ทบทวนชีวิตใน ๑ สัปดาห์ ๑๙ – ๒๕ ธค. ๔๘


ได้มีเวลาพักผ่อน และคิดภาพใหญ่ตอนปลายสัปดาห์
ทบทวนชีวิตใน ๑ สัปดาห์  ๑๙ – ๒๕ ธค. ๔๘
เป็นสัปดาห์ที่ผ่อนคลาย    อากาศเย็นสบาย    และได้ทบทวน ภาพใหญ่ ของงาน KM
·        สคส. จะต้อง “ลอกคราบ” ตัวเอง (metamorphosis) ไปสู่การวางตำแหน่งและบทบาทในการ “ขับเคลื่อน KM ประเทศไทย” ที่แตกต่างไปจาก ๓ ปีที่แล้ว     ผมคิดได้แค่นี้     ยังคิดได้ไม่ชัดว่าควรลอกคราบไปเป็นอะไร   เน้นทำอะไร  ไม่ควรทำอะไร     ตรงนี้อยากได้คำแนะนำจากมิตรสหายทั้งหลาย     ในวันที่ ๑๓ มค. ๔๙ เราก็จะเอาประเด็นนี้ไปถามคณะกรรมการนโยบาย สคส.
·        ใน ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมาผมทำงานให้แก่ ๗ องค์กร    (ไม่นับองค์กรที่มาเกี่ยวข้องเพราะเรื่อง KM   และไม่นับรวมอีก ๔ องค์กรที่ผมไปร่วมประชุมไม่ได้)    เคยมีคนถามผมว่าทำงานให้กี่องค์กร     ผมตอบว่าประมาณ ๓๐    เขาถามว่าทำได้อย่างไร    ผมตอบว่ามันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าทำได้แบบผิวเผิน     ไม่สามารถใช้ความคิดไตร่ตรองลึกลงไปในทุกงานได้     แน่นอนว่าผมใช้สมองและเวลาให้กับงาน KM มากที่สุด กว่า ๕๐% ของชีวิตในขณะนี้     เพราะเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมมาก     อาจถึงขนาดเกิด “การปฏิวัติการเรียนรู้” ในสังคมไทย     
·        ยิ่งสังเกตก็ยิ่งเห็น ว่าหน่วยงานระดับชาติทั้งหลายไม่ค่อยมีการเรียนรู้     คือหน่วยงานเหล่านี้ทำงานอยู่ในภพภูมิของอำนาจ ที่ถ้ากล่าวแรงๆ ก็คืออยู่ในโทสะจริต     จึงไม่เรียนรู้    เพราะผู้มีอำนาจจะแสดงว่าไม่รู้ไม่ได้    ดังนั้นวิธีทำงานจึงอยู่ในสภาพ “ทำมาก ได้ผลงานน้อย”     หรือในหลายกรณีมี “ผลงาน” (output) แต่ไม่มี “ผลกระทบ” (impact, outcome) ที่ดี     และที่ร้ายที่สุด ไม่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้จากการทำงาน     ไม่เคารพและให้เกียรติผู้มีความรู้จากการทำงาน     เกิดการระบาดของโรคทำงานแบบลุกรี้ลุกรน ต้องการเพียงผลงานระยะสั้นเพื่อเอาตัวรอดจากซุปเปอร์ซีอีโอ     ผมมองว่าจะมีผลลบต่อการเรียนรู้จริง  ต่อการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้จากการทำงาน ไปอีกนาน
·        วางแผนกันว่า ปีหน้า สคส. จะส่ง “โครงการที่มีผลงานเด่น” เข้าประกวดผลงานเด่นของ สกว. เหมือนอย่างปีนี้ ที่โรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี ได้เป็น ๑ ใน ๑๘ โครงการเด่น สกว. ปี ๒๕๔๘     เราเริ่มจับตา CoP เบาหวาน,    บล็อก Gotoknow.org,    เครือข่าย CoP จังหวัดพิจิตร,    KM โรงพยาบาลบ้านตาก,    KM โรงพยาบาลตาคลี,    KM โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา     และโครงการร่วมมือพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ชุมชน    
·        ที่จริงการไป “จับภาพ KM”  นำมาเขียนข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน     เอามาเขียนหนังสือ “นานาเรื่องราวการจัดการความรู้”    และเลือกเชิญมานำเสนอนิทรรศการในมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ถือเป็นการยกย่องอย่างมาก    แต่ สคส. ก็จะเชื่อมโยงให้มีการยกย่องกิจกรรม KM ดีๆ ในรูปแบบอื่นๆ อีก
·        ในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๓    วันที่ ๑ – ๒ ธค. ๒๕๔๙    สคส. จะชวน กพร. ให้รางวัลหน่วยราชการที่มีการดำเนินการ KM ดีเด่น    ผมยังไม่ได้ติดต่อท่านเลขาธิการ กพร.     จะติดต่อเสนอความคิดในสัปดาห์หน้า หรือต้นปีหน้า     หน่วยราชการที่ทำ KM โปรดเข้ามาเล่าเรื่องราวใน บล็อก ให้เรา “จับภาพ” กิจกรรม KM ของท่านไปเรื่อยๆ นะครับ    คณะกรรมการจะได้ไม่ตกสำรวจท่าน    
·        ในทำนองเดียวกัน    สคส. อาจร่วมมือกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้รางวัล หน่วยงานธุรกิจเอกชน ที่มีการดำเนินการ KM ดีเด่นก็ได้     เราจะลองหารือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตต่อไป    
·        งานมหกรรม โอท็อป ครั้งที่ ๓   ที่เมืองทองธานี   ๑๗ – ๒๕ ธค. ๔๘  ช่วยให้ความคิดว่า สถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่นน่าจะสร้างผลงานวิจัยโดยใช้สินค้าโอท็อปเป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่ง และหาทางร่วมกันพัฒนาคุณภาพในลักษณะ CI – Continuous Improvement  ร่วมกับผู้ผลิตสินค้า โอท็อป
วิจารณ์ พานิช
๒๕ ธค. ๔๘
                 
คำสำคัญ (Tags): #km#เครือข่าย
หมายเลขบันทึก: 10621เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท