเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลคนเดียว ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่เวรทุกวัน

                แต่ด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดโทรศัพท์มือถือขึ้น ส่งผลดีแก่ผู้ใช้มากมาย รวมทั้งเทคโนโลยีที่เจริญขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โทรศัพท์มือถือทำได้มากกว่าโทรศัพท์ จนกลายเป็นปัจจัยที่ 6 รองจากปัจจัยที่ 5 คือรถยนต์  ตอนนี้ใครไม่มีโทรศัพท์มือถือจะเป็นเรื่องแปลก บางคนมีตั้งหลายเครื่อง มีการใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างมาก ทั้งความอยากส่วนตัวและความอยากจากการกระตุ้นของบริษัทมือถือค่ายต่างๆ  การกำเนิดของโทรศัพท์มือถือได้เริ่มปฏิวัติสังคมมากขึ้น คนที่นั่งอยู่ตรงหน้ากันหรืออยู่ข้างๆกัน กำลังคุยทั้งคู่แต่ไม่ได้คุยกัน คนใกล้ไมได้คุยแต่คุยกับคนอีกที่หนึ่ง คนในบ้านคุยกันน้อยลงแต่คุยโทรศัพท์กับคนนอกบ้านมากขึ้น ดึงเวลาของครอบครัวออกไปอย่างมาก

                นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือเริ่มทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายด้วยที่เรียกว่านิ้วล็อค แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าใจล็อค โรคใจล็อคนี่มันจะทำให้เรามองไม่เห็นความสำคัญของคนใกล้ชิด เพราะถูกล็อคให้นึกถึงแต่คนที่อยู่ไกลๆ

                โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าใช้กันมากเกินไป ก็จะเกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจได้  ผลของโทรศัพท์มือถือมีผลต่อความเครียดของคนอย่างมาก เวลาพักผ่อน ผ่อนคลายอย่างสงบๆน้อยลง ทำให้คนอดทนน้อยลง ความสามารถในการรอคอยลดลง ส่งผลให้ความเกรงอกเกรงใจคนอื่นลดลงไปด้วย เราจะเห็นได้ว่า ขณะอยู่ในห้องสมุด ในรถเมล์  ในห้องเรียน ในห้องประชุม จะมีคนพยายามใช้โทรศัพท์รบกวนคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งบ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือคอขาดบาดตายอะไร  เรื่องความเครียดนี้ลองสังเกตดูว่าเวลาเรากดโทรศัพท์หาใครแล้วโทรไม่ติดหรือติดแต่ไม่มีคนรับสาย จะส่งผลให้เราเกิดความหงุดหงิดและความวิตกกังวลขึ้นมาได้ หรือเวลาที่เราเลิกงานแล้วหรือวันหยุด ขณะพักผ่อน เราอาจถูกโทรศัพท์เรียกตัวหรือรบกวนอยู่เป็นระยะๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดแก่ร่างกายและจิตใจ พอนานๆไปก็จะส่งผลทำให้เกิดความเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคกายที่เกิดจากจิตใจได้ (Psychosomatic disorders)

                การปิดโทรศัพท์มือถือบ้าง จะช่วยลดความเครียดในชีวิตลงได้
หมายเลขบันทึก: 10754เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2005 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท