AAR ตลาดนัดความรู้อาชีวะแก้จน รุ่น 2 (18-21 ธันวาคม 2548)


อาชีวะแก้จน

ความคาดหวังของผม

เห็นความมั่นใจของอาจารย์อาชีวะ  กล้าที่จะเริ่มใช้ KM ในงานที่รับผิดชอบ   แม้คิดว่ายังไม่ค่อยเข้าใจดีนัก    การลงมือทำเท่านั้นครับ  ผลงานจะเป็นสิ่งที่บอกเราว่า "เราเข้าใจหรือไม่?"

เกินคาด

จากการพูดคุยนอกเวที  เห็นแววบางท่านครับ  ที่ได้มาคุยเล่าให้ฟังว่าจะเอา KM ไปใช้ในงานอย่างไรบ้าง?  เช่น  แต่เดิมโครงการ Fix IT Center ไปให้บริการ  ซึ่งมีรูปแบบ "การให้"  เป็นส่วนใหญ่  ต่อไปจะไปปรับวิธีการให้ชาวบ้าน  หรือนักเรียนที่แก้ปัญหาในการซ่อมเครื่องมือ  เครื่องยนต์  เครื่องจักร  มาเล่าเรื่องว่าทำได้อย่างไร  แก้ไขปัญหาในตอนนั้นอย่างไร  มีอุปสรรคในขณะนั้นอย่างไรบ้าง   เก็บรวบรวมเป็น "ขุมความรู้"  เป็นต้น

การดูงานโรงเรียนชาวนา + ฟังเรื่องเล่าจากมูลนิธิข้าวขวัญ   และกลับมารวบรวมขุมความรู้  และนำเสนอเป็นกลุ่มย่อย    ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เห็น  สิ่งที่ประทับใจ  สิ่งที่ต้องปรับ   จากกรณีโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์   อ. เมือง  จ. สุพรรณบุรี       สิ่งเหล่านี้ช่วยให้อาจารย์จากอาชีวะเห็นวิธีการกระตุ้นการเรียนรู้ของชาวนา    เห็นศักยภาพของชาวนา และเริ่มเข้าใจว่าคนทุกระดับมีความรู้เดิมอยู่  หากจัดการดีๆทำให้ความรู้เก่า + ความรู้ใหม่จะได้ความรู้ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น    แต่ต้องมีการออกแบบกระบวนเรียนรู้อย่างปราณีต

ต่ำกว่าคาด

มีอาจารย์หลายท่านยังกังวลอยู่กับตัวชี้วัด  เช่น  คนจนที่ลงทะเบียน  270 รายต่อพื้นที่   หรือ  ระยะเวลา 4 เดือนที่ต้องทำ      เพราะการที่มีความรู้สึกเหล่านี้เป็นใหญ่กว่า  "ความรู้สึกสร้างสรรค์"  ละก้อ!   เรื่องของคุณภาพคงไม่ต้องคาดหวังอะไรมากมาย      เพราะความรู้สึกว่า  "ต้องทำให้เสร็จ"   กับความรู้สึกว่า  "ต้องทำให้ดี"    มันอยู่ในสภาวะที่ต่างกัน    

จุดนี้  ผู้บริหารโครงการ หรือคณะทำงานของโครงการ  ต้องขบคิดว่าจะบริหารอย่างไร  ไปทิศทางไหนดี   ไม่ลุกลี้ ลุกลนมากเกินไป   มีจุดยืนชัดเจน     สร้างความมั่นใจให้กับคนทำงาน  กล้าที่จะสร้างสรรค์งาน     แต่เมื่อเจอรุ่น 2   ความรู้สึกนี้ไม่ได้น้อยกว่าไปกว่า  รุ่น 1 เลย    ผมเกรงว่าหากโครงการนี้อยู่ในสภาวะอย่างนี้ไปเรื่อยๆ    ก็คงจะไม่แตกต่างโครงการเดิมๆ   ที่ออกมาด้วยนโยบายหวือหวา    ทำแบบ One-Short  แล้วก็ค่อยๆจางหายไปไม่มีใครสนใจกลับไปดูมันอีก    ตกร่องอยู่ในวัฏจักรเดิมไปอีกนานแสนนาน....      รู้สึกเห็นใจคนทำงานจริงๆครับ

ควรจะปรับในครั้งต่อไป

คณะทำงานส่วนกลางน่าจะมีการทำ  AAR  หลังเสร็จงานประจำวัน  (ประมาณ 15 นาที) เพราะจะได้ปรับกระบวนแบบวันต่อวัน 

การกำหนดตัวบุคคล  เช่น  ใคร คือ คุณอำนวย  คุณลิขิต ประจำกลุ่ม  ควรจะต้องชัดเจนก่อนเริ่ม workshop  เพราะการที่มาหาเอาในวันที่เริ่มนั้น  มันเป็นการเสี่ยงที่จะจับผิดจับถูกตัวได้    และคนเหล่านี้  ได้ต้องอ่านหนังสือ KM มาก่อน    การที่ไม่ได้อ่านมาก่อน  ก็จะมีข้อสงสัยมาก และต้องอธิบายกันยาว    ทำให้เขารู้สึกอึดอัดกับสิ่งที่ต้องทำ

ทีม Support Unit  ควรแบ่งงานให้ชัดเจน  เช่น  ใครรับผิดชอบติดตั้ง  เครื่องไม้เครื่องมือ   ต้องติดตั้งและ check  ว่าใช้ได้หรือไม่ก่อนเริ่มต้นแต่ละวัน  และทำก่อนเวลาเริ่มตามกำหนดการ    กรณีที่มีการสาธิต Blog  ควรคุยเรื่องติดตั้งและทดลองต่อ internet ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มรายการ 

หลังจากนี้ทำอะไร

  สิ่งที่ค่อนข้างเห็นความแตกต่างชัดเจน   คือ  การจัด workshop ที่เพิ่มช่วงการดูงาน  KM Best Practice  ของจริง  ฟังวิทยากรผู้ที่ทำ KM มาแล้ว (ซึ่งอาจจะทำโดยไม่รู้ตัวมาก่อน)  และกลับมาทำ AAR หลังดูงาน   ก็ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ดีทีเดียว  แต่ต้องมีเวลามากขึ้นในการจัด   ดังนั้น  สำหรับการจัด workshop ต่อไปอาจต้องเสนอให้มีช่วงดูงาน     และต้องย้ำถามบางจุดที่อาจจะมองข้ามได้ง่าย    เช่น   รูปแบบวิธีการเนียนเป็นเนื้อเดียวกับงานที่ทำอยู่  หรือไม่อย่างไร?     เป้าหมายใหญ่ของเขาคืออะไรบ้าง?  มีการรวบรวมความรู้เดิมของชาวนาหรือไม่ อย่างไร?   มีการคว้าความรู้ใหม่จากข้างนอกเข้ามาหรือไม่อย่างไร?   มีการสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เองหรือไม่อย่างไร?      เหล่านี้เป็นต้น    ทั้งนี้เพื่อสะกิดให้ผู้ที่เรียนรู้ KM กลับมามองจุดเล็กๆที่สำคัญเหล่านี้

คอยติดตามสถาบันอาชีวะที่เปิด blog และเล่าเรื่องการทำงานดีๆแบ่งปันคนอื่น       หากไม่เปิด blog  ผมก็คงไม่ทราบ  และไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือ  หรือสนับสนุนอย่างไร

 

คำสำคัญ (Tags): #aar
หมายเลขบันทึก: 10668เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2005 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท