เรียน-รู้


เมื่อครั้งที่ผู้เขียนริเริ่มจัด "ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา"
เมื่อสิบปีก่อน
หลายๆ คนมักสงสัยใคร่รู้ ว่า "ธรรมยาตรา" คืออะไรกันแน่

คุยกันไปสักพัก
พออธิบายแนวคิดหลัก รูปแบบ และเนื้อหา ของ "ธรรมยาตรา" ให้ฟัง
ทั้งเขา(และเธอ) ก็สรุปรวบรัด(ตามถนัด) ว่า...

"อ๋อ! คือการเดินเพื่อรณรงค์นั่นเอง!!"

มิไยที่ผู้เขียนจะพยายามขยายความ
พยายามชี้ชวน ให้เห็น หรือสังเกต
ว่า "ธรรมยาตรา" คือ "กระบวนการเรียนรู้เชิงพุทธ" ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ปิยมิตรเหล่านั้นก็ "ฟัง" แต่ "ไม่ได้ยิน" เสียแล้ว...

ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้เขียนอ่อนด้อยในการ "เล่าเรื่อง-อธิบายความ"
แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ "คนอย่างเราๆ" มัก "ติดกับดัก" บางประการ

กับดักของความทรงจำ
กับดักของประสบการณ์
กับดักของข้อสรุป
กับดักของความเคยชิน-การทำซ้ำ
ตลอดจนกับดักของความชอบและความชัง
.............ฯลฯ.............

ต่อมา...
เมื่อ ๓ ปีก่อน ผู้เขียนเชิญชวนใครต่อใคร
มาจัด "ธรรมยาตรารักษา..ลำน้ำโขง"
จากเชียงราย ผ่านหลวงพระบาง ไปเวียงจันทน์ ขึ้นอีก
(เพื่อร่วมกันเรียนรู้ กรณีที่รัฐบาลจีนพยายามกดดัน
ให้ประเทศท้ายน้ำยอมระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงให้เรือจีนออกทะเลใหญ่โดยตรงอีกทาง)

ในวันเวลาใกล้เคียงกับปัจจุบัน
ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จัก "ธรรมยาตรา" กันมากขึ้น(บ้าง)แล้ว
ว่า.. คือ "การเดิน"(ฮา*)

จึงมีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก ว่า...
"ทำไมธรรมยาตราลำน้ำโขงจึงนั่งเรือ? ทำไมไม่เดิน? ไม่เดินจะเรียกว่าธรรมยาตราเหรอ?"

สรุปว่า
"ธรรมยาตรา" นั้นพอจะติดตลาดอยู่บ้าง
หลายคนจำได้ หลายคนเอาไปใช้ และหลายคนสรุปได้
ว่า

 "ธรรมยาตรา" คือ "การเดิน" (ฮา)

น่าสนใจว่า "ความหมาย" นอกเหนือจาก "รูปแบบ" นั้น
"หายไปไหน?"
ถูกปัดทิ้ง เลือนหายไป หรืออะไรกันแน่...

เพราะหลายต่อหลายครั้ง
ที่ทั้งผู้เขียนและคณะผู้จัดพยายาม "อธิบาย" ให้กันและกันฟัง
ตลอดจนให้คนอื่นๆ ฟัง ว่า...

 "ธรรมยาตรา" คือ "กระบวนการเรียนรู้เชิงพุทธ"
ที่นำ "ผู้เรียน" ไป "สัมผัส" และ "ผ่าน" ประสบการณ์จริง(และตรง)
ด้วยตนเอง เพื่อให้ประจักษ์ต่อข้อมูล และปัจจัยแวดล้อม
ในลักษณะของการ "ใช้ชีวิต" และ "ทำกิจกรรม" ร่วมกัน
ภายใต้กรอบและข้อตกลง ที่ทุกคนช่วยกันกำหนดขึ้น
เพื่อความ "ตระหนักรู้" และการ "เปลี่ยนแปลง" ด้านใน
...........................ฯลฯ...................................

"รูปแบบ-วิธีการ" ยังอยู่ในความทรงจำ
แต่ "เนื้อหาสาระ" ดูเหมือนมีเพียงบางกลุ่มหรือบางคนเท่านั้น
ที่ยังพอจะรักษาไว้ได้

นี่อาจเป็น "เงื่อนปม" บางอย่าง
ที่ "ผู้รู้" จะนำไปไตร่ตรอง หรือนำไป "จัดการ" อย่างหนึ่งอย่างใด
ทั้งต่อ "ผู้เรียนรู้" และ "กระบวนการเรียนรู้" ในวงกว้าง

ส่วนผู้เขียนที่เป็นคนเล็กคนน้อย มีสติปัญญาน้อย
คงทำได้แค่(เดิน)ธรรมยาตราต่อไป...

............................
*หมายเหตุ

สงสัยเล็กๆ ว่า...
ข้อเขียนของพระมีวงเล็บ "ฮา" จะน่าเกลียดไหม? :-)

สมัยหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสให้สัมภาษณ์พระประชา ปสนฺธมฺโม
ว่า..ท่านเคยคิดจะลงท้ายการเทศน์โดยร้อง "ตุ๊กแก!!" ดูบ้าง
ว่าคนฟังจะแสดงท่าทีอย่างไร...แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทดลองจริงๆ สักที

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 107เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2005 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมคิดว่าพระ "ฮา" ได้ครับ เป็นการแสดงให้เห็นใจที่เบิกบาน

ขอบคุณมากสำหรับความคิดเห็น
เอาเป็นว่า.. อาตมาจะ "แสดงให้เห็นใจที่เบิกบาน" เป็นระยะ ก็แล้วกัน :-)

ถ้าไม่มี "ข้อคิดเห็น" ของคุณ Thawatchai
อาตมากำลังคิดไปว่า..

น่าจะไม่มีใครเข้ามาอ่านเลย แหะๆ

ดิฉันติดตามอ่านอยู่เช่นกันคะ และคิดว่าหลักคำสอนของศาสนาพุทธสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดียิ่งคะ

ส่วนในด้านระบบของ GotoKnow อีกไม่นานเราจะเพิ่มการแสดงจำนวนผู้เข้าชมบล็อกให้คะ

ขอขอบคุณสำหรับการติดตามอ่าน
และขอแสดงความชื่นชม
ต่อความตั้งใจในการพัฒนาระบบ
ของคุณจันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท