ไม่รู้จริง


ความรู้ปฏิบัติ มีความซับซ้อนมากเสียจนเราจะไม่แน่ใจว่ารู้จริง ต้องพร้อมที่จะอยู่กับความไม่ชัดเจน ๑๐๐%
ไม่รู้จริง
    ตอนเป็นเด็ก หรือยังอยู่ในฐานะอ่อนอาวุโสผมเคยรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมท่านผู้นั้นผู้นี้จึงมีความรู้มากจริงๆ      ทำอย่างไรเราจึงจะมีความสามารถสักหนึ่งในสิบของท่านผู้นี้     ทำอย่างไรเราจึงจะมีความมั่นใจในความรู้จริงรู้แจ้งเหมือนท่านผู้นี้
ต่อมา ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ ก็ปากอ้าตาค้างอยู่บ่อยๆ ว่าอาจารย์บางคนเก่งจริงๆ     รู้ไปหมด     รู้แบบปรมาจารย์     คือคนถือว่าท่านคือคัมภีร์ คือถ้าท่านผู้นี้ว่าอย่างไรเกี่ยวกับโรคนั้นวิชานั้น คนก็จะเชื่อว่าถูกต้อง      คือถือว่าอาจารย์ผู้นั้นเป็นผู้รู้จริง     ผู้รู้จริงคือผู้รู้อย่างถูกต้อง     เอาตำรามาตรวจสอบได้   
ตอนนี้แก่แล้ว (ทำไมเร็วนัก!) ในหลายกรณีตัวเองถูกตั้งให้เป็น “ผู้รู้”     โดยที่ผมมองตัวเองว่าเป็นแค่ “นักเรียน” (รู้)     และมองว่าตัวเองเป็น “ผู้ไม่รู้จริง”      คือในการทำงานส่วนใหญ่ผมไม่มั่นใจว่าที่ทำนั้นจะถูกต้องหรือไม่    จึงต้องคอยระวังตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา    ต้องคอยปรับปรุงหรือเปลี่ยนวิธีการเล็กๆ น้อยๆ ในรายละเอียดอยู่ตลอดเวลา    ต้องคอยไต่ถามผู้ใกล้ชิดอยู่เสมอว่า ที่มองเห็นเรื่องนั้นๆ อย่างที่ผมเห็น/ตีความ ถูกหรือไม่     เขามอง/ตีความอย่างไร     ถ้าให้เขาทำ เขาจะทำอย่างไร     คือต้องหมั่นเรียนรู้จากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา     เพราะเราไม่มั่นใจว่าความรู้ความเข้าใจของเราจะถูกต้องในสถานการณ์นั้นๆ     สรุปได้ว่า ผมมองตัวเองเป็น “ผู้ไม่รู้จริง”   
ผมมีคำอธิบายว่าทำไมผมจึงเป็นคน “ไม่รู้จริง”     
1.        เวลาผมเรียนรู้ความรู้เชิงทฤษฎี (explicit knowledge) จากภายนอก    ผมมักจะถามตัวเองว่าของจริงเป็นอย่างไร    หลักการหรือทฤษฎีนั้นเป็นจริงในกรณีใดบ้าง    ไม่เป็นจริงในกรณีใดบ้าง     มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้ทฤษฎีนั้นใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้    ในหลายกรณีผมไม่ได้รับคำตอบ
2.        เมื่อมีการนำเสนอเรื่องราว เพื่อสรุปหลักการหรือทฤษฎี     ผมมักพบว่าการเล่าเรื่องราวนั้นอาจไม่ครบ     อาจยังมีรายละเอียดที่ถูกมองข้ามไป     หรือผู้เล่าจงใจไม่เล่าบางตอนเพื่อประหยัดเวลา (หน้ากระดาษ) หรือเพื่อทำให้มีจุดพุ่งเป้า (focus) ของเรื่อง     (นี่ยังไม่นับที่จงใจบอกเล่าความจริงครึ่งเดียว – half fact)    ในกรณีนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้ดูจะเป็น “ความจริงเชิงสัมพัทธ์”   หรือ “ความรู้จากบางมุมมอง” เท่านั้นเอง     ความรู้ที่ผมมีและใช้อยู่ในขณะนี้ (ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ความรู้ทางแพทย์) ก็อยู่ในลักษณะนี้     คือเป็นความรู้ที่ไม่ตายตัว ไม่ชัดเจน     หรืออาจกล่าวว่าเป็นความรู้ที่ยังต้องเอาไปปรับใช้ตามสถานการณ์
3.        ความเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ได้รู้เห็นว่าความรู้หลากหลายเรื่องที่ยึดถือกันมาเมื่อหลายสิบปีก่อนว่าถูกต้อง     กลับพบว่าผิด และความจริงกลับตรงกันข้าม     เช่นเมื่อก่อนเชื่อว่าเส้นประสาทเมื่อถูกอันตรายจะซ่อมหรืองอกไม่ได้  เวลานี้พิสูจน์แล้วว่าได้     เมื่อก่อนคิดว่าเซลล์สมองของคนมีอายุ มีแต่จะตายไป ไม่มีการเกิดเซลล์ใหม่มาทดแทน ก็พบว่าไม่จริง     เมื่อก่อนผมคิดว่าชาวนาหรือชาวบ้านเป็น “ผู้ด้อยความรู้”  แต่เวลานี้ผมเห็นชัดเจนว่ามีชาวบ้านที่เรียนจบแค่ ป. ๔  แต่มีความรู้มาก     มีไม่น้อยได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน    (แม่ของผมก็เป็นตัวอย่างของคนจบ ป. ๔ ที่มีความรู้มาก     สร้างฐานะของครอบครัวได้ และเลี้ยงลูกได้ดีทุกคน)     วิธีการบำบัดโรคมากมายที่เปลี่ยนไปจากที่ผมยังรักษาผู้ป่วยอยู่เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว    คือผมเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” มันไม่นิ่ง  ไม่ตายตัว  มีเกิดมีดับมีเปลี่ยนแปลง
4.        ผมมองว่า “ความรู้” ที่แท้ คือความรู้ที่เกิดหรือมี ณ จุดปฏิบัติ หรือใช้ความรู้นั้น     เป็นความรู้ที่ต้องประมวลองค์ประกอบมากมายตามสถานการณ์ หรือบริบทในขณะนั้น ณ จุดนั้น     ซึ่งตอนผมปฏิบัติจริง ผมไม่แน่ใจเลยว่ามุมมองหรือความเข้าใจของผมถูกต้องครบถ้วนหรือไม่     จึงทำให้ผมบอกตัวเองว่า ผมเป็นคนรู้ไม่จริง     และเมื่อรู้ไม่จริง ก็ต้องขวนขวายเรียนรู้จากคนที่อยู่รอบข้างอยู่ตลอดเวลา   
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ธค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้ปฏิบัติ
หมายเลขบันทึก: 10624เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท