งานวิจัยจุดประกายการพัฒนาองค์กร


วันเบาๆกับ KM
วันนี้มีทั้งความเครียดและความดีใจผสมกัน  ความเครียดเกิดขึ้นตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงเย็น  เพราะ  วันนี้คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตรวจเยี่ยมวิทยาลัยของเรา  ผู้วิจัยในฐานะคณะกรรมการประกันคุณภาพของวิทยาลัยคนหนึ่งจึงรู้สึกเครียดมากเป็นพิเศษ  กลัวว่าจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น  แม้ว่าเมื่อคืนนี้จะได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้ตรวจเยี่ยมแล้วก็ตาม  วันนี้จึงมามหาวิทยาลัยแต่เช้า  เพื่อช่วยคณะกรรมการตรวจดูความเรียบร้อย  เหตุการณ์ก่อนการตรวจเยี่ยมเป็นไปได้ด้วยดี  แต่หลังจากคณบดีนำเสนอผลงานในรอบปีที่ผ่านมาจบ  เหตุการณ์ก็เริ่มดุเดือดตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งเที่ยง  หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว  ในช่วงบ่ายซึ่งเป็นช่วงของการเสนอแนะจากผู้ตรวจเยี่ยม  เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไร  แต่ด้วยความตึงเครียดจากช่วงเช้า  ทำให้เหล่าคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยถึงกับซึมไปเลย
            แต่ในความเครียด  เราก็มีความดีใจเกิดขึ้นเหมือนกัน  เพราะ  วันนี้ช่วงเย็นเราได้มีโอกาสกลับบ้านที่กรุงเทพฯ  เนื่องจากพรุ่งนี้ต้องมาอบรมนักวิจัยโครงการ KM  กว่าจะกลับถึงบ้านก็ปาเข้าไป 3 ทุ่มแล้ว  เพราะ  เครื่องบินล่าช้าเป็นชั่วโมง  แถมพอมาถึงกรุงเทพฯแล้วรถยังติดมากด้วย  พอกลับถึงบ้านก็รีบมาเปิดเครื่องเพื่อเขียน Blog เลย  ดังนั้น  วันนี้จึงขออนุญาตสัก 1 วันที่จะไม่เล่าเรื่องเครือข่ายฯ  (อย่างที่บอกนั่นแหละค่ะว่าเครียดเรื่องประกันคุณภาพมาก)  แต่ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องการจัดการความรู้อยู่ดี  เพราะ  เมื่อคืนนี้  (ก่อนออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปต้อนรับผู้ตรวจเยี่ยมจากกรุงเทพฯ)  ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ดร.ไพรัช (เป็นครั้งแรก  เพราะ  อาจารย์เพิ่งมาทำงานที่ศูนย์ลำปาง)  เป็นความโชคดีของผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ฉัตรมาก  เนื่องจาก  พีดี (อาจารย์ดร.ไพรัช)  ก็กำลังทำงานในเรื่อง KM อยู่พอดี   (พี่ดีเป็นหนึ่งในทีมประเมินงานมหกรรมการจัดการความรู้ที่จัดขึ้นวันที่ 1-2 ธันวาคมด้วยค่ะ)  ผู้วิจัยจึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์  บอกกับพี่ดีว่าจะขอคำปรึกษาและขอรบกวนบ่อยๆ  พี่ดีบอกว่าได้เลย พี่ดีบอกว่าจะเป็นวิทยาการให้ด้วย ระหว่างการคุยกันแกบอกว่าขอเวลา 1 นาที  ผู้วิจัยก็คิดว่าสงสัยแกจะไปเข้าห้องน้ำหรือไปโทรศัพท์  (เพราะ  ฟังเราคุยอยู่ตั้งนาน)  ที่ไหนได้แกไปเอาหนังสือเกี่ยวกับ KM มาให้ 2 เล่ม  ปรากฎว่าเล่มหนึ่งเรามีแล้ว  (เพิ่งได้รับในวันที่มารายงานความก้าวหน้า)  ส่วนอีกเล่มหนึ่งยังไม่เคยอ่าน  จึงขอยืมพี่ดีไว้อ่าน  พอมาวันนี้ระหว่างที่นั่งเครื่องกลับมากรุงเทพฯก็ปิ๊งไอเดียว่าเราควรเปลี่ยนวิกฤติจากการถูกวิจารณ์ (แหลก) ในเรื่องการประกันคุณภาพของวิทยาลัย (ในตอนเช้า)  มาเป็นโอกาสในการพัฒนาวิทยาลัย  โดยนำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือ
          ขอเล่าเรื่องที่คุยกับพี่ดีก่อนนะคะ  ความจริงคุยกันตั้งเยอะ  แต่ด้วยความที่ไม่ได้จด  ประกอบกับผู้วิจัยเป็นโรคอัลไซเมอร์อย่างแรง  จึงจำเนื้อหาไม่ค่อยได้   แต่ก็มีสิ่งที่ประทับใจจากการสนทนาและจำได้ดีก็คือ  พี่ดีบอกว่าหมอประเวศเขียนไว้ในหนังสือว่า KM จะนำไปสู่ความปลดปล่อย  ความมีความสุขของมนุษย์  ดังนั้น  ถ้าผู้วิจัยทำงาน KM  แล้วจะวัดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่คงจะไม่ได้ดูในผลงานอย่างเดียว  แต่ต้องดูด้วยว่าคนที่เข้ามาร่วมในกระบวนการรู้สึกว่าตนเองได้ปลดปล่อย  รู้สึกว่ามีความสุขหรือไม่  อย่าดูที่ผลอย่างเดียว  หากผลนั้นสำเร็จ  แต่ผู้ทำและคนร่วมกระบวนการรู้สึกไม่มีความสุข  ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่าเราประสบความสำเร็จจากการนำ KM มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาหรือไม่ (ซึ่งพี่ดีใช้วลีว่า “เสร็จแต่ไม่สำเร็จ”) อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ  การทำงานกับชุมชนอย่างมุ่งการบรรลุเป้าหมายอย่างเดียว  KM นั้นมุ่งไปที่ความยั่งยืนด้วย  ดังนั้น  เมื่อจบโครงการแล้วอยากเห็นความยั่งยืนด้วย   ก่อนจบการสนทนาเรื่อง KM ระหว่างที่พวกเราขึ้นรถเพื่อไปต้อนรับคณะผู้ตรวจเยี่ยม  ผู้วิจัยบอกกับคนในรถว่า  ตอนนี้ไม่รู้เป็นอะไร  วันไหนไม่ได้เขียน Blog  เหมือนรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  มีคนในรถแซวว่าจะคอยดูว่าผู้วิจัยจะมีความรู้สึกอย่างนี้ไปได้สักกี่วัน  (คนแซวคงรู้ว่าผู้วิจัยเป็นคนเบื่อง่ายมากๆๆๆๆๆๆ)  พี่ดีฟังแล้วหัวเราะก่อนที่จะบอกว่าการเขียนBlog ก็คือ  การเขียนความรู้  การถ่ายทอดความรู้  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี  แต่ระวังอย่าตกเป็นทาสของความรู้
          เรื่องต่อไปคือ  เรื่องการใช้ KM ในการพัฒนาองค์กร   ความจริงเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก  แต่อย่างที่บอกมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าวันนี้ตอนเช้าวิทยาลัยของเราโดนวิจารณ์ซะน่วมไปเลย  ความโดยสรุปก็คือ  เราควรที่จะกลับมาดูในทุกส่วนของการจัดการเรียนการสอน  การวิจัย  การบริการวิชาการสู่สังคม  การบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษา  รวมทั้งเรื่องการพัฒนาระบบประกันคุณภาพด้วย   ความจริงพวกเรารู้เรื่องนี้กันอยู่แล้ว  ก็พยายามหาทางแก้ไขอยู่  ดีขึ้นบ้าง  ไม่ดีขึ้นบ้าง  พอถูกวิจารณ์ก็เหมือนการสะกิดแผล  (ในความคิดของผู้วิจัย)  ทำให้ยิ่งเจ็บมากขึ้นไปใหญ่  แต่อย่ากระนั้นเลย  เครียดไปก็ไม่มีประโยชน์  ระหว่างนั่งเครื่องกลับมา  ผู้วิจัยก็นั่งคิดว่าเราในฐานะฟันเฟืองเล็กๆๆๆๆๆๆ  (ที่ไม่มีอำนาจด้วย)  จะช่วยองค์กรของเราให้ผ่านวิกฤติได้อย่างไร  (ขอใช้คำว่าวิกฤติ  เพราะ  เพื่อนๆอาจารย์ที่ได้คุยกันเห็นว่าเป็นวิกฤติจริงๆ)  ผู้วิจัยจึงลองสำรวจตัวเองดูว่าตัวเองนั้นพอที่จะมีความรู้  ความสามารถ  ศักยภาพอะไรบ้าง  นั่งคิดอยู่สักครู่ก็ปิ๊งไอเดียว่า  ความจริงที่ศูนย์ลำปางก็มีอาจารย์ที่รู้เรื่อง KM อยู่อย่างน้อยตั้ง 3 คน  (ผู้วิจัย , อาจารย์พิมพ์ , พี่ดี)  พวกเราน่าจะเอา KM มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของวิทยาลัยน่าจะดี  เพราะ  หน่วยงานอื่นๆที่นำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จก็มีตั้งเยอะ  ประกอบกับในช่วงเช้า  คณะผู้ตรวจเยี่ยมได้บอกว่าจากการไปตรวจเยี่ยมทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีจุดดี  จุดด้อย  มีความเก่ง  ความชำนาญที่ต่างกัน  ดังนั้น  จะริเริ่มการพัฒนาด้านการประกันคุณภาพการศึกษาโดยนำหน่วยงานที่เก่งในเรื่องต่างๆมาบอกเทคนิค  ให้ความรู้  แนะนำหน่วยงานอื่นๆ  (ความจริงแล้วก็คือการนำ KM มาใช้  ในเรื่องหา Best practice  มาให้ศึกษา)   เมื่อคิดได้เช่นนี้ผู้วิจัยจึงตั้งใจไว้ว่าวันเสาร์นี้ซึ่งจะได้พบกับอาจารย์พิมพ์จะลองปรึกษาเรื่องนี้ดู  ส่วนวันจันทร์น่าจะได้พบกับพี่ดีก็จะลองปรึกษาดู  ถ้าทั้งสองเห็นด้วยก็จะไปเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ  เพื่อดำเนินการต่อไปทันที (KM นั้นต้องรีบทำ  จะมัวแต่จะอยู่ไม่ได้)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10548เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท