กงสุลคนไทยกับกงสุลกิตติมศักดิ์(คนต่างชาติ) ต่างกันอย่างไร


กงสุลกิตติมศักดิ์เพื่อทำหน้าที่แทนในที่ที่ยังไม่มีตัวแทนของไทย

 

 

คนไทยในยุโรปเคยถามผมว่า"กงสุลกิติมศักดิ์ว่าต่างจากสถานกงสุลธรรมดาอย่างไรและเหตุผลที่ต้องมีกงสุลกิติมศักดิ์คืออย่างไร"

ผมจึงขอนำคำตอบที่ตอบ มาแสดง ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์ของผู้สนใจทั่วไป.....

ครับ ชีวิตของคนไทยในต่างแดนนั้นต้องเกี่ยวข้องกับทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลไทยไม่ว่าจะอยุ่ในประเทศไหน แต่ที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นกันก็คือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยนั้นเอง แต่ก่อนที่จะพูดถึงกงสุลกิตติมศักดิ์ จะขอเล่าท้าวความว่า ด้วยความจำเป็นที่ประเทศต่างๆต้องติดต่อกันในด้านต่างๆ ทำให้ต้องมีผู้แทนของแต่ละประเทศเป็นตัวกลางในการดูแลเรื่องของประเทศตนในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเรียนกันจนติดปากคนทั่วไปว่าทูตนั่นเอง ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่กงสุลรวมอยู่ด้วย กงสุลคือใครและทำอะไรกงสุล (Consul)  คือข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งอย่างถูกต้องและได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลในต่างประเทศกงสุลทำอะไร*กงสุลทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศทั้งในด้านพาณิชย์ การเดินเรือ คุ้มครองความเป็นอยู่อันดีของพลเมืองของประเทศตน พร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่บางอย่างด้านธุรการ หรือวางระเบียบแบบแผนที่ใช้เป็นประจำ ตลอดจนด้านการเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสาร เพื่อให้เอกสารนั้นมีผลบังคับทางกฎหมาย (Notary) การให้การตรวจลงตรา รวมทั้งการรับรองเอกสารที่แท้จริง (มิใช่เอกสารปลอม) และจัดการการสัตย์สาบานตน ถ้าจะแบ่งให้เห็นชัดๆ เป็นข้อๆ ก็คือ1 ทำหน้าที่ส่งเสริมผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ของประเทศที่ตนเป็นผู้แทนอยู่2 ควบคุมดูแลผลประโยชน์ด้านการเดินเรือ3 คุ้มครองผลประโยชน์ของคนชาติของประเทศที่แต่งตั้งให้ตนไปประจำอยู่4 ทำหน้าที่สักขีพยานในการลงนามในเอกสารเพื่อให้เอกสารนั้นมีผลบังคับทางกฎหมาย5 ทำหน้าที่ธุรการเบ็ดเตล็ดอื่นๆ หรือระเบียบแบบแผนที่ใช้เป็นประจำ เช่น การออกหนังสือเดินทาง การให้การตรวจลงตรา (Visas) การจดทะเบียนคนเกิด คนตาย ฯลฯ อันหน้าที่ของกงสุลที่กล่าวข้างต้นนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครก็ทำได้ แต่ต้องมีกฏหมายรองรับซึ่งทุกประเทศถือปฏิบัติเช่นเดียวกันคืออนุสัญญากรุงเวียนนา ภาคที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุลข้อที่ 5 ได้กำหนดภาระหน้าที่ของฝ่ายกงสุลไว้ดังต่อไปนี้ ก. คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่ง และของคนในชาติของรัฐผู้ส่ง ทั้งเอกชนและบรรษัทในรัฐผู้รับ ภายในขีดจำกัดที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตข. เพิ่มพูนการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านการพาณิชย์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาการ ระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกันในทางอื่น ตามบทแห่งอนุสัญญานี้ค. สืบเสาะให้แน่โดยวิถีทางทั้งปวงอันชอบด้วยกฎหมายถึงภาวะและความคลี่คลายในทางพาณิชย์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิทยาการของรัฐผู้รับ แล้วรายงานผลของการนั้นไปยังรัฐบาลของรัฐผู้ส่ง และให้ข้อสนเทศแก่บุคคลที่สนใจง. ออกหนังสือเดินทางและเอกสารการเดินทางให้แก่คนในชาติของรัฐผู้ส่ง ตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือออกเอกสารที่เหมาะสมให้แก่บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางไปยังรัฐผู้ส่งจ. ช่วยเหลือคนในชาติของรัฐผู้ส่งทั้งเอกชนและบรรษัทฉ. ทำหน้าที่นิติกรและนายทะเบียนราษฎร์ และในฐานะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ปฏิบัติการหน้าที่บางประการอันมีสภาพทางธุรการ หากว่าการหน้าที่นั้นไม่ขัดกับกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับช. พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ และบุคคลไร้ความสามารถ ซึ่งเป็นคนชาติของรัฐผู้ส่ง ภายในขีดจำกัดที่ได้ตั้งบังคับไว้โดยกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ โดยเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องมีความปกครองหรือภาวะทรัสตีใดๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้นฌ. แทนคนชาติของรัฐผู้ส่ง หรือจัดให้มีการแทนอย่างเหมาะสมในองค์กรตุลาการ และต่อเจ้าหน้าที่ที่อื่นของรัฐผู้รับ เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มา ซึ่งมาตรการชั่วคราวสำหรับการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของคนในชาติเหล่านี้ไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ ในกรณีที่คนในชาติเหล่านี้ไม่สามารถเข้าทำการป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของตนในเวลาอันเหมาะสมได้ เพราะเหตุของการไม่อยู่หรือเหตุอื่นใด ทั้งนี้ ให้อยู่ภายในข้อบังคับแห่งทางปฏิบัติ และวิธีดำเนินการซึ่งมีอยู่ในรัฐผู้รับญ. ส่งเอกสารทางศาล หรือเอกสารที่มิใช่ทางศาล หรือปฏิบัติตาม หนังสือของศาลของรัฐผู้ส่งที่ขอให้สืบประเด็น หรือตามการมอบหมายให้สืบพยานให้แก่ศาลของรัฐผู้ส่งนั้น ตามความตกลงระหว่างประเทศที่ใช้บังคับอยู่ หรือเมื่อไม่มีความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่านั้น โดยทำนองอื่นใดที่ต้องด้วยกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับด. ใช้สิทธิควบคุมดูแลและตรวจพินิจตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับเรือที่มีสัญชาติของของรัฐผู้ส่ง หรืออากาศยานที่จดทะเบียนในรัฐนั้น รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับลูกเรือของเรือและอากาศยานดังกล่าวต. ให้ความช่วยเหลือแก่เรือและอากาศยานที่ระบุไว้ในอนุวรรค (ด) ของข้อนี้ รวมทั้งลูกเรือของเรือและอากาศยานนั้น บันทึกถ้อยคำเกี่ยวกับการเดินทางของเรือ ตรวจดูและประทับตรากระดาษเอกสารของเรือ ดำเนินการสืบสวนอุบัติเหตุใด ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในระหว่างนายเรือ ดำเนินการสืบสวนอุบัติเหตุใดๆ ที่ได้เกิดขั้นในระหว่างนายเรือ เจ้าพนักงาน และกะลาสี ตราบเท่าที่การนี้อาจได้อนุมัติไว้โดยกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่ง ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับถ. ปฏิบัติการหน้าที่อื่นใดที่รัฐผู้ส่งมอบหมายแก่สถานีทำการทางกงสุล ซึ่งมิได้ต้องห้ามโดยกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ หรือซึ่งไม่มีการแสดงข้อคัดค้านโดยรัฐผู้รับ หรือซึ่งมีอ้างถึงไว้ในความตกลงระหว่างประเทศ ที่ใช้บังคับอยู่ระหว่างรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับ จะเห็นว่าการเป็นกงสุลนั้นถือเป็นตำแหน่งสำคัญและมีอำนาจตามกฏหมายที่ชัดเจน จนท.ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กงสุลนั้นตามปรกติมี  2 ประเภทคือ1.กงสุลอาชีพ 2.กงสุลกิตติมศักดิ์ กงสลุอาชีพ*ได้แก่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ปฏิบัติงานที่สถานกงสุลใหญ่และสถานกงสุลไทยในประเทศต่างๆ โดยมีกงสุลใหญ่(ข้าราชการระดับ ซี 9 )เป็นหัวหน้าสำนักงานและมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านหนังสือเดินทาง คุ้มครองคนไทย ตลอดจนด้านเอกสาร นิติกรรมต่าง ๆ ในต่างประเทศ ตำแหน่งต่าง ๆ ประจำสถานกงสุลใหญ่ มีดังนี้ Consul-General กงสุลใหญ่ Deputy Consul-General รองกงสุลใหญ่ Consul กงสุล Vice-Consul รองกงสุล Chancellor ผู้ช่วยกงสุล "  กงสุลกิตติมศักดิ์*" ได้แก่ บุคคลในท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งและมอบหมาย(จากรัฐบาลไทย)ให้ดูแล ส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศและคนชาติในพื้นที่ในเขตอาณา และดำเนินการตรวจลงตราหนังสือเดินทางแก่บุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศที่กงสุลกิตติมศักดิ์เป็นผู้แทน การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ และต้องยื่นสัญญาบัตร และได้รับอนุมัติบัตรเช่นเดียวกับผู้แทนฝ่ายกงสุลอาชีพ (career consular officer)  ในส่วนของไทย กงสุลกิตติมศักดิ์แตกต่างจากกงสุลอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) กงสุลกิตติมศักดิ์ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นผู้นำที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับไทย (2) กงสุลกิตติมศักดิ์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสำนักงาน ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ทั้งหมด (3) กงสุลกิตติมศักดิ์ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางกงสุลน้อยกว่ากงสุลอาชีพ ในการปฏิบัติงานของกงสุลกิตติมศักดิ์ โดยสำหรับประเทศไทยได้จัดทำคู่มือกงสุลกิตติมศักดิ์ เป็นระเบียบกฎเกณฑ์และข้อมูลสำหรับการปฏิบัติงานของกงสุลกิติมศักดิ์จากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้น ก็มาถึงประเด็นที่ว่าทำไมจึงต้องมีกงสุลกิติมศักดิ์ในเมื่อมีกงสุลอาชีพและสถานเอกอัครราชทูตแล้วก็ขอเรียนว่าในสมัยก่อนที่ประเทศในโลกยังมีจำนวนไม่มากเท่านี้(ปัจจุบันมีกว่า 200 ประเทศ)และสังคมมนุษย์ก็ยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นปัจจุบันนี้ การติดต่อระหว่างประเทศหรือการไปมาหาสู่กันก็ทำได้ลำบาก  จะส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธ์กันก็ต้องไปทางเรือใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี เช่นในสมัยพระนารายณ์ เราส่งราชทูตไปฝรั่งเศสทางเรือปรากฏว่าใช้เวลานานกว่า 9 เดือนและคณะแรกที่ส่งไปก็ไปเรืออับปางบริเวณแหลมกูดโฮบที่อแฟริกาใต้ เป็นต้น......การตั้งสถานทูตของประเทศต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถของประเทศนั้นด้วย ตามปรกติการแต่งตั้งทูตไปประจำประเทศต่างๆ นั้นก็จะแลกเปลี่ยนกัน ไปประจำที่เมืองหลวงของประเทศผู้รับ เช่น ไทยส่งทูตไปประจำที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและลาวก็ส่งทูตมาประจำที่กรุงเทพฯ เมื่อมีสถานทูตแล้วก็ถือว่าสูงสุดแล้ว เจ้าหน้าที่กงสุลก็อยู่ในสถานทูตนั่นแหละ แต่ก็อย่างว่าในบางครั้งการติดต่อระหว่างสองประเทศมีมาก ทูตและสถานทูตไม่สามารถรับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นได้ทุกวันและจุดที่มีผลประโยชน์เช่นคนของประเทศอยู่มากก็ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวงแต่อยู่ในเขตห่างไกลทำให้ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะดูแลได้ทั่วถึง จึงใช้วิธีการแต่งตั้งคนในท้องถิ่นนั้นให้เป็นตัวแทนในเฉพาะบางเรื่องซึ่งก็คือกงสุลกิติมศักดิ์นั้นเอง เช่นในกรณีของลาว เรามีสถานทูตอยู่ที่เวียงจันทน์แล้วแต่จำเป็นต้องเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่สุวรรณเขตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งเนื่องจากสุวรรณเขตมีความสำคัญมากขึ้นและมีผลประโยชน์ที่ไทยต้องเข้าไปดูแลจัดการเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นในเรื่องการค้าการลงทุน เป็นต้น หรือในกรณีของสหรัฐฯ หรือในยุโรปก็เช่นกัน เมื่อมีคนไทยไปอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ มากขึ้นจนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทยเราก็จะเปิดสถานกงสุลใหญ่หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เพื่อดูแลงานตรงนี้  การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นจะเริ่มด้วยการตั้งสถานเอกอัครราชทูตระหว่างกัน เป็นการแลกเปลี่ยระดับสูงสุดแต่หากยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่พร้อมก็อาจจะตั้งเป็นสถานกงสุลใหญ่เพื่อดูแลงานเฉพาะเรื่องก่อนและหากการตั้งสถานกงสุลใหญ่ก็ยังไม่พร้อมก็อาจตั้งสถานกงสุลกิติมศักดิ์โดยใช้คนของประเทศนั้นได้ ข้อดีของการตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์นั้นก็คือทำได้เร็วและไม่ต้องเสียงบประมาณเพราะจะคัดเลือกคนในประเทศนั้นที่มีชื่อเสียงมีฐานะเป็นที่ยอมรับในวงสังคม ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีธุรกิจมั่นคงมีสำนักงานอยู่แล้วและมีความนิยมไทย การรับตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์จึงเป็นเรื่องของเกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลด้วยในปัจจุบันเรามีกงสุลกิติมศักดิ์เป็นจำนวนหนึ่งซึ่ง กระทรวงการต่างประเทศเองก็ได้จัดประชุมกงสุลกิติมศักดิ์ทั่วโลกเป็นประจำมาหลายปีเพื่อที่จะให้นโยบายในการทำหน้าที่และดูแลผลประโยชน์ของไทยและของคนไทยในต่างแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คนไทยเองก็สามารถที่จะไปใช้บริการต่างๆจากกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยซึ่งเป่นคนต่างชาติได้

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่หรือสถานกงสุลกิติมศักดิ์ก็ตาม การแลกเปลี่ยนผู้แทนระหว่างกันในระดับต่างๆ นี้ ในทางการทูตและทางการเมืองถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศหรือระดับทวิภาคีซึ่งมีความหมายสำคัญทีเดียว เพราะถ้าความสัมพันธ์ดี อะไรอย่างอื่นที่ดีๆ ก็จะตามมา

ด้วยความปรารถนาดี    …………………………………….*หนังสืออธิบายศัพท์การทูตและการเมืองระหว่างประเทศ ออท.กลศ วิเศษสุรการและหนังสือคำศัพท์-คำย่อทางการทูต สถาบันการต่างประเทศ กต.

หมายเลขบันทึก: 105946เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะท่านทูต ก่อนอื่นขอขอบคุณท่านมากนะคะที่กรุณานำความรู้ด้านการทูตมาเผยแพร่ ทำให้หนูได้เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น

หนูอยากขอคำแนะนำจากท่านค่ะ ว่าถ้าจะศึกษาต่อปริญญาโท ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีมหาวิทยาลัยแห่งใดบ้างที่เป็นโรงเรียนด้านการทูตโดยตรงคะ ขอท่านช่วยกรุณาแนะนำชื่อมหาวิทยาลัยและที่ตั้งที่ท่านพอจะรู้จักหน่อยนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

ด้วยความเคารพ

เรียนคุณฝ้าย

การเรียนด้านการทูตก็คือการเรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยของไทยก็มีหลายแห่งที่สามารถจะเรียนปริญญาโทต่อได้ครับ อาทิ จุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตรและอื่นๆ ส่วนในต่างประเทศ ก็มีหลายแห่งที่มีชื่อเสียงทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต อาทิ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด Oxford U.แคมบริดจ์ Cambridge U.ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยปารีสในฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรีเลีย Harvard U. Cornell U. Tufts U. และFletcher School ในสหรัฐฯ ล้วนมีชื่อเสียงทางด้านนี้และมีนักการทูตหลายต่อหลายท่านของไทยจบการศึกษามาจากสถาบันเหล่านี้

หากหนูฝ้ายจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรีมาแล้ว ในระดับปริญญาโทก็ควรจะเลือกศึกษาเฉพาะด้านที่เจาะลึกลงไป เช่นสนใจด้านการเมืองระดับภูมิภาคหรือองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งควรศึกษาภาษาต่างประเทศให้ดีก็จะได้เปรียบ

ที่สำนักงาน ก.พ. จะมีหน่วยแนะนำการศึกษาในต่างประเทศ ลองติดต่อดูนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี

ปล. ในสมัยนี้ การหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตจะได้ข้อมูลที่ดีมากและสามารถหาจากมหาวิทยาลัยตามที่ระบุได้โดยตรง รวมทั้งสมัครได้เลยหากสนใจ ในหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีการสอนและบทเรียนออนไลน์ให้ด้วย ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคนี้ครับ ทำให้ความรู้เปิดกว้างไปทั่วโลก

สวัสดีครับท่านทูต อยากจะเรียนถามว่าถ้าหากรับทุนของรัฐบาลจีนแล้วจะสามารถกลับมาทำงานเปนทูตได้ไหมครับ

ลืมบอกไปครับว่าตอนนี้ศึกษาชั้นปีที่ 2 ของสาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจครับ พอจะมีข้อมูลเรื่องทุนการศึกษาที่ประเทศจีนไหมครับ แล้วถ้าตั้งใจว่าจะไปเรียนที่จีนจนจบปริญญาตรี แล้วไปศึกษาต่อที่ประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอื่นเช่นภาษาอังกฤษ เยอรมัน เป็นต้น ว่าจะดีไหมครับ

คุณ Rock ครับ

ขออภัยที่ตอบช้าเพราะเพิ่งกลับมาจากการไปดูงานต่างจังหวัดวันนี้เอง

ที่ถามว่ารับทุนรัฐบาลจีน จะทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศได้ไหม ได้แน่นอนครับ เมื่อกระทรวงมีการรับสมัครสอบเพื่อคัดเลือก ก็สามารถสมัครสอบได้ อันนี้ก้หมายความถึงผู้ที่จบมาจากต่างประเทศทั้งหมดด้วย

เรื่องทุนการศึกษาในต่างประเทศนั้น สอบถามได้จากทั้ง ก.พ.และสถานทูตประเทศนั้นๆ ครับ ส่วนว่าจะเรียนภาษาอื่นเพิ่มเติมดีหรือไม่นั้น ดีแน่ครับ การรู้ภาษาต่างประเทศช่วยให้เราเรียนรู้โลกได้ดีและมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องมีภาษาหลักเช่นอังกฤษที่เก่งด้วยครับ

ขอให้โชคดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณพอล เลอมัง

ไผ่ขอเรียกว่า คุณพอล เลอมัง ก็แล้วกันนะคะ ตามนามแฝงของคุณใน thaieurope.net

ไผ่เป็นคนนึงที่ติดตามอ่านกระทู้ของคุณพอล เลอมัง เรียกง่ายๆ ก็เป็นแฟนคลับน่ะ และในโอกาสนี้ก็ขอสมัครเป็นแฟนคลับใน Blog นี้อีกจะได้มั๊ยคะ?

ทุกเรื่องที่คุณพอลลงไว้นั้นเป็นประโยชน์กับคนไกลบ้านอยางไผ่มากเลยค่ะ

P
คุณรักเมืองไทยครับ
ดีใจครับที่มีคนไทยในเบลเยียมติดตามข้อเขียน ผมมีความระลึกถึงที่ดีกับเบลเยียมครับ การได้ไปใช้ชีวิตที่เบลเยียม 4 ปี (เมื่อ 10 ปีมาแล้ว) เป็นช่วงเวลาที่ผมและครอบครัวมีความสุข เบลเยียมมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจสำหรับประเทศเล็กๆ ในยุโรป และโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสยามของเรา
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบมาก ก็คือหนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนเบลเยียมและเป็นรายได้สำคัญหนึ่งของอุตสาหกรรมหนังสือ ผมชอบการ์ตูนแตงแตงมาก และได้ตั้งชื่อลูกชายคนเล็กว่าแตงแตงเช่นกัน
ยินดีครับที่คุณไผ่จะติดตามมาดูในบล๊อคนี้ และถ้าจะให้ดี ก็ขอเชิญชวนให้มาเปิดบล๊อคด้วย เราจะได้มีคนที่นำความรู้เกี่ยวกับเบลเยียมมาเล่าสู่กันฟังอีก 1 คน ผมเองก็อยากอ่านเรื่องของคนที่อยู่เบลเยียมเหมือนกัน ว่า 10 ปี ที่ผ่านมา มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง..
ขอบคุณและจะรออ่านบล๊อคของคนไกลบ้านนะครับ
ด้วยความปรารถนาดี

ด้านการเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสาร เพื่อให้เอกสารนั้นมีผลบังคับทางกฎหมาย ( Notary) กรณีประเทศมองโกเลียมีแต่กงศุลกิติมศักดิ์  เขามีหน้าที่นี้หรือไม่ อย่างไร   คือคนมองโกเลียเป็นผู้มีอำนาจลงนามคนเดียวในบริษัทที่เปิดที่เมืองไทย  ต่อมาได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งในนามบริษัทที่พัทยา  แต่ต่อมาต้องการจะขาย  และอยากกจะมอบอำนาจให้คนไทยดำเนินการแทน  อย่างนี้กงศุลกิติมศักดิ์รับรองเอกสารหนังสือมอบอำนาจได้ไหม  หรือต้องไปให้สถานทูตที่ที่ประเทศจีนดำเนินการให้กรณีเดียวเท่านั้น  หรือทางสถานทูตไทยที่จีนจะมีการมอบหมายให้กงศุลกิติมศักดิ์ทำได้ไหมที่มองโกเลียเลย


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท