ตำบลละแสน (ตอนจบ ภาคที่1)


เงินจากภายนอก : บทพิสูจน์ความเข้มแข็งของเครือข่าย

    จากลำปางไป 2-3 วันรู้สึกว่าอะไรๆก็เปลี่ยนไป  อย่างแรกสุด  สุดแสนจะประหลาดใจที่วันนี้ฝนตก  (หลังจากที่ไม่ตกมานาน)  อากาศก็ยิ่งเย็นลงไปอีก  แถมมีหมอกลงด้วย  เพื่อนอาจารย์บางคนบอกว่าอยู่ลำปางมาจะ 6 ปีแล้วก็เพิ่งได้เห็นและสัมผัสอากาศแบบนี้  วันนี้ช่วงเช้าเข้าไปคุมสอบจนถึงเที่ยงครึ่ง  ได้มีโอกาสอ่านคำตอบ (แบบผ่านๆ) ของนักศึกษาแล้วรู้สึกหนักใจมาก (ในตอนแรก)  เพราะ  นักศึกษาเขียนกันไม่ได้เลย  (ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ)  ทั้งๆที่เวลาสอนก็ดูเข้าใจดี  ความจริงปรากฎการณ์อย่างนี้ผู้วิจัยเห็นว่าคงเป็นแนวโน้มของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน  ทำให้มาลองคิดวิเคราะห์ดูว่าสาเหตุที่นักศึกษาเขียนกันไม่ค่อยได้เป็นเพราะอะไร  เราในฐานะครูบาอาจารย์จะแก้ไขอย่างไร  ในการวิเคราะห์นั้นก็ได้ชวนอาจารย์ท่านอื่นมาร่วมพูดคุยด้วย  ต่างแสดงความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันว่า  อาจเป็นเพราะ นักศึกษาในสมัยนี้ไม่ถนัดทักษะการเขียน  เราอาจวัดผลนักศึกษาโดยใช้วิธีการสอบโดยการเขียนเป็นหลักจึงทำให้ผลเป็นอย่างนี้  ผู้วิจัยได้เสนอว่า  ความจริงเราน่าจะวัดผลแบบอื่นๆบ้าง  เช่น  ให้พูดมากขึ้น  (สอบปากเปล่า)  แต่ก็มีผู้แย้งว่าทักษะการเขียนเป็นเรื่องที่สำคัญ  ถ้าเราไปให้ความสำคัญกับทักษะอื่นมาก  เด็กก็จะยิ่งเขียนไม่ได้  การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ทำให้ผู้วิจัยเห็นว่าความจริงแล้วการวัดผลแบบต่างๆหรือด้วยวิธีการต่างๆนั้นครูอาจารย์เป็นผู้กำหนดเสียเป็นส่วนใหญ่  แต่เราแทบจะไม่เคยถามเด็กเลย  หรือถ้าถามเด็กมักจะไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น  ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เราปลูกฝังให้เด็กต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่  จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี  แต่ถ้ามากไปก็จะเป็นผลเสียได้ 

    หลังการสนทนาผู้วิจัยมานั่งคิดต่อว่าทำไมตัวเองจึงคิดได้เช่นนี้และกล้าแสดงความคิดเช่นนี้ซึ่งปกติแล้วไม่ใช่นิสัยของผู้วิจัยเลย  คำตอบที่บอกกับตนเองก็คือคงเป็นผลมาจากการได้ทำงาน KM (จริงๆนะคะ) การทำงานกับชุมชน  การเข้าร่วมกิจกรรมกับทีมประสานงานทำให้ความคิดกล้าเข็งขึ้น  คิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น  (แต่อาจยังเขียนไม่เป็นระบบ)  รวมทั้งพยายามหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ  อย่างปัญหานักศึกษาเขียนไม่เป็นก็เช่นกัน  ตอนแรกผู้วิจัยก็วิตกมาก  รู้สึกเครียด  แต่พอนั่งสงบ  แล้วใช้สมาธิ  แสงสว่างทางปัญญาก็เกิดขึ้น  ผู้วิจัยคิดว่า  ทีมสงขลาขนาดเป็นองค์กรชาวบ้านเขายังเขียนกันได้เลย  แล้วทำไมนักศึกษาซึ่งรำเรียนมาตั้งมากจะเขียนไม่ได้  เพียงแต่ตอนนี้นักศึกษาอาจมีปัญหาบางอย่างหรือติดขัดบางอย่าง  เช่น  ไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร  เริ่มต้นไม่เป็น  สรุปไม่ลง  ถ้าอย่างนั้นเราต้องหาทางแก้ไข  เครียดไปก็ไร้ประโยชน์  คิดได้อย่างนี้ผู้วิจัยก็เริ่มค้นหาวิธีการที่จะฝึกให้นักศึกษาเขียนเป็น  ในที่สุดก็ "ปิ๊งแว๊บ" ขึ้นมาว่าสมัยเรียนปริญญาโท  อาจารย์สอนภาษาอังกฤษเคยทำแบบฟอร์มสั้นๆประมาณ 1 หน้าให้กับนักศึกษา  โดยในการเขียนแต่ละครั้งนักศึกษาต้องหัดเขียนตามแบบฟอร์ม  คือ  เริ่มต้นจากการตั้งชื่อเรื่อง  ต่อจากนั้นก็กำหนดเนื้อหาสำคัญหรือจุดสำคัญของเรื่องให้ได้ (เปรียนบเสมือนส่วนนำ)  หลังจากนั้นก็เข้าเนื้อหา  โดยเนื้อหาในแต่ละส่วนต้องมีประโยคจึงเป็นโฟกัสของแต่ละย่อหน้า  จากนั้นค่อยเขียนขยายจุดโฟกัส  (ซึ่งก็คือส่วนเนื้อเรื่อง)  สุดท้ายเป็นการสรุปใจความสำคัญของเรื่อง  ผู้วิจัยคิดว่าจะทดลองนำไปให้นักศึกษาฝึกเขียนบ้าง  เชื่อว่าหากฝึกไปเรื่อยๆความชำนาญก็จะเกิด  เหมือนกับ KM ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้

   เอาละ  เขียนเล่าสัพเพเหระมาตั้งนาน  มาเข้าเรื่องของเราดีกว่าค่ะ  วันนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องตำบลละแสน  ภาค1 ให้จบ  ขอเล่าต่อเลยนะคะ  ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน  ผู้วิจัยได้คุยกับคุณสามารถในเรื่องสถานที่จัดประชุม  เพราะ  คุณสามารถได้บอกกับท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและท่านพมจ.ว่าจะจัดที่ห้องประชุมเทศบาลนครลำปาง  แต่ผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะหาสถานที่ที่เป็นหน่วยงานกลางดีกว่า  ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะไปใช้สถานที่ที่ มธ.ศูนย์ลำปาง

   ในวันรุ่งขึ้น  คือ  วันอังคารที่ 20 ธันวาคม  2548  เวลาประมาณ 19.30น.  ผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ฉัตรได้ไปร่วมประชุมที่บ้านคุณสามารถตามที่ได้นัดหมายกันไว้  วันนี้ก็ยังคงพร้อมหน้าพร้อมตา  มีรองประธานมาประชุม 3 คน  (ขาดดาบไพศาล)  คุณชายและอาจารย์จรัส  (ประธานกลุ่มหมอสม) ก็มาร่วมด้วย  ขอสารภาพก่อนว่าผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์อยู่ร่วมประชุมได้เพียง 1 ชั่วโมงก็ขอตัวกลับ  เพราะ  พรุ่งนี้มีสอน 

   สำหรับเนื้อหาของการประชุมนั้นมุ่งไปที่การเตรียมการข้อมูลเรื่องตำบลละแสน  คุณสามารถแสดงความห่วงใยว่าเกรงข้อมูลจะไม่เรียบร้อย  เพราะ  พูดเรื่องข้อมูลมา 2 ปีแล้วไม่เรียบร้อยเสียที  ขอให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นช่วยกันหน่อยว่าจะทำอย่างไรให้ทันวันที่ 11 มกราคม  2549  ปรากฎว่าไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเลย  ผู้วิจัยซึ่งตั้งใจว่าจะไม่พูดอะไรก็เลยต้องละเมิดความตั้งใจของตัวเอง  โดยเสนอเหมือนกับทุกครั้งที่พูดเรื่องนี้  คือ  ควรให้รองประธานซึ่งดูแลกองทุนต่างๆ  รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบของเครือข่ายเข้าไปตรวจสอบทีละกลุ่ม  โดยกำหนดวันที่จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ  แล้วแจ้งให้แต่ละกลุ่มทราบว่าเครือข่ายฯจะลงไปในช่วงนี้  ให้แต่ละกลุ่มเสนอว่าจะให้เครือข่ายไปกลุ่มของตัวเองวันไหน  (แต่ต้องอยู่ในกำหนดด้วย)  ถ้าไม่อย่างนั้นเรื่องคงไม่จบ  ยิ่งเวลาเหลือน้อยอย่างนี้  ยิ่งต้องจี้  (ทั้งๆที่ไม่อยากทำอย่างนี้เลย  แต่เหตุการณ์บังคับก็ต้องทำ)  ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิจัย  (นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ไม่ค่อยอยากจะเสนออะไร  เพราะ  รู้สึกว่าหากเสนอไปแล้ว  คณะกรรมการก็มักจะเห็นด้วย  ซึ่งในความเป็นจริงเขาอาจไม่เห็นด้วยก็ได้  แต่ไม่อยากขัดใจผู้วิจัย  เหมือนเป็นการชี้นำยังไงก็ไม่รู้)  หลังจากได้ข้อสรุปในเรื่องนี้แล้วคณะกรรมการก็พักเพื่อทานข้าวเย็น  แต่ผู้วิจัยขอตัวกลับก่อน  เพราะ  ต้องรีบไปเตรียมสอน  แต่จากการโทรศัพท์สอบถามถึงเรื่องที่คุยกันต่อหลังทานข้าวว่ามีเนื้อหาเพิ่มเติมหรือไม่  ทราบจากผู้เข้าร่วมประชุมว่าตกลงจะเริ่มลงตรวจในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม  ที่กลุ่มนาก่วมใต้  และวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม  ที่กลุ่มสบตุ๋ย  หลังจากนั้นจะใช้เวลาในช่วงเย็นลงกลุ่มอื่นๆแต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นกลุ่มไหน

   ความจริงแล้วเรื่องตำบลละแสนน่าจะจบภาคหนึ่งแค่นี้  แต่ผู้วิจัยเพิ่งได้รับการบอกเล่าจากคณะกรรมการคนหนึ่งว่าเงินที่ได้สมทบมาประธานฯบอกว่าจะนำมารวมกันเป็นกองทุนที่เครือข่าย  ซึ่งทางกลุ่มไม่เห็นด้วย (แต่ไม่กล้าแย้ง)  เพราะ  คิดว่าเงินน่าจะลงมาที่แต่ละกลุ่มเพื่อให้กลุ่มบริหารจัดการเองจะดีกว่า  ผู้วิจัยได้ยินเช่นนี้ก็รู้สึกไม่สบายใจ (อีกแล้ว)  เพราะ  ยังไม่ทราบข้อมูลในเรื่องนี้  แต่หากเป็นดังที่คณะกรรมพูด  ผู้วิจัยขอตั้งข้อสังเกตไว้ข้อหนึ่งก็แล้วกันว่า  เงินตำบลละแสนที่จะได้มานั้นเป็นเงินที่มาจากภายนอก  ซึ่งครั้งหนึ่งเครือข่ายก็เคยได้รับเงินหนุนเสริมจากภายนอกเช่นนี้  แต่เงินที่ได้มากลับทำให้เครือข่ายแตกแยก  เงินตำบลละแสนในครั้งนี้จะซำรอยเดิมหรือไม่  นี่คือ  บทพิสูจน์ความเข้มแข็งของเครือข่ายที่สำคัญอีกบทหนึ่งทีเดียว

    

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10724เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2005 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท