การเรียนรู้ที่ตำบลยางสูง


เพื่อยกระดับมือใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่มากนัก สู่นักส่งเสริมการเกษตรที่สามารถทำหน้าที่จัดการบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Facilitator) ของเกษตรกรในตำบลที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมต่อไป

การเรียนรู้ที่ตำบลยางสูง

          วันนี้ ขอเล่าเรื่องการนำนักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ ไปฝึกร่วมเรียนรู้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรส้มเขียวหวานที่ตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลักษบุรี ในวันที่23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในภาคเช้าไปดูโรงเรียนส้มเขียวหวานที่ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง ได้เขียนบันทึกแล้วเมื่อวันที่ 23 ตอนไปดูโรงเรียนส้มเขียงหวานที่ตำบลท่ามะเขือ วันนี้ขอบันทึกเพิ่มเติมอีกตอนซึ่งเป็นเหตุการณ์ของภาคบ่าย

          หลังจากร่วมกันประเมิน AAR กิจกรรมในภาคเช้า (โรงเรียนส้มเขียวหวานที่ตำบลท่ามะเขือ) ก็เป็นกิจกรรมของกลุ่มผู้ปลูกส้มเขียวหวานตำบลยางสูง เล่าย้อนหลังให้ฟังหน่อยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานของตำบลยางสูง ได้รวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูแลและจัดการสวนส้มมาตั้งแต่ปี 2545 โดยนัดหมายกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเดือนละ 1 วัน ทุกเดือน โดยในระยะแรกๆ จะเป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิทยากรเกษตรกร ที่มีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือถ่ายทอดความรู้ ประเด็นการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในสวนส้ม

          จนมาถึงต้นปี 2548 เกษตรกรมีความรู้และสามารถดูแลและจัดการสวนส้มได้ในระดับหนึ่ง ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มเปลี่ยนไป  เพราะสวนส้มของเกษตรกรเริ่มให้ผลผลิต และประสบปัญหาด้านราคา จึงได้เริ่มนำกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ( PAR ) มาสู่กลุ่มผู้ปลูกส้ม ประเด็นปัญหาของกลุ่มก็คือต้องการผลิตส้มนอกฤดู ให้มีผลผลิตออกในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ราคาจำหน่ายผลผลิตส้มเขียวหวานในช่วงเวลานี้จะมีราคาดีที่สุด โดยคุณพงษ์ศักดิ์ ที่เป็นวิทยากรเกษตรกรและมีประสบการณ์ในการผลิตส้มนอกฤดูมาก่อนจากรังสิต เป็นผู้เล่าประสบการณ์และให้ความรู้แก่กลุ่ม กลุ่มจึงมีความรู้เกี่ยวกับการผลิตส้มนอกฤดูอยู่ชุดหนึ่ง และมีเกษตรกรจำนวน 5 คน อาสาจะทำการทดลองนำความรู้ชุดนี้ไปผลิตส้มนอกฤดูในแปลงส้มของตัวเอง(นักวิจัยชาวบ้าน)

          ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 5 เดือนแล้ว และเกษตรกรที่ดำเนินการทุกคน จะทำการบันทึกข้อมูล และรายละเอียดในการดูแลรักษาแปลงส้มเขียวหวานของตนเอง และทุกเดือนที่นัดหมายมาพบกันในช่วงหลังนี้ เป็นกิจกรรมของการนำข้อมูลของแต่ละคนมาแถลงให้กับกลุ่มทราบ (จัดเก็บข้อมูล) คงประมาณ เดือนสิงหาคม 2549 เมื่อผลผลิตเก็บและจำหน่ายแล้ว จึงจะสามารถสรุปผลการผลิตส้มเขียวหวานนอกฤดูของตำบลยางสูงได้ และได้องค์ความรู้ในการผลิตส้มนอกฤดูของตำบลยางสูงขึ้นมาชุดหนึ่ง อาจเหมือนกับต้นแบบความรู้ที่ถอดมาจาก คุณพงษ์ศักดิ์ หรือชุดความรู้ใหม่ภายใต้บริบทของตำบลยางสูง คงต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 7 เดือนนับจากนี้ไป

                                        

          วันนี้ จึงเป็นการมาร่วมฟังการแถลงข้อมูลของเกษตรกรที่ทดลองผลิตส้มนอกฤดูของตำบลยางสูง ซึ่งในวันนี้มีเกษตรกรมารวมแถลงข้อมูล จำนวน 4 คน และท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางสูง ได้มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทีมงานได้ดำเนินการพร้อมทั้งการฝึกมือใหม่ไปพร้อมๆ กัน กระบวนการในวันนั้น มีดังต่อไปนี้ครับ

    1. แบ่งกลุ่มเกษตรกรเป็น 4 กลุ่ม ตามจำนวนเกษตรกร และนักส่งเสริมมือใหม่ของเราเป็นผู้ถอดข้อมูล (เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์) กลุ่มละ 2 คน และกลุ่มที่ 4 เหลือนักส่งเสริมมือใหม่เพียง 1 คน

    2. ดำเนินสัมภาษณ์และจัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกร โดยให้เวลาประมาณ 30 นาที

    3. การนำเสนอข้อมูลของเกษตรกรแต่ละคน โดยตัวแทนของนักส่งเสริมมือใหม่เป็นคนสรุป คุณสายัณห์ เป็นคนทำข้อมูลสรุปลงบนกระดาษฟาง ให้ทุกคนได้เห็น และเจ้าของข้อมูลได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

    4. การสรุปผล ขอบคุณและนัดหมายเกษตรกรพบกันอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม 2549 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลยางสูง

          หลังจากนั้น ได้จัดทำ AAR เพื่อการเรียนรู้หลังปฏิบัติการ ซึ่งผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในครั้งนี้ ให้นักส่งเสริมมือใหม่มาดำเนินการ โดยเปลี่ยนคนดำเนินการ AAR ช่วงท้ายนี้ คือคุณ จุ้น ขัดเกลา นักส่งเสริมมือใหม่จากกิ่งอำเภอบึงสามัคคี ได้ดำเนินการ โดยใช้คำถามกับทุกคนถึงการปฏิบัติงานในช่วงบ่ายนี้ คือ

    • อะไรที่เราตั้งไว้ใจและได้ทำ

      • การร่วมมือกันในการทำงาน

      • ได้ฝึกทักษะการถอดประสบการณ์/เก็บข้อมูลจากการบอกเล่า

      • ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

      • ได้ฝึกการสังเกตกระบวนการ

      • ได้ฝึกการตั้งคำถาม

      • ได้เรียนรู้วิธีการดูแลสวนส้มเขียวหวาน

    • อะไรบ้างที่เราไม่ได้ตั้งใจแต่ได้ทำ

      • ฝึกการทำหน้าที่ Facilitator

      • ฝึกการพูดในสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน (ทีมให้ลงมือปฏิบัติจริงโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า)

      • ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

      • ทั้งถามและเก็บบันทึกข้อมูลเพียงคนเดียว (กรณีของคุณจุ้น ขัดเกลา)

      • ได้เรียนรู้กระบวนการแนวคิดการทำส้มปลอดภัย/อินทรีย์

    • แล้วอะไรบ้างที่เราตั้งใจไว้แต่ไม่ได้ทำ

      • ในภาคบ่ายได้ดำเนินการทุกอย่างครบ

          เป็นไงบ้างครับ คำถาม AAR ของมือใหม่ และผลการทำ AAR อาจขาดคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการจัดกระบวนการครั้งต่อไป/การนำกลับไปใช้  ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้ของมือใหม่ที่ทีมงานตั้งใจให้ได้ฝึกและเรียนรู้จากการปฏิบัติจากของจริง  และสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดโดยใช้การฝึกปฏิบัติจริงอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การฝึกให้เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (ซึ่งผลสะท้อนจากAARที่ขีดเส้นใต้ไว้) เพื่อยกระดับมือใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่มากนัก สู่นักส่งเสริมการเกษตรที่สามารถทำหน้าที่จัดการบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Facilitator) และเก็บข้อมูลของเกษตรกรในตำบลที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมต่อไป  ซึ่งก็มีข้อคิดเห็นที่หลากหลาย แสดงว่า กระบวนการ AAR ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมาและเราได้เคยทำให้ดูมาบ้างแล้ว พร้อมทั้งในวันนี้เราได้ฝึกทำ AAR ของกระบวนการในภาคเช้า นักส่งเสริมมือใหม่ได้เรียนรู้และเริ่มได้ฝึกปฏิบัติจริง ครั้งต่อๆ ไปเราคงให้ทุกคนได้มีโอกาสฝึกการทำ AAR กันครบทุกคน

          ก่อนการเดินทางกลับมายังสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทีมงานได้ทบทวนและมอบการบ้าน(ฝึกการเขียน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของนักส่งเสริม) ซึ่งก่อนการพบกันครั้งต่อไปให้นำการบันทึกผลการเรียนรู้ เพื่อเก็บในแฟ้มสะสมผลงาน และส่งให้ทีมเพื่อจะนำไปประชาสัมพันธ์ให้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานเกษตรจังหวัด  มี 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

    1. บันทึกประสบการณ์ของคุณเชิงชาย และคุณรังสรรค์ ที่ได้มาเล่าประสบการณ์และเทคนิคการทำงานในพื้นที่ให้ฟังในวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา

    2. การบันทึกการจัดกระบวนการโรงเรียนส้มเขียวหวานของตำบลท่ามะเขือ (ในภาคเช้าของวันนี้)

    3. ให้ทำการวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะของการจัดกระบวนการตามข้อ 2

    4. เขียนบันทึกข้อมูลข้อมูลการปฏิบัติของเกษตรกรที่ได้สัมภาษณ์และจัดเก็บข้อมูลในภาคบ่ายของวันนี้

          เป็นบันทึกในภาพรวมของกิจกรรมที่ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้ดำเนินการในวันที่ 23 ธันวาคม 48 ภาคบ่ายที่ผ่านมาครับ เป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้ ในวันนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราจะต้องปรับกระบวนการ แล้วจะเขียนมา ลปรร. ตอนต่อๆ ไปนะครับ

วีรยุทธ สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 10629เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท